จากกระแสข่าวในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีพบผู้ป่วยในตำบลหนองปรือ อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ ที่รับประทานขนมจีบจากแม่ค้าเร่ แล้วเกิดอาการติดเชื้อในทางเดินอาหารหลายสิบราย โดยในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 1 คน เป็นหญิงอายุ 66 ปี
ด้านนายประกิจ วงค์ประเสริฐ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า หลังส่งตัวอย่างขนมจีบไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ผลตรวจ เบื้องต้นจากผู้ป่วยในจำนวนดังกล่าว บางส่วนพบว่ามีเชื้อแบคทีเรียชนิด ซาลโมเนลลา (Salmonella) ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามที่ปรากฏในข่าว
ซาลโมเนลลา (Salmonella) ค้นพบโดย แดเนียล เอลเมอร์ แซลมอน (ชื่อซาลโมเนลลา มาจากนามสกุลผู้ค้นพบ) เป็นแบคทีเรียที่มีลักษณะรูปท่อน เคลื่อนที่โดยใช้แฟลเจลลา (flagella) เจริญได้ดีที่อุณหภูมิปานกลาง (mesophilic bacteria) และเจริญได้ในอุณหภูมิร่างกายของมนุษย์และสัตว์เลือดอุ่น อุณหภูมิต่ำสุดที่เจริญได้คือ 5.2 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุดที่เคยมีรายงานการเจริญเติบโตคือ 54 องศาเซลเซียส เจริญได้ทั้งภาวะที่มีอากาศและไม่มีอากาศ จึงพบได้ในอาหารที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์สุญญากาศ (vacuum packaging) เชื้อซาลโมเนลลาสามารถทนความร้อนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิด สายพันธุ์ และปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น อุณหภูมิ และความชื้น เป็นต้น

ในทางการแพทย์ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อซาลโมเนลลาเรียกว่า ผู้ป่วยโรคซาลโมเนลโลซิส (salmonellosis) มักเกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเป็นไข้ ถ่ายเหลว หรือ อาเจียน โดยอาการอาจปรากฏอยู่นาน 8 – 72 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่สุขภาพแข็งแรงอาจมีอาการดีขึ้นเองภายใน 2 – 3 วันโดยไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการเจ็บป่วยใดๆ
อาการของผู้ป่วยอาจใช้เวลานานหลายชั่วโมงจนถึง 2 วัน จึงจะปรากฏอาการของโรค เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย โดยอุจจาระอาจมีเลือดปน อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เป็นไข้ หนาวสั่น เบื่ออาหาร
โดยปกติ อาการของผู้ป่วยโรคซาลโมเนลโลซิสจะคงอยู่ประมาณ 2 – 7 วัน ส่วนอาการท้องเสียอาจคงอยู่ประมาณ 10 วัน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนจนกว่าลำไส้จะกลับมาทำงานปกติ ทั้งนี้ หากยังมีอาการผิดปกตินานเกิน 7 วัน
ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ซ้ำ
นอกจากนี้ หากผู้ติดเชื้อเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง แล้วมีอาการอุจจาระเป็นเลือด มีไข้สูง หรือมีภาวะขาดน้ำนานกว่า 2 – 3 วัน ควรไปพบแพทย์ซ้ำเช่นเดียวกัน
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : มารู้จักกับเชื้อก่อโรค
เชื้อซาลโมเนลลาบนจานเพาะเชื้อ หลังจากเขี่ยเชื้อเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
สาเหตุของการติดเชื้อ ซาลโมเนลลา
ซาลโมเนลลาเป็นแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ของคนและสัตว์ สามารถปนออกมากับอุจจาระได้ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับเชื้อจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนแบคทีเรียชนิดนี้ โดยมีตัวอย่างปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา ดังนี้
เนื้อวัวดิบ เนื้อหมู เนื้อไก่ หรือเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่อาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ระหว่างกระบวนการผลิต
ไข่ดิบ โดยแม่ไก่ที่มีเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลาอาจส่งผ่านเชื้อโรคไปสู่ไข่ไก่ตั้งแต่เปลือกไข่ยังไม่ก่อตัว จึงทำให้การรับประทานไข่ดิบหรือรับประทานอาหารที่มีไข่ดิบเป็นส่วนผสมอาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ได้
ผักและผลไม้ อาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลาจากแหล่งน้ำที่มีเชื้อโรคในระหว่างเพาะปลูก การล้างผักหรือผลไม้ด้วยน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค หรือสัมผัสกับน้ำจากเนื้อดิบที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ในระหว่างประกอบอาหาร
