ลักษณะทางกายภาพของพื้นผิวโลก

ลักษณะทางกายภาพของพื้นผิวโลก

ธรณีสัณฐาน หรือลักษณะทางกายภาพของพื้นผิวโลก ที่แตกต่างกันบนภูมิประเทศต่างๆ สร้างความหลากหลายทางทัศนียภาพ

ธรณีสัณฐาน (Landforms) คือ ลักษณะทางกายภาพหรือรูปพรรณสัณฐานที่เกิดขึ้นบนแผ่นเปลือกโลก โดยนับเป็นส่วนหนึ่งของภูมิประเทศที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ภูเขาสูง ทะเลทราย ที่ราบลุ่ม และหุบเหวลึก

ธรณีสัณฐานเหล่านี้ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ทั้งจากการผุพัง การกัดกร่อนและการกัดเซาะของคลื่นลมและกระแสน้ำ (Weathering) รวมไปถึงการเคลื่อนที่ของธารน้ำแข็งและการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก (Plate Tectonics) ซึ่งอาจใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหรือยาวนานนับล้านปีในการสร้างสรรค์และก่อกำเนิดเป็นภูมิประเทศในลักษณะต่าง ๆ บนโลก

ธรณีสัณฐานสามารถจำแนกออกเป็น 4 ประเภทหลัก (Major Landform) ดังนี้

1. ภูเขาหรือเทือกเขา (Mountains) หมายถึง ลักษณะภูมิประเทศที่มีระดับความสูงมากกว่าพื้นที่โดยรอบตั้งแต่ 600 เมตรขึ้นไป เป็นพื้นที่ซึ่งมีความลาดชันสูง โดยภูเขาส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก จากความร้อนและความดันใต้พื้นพิภพ รวมไปถึงแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และการผุพัง การกร่อน และการกัดเซาะจากกระแสลม กระแสน้ำและธารน้ำแข็งที่กระทำต่อพื้นที่โดยรอบ ภูเขาสามารถพบได้ทั้งในมหาสมุทรและบนพื้นแผ่นดิน ดังนั้น จึงมีบ่อยครั้งที่ภูเขาซึ่งเกิดขึ้นใต้ท้องทะเล ถูกเรียกว่าเป็นเกาะที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือผิวน้ำ

ธรณีสัณฐาน, กายภาพของแผ่นดิน, ลักษณะของแผ่นดิน, ที่ราบสูง, ที่ราบลุ่ม, เทือกเขา, ภูเขา

ตัวอย่างของภูเขาหรือเทือกเขาที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก ได้แก่ เทือกเขาหิมาลัย (Himalayas) และเทือกเขาจูรา (Jura Mountains) ของฝรั่งเศส นอกจากนี้ ยังมีภูเขาจำนวนมากซึ่งได้รับการจัดจำแนกเป็นกลุ่มของภูเขาไฟที่คงคุกรุ่น เช่น ภูเขาไฟวิสุเวียส (Mount Vesuvius) ในอิตาลี ซึ่งเป็นภูเขาไฟเพียงแห่งเดียวที่ยังไม่ดับในทวีปยุโรป ภูเขาไฟเอเรบัส (Mount Erebus) ในแอนตาร์กติกา ซึ่งตั้งอยู่ในทวีปที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดในโลก

2. เนินเขา (Hills) หมายถึง ลักษณะภูมิประเทศที่มีระดับความสูงมากกว่าพื้นที่โดยรอบระหว่าง 100 ถึง 600 เมตร ยกเว้นเนินเขาตามชายฝั่งทะเลที่อาจมีระดับความต่างระหว่างพื้นที่โดยรอบต่ำกว่า 60 เมตร

ธรณีสัณฐาน, กายภาพของแผ่นดิน, ลักษณะของแผ่นดิน, ที่ราบสูง, ที่ราบลุ่ม, เทือกเขา, ภูเขา

เนินเขาส่วนใหญ่ เกิดจากการสะสมและการทับถมของเศษดิน หิน และทราย จากการพัดพาของกระแสลม รวมไปถึงการกัดกร่อนและการกัดเซาะของกระแสน้ำที่กระทำต่อพื้นที่โดยรอบ ส่งผลให้เกิดพื้นที่ยกระดับ กลายเป็นเนินเขาที่อาจครอบคลุมพื้นที่เพียงไม่กี่ตารางเมตรไปจนถึงหลายร้อยตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ เนินเขายังสามารถเกิดจากการทับถมของลาวาที่เย็นตัวลง หลังการปะทุของภูเขาไฟ กลายเป็นเนินเขาขนาดย่อมปะปนอยู่ตามเทือกเขาสูง

