นักวิทยาศาสตร์พยายามหาข้อมูล การรักษาโควิด-19

นักวิทยาศาสตร์พยายามหาข้อมูล การรักษาโควิด-19

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทราบและไม่ทราบเกี่ยวกับ การรักษาโควิด-19

บุคลากรชั้นนำทางการแพทย์หกท่านอธิบายว่า เรารู้ข้อมูลเพียงบางส่วนเกี่ยว การรักษาโควิด-19 ทั้งในโรงพยาบาลและการรักษาตัวที่บ้าน

การศึกษาทางการแพทย์เกี่ยวกับโควิด-19 อยู่ในจุดที่สุ่มเสี่ยงมาก เพราะยังเกิดความสับสนเกี่ยวกับเรื่องพื้นฐาน เช่น วิธีการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อที่รักษาตัวที่บ้าน หรือผู้ป่วยที่หายแล้วต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

เพื่อเป็นแนวทางความรู้ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้ติดต่อไปยังบุคลากรทางการแพทย์และนักวิจัย ที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เพื่อขอคำแนะนำสำหรับการดูแลตัวเองที่บ้าน รวมไปถึงข้อมูลทางการแพทย์ที่จำเป็นสำหรับต่อสู้กับโรคระบาดนี้

ภาพถ่าย ANDREW THEODORAKIS, GETTY IMAGES

เราจะต่อสู้กับโรคโควิด-19 อย่างไร

เรื่องดีก็คือ ประมาณร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 แสดงอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์แนะนำว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ให้แยกตัว ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และรักษาตามอาการ

สำหรับการดูแลคนไข้ที่มีอาการไข้ร่วมกับอาการอื่นๆ แพทย์แนะนำให้ใช้ยาอะเซตามิโนเฟน (acetaminophen) หรือที่รู้จักแพร่หลายในชื่อพาราเซตามอล (paracetamol) และหลีกเลี่ยงการใช้ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen)

ด้วยเหตุผลที่ว่า การใช้ยาในกลุ่มไอบูโพรเฟน คนไข้อาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ไตวาย ระคายเคืองกระเพาะอาหาร และมีเลือดออกในทางเดินอาหาร

อ่านเพิ่มเติม: ข้อเท็จจริงเกี่ยวโควิด-19 

“ผมยังไม่ทราบสาเหตุว่า ทำไมไอบรูโพเฟนจึงกลายเป็นปัญหาสำหรับการรักษาโรคโควิด-19” สแตนลีย์ เพิร์ลแมน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโคโรนาไวรัส นักภูมิคุ้มกันวิทยา และกุมารแพทย์ แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยไอโอวาคาร์เวอร์ กล่าว

ในทำนองเดียวกัน พาราเซตามอลก็มีผลข้างคียงเช่นกัน ผู้ป่วยต้องไม่มีประวัติแพ้ยากลุ่มนี้มาก่อน หรือต้องไม่มีภาวะโรคตับ แพทย์แนะนำว่าไม่ควรบริโภคยาพาราเซตามอลเกิน 3,000 มิลลิกรัมต่อวัน

“กลุ่มยาพาราเซตามอลเป็นสาเหตุทั่วไปของภาวะตับวายเฉียบพลันในสหรัฐอเมริกา” โฆเซ มาเนาโตว นักพิษวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอนเน็กติคัต กล่าว

ประชาชนควรมั่นใจว่า ตัวเองไม่แพ้ยาที่กำลังบริโภค เนื่องจากในทางการแพทย์ทั่วโลก ตัวยาที่ใช้สำหรับไข้หวัดและยานอนหลับบางชนิดมีส่วนผสมของอะเซตามิโนเฟน ในช่วงรับประทานยาชนิดนี้ ควรงดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะตับต้องทำหน้าที่ขับสารพิษมากเกินไป และอาจมีสารพิษตกค้างในร่างกาย

คลอโรควิน (chloroquine) และอะซิทรอมไมซิน (azithromycin)

ในช่วงนี้ บุคลากรทางการแพทย์ทำงานอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อหาวิธีรักษาโรคโควิด-19 และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้กล่าวถึงยาสองชนิดที่ใช้ในโรงพยาบาลมานานกว่าสิบปี ชนิดแรกคือยาปฏิชีวนะ อะซิทรอมไมซิน และยาต้านมาลาเรีย คลอโรควิน

ในความเป็นจริง องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาไม่รับรองตัวยาไฮดรอกซีคลอโรควิน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับการรักษาโรคไขข้อและโรคผิวหนังติดเชื้อ แต่รับรองการใช้ยาชนิดนี้ร่วมกับอะซิทรอมไมซิน เพื่อรักษาโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม วงการแพทย์ทั่วโลกรวมถึงแอนโทนี เฟาซี หัวหน้าสถาบันแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ด้านโรคติดต่อและภูมิแพ้ ออกมาแสดงความเห็นเรื่องข้อควรระวังการใช้ยาชนิดนี้

