แมงดาทะเล (Horseshoe Crab) สัตว์ที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงรูปร่างไปจากบรรพบุรุษ

แมงดาทะเล (Horseshoe Crab) สัตว์ที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงรูปร่างไปจากบรรพบุรุษ

แมงดาทะเล สัตว์ที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงรูปร่างไปจากบรรพบุรุษ

แมงดาทะเล (Horseshoe Crab) คือสัตว์ทะเลชนิดหนึ่งซึ่งในทางชีววิทยามักถูกเรียกรวมกับแมงมุม เห็บ กุ้ง ปู กิ้งกือ ตะขาบ และแมลงชนิดต่าง