3. ที่ราบสูง (Plateaus) หมายถึง ลักษณะภูมิประเทศหรือพื้นที่ราบที่มีระดับมีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,500 เมตรขึ้นไป และมีความต่างระดับระหว่างพื้นที่โดยรอบไม่เกิน 300 เมตร ยกเว้นที่ราบสูงที่เกิดจากการกัดเซาะของลำน้ำหรือธารน้ำแข็ง ที่ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นหุบผาสูงชัน บริเวณด้านบนสุดของที่ราบสูงมักมีลักษณะภูมิประเทศค่อนข้างราบเรียบและมีความลาดชันเอียงลงสู่ที่ราบข้างเคียง

ธรณีสัณฐาน, กายภาพของแผ่นดิน, ลักษณะของแผ่นดิน, ที่ราบสูง, ที่ราบลุ่ม, เทือกเขา, ภูเขา

ที่ราบสูงเกิดจากกระบวนต่าง ๆ ทางธรรมชาติเช่นเดียวกัน ทั้งจากการยกตัวขึ้นของแผ่นเปลือกโลกที่ก่อให้เกิด “ที่ราบสูงภาคพื้นทวีป” (Continental Plateau) เช่น ที่ราบสูงเดกกัน (Deccan Plateau) ในอินเดีย และสามารถเกิดจากการทับถมกันของหินหนืดที่ปะทุจากภูเขาไฟ กลายเป็น “แผ่นลาวาบะซอลต์” ที่มีพื้นผิวราบเรียบและมีอาณาบริเวณกว้างขวาง เช่น ที่ราบสูงแอนทริม (Antrim Plateau) ทางตอนเหนือของไอร์แลนด์ รวมไปถึงที่ราบสูงซึ่งเกิดจากผุพัง การกัดกร่อนและการกัดเซาะจากทั้งน้ำฝน กระแสลม และการเคลื่อนที่ของธารน้ำแข็งเป็นระยะเวลานาน เช่น ที่ราบสูงยูนนาน (Yunnan Plateau) ในจีน นอกจากนี้ กระบวนการดังกล่าว ยังก่อให้เกิดภูมิประเทศรองอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “เนินยอดป้าน” (Butte) และ “เนินเมซา” (Mesa) เป็นต้น

4. ที่ราบลุ่ม (Plains) หมายถึง ลักษณะภูมิประเทศที่มีระดับความสูงหรือความต่างระดับระหว่างพื้นที่โดยรอบต่ำกว่า 100 เมตร ผิวของพื้นที่ดังกล่าวอาจมีลักษณะราบเรียบหรือเป็นลูกคลื่นเล็กน้อยจากเนินเขาขนาดย่อม โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ราบซึ่งอยู่ติดชายฝั่งทะเลอาจมีระดับความลาดเอียงไม่มากนัก ที่ราบลุ่มบางแห่งอาจมีความสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 100 เมตร หรือที่เรียกกันว่า “ที่ราบระดับสูง” (High Plain)

ธรณีสัณฐาน, กายภาพของแผ่นดิน, ลักษณะของแผ่นดิน, ที่ราบสูง, ที่ราบลุ่ม, เทือกเขา, ภูเขา

โดยทั่วไป พื้นที่ราบลุ่มเกิดจากกระบวนการทับถมของตะกอนลำน้ำและธารน้ำแข็ง รวมไปถึงตะกอน เศษหินดินทรายจากการผุพังและการกัดกร่อน ซึ่งส่งผลให้ที่ราบลุ่มนั้น เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง เป็นภูมิประเทศที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ราบซึ่งมีแม่น้ำไหลผ่าน เช่น ที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำคงคา และแม่น้ำแยงซีเกียง นอกจากนี้ ยังมีที่ราบซึ่งปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าเป็นบริเวณกว้าง เช่น ทุ่งหญ้าสเตปป์ (Steppe) ในรัสเซีย ทุ่งหญ้าแพรรี่ (Prairie) ในสหรัฐอเมริกาและทุ่งหญ้าแปมปัส (Pampas) ในอาร์เจนตินา

นอกจากนี้ ยังมีธรณีสัณฐานประเภทย่อยหรือ “ภูมิประเทศรอง” (Minor Landform) อีกมากมาย เช่น ทะเลสาบ หาดทราย เกาะแก่ง และสันเขากลางมหาสมุทร รวมไปถึงธรณีสัณฐานแบบคาสต์ (Karst) ที่เกิดจากการละลายตัวของหินปูน ทำให้เกิดป่าหิน สะพานธรรมชาติ ถ้ำ และอุโมงค์ต่าง ๆ อีกด้วย

สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/landform/

Earth Sciences: Types of Landforms

https://www.britannica.com/topic/landform-134931

What are Landforms and Major Types of Landforms on the Earth

http://www.rmutphysics.com/charud/naturemystery/sci3/geology/6/index_ch_6-3.htm


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : การเปลี่ยนแปลงทางธรณี และแผ่นเปลือกโลก

Recommend