การรักษาโควิด-19

“สิ่งที่คุณได้ยินกันนั้น เป็นสิ่งที่ผมเรียกว่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย” เฟาซิกล่าวในการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา และเสริมว่า “งานของผมไม่เพียงแค่พิสูจน์ว่ายาชนิดนั้นปลอดภัย แต่ต้องเป็นยาที่ใช้ในการรักษาได้จริงด้วย”

การใช้ยาคลอโรควินจัดเป็นการศึกษากับผู้ป่วยกลุ่มเล็กๆ ในประเทศฝรั่งเศสและจีนเท่านั้น สำหรับประเทศฝรั่งเศสใช้ยาชนิดนี้กับผู้ป่วยจำนวน 36 คน และเจาะจงเฉพาะผู้ป่วยที่ยืนยันว่าพบเชื้อไวรัสในร่างกาย ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหนักในฝรั่งเศส เลือกใช้ตัวยาไฮดรอกซีคลอโรควิน

“เราไม่มีข้อมูลแบบสุ่ม การทดสอบแบบไม่มีกลุ่มควบคุม ทำให้เราไม่ทราบว่าคนปกติจะแสดงผลอย่างไร” แอนนี ลิวต์เคเมเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อ HIV และโรคติดต่อ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก กล่าว

อ่านเพิ่มเติม: ประเทศจีนแก้ปัญหาเรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างไร

การรักษาด้วยตัวเองโดยใช้ยาไฮดรอกซีคลอโรควินและอะซิทรอมไมซิน อาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วย เนื่องจากยาทั้งสองชนิดส่งผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจและเพิ่มความเสี่ยงให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศส่งตัวยาทั้งสองชนิดนี้ไปยังนิวยอกร์ก ไม่นานหลังจากนั้น โรงพยาบาลในแอริโซนารายงานว่า ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการใช้ยาคลอโรควีนฟอสเฟต (chloroquine phosphate) เกินขนาด นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประเทศไนจีเรียรายงานว่า ผู้ป่วยสองคนที่ใช้ยาคลอโรควีนเกินขนาด เสียชีวิตเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

“สิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นคือ จำนวนผู้ป่วยที่ล้นแผนกฉุกเฉินเนื่องจากการรักษาตัวเองแบบสุ่มเสี่ยง ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของพวกเขามากขึ้นไปอีก” แดเนียล บรูกส์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลด้านยาและพิษวิทยาในเมืองฟีนิกส์ กล่าว

ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงปลอดภัยจริงหรือ?

ยาที่มีฤทธ์ยับยั้ง ACE คือยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง และถูกนำมาใช้ในกรณีของโควิด-19 เช่นกัน ซึ่งรายงานบางฉบับแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยควรงดรับประทานยาชนิดนี้ ถ้ามีอาการแทรกซ้อน

ในรายงานของวารสาร British Medical นักวิจัยตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้ยาต้าน ACE อาจทำให้โคโรนาไวรัสเข้าติดเชื้อในปอดได้ง่ายขึ้น โดยข้อกังวลนี้เริ่มมาจากเชื้อโรค SARS และโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เข้าโจมตีเซลล์ด้วยการจับกับโปรตีนที่ชื่อว่า angiotensin-converting enzyme 2 หรือ ACE2 ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบได้บนเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจและปอด มีบทบาทช่วยเรื่องการควมคุมความดันโลหิต

หนึ่งในผลของการใช้ยายับยั้ง ACE คือเซลล์จะผลิด ACE2 เพิ่มมากขึ้น การศึกษาในปี 2005 พบหลักฐานที่ชี้ให้เห็นปริมาณ ACE2 ที่เพิ่มขึ้นในหนูทดลอง และในปี 2015 การสำรวจผู้ป่วยที่รับยายับยั้ง ACE พบว่า ปริมาณ ACE2 ในปัสสาวะเพิ่มขึ้น

การรักษาโควิด-19
กระบวนการเข้าสู่เซลล์มนุษย์ของเชื้อโควิด-19

แต่ในปัจจุบัน ยังไม่พบว่ายายับยั้ง ACE แสดงผลทางลบในผู้ป่วยโควิด-19 ตามคำกล่าวขององค์กรความร่วมมือด้านโรคหัวใจ แพทย์แนะนำว่า ผู้ป่วยที่กำลังอยู่ระหว่างรับประทานยาควบคุมความดันโลหิตให้รับยาได้ตามปกติ จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากแพทย์ที่ทำการรักษาท่าน

ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 แต่ก็ยังมีเรื่องดีแฝงอยู่ นั่นคือยายับยั้ง ACE มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ดังนั้นอาจช่วยให้ปอดของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 รับมือได้ดีขึ้น

“ข้อมูลดังกล่าวเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อเปรียบเทียบกลุ่มคนที่รับและไม่รับยาชนิดนี้ และศึกษาความแตกต่าง” เพิร์ลเมนกล่าวและเสริมว่า “แต่มันเป็นเรื่องยากที่จะปฏิบัติได้จริง เพราะเป็นเรื่องขัดต่อจริยธรรม”

