ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดาวเทียมในประเทศไทย

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดาวเทียมในประเทศไทย

ช่วงเวลาแห่งวันหยุดพักผ่อน อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่หลายคนรอคอย เพื่อได้พักผ่อนสมองที่เหนื่อยล้าจากการทำงาน และใช้เวลากับตัวเอง และคนใกล้ชิดรอบข้าง ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้นที่ปรารถนาที่จะได้ใช้วันหยุดเพื่อเดินทางท่องเที่ยวไปดื่มด่ำบรรยากาศตามแหล่งท่องเที่ยว สวยๆ ต่างๆ ทั่วประเทศ

ในบรรดาการเดินทางท่องเที่ยวทั้งหมด การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวมักได้รับความนิยมเสมอ ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดยาว หรือหยุดเสาร์อาทิตย์ เพราะเป็นอะไรที่สะดวก และสบายใจ เสน่ห์ของการเดินทางโดยรถยนต์คือ การมองเห็นความสวยงามของทัศนียภาพระหว่างทาง ทั้งวิถีชีวิตผู้คน บ้านเรือน ไร่นา ชุมชน และทิวทัศน์ธรรมชาติ เหล่านี้ล้วนทำให้การเดินทางในแต่ละครั้งพิเศษขึ้นกว่าเดิม

เมื่อลองมาพิจารณาดูว่า ทำไมการเดินทางโดยรถยนต์ในปัจจุบันเป็นอะไรที่ง่ายขึ้น ปลอดภัย และมีสีสันมากกว่าสมัยก่อน จึงพบว่าปัจจัยที่ส่งผลให้การเดินทางสะดวกยิ่งขึ้น คือระบบนำทางที่มีความแม่นยำ ประกอบกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุม ทำให้เราสามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้า ตรวจสอบสภาพอากาศ ค่าฝุ่นละอองในอากาศ เลือกเส้นทาง รวมไปถึงร้านอาหารในละแวกใกล้เคียง

ระบบนำทางและการสื่อสารนั้นเกิดขึ้นจากการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนในปัจจุบันมีความแม่นยำสูงขึ้น โดยอาศัยการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของระบบเทคโนโลยีดาวเทียม  สำหรับประเทศไทย หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ต่างก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดาวเทียม จึงได้ลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมร่วมกับต่างประเทศ เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มาโดยตลอด 

ดาวเทียมไทยโชติ หรือ THEOS I

สํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า (GISTDA) เป็นหนึ่งในหน่วยงานด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย โดยเป็นผู้ส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันให้หน่วยงานต่างๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานระดับนโยบาย หรือหน่วยงานระดับปฏิบัติ ได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลจากดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศ เพื่อการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ  รวมทั้งยังให้บริการวิชาการด้านทรัพยากรและภัยพิบัติที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ผ่านการทำงานของดาวเทียมสำรวจทรัพยากร โดยประเทศไทยมีดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ดวงแรก คือดาวเทียมไทยโชต (ชื่อเดิม THEOS-I)  ซึ่งเป็นดาวเทียมที่ออกแบบมาเพื่อการสำรวจทรัพยากรโดยเฉพาะ และยังคงปฏิบัติภารกิจอยู่ในห้วงอวกาศเพื่อประโยชน์สุขของคนไทยมายาวนานกว่า 12 ปี 

เพื่อให้การสานต่อภารกิจด้านการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศไทยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากการปลดประจำการของดาวเทียมไทยโชต ปัจจุบัน จิสด้ากำลังดำเนินการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ ระบบดาวเทียม THEOS-2  ซึ่งภายใต้ระบบดังกล่าวจะมีการพัฒนาดาวเทียม 2 ดวง ดวงแรกจะเป็นดาวเทียมรายละเอียดสูง 50 ซม. เพื่อใช้งานด้านการวางแผนและติดตามเชิงพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งการจัดการน้ำ การจัดการเกษตร ความมั่นคงทางสังคม การจัดการภัยพิบัติ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการเมือง การใช้ประโยชน์ที่ดินและการจัดการในภาวะวิกฤตต่างๆ ของประเทศ เป็นต้น ส่วนดาวเทียมอีก 1 ดวง จะเป็นดาวเทียมเล็กขนาดไม่เกิน 100 กก. ที่จะสร้างเองในประเทศไทย เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของคนไทยและเพิ่มประสิทธิภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศ 

นอกจากนี้ ยังองค์ประกอบที่สำคัญมากๆ ภายใต้ระบบดาวเทียม THEOS-2 อาทิ การพัฒนาระบบการผลิต การบริการภาพถ่าย และภูมิสารสนเทศจากดาวเทียมที่อยู่ในเครือข่ายกว่า 30 ดวง, การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการใช้งานภูมิสารสนเทศจากดาวเทียม, การพัฒนาระบบประยุกต์ใช้แผนที่และภูมิสารสนเทศจากภาพถ่ายดาวเทียมตามภารกิจของหน่วยปฏิบัติต่างๆ รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศในการสร้างดาวเทียมและอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าระบบดาวเทียม THEOS-2 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของการส่งดาวเทียมไปโคจรนอกโลก แต่ THEOS-2 คือการสร้าง “ระบบ” ที่ทำให้ข้อมูลสำคัญจากอวกาศเชื่อมโยงกับข้อมูลบนพื้นดินและมนุษย์ และกลายมาเป็นบิ๊กดาต้า (Big data) ที่พวกเราทุกคนสามารถเข้าถึง และนำไปประยุกต์ใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน 

