เยาวชนไทยเตรียมไปแข่ง Coding ควบคุมหุ่นยนต์ชิงแชมป์เอเชีย

เยาวชนไทยเตรียมไปแข่ง Coding ควบคุมหุ่นยนต์ชิงแชมป์เอเชีย

สวทช. ประกาศผล Space Flying Robot ทีม ‘won-SpaceY’
คว้าตั๋วแข่ง Coding ควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ ชิงแชมป์เอเชีย ที่ญี่ปุ่น กันยายนนี้

ณ ห้องประชุม SD-601 อาคารสราญวิทย์ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์กรสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น หรือแจ็กซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) และหน่วยงานพันธมิตร ประกาศผลการแข่งขันโครงการ Space Flying Robot Programming Challenge 2020 หรือ SRPC2020

ผลปรากฏว่าได้ทีมวอนสเปซวาย (won-SpaceY) เป็นทีมชนะเลิศ และจะเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชีย ณ ศูนย์อวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกันยายนนี้ กับภารกิจแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ ที่ใช้งานจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station : ISS) ให้ปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยผ่านว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สวทช. ร่วมกับ องค์กรสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น หรือแจ็กซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) และหน่วยงานพันธมิตร ได้ร่วมกันจัดโครงการแข่งขัน Space Flying Robot Programming Challenge 2020 เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทย ในการพัฒนาขีดความรู้ความสามารถด้านสะเต็มศึกษา

สวทช. ได้รับเกียรติให้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทย ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าแข่งขันทั้งหมด 20 ทีม แข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ให้ปฏิบัติภารกิจซ่อมแซมสถานีอวกาศที่ชำรุดเนื่องจากอุกกาบาตพุ่งชน โดยใช้เซิฟเวอร์ของ JAXA ประเทศญี่ปุ่น ทำการแข่งขันและแสดงภาพจำลอง (Simulation) การประมวลผลโค้ดที่เยาวชนแต่ละทีมเขียนขึ้น เพื่อคัดเลือกเพียง 1 ทีมผู้ชนะ (จาก 151 ทีมทั่วประเทศที่สมัครเข้าร่วมโครงการ) เป็นตัวแทนประเทศไทย

“โดยผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมชนะเลิศได้แก่ ทีมวอนสเปซวาย (won-SpaceY) ซึ่งมีสมาชิกในทีม 3 คน ประกอบด้วย นายธีรโชติ เมืองจำนงค์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องกล นายตุลา ชีวชาตรีเกษม นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และนายสิรภพ เวสน์ไพบูลย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศและได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชีย ในรายการ Kibo Robot Programming Challenge 2020 ร่วมกับเยาวชนอีก 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ณ ศูนย์อวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกันยายน ปี 2563”

ดร.จุฬารัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนรางวัลรองชนะเลิศมี 2 ทีม ได้แก่ ทีม Destiny จากโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ไทย-เยอรมัน และทีม BFST จากสถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นอกจากนี้ยังมีรางวัลดีเด่นอีก 5 รางวัล คือ รางวัลดีเด่นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 2 รางวัล ได้แก่ ทีม INTENTION X จากโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา และทีม Made in Heaven โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดตรัง รางวัลดีเด่นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 2 รางวัล ได้แก่ ทีม TAQ Thailand จากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล และทีม Hushub จากโรงเรียนพรหมานุสรณ์ จังหวัดเพชรบุรี และรางวัลนำเสนอดีเด่น 1 รางวัล ได้แก่ทีม KMIDS13 จากโรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า

ด้าน ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) สวทช. ประธานคณะกรรมการตัดสิน ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการตัดสินภาพรวม กล่าวว่า เยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขันในโครงการ ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นอย่างมาก คณะกรรมการ ผู้จัด และทีมงาน สามารถสัมผัสได้ถึงความรู้สึกสนุกและตื่นเต้นที่ได้รับโอกาสในการเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ซึ่งมีการใช้งานจริงบนสถานีอวกาศ ประสบการณ์จากการเขียนโปรแกรมครั้งนี้จะทำให้พวกเขาได้พัฒนาทักษะด้านต่างๆ อย่างบูรณาการ ทั้งคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และภาษาคอมพิวเตอร์ และยังได้พัฒนาทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 อย่างการคิดวิเคราะห์และการทำงานร่วมกันเป็นทีม

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความรู้และประสบการณ์ที่เด็กและเยาวชนได้รับจากการแข่งขันครั้งนี้จะมีส่วนส่งเสริมให้พวกเขาได้นำทักษะไปใช้ต่อยอดเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมของประเทศให้เข้มแข็งต่อไปในอนาคต

นายโอะโนะ อะสึชิ

นายโอะโนะ อะสึชิ (Ono Atsushi) ผู้อำนวยการ JAXA Bangkok Office กล่าวชื่นชมและแสดงความยินดีแก่เด็กและเยาวชนผู้เข้าแข่งขันทั้ง 151 ทีม ว่า รู้สึกประทับใจในการตอบรับการเข้าร่วมการแข่งขันจากทุกทีมเป็นอย่างยิ่ง ตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือนของการแข่งขันได้เห็นถึงความตั้งใจของทุกๆ ทีม ในการจะพัฒนาโค้ดเพื่อเอาชนะโจทย์การแข่งขันให้ดีที่สุด ภายใต้แนวคิดการทำงานจริงของนักบินที่สถานีอวกาศ ในโอกาสวันประกาศผลผู้ชนะการแข่งขันของประเทศไทยในวันนี้ ขอแสดงความยินดีกับทุกๆ ทีมที่ได้รับรางวัล และขอต้อนรับทีมผู้ชนะเลิศสู่การแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชียที่ประเทศญี่ปุ่น หวังว่าทุกท่านจะได้รับประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลงานและการทำงานในอนาคตต่อไป

สำหรับทีมตัวแทนประเทศไทยจะได้เข้าร่วมการแข่งขันต่อในรายการ Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์เอเชีย ณ ศูนย์อวกาศสึกุบะ (Tsukuba Space Center) ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกันยายนปีนี้ เยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขันทุกคนจะสื่อสารตรงไปที่สถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งมีนักบินอวกาศเป็นผู้ควบคุมการแข่งขัน และได้สัมผัสกับศูนย์อวกาศสึกุบะ ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติการขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นสถานที่หลักสำหรับปฏิบัติการโครงการวิจัยอวกาศของญี่ปุ่น และนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นที่มีส่วนในสถานีอวกาศนานาชาติซึ่งจะได้รับการฝึกจากที่นี่

แบบจำลองหุ่นยนต์ Astrobee บนสถานีอวกาศนานาชาติ

ทั้งนี้ศูนย์อวกาศสึกุบะ ตั้งอยู่ในเมืองวิทยาศาสตร์สึกุบะ จังหวัดอิบะระกิ ที่เปิดใช้งานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 มีอาคารนิทรรศการเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมและมีแลนด์มาร์คสำคัญคือ ‘จรวด เอชทู’ จำลองขนาดเท่าของจริงตั้งอยู่ด้านหน้าอาคาร รวมทั้งแบบจำลอง ‘ยานคิโบะ โมดูล’ ขนาดเท่าของจริงแสดงอยู่ภายในอาคารด้วย

ผู้สนใจติดตามข่าวความเคลื่อนไหวโครงการแข่งขัน Space Flying Robot Programming Challenge 2020” ได้ที่เว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/jaxa-thailand หรือแฟนเพจ JAXA Thailand

Recommend