ประชากรมนุษย์ กำลังอยู่ในช่วงที่ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่างในการดำรงเผ่าพันธุ์ ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด และภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ในการศึกษาเรื่องประชากรเป็นหนึ่งในศาสตร์ที่ช่วยให้เราสามารถเตรียมแผนรับมือกับสิ่งเหล่านั้นได้
ประชากรโลก (World Population) หมายถึง จำนวน ประชากรมนุษย์ ทั้งหมดที่ยังดำรงชีวิตอยู่บนโลก ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบัน ประชากรโลกมีจำนวนรวมกันทั้งหมดอยู่ที่ราว 7.8 พันล้านคน กระจายตัวอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก
ในการศึกษาประชากรหรือ “ประชากรศาสตร์” (Demography) รูปแบบการเติบโตของประชากรมนุษย์นั้นไม่แตกต่างไปจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ในระบบนิเวศมากนัก ตามอัตราการเกิด-ตาย อัตราการอพยพเข้า-ออก รวมถึงปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด (Carrying Capacity) ทั้งปริมาณอาหาร พื้นที่อยู่อาศัย และข้อจำกัดทางสภาพแวดล้อมต่าง ๆ
ประชากรโลกในอดีต
ในยุคสมัยที่มนุษย์ยังดำรงชีวิตอยู่ด้วยการกินพืชและล่าสัตว์เฉกเช่นสัตว์ผู้ล่าทั้งหลายในระบบนิเวศ เมื่อหลายหมื่นปีก่อน โลกมีจำนวนประชากรมนุษย์อยู่เพียง 5 ล้านคน ถึงแม้ในเวลาต่อมา มนุษย์จะหันมาริเริ่มทำการเพาะปลูก รู้จักเตรียมพื้นที่สำหรับการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการประดิษฐ์เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์ครั้งใหญ่ ประชากรเกิดใหม่ยังนับว่ามีจำนวนไม่แตกต่างจากผู้เสียชีวิตมากนัก ทำให้หญิงสาวในยุคดังกล่าว ส่วนใหญ่อาจมีบุตรมากถึง 6 หรือ 7 คน เนื่องจากอัตราการรอดชีวิตของทารกเกิดใหม่จนถึงวัยผู้ใหญ่ ไม่สูงอย่างเฉกเช่นในปัจจุบัน
จนมาถึงยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในช่วงปี 1750 – 1850 ประชากรโลกในขณะนั้นมีจำนวนรวมกันทั้งหมดอยู่ที่ราว 1 พันล้านคน ซึ่งเป็นยุคที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คนจากการทำไร่นาไปสู่งานโรงงานและอุตสาหกรรม โดยนับเป็นยุคแรกเริ่มของการเปลี่ยนผ่าน เป็นก้าวแรกของการพัฒนาขั้นพื้นฐานที่ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน ทั้งในด้านสุขอนามัย อาหาร ยารักษาโรค และการขนส่ง ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยกระดับมาตรฐานชีวิตของผู้คนในระดับต่าง ๆ ทำให้จำนวนประชากรโลก ณ ขณะนั้น มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 เท่า อีกทั้ง อัตราการเสียชีวิตของประชากรลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มทารกและเด็กแรกเกิด
ประชากรโลกทวีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างสะสมนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงสุดในประวัติศาสตร์เมื่อปี 1963 ที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรลดลงมาอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 – 1.5 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากปรากฏการณ์การลดลงของอัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate) ในทุกประเทศทั่วโลก จากอดีตที่หญิงสาวส่วนใหญ่มักมีบุตรมากราว 6 หรือ 7 คน แต่จากการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพชีวิตที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด รวมถึงการมีบทบาท สิทธิเสรีภาพ และการศึกษาที่สูงขึ้นของผู้หญิงในสังคม ส่งผลให้หญิงสาวส่วนใหญ่มีบุตรน้อยลงหลายเท่า โดยอัตราเจริญพันธุ์รวมอยู่ที่ 1.0 – 2.5 เท่านั้น
โครงสร้างของประชากรมนุษย์ (Population Structure)
ภายใต้เกณฑ์อายุและระยะการสืบพันธุ์ส่งผลให้โครงสร้างประชากรมนุษย์สามารถจำแนกออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้
- ระยะก่อนสืบพันธุ์ (Prereproductive Age) คือ ช่วงอายุ 0 – 14 ปี หรือช่วงวัยเด็ก
- ระยะสืบพันธุ์ (Reproductive Age) คือ ช่วงอายุ 15 – 44 ปี หรือช่วงวัยหนุ่มสาว
- ระยะหลังสืบพันธุ์ (Post Reproductive Age) คือ อายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป หรือช่วงวัยชรา
โดยโครงสร้างทางอายุของประชากรมนุษย์สามารถนำมาแสดงเป็นสัดส่วนบนแผนภาพที่เรียกว่า “พีระมิดอายุ” ได้้้ 4 รูปแบบ ดังนี้
- พีระมิดฐานกว้างยอดแหลม หรือ พีระมิดแบบขยายตัว (Expansive Pyramid) แสดงถึงโครงสร้างประชากรที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสามารถพบโครงสร้างของประชากรลักษณะนี้ได้ในประเทศกัวเตมาลา ซาอุดีอาระเบีย และประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น เคนยา และไนจีเรีย เป็นต้น
