ความแปรปรวนของกระแสลมและการไหลเวียนของกระแสน้ำที่ผันผวนที่เกิดจาก เอลนีโญ และลานีญา อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างรุนแรง
เอลนีโญ (El Niño) และลานีญา (La Niña) เป็นปรากฏการณ์สุดขั้วตรงข้ามของวัฏจักรการหมุนเวียนกระแสอากาศและกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก(Eastern Tropical Pacific Ocean) ที่เรียกว่า “El Niño – Southern Oscillation” หรือ“เอนโซ่” (ENSO)ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างมหาสมุทรกับชั้นบรรยากาศโลก ดังนั้นเมื่อกระแสลมเกิดการเปลี่ยนทิศและกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกเกิดการเปลี่ยนแปลง จึงก่อให้เกิดปรากฏการณ์สภาวะอากาศแปรปรวนฉับพลันที่เรียกว่า “เอลนีโญ” (El Niño) และ “ลานีญา”(La Niña)
[ในภาษาสเปน เอลนีโญมีความหมายว่า “เด็กชาย” หรือ “บุตรของพระเยซู”ขณะที่ลานีญามีความหมายว่า “เด็กสาว”]
การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา
- มหาสมุทรแปซิฟิกในสภาวะปกติ
บริเวณแถบเส้นศูนย์สูตรของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกจะมีลมสินค้ากำลังแรงพัดจากทางด้านตะวันตกของชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้ไปยังประเทศอินโดนีเซีย โดยนำเอากระแสน้ำอุ่นบนพื้นผิวมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าสู่ชายฝั่งด้านทิศตะวันออกของออสเตรเลียทำให้น้ำทะเลบริเวณดังกล่าวสูงกว่าระดับทะเลปกติราว 60 ถึง70 เซนติเมตร และทำให้เกิดฝนตกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทางตอนเหนือของออสเตรเลีย
ขณะที่ตามแนวชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้จะเกิดกระแสน้ำเย็นใต้มหาสมุทรไหลเข้ามาแทนที่กระแสน้ำอุ่นที่ถูกลมสินค้าพัดพาไป ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ “น้ำผุด” (Upwelling) ซึ่งนำธาตุอาหารจากมหาสมุทรลึกขึ้นมายังเขตท้องทะเลที่แสงสว่างส่องถึง (Euphotic zone) ทำให้ทางชายฝั่งของทั้งประเทศเปรู เอกวาดอร์ และชิลี กลายเป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญและสร้างรายได้มหาศาลให้กับชาวประมงท้องถิ่นอีกด้วย
- ปรากฏการณ์เอลนีโญ
เอลนีโญเกิดขึ้นเมื่อลมสินค้ามีกำลังอ่อนลง ส่งผลให้กระแสลมเกิดการเปลี่ยนทิศโดยพัดจากประเทศอินโดนีเซียไปยังชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้ทำให้กระแสน้ำอุ่นถูกพัดเข้าหาชายฝั่งตะวันตกของประเทศเปรูและเอกวาดอร์ซึ่งเป็นทิศตรงกันข้ามกับการไหลเวียนในสภาวะปกติ ทำให้ทางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียขาดฝนและเผชิญกับความแห้งแล้ง โดยฝนที่ควรได้รับไปตกยังทวีปอเมริกาใต้แทน การเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของกระแสน้ำอุ่นยังส่งผลให้กระแสน้ำเย็นใต้มหาสมุทรไม่สามารถลอยตัวขึ้นมาได้ตามปกติ ทำให้ทางชายฝั่งของทั้งประเทศเปรู เอกวาดอร์และชิลีสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลที่เคยได้รับไปในช่วงเวลาดังกล่าว
- ปรากฏการณ์ลานีญา
ลานีญาเป็นปรากฏการณ์ตรงกันข้าม โดยมีลักษณะคล้ายคลึงกับการไหลเวียนของสภาพอากาศในสภาวะปกติ แต่มีความรุนแรงยิ่งกว่า เนื่องจากกระแสลมสินค้าที่พัดไปทางทิศตะวันออกมีกำลังแรงมากกว่าปกติ ทำให้ทางประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียมีระดับทะเลและปริมาณน้ำฝนสูง ขณะที่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ต้องเผชิญความแห้งแล้งอย่างรุนแรง
ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา
เอลนีโญและลานีญาก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศของโลก ความแปรปรวนของกระแสลมและการไหลเวียนของกระแสน้ำที่ผันผวน อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างรุนแรง เช่น การเกิดพายุ ภัยแล้ง ไฟป่า หรือน้ำท่วม ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของทั้งสัตว์ทะเลและมนุษย์ โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้านที่ยังคงพึ่งพาทรัพยากรทางทะเลเป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้หลัก และถึงแม้ประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา แต่ในช่วงใดก็ตามที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญขึ้น อุณหภูมิภายในประเทศไทยอาจเพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับปกติ และอาจเกิดสภาพอากาศแปรปรวนในบางพื้นที่ เช่น ในบริเวณที่เคยมีฝนตกชุกอาจต้องเผชิญกับความแห้งแล้งฉับพลัน หรือในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำฝนอาจเผชิญกับพายุฝนรุนแรง เป็นต้น
เอลนีโญและลานีญาถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากความผกผันของกระแสอากาศบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตรเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุหรือคาดการณ์ถึงระยะเวลาของการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวได้อย่างแน่ชัด ซึ่งจากสถิติเรารู้เพียงว่า ทุกๆ 2 ถึง 7 ปี มักเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาขึ้นสักครั้ง โดยเอลนีโญมักเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลคริสต์มาสของทุกปี เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 2 เดือนไปจนถึง 1 ปี ขณะที่ลานีญาเป็นปรากฏการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ยาวนานยิ่งกว่า (ราว 9 เดือนไปจนถึง 2 ปีเลยทีเดียว)
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังทำนายไว้ว่า วัฏจักรของเอนโซ่ (ENSO) จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น และอาจนำไปสู่การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาที่สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศของโลกได้อย่างรุนแรงยิ่งกว่าในอนาคต
สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ
ข้อมูลอ้างอิง
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ – http://www.lesa.biz/earth/hydrosphere/elnino
National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) – https://www.noaa.gov/education/resource-collections/weather-atmosphere-education-resources/el-nino
National Geographic – https://www.nationalgeographic.com/environment/weather/reference/el-nino-la-nina/
National Geographic Society – https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/el-nino/
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: ระดับน้ำแม่น้ำโขงต่ำที่สุดในรอบ 100 ปี และส่งผลสะเทือนใหญ่หลวงต่อธรรมชาติ