หุ่นยนต์บำบัด : เพื่อนคู่ใจของผู้สูงวัย

หุ่นยนต์บำบัด : เพื่อนคู่ใจของผู้สูงวัย

หุ่นยนต์บำบัด : เพื่อนคู่ใจของผู้สูงวัย

ในอนาคต หุ่นยนต์บำบัด อาจกลายมาเป็นผู้ช่วยและคอยปลอบประโลมใจผู้สูงอายุ  เพื่อตอบสนองความต้องการผู้ดูแลคนชรา ซึ่งนับวันยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นทุกที

ตอนที่โกลดี เนจาต์ เริ่มพัฒนาหุ่นยนต์เมื่อปี 2005 เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการขอพบผู้คนในวงการแพทย์และการลงทุน ด้วยความหวังจะได้สาธิตหุ่นยนต์ ต้นแบบสุดไฮเทคของเธอ  ในขณะนั้น วงการสาธารณสุขยังลังเล  “แต่ตอนนี้เป็นคนละเรื่องเลยค่ะ” เนจาต์ อาจารย์สาขาวิศวกรรมเครื่องยนต์ที่มหาวิทยาลัยโทรอนโต บอก “มีคนโทรหาฉันจากทั่วโลกและถามว่า เมื่อไรหุ่นยนต์จะพร้อมใช้งาน”

จักรกลชนิดพิเศษของเนจาต์นี้เรียกว่า หุ่นยนต์บำบัด หรือหุ่นยนต์ช่วยเหลือทางสังคม (socially assistive robot) ได้รับการออกแบบมาเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ และอาจช่วยพวกเราได้ในยามเร่งด่วน นั่นคือดูแลผู้สูงอายุ  คาดว่า ประชากรอายุมากกว่า 80 ปีจะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าทั่วโลก จาก 143 ล้านคนเป็น 426 ล้านคน ภายในปี 2050

หุ่นยนต์บำบัด ดังกล่าวมีประโยชน์มากเป็นพิเศษสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อม เพราะหุ่นยนต์จะถูกตั้งโปรแกรมให้ช่วยเหลืองานได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่เตือนให้กินยาจนถึงพาผู้ป่วยออกกำลังกาย  หุ่นยนต์ของเนจาต์ยังสามารถนำเกมที่กระตุ้นความจำอื่นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้กระบวนการคิดอยู่เสมอ

อีฟ เจลลี ช่างภาพชาวฝรั่งเศส ผู้ได้แรงบันดาลใจจากศักยภาพของหุ่นยนต์ในการช่วยเหลือผู้สูงอายุ  ใช้เวลาสองปีในการสร้างหนังที่ชนะรางวัลเรื่อง Year of the Robot ในปี 2019 ซึ่งบันทึกปฎิสัมพันธ์ระหว่างคนชรากับหุ่นยนต์ช่วยเหลือทางสังคมในสถานดูแลคนชราระยะยาวในฝรั่งเศสและเบลเยียม  ในหนัง เจลลีและมักซีม จาคอปส์ ผู้ช่วย  ทำให้หุ่นยนต์ดูมีความเป็นมนุษย์ด้วยการปล่อยให้คนกับหุ่นได้ตอบโต้กันอย่างอิสระ ในฉากที่ดูเหมือนมาจากโลกอนาคต เราเห็นคนเล่นเปียโน เต้นรำ และกระทั่งเปิดอกเล่าความลับให้เพื่อนหุ่นยนต์ของตัวเองฟัง

หลังถ่ายหนังเสร็จ เจลลีเริ่มงานถ่ายภาพที่เป็นโครงการต่อเนื่อง  เขาขอให้คนที่ปรากฏในหนังนึกถึงภาพฝันที่มีหุ่นยนต์อยู่ด้วยว่า พวกเขาอยากทำอะไรมากที่สุด  เจลลีบันทึกการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับหุ่นยนต์หลังสังเกตการณ์อยู่หลายเดือน  โครงการนี้ไม่ได้หวังว่าจะช่วยบำบัด หรือแสดงให้เห็นศักยภาพที่แท้จริงของหุ่นยนต์ แต่เป็นการสำรวจขีดความสามารถของมนุษย์ในการสร้างความสัมพันธ์กับหุ่นยนต์

ที่ผ่านมา นักวิจารณ์แสดงความวิตกว่า หุ่นยนต์ผู้ดูแลอาจทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนหายไปและทำให้คนตกงาน แต่เป้าหมายของหุ่นชนิดนี้ คือการเข้ามาช่วยงานดูแลมนุษย์ ไม่ใช่เข้ามาแทนที่  ไบรอัน สกัสเซลลาติ หัวหน้าห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์ด้านสังคมที่มหาวิทยาลัยเยล บอก  เขาทดสอบหุ่นยนต์กับผู้ป่วยหลายประเภทและพบว่า ปฏิสัมพันธ์รายวันกับหุ่นยนต์ช่วยให้เด็กที่เป็นโรคออทิซึมสเปกตรัม (autism spectrum disorder) พัฒนาการสบตาและมีทักษะทางสังคมดีขึ้น