- พีระมิดทรงกรวยปากแคบ หรือ พีระมิดแบบคงที่ (Stationary Pyramid) แสดงถึงโครงสร้างของประชากรที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ มีรูปแบบของอัตราการเกิดและอัตราการตายของประชากรที่ค่อนข้างต่ำ สามารถพบโครงสร้างอายุประชากรลักษณะนี้ได้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา และไทย เป็นต้น
- พีระมิดทรงระฆังคว่ำ หรือ พีระมิดแบบเสถียร (Stable Pyramid) แสดงถึงโครงสร้างของประชากรที่มีอัตราการเกิดและอัตราการตายไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก สามารถพบโครงสร้างอายุประชากรลักษณะนี้ได้ในประเทศสเปน เดนมาร์ก อินโดนีเซีย และออสเตรีย
- พีระมิดทรงดอกบัวตูม หรือ พีระมิดแบบหดตัว (Constrictive Pyramid) แสดงถึงโครงสร้างของประชากรที่มีอัตราลดลง จากจำนวนการเกิดที่ต่ำเช่นเดียวกับจำนวนการตาย โดยสามารถพบโครงสร้างอายุประชากรลักษณะนี้ได้ในประเทศเยอรมัน ญี่ปุ่น บัลแกเรีย และสิงคโปร์ เป็นต้น
การกระจายตัวและความหนาแน่นของประชากร
การกระจายตัวของประชากรโลก ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับปัจจัยการดำรงชีวิตและสภาพแวดล้อม ดังนั้น บริเวณที่ประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นส่วนใหญ่ มักเป็นแหล่งที่มีความมั่นคงทางอาหาร เช่น พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ พื้นที่ผุพังของหินซากภูเขาไฟเก่า พื้นที่ริมชายฝั่งทะเล รวมถึงพื้นที่ซึ่งมีสภาพอากาศไม่หนาวเย็นจนเกินไปนัก โดยเฉพาะบริเวณที่มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่อดีต เช่น ที่ราบลุ่มแม่น้ำในประเทศจีน อินเดียและในประเทศทางทวีปยุโรป
ในปัจจุบัน ทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่สามารถควบคุมเส้นทางคมนาคม การขนส่งและความได้เปรียบเชิงอุตสาหกรรมนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการเลือกตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งส่งผลต่อความหนาแน่นของประชากรที่เห็นได้ชัดในสังคมเมืองและชนบท ในปัจจุบัน ความหนาแน่นของประชากรโลกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 25 คนต่อตารางกิโลเมตร
แต่ในปัจจุบัน มาเก๊า โมนาโก สิงคโปร์ และฮ่องกง นับเป็นกลุ่มของรัฐหรือประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด โดยสิงคโปร์มีประชากรเกือบ 8,000 คนต่อตารางกิโลเมตร ขณะที่ประเทศซึ่งมีพื้นที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ อย่างเช่น บังกลาเทศ มีประชากรหนาแน่นที่สุดอยู่ที่ 1,252 คนต่อตารางกิโลเมตร ประเทศที่มีประชากรหนาแน่นน้อยที่สุดในโลก คือ กรีนแลนด์ โดยมีความหนาแน่นอยู่ที่ราว 0.2 คนต่อตารางกิโลเมตรเท่านั้น
ผลกระทบและอนาคต
ประชากรของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ล้วนเป็นองค์ประกอบทางชีวภาพที่สำคัญในระบบนิเวศ ทุกชีวิตต่างมีบทบาทและหน้าที่ของตน ทั้งการเป็นผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ย่อยสลาย ซึ่งขนาดสัดส่วนและการกระจายตัวอย่างเหมาะสมของสิ่งมีชีวิตทั้ง 3 กลุ่ม เป็นกลไกสำคัญที่สร้างความสมดุลให้แก่ระบบนิเวศของโลก
แต่ในปัจจุบัน วิถี ความคิด และแนวทางในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมาก การเติบโตของประชากรมนุษย์กำลังส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสมดุลของระบบนิเวศ จากการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์เกินควร การสร้างมลพิษและขยะ รวมถึงการจัดการในด้านต่าง ๆ ที่ยังคงก่อปัญหาและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งในอนาคต ประเด็นทางสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ อาจกลายเป็นห่วงโซ่สำคัญที่ส่งผลต่อความอยู่รอดของมนุษย์ ไม่เพียงเฉพาะด้านการเป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำและทรัพยากร แต่อาจกลายเป็นฉนวนของปัญหาด้านคุณภาพชีวิตและสังคม การแก่งแย่งแข่งขัน และความขัดแย้งระหว่างผู้คนและประเทศชาติอีกด้วย
สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ
ข้อมูลอ้างอิง
มหาวิทยาลัยรามคำแหง – http://old-book.ru.ac.th/e-book/c/CU474/chapter11.pdf
The Standard – https://thestandard.co/the-world-population-prospects-2019/
National Geographic – https://www.nationalgeographic.com/magazine/2011/01/7-billion-population/
OurWorldInData.org – https://ourworldindata.org/world-population-growth