“ทั้งหมดทั้งมวล ถ้าคุณรู้สึกหายใจลำบาก หรือมีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ เราอยากให้คุณมองว่าเป็นอาการฉุกเฉิน” ปูร์วี ปาริกห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อและภูมิแพ้ NYU Langone ในนิวยอร์ก กล่าว ถ้าคุณเลือกรักษาตัวที่โรงพยาบาลชุมชน นี่คือตัวหนึ่งตัวอย่างที่คุณควรรู้ไว้

ในเมืองแฟร์แฟกซ์ รัซเวอร์จีเนีย บุคลากรทางการแพทย์ตั้งเต็นท์ไว้กลางแจ้ง เพื่อแยกผู้ป่วยที่มีการการเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจกับผู้ป่วยรายอื่นๆ รวมถึงแยกโซนระหว่างนั่งรอตรวจของผู้ป่วย โดยห่างกันประมาณ 2 เมตร

เนื่องจากจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยทั่วสหรัฐฯ มีอย่างจำกัด แพทย์ในเมืองแฟร์แฟกซ์ให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมาก หรือผู้ป่วยที่ “คาดว่า” มีเชื้อโควิด-19 ให้แยกตัวเองอยู่ในที่พักอาศัย เพื่อป้องกันปํญหาผู้ป่วยเกินจำนวนการรองรับของโรงพยาบาล

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก เจ้าหน้าที่มักเริ่มต้นด้วยการตรวจวัดระดับออกซิเจน ความดัน และปริมาณของเหลวในปอด และพยายามรักษาสมดุลภายในระบบต่างๆ ของร่างกาย นอกจากนี้อาจให้ยาลดไข้ เพราะความร้อนจากอุณหภูมิร่างกายอาจทำลายเซลล์ได้

ผู้ป่วยวิกฤติจากโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่มักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่าหนึ่งสัปดาห์ เพื่อควบคุมการแลกเปลี่ยนก๊าซในปอด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่บุคลากรทางการแพทย์กังวลเกี่ยวกับจำนวนเครื่องช่วยหายใจที่อาจไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย

กรณีร้ายแรงที่สุดของผู้ป่วยโควิด-19 คืออาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (ARDS) เนื่องจากเนื้อเยื่อปอดเสียหายอย่างรุนแรงจากการติดเชื้อ การะบวนรักษาอาการนี้ในโรงพยาบาลคือ ผู้ป่วยต้องนอนราบและต่อเครื่องช่วยหายใจ ควบคุมปริมาณของเหลว โดยใช้อัตราการหมุนเวียนของอากาศระดับต่ำ เพื่อป้องกันถุงลมปอดฉีกขาด

ในห้องพักของโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ต้องระมัดระวังเรื่องอุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดความชื้นที่ผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ เช่น เครื่องให้ออกซิเจนที่ช่วยส่งออกซิเจนเข้าสู่ปอด เพราะอาจทำให้ปริมาณเชื้อ SARS-CoV-2 เพิ่มสูงขึ้น

ยารักษาโควิด-19 ที่มีความเป็นไปได้สูง

นักวิจัยและแพทย์ทั่วโลกกำลังแข่งขันกังบเวลา เพื่อทดสอบวิธีการรักษาที่หลากหลายสำหรับรับมือกับโรคโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ที่เราสัมภาษณ์ให้ความสนใจไปที่ยาเรมเดซิเวียร์ ยาต้านไวรัสที่พัฒนาโดย Gilead Sciences

“ตัวยาที่ผมไว้ใจตอนนี้คือเรมเดซีเวียร์” เพิร์ลแมนกล่าว

เรมเดซิวเยร์ทำงาานโดยเลียนแบบตัวยับยั้งอาร์เอ็นเอของไวรัส เพื่อไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนขึ้น ในงานศึกษาของนักวิจัยชาวจีนที่ถูกกกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ในวารสาร Cell Research แสดงให้เห็นว่า ยาเรมเดซีเวียร์ขัดขวางการจำลองตัวของ SARS-CoV-2 ในห้องปฏิบัติการ แต่ตัวยายังอยู่ภายใต้การทดลอง ตัวยาเรมเดซีเวียร์ถูกคิดค้นขึ้นมาครั้งแรกเพื่อใช้รักษาโรคอีโบลา แต่การทดสอบทางคลีนิคในมนุษย์ยังไม่มีการยืนยันผล

ต้องยอมรับว่า วิธีการรักษาที่เหมาะสมจำเป็นต้องผ่านกระบวนการทดลอบระดับคลินิคในมนุษย์ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร “หากมองย้อนกลับไป มันคงเป็นเรื่องดีหากเราทุ่มเทการศึกษาเรื่องยาต้านโคโรนาไวรัส” เพิร์ลแมนกล่าวและเสริมว่า “ตอนนี้อาจจะพูดง่าย แต่เมื่อห้าเดือนที่แล้วมันไม่ง่ายเหมือนตอนนี้”

เรื่อง MICHAEL GRESHKO

กรณีตัวอย่างที่อ้างถึงในบทความนี้ รวบรวมโดยกองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น 


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าเชื้อโควิด-19 ไม่ได้มาจากการตัดต่อพันธุกรรมโดยมนุษย์

Recommend