หากจะอธิบายอย่างง่ายที่สุด “บิ๊กดาต้า” ก็คือ “ดาต้า” หรือข้อมูลทุกๆ อย่างที่มีในระบบ หรือที่เราสามารถจัดเก็บได้จากพื้นที่ต่างๆ  หมายรวมถึงข้อมูลทั้งหมด ตั้งแต่ข้อมูลเชิงพฤติกรรรมของผู้บริโภค ภาพ เสียง หรือข้อความทุกอย่างที่อยู่ในระบบออนไลน์ ผลสำรวจประชากร และที่สำคัญข้อมูลภูมิสารสนเทศที่เราได้จากอวกาศก็ถือเป็น “บิ๊กดาต้า” หนึ่งที่มีผลกับชีวิตของคนไทย เพราะข้อมูลภาพถ่ายจากอวกาศจะรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ ทรัพยากรธรรมชาติ การเกษตร การใช้ประโยชน์จากที่ดิน ตลอดจนความเป็นอยู่ของพวกเราทุกคน 

จุดสำคัญของการใช้ประโยชน์จาก “บิ๊กดาต้า” ก็คือ เราจะต้องหาวิธีการที่จะจัดเรียงและวิเคราะห์ข้อมูลที่มีมากอย่างมหาศาลนี้ ให้มีประสิทธิภาพและทันต่อการใช้งาน  งานที่ซับซ้อนในระดับนี้เราจะต้องอาศัยระบบ  Actionable intelligence หรือ การใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาทำงานร่วมกับปัญญาของมนุษย์  เพื่อสร้างระบบการทำงานที่จะวิเคราะห์ข้อมูล “บิ๊กดาต้า” ให้สามารถนำมาใช้ปฏิบัติงานได้จริง  ปัญญาประดิษฐ์จะช่วยให้มนุษย์วิเคราะห์ในการตัดสินใจได้อย่าง “รอบด้าน” และ “ชัดเจน” ยิ่งขึ้น

ดาวเทียมที่อยู่ภายใต้ระบบดาวเทียม THEOS-2 จะต้องถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเพื่อทำหน้าที่เก็บข้อมูลภูมิสารสนเทศที่สำคัญร่วมกับดาวเทียมอื่นๆจากทั่วโลกอีกกว่า 30 ดวง และจะกลายมาเป็น “บิ๊กดาต้า” ในเชิงพื้นที่ที่สำคัญของคนไทย  ฉะนั้น หากเรามีระบบการวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพ ข้อมูล “บิ๊กดาต้า” จะสามารถนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา วางแผน และการตัดสินใจของเราทุกคน

ในอนาคต เราจะสามารถวิเคราะห์ทางเลือกในการตัดสินใจ ผ่านข้อมูลอย่างรอบด้าน  ทั้งความสอดคล้องของนโยบายและโครงการทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่  คุณภาพชีวิตของประชากร  การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการลดความเหลื่อมล้ำ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Actionable intelligence จะช่วยพวกเราวิเคราะห์ข้อมูลจากอวกาศและทุกปัจจัยที่รวมอยู่ใน “บิ๊กดาต้า” เพื่อให้ทุกแผนงานหรือโครงการที่จะเกิดขึ้น เติบโตและพัฒนาอย่างสอดคล้องกันบนพื้นที่นั้นๆ  สร้างวิถีในการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนที่ไม่ใช่เพียงแค่มนุษย์ต่อมนุษย์ แต่สัมพันธ์ไปถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ด้วย

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลว่าทำไม THOES-2 จึงไม่ใช่แค่เรื่องของดาวเทียมอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องขององค์ความรู้และเทคโนโลยีอัจฉริยะ ที่จะผสานข้อมูลที่มีคุณค่ามหาศาลทั้งจากอวกาศ บนแผ่นดิน และมนุษย์ เข้าด้วยกัน เพื่อให้ทุกการตัดสินใจเกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนและแบ่งปันสู่พวกเราทุกคนอย่างเท่าเทียม

ขณะนี้ความคืบหน้าการดำเนินงานของระบบดาวเทียม THEOS-2 อยู่ในกระบวนการที่เข้มข้น และสามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่วางไว้ทุกประการ ซึ่งเราคาดว่าในช่วงกลางปี 2565 ประเทศไทยจะได้ใช้งานระบบดาวเทียม THEOS II อย่างแน่นอน

ภาพจำลองดาวเทียม THEOS II ที่อยู่ระหว่างการผลิตและพัฒนา


ขอขอบคุณ  สํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) 

เรื่อง ปุญญาวีร์ ศรีสันเทียะ 

Recommend