มารีเบล พิโน นักจิตวิทยาการรับรู้ ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการโบรกาลีฟวิงที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกรตเทอร์ปารีส หนึ่งในสถานที่ที่ใช้ถ่ายภาพประกอบสารคดีเรื่องนี้ อธิบายถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับหุ่นยนต์ในภาพถ่ายว่าเป็นของจริงที่ไม่ได้เสริมแต่ง  ภายหลังใช้เวลากับหุ่นยนต์แล้ว หลายคนรู้สึกผูกพันกับพวกมันขึ้นมา

สกัสเซลลัตติบอกว่า ประโยชน์ข้อหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ หุ่นยนต์ช่วยดูแลคนตามแบบที่กำหนดไว้ได้และเป็นไปตามความต้องการ นับวันความต้องการใช้หุ่นแบบนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้น

เรื่อง คลอเดีย คัลบ์

ภาพถ่าย อีฟ เจลลี

คลอเดีย คัลบ์ เขียนเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์แห่งอัจฉริยภาพ ปาโปล ปิกัสโซ และเลโอนาร์โด ดา วินชี ที่ตีพิมพ์ใน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก อีฟ เจลลี ถ่ายภาพหมู่เกาะพิตแคร์นในนิตยสารฉบับภาษาฝรั่งเศส

หุ่นยนต์บำบัด
ที่บ้านพักคนชราระยะยาววีเวอร์โบสในเกนต์ เบลเยียม ผู้สูงวัยอายุ 94 ปีคนนี้อยากได้หุ่นยนต์ที่เต้นรำขณะเธอเล่นเปียโน ฟาบรีซ โกฟแฟง ซีอีโอร่วมของโซราบอตส์ เชื่อว่า ขนาดที่เล็กจิ๋วของหุ่นทำให้ดูเหมือนเด็กๆ ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุชื่นชอบ “เด็กยังตรงไปตรงมาและไม่ตัดสินใครครับ” เขาบอก
หุ่นยนต์บำบัด
ระหว่างถ่ายภาพ ช่างภาพขอให้เหล่าผู้สูงวัยนึกภาพว่า จะสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กับหุ่นยนต์อย่างไร  คุณยายคนนี้อยู่ในเมซงเฟอร์รารี บ้านพักคนชราในกลามา ฝรั่งเศส  อาสารับบทแม่ทูนหัวของหุ่นยนต์  เธอนึกภาพตัวเองกำลังฉลองวันเกิดของหุ่นและตกแต่งเก้าอี้ของเธอด้วยลูกโป่ง
หุ่นยนต์บำบัด
ความว้าเหว่เป็นสิ่งที่พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ  คุณยายจากบ้านพักคนชราระยะยาวในมงต์เจรง ฝรั่งเศส คนนี้ มองหุ่นยนต์ว่าเป็นเพื่อนคู่คิด  ทั้งคู่อยู่ในอาคาร แต่เธอกำลังนึกภาพตัวเองอาบแดดอยู่กับหุ่นยนต์
หุ่นยนต์บำบัด
ผู้อาศัยคนนี้ที่เมซงเฟอร์รารีบอกว่า เธออยากให้หุ่นยนต์สอนเล่นบาสเกตบอล หุ่นซึ่งสร้างโดยบริษัทซอฟต์แบงก์โรโบติกส์ในโตเกียวไม่ได้ตั้งโปรแกรมไว้สำหรับงานดังกล่าว  อย่างไรก็ตาม ซอฟต์แวร์ที่ออกแบบโดยโซราบอตส์ในเบลเยียม สามารถช่วยคนให้ทำงานได้หลายอย่าง รวมทั้งการออกกำลังกายด้วย
หุ่นยนต์บำบัด
หุ่นยนต์ช่วยเหลือทางสังคม (socially assistive robot) ได้รับการออกแบบมาเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ และอาจช่วยพวกเราได้ในยามเร่งด่วน นั่นคือดูแลผู้สูงอายุ  คาดว่า ประชากรอายุมากกว่า 80 ปีจะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าทั่วโลก จาก 143 ล้านคนเป็น 426 ล้านคน ภายในปี 2050
หุ่นยนต์บำบัด
ในอนาคต หุ่นยนต์ อาจกลายมาเป็นผู้ช่วยและคอยปลอบประโลมใจผู้สูงอายุ  เพื่อตอบสนองความต้องการผู้ดูแลคนชรา ซึ่งนับวันยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นทุกที

*** อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมกราคม 2563


สารคดีแนะนำ

วิเคราะห์เจาะลึก โควิด-19 กับนักไวรัสวิทยาชาวไทย

Recommend