สัตว์เลี้ยงบางชนิดอาจมีเชื้อซาลโมเนลลาได้โดยที่เจ้าของไม่ทราบ เช่น สุนัข แมว นก กิ้งก่า หรืองู เป็นต้น เมื่อใช้มือสัมผัสขนหรือผิวหนังของสัตว์เลี้ยงที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระสัตว์แล้วนำนิ้วมือเข้าปาก อาจเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อแบคทีเรียได้
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้ อาจเพิ่มโอกาสการเกิดโรคซาลโมเนลโลสิสมากขึ้น
- ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารหรือลำไส้
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ โรคมาลาเรีย ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ และผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกันหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น
- ผู้ที่เสี่ยงสัมผัสเชื้อซาลโมเนลลา เช่น ผู้ที่เลี้ยงนกหรือสัตว์เลื้อยคลาน และผู้ที่ต้องเดินทางไปยังประเทศกำลังพัฒนาและมีปัญหาด้านระบบสาธารณสุข
การรักษาโรคซาลโมเนลโลสิส
การรักษาทำได้หลายวิธีโดยมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยได้รับน้ำอย่างเพียงพอเพื่อทดแทนน้ำส่วนที่เสียไป ซึ่งอาจดูแลอาการด้วยตนเองที่บ้านได้โดยป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ ผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ควรใช้วิธีดื่มน้ำตาลเกลือแร่ให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ ส่วนผู้ป่วยที่เป็นเด็กอาจให้รับประทานน้ำตาลเกลือแร่สำหรับเด็ก รวมทั้งเฝ้าระวังอาการท้องเสียหรืออาเจียนที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะขาดน้ำได้
แต่หากอาการที่เกิดขึ้นมีความรุนแรง อาจต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยการให้ของเหลวผ่านทางหลอดเลือด ซึ่งแพทย์อาจรักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม ดังนี้
- ใช้ยาแก้ท้องเสีย อย่างโลเพอราไมด์ เพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องเสียของผู้ป่วย แต่ยาอาจทำให้อาการท้องเสียที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลาหายช้าลง หรืออาจเกิดผลข้างเคียงอย่างอื่นได้ จึงควรใช้ยาตาม
คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด - ใช้ยาปฏิชีวนะ ในกรณีที่อาการรุนแรงมากขึ้น หรือผู้ป่วยมีความบกพร่องด้านระบบภูมิคุ้มกัน หรือมีความเสี่ยงที่แบคทีเรียจะเข้าสู่กระแสเลือด แพทย์อาจใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่การใช้ยาปฏิชีวะใน
ผู้ป่วยที่มีอาการไม่ซับซ้อนอาจไม่มีประโยชน์ต่อการรักษา และยังอาจทำให้แบคทีเรียอยู่ในร่างกายผู้ป่วยนานขึ้นซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้
การป้องกันเชื้อซาลโมเนลลา
เชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลาอาจแฝงอยู่ในเนื้อดิบ ผักผลไม้ หรือบนผิวหนังของสัตว์เลี้ยง ซึ่งการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนหรือสัมผัสสัตว์เลี้ยงอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคชนิดนี้ได้ จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ดังนี้
- ล้างมือด้วยสบู่หลังทำกิจกรรมต่างๆ เช่น สัมผัสเนื้อดิบ เข้าห้องน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ทารก เล่นกับสัตว์เลี้ยง สัมผัสสัตว์เลื้อยคลาน หรือเก็บมูลสัตว์ เป็นต้น
- ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ที่ยังไม่สุก เช่น เนื้อไก่ เนื้อวัว หรือเนื้อหมู เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานไข่ดิบหรืออาหารที่ใช้ไข่ดิบเป็นส่วนผสม หากไข่ยังไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ (Pasteurization)
- ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด หากเป็นไปได้ควรปอกเปลือกก่อนรับประทาน
- แยกเนื้อสัตว์ที่ยังดิบออกจากวัตถุดิบอื่น ๆ เมื่อเก็บในตู้เย็น
- ทำความสะอาดครัวบริเวณที่ใช้วางวัตถุดิบสำหรับทำอาหาร และควรใช้เขียงหรืออุปกรณ์อื่น ๆ แยกกันระหว่างเนื้อดิบและผักหรือผลไม้
- ล้างภาชนะที่ใช้ใส่เนื้อดิบให้เรียบร้อยก่อนนำมาใส่อาหารที่ปรุงสุกแล้ว
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.3m.co.th/3M/th_TH/food-safety-th/education/pathogenic-microorganisms/salmonella/
http://www.nfi.or.th/foodsafety/upload/damage/pdf/salmonella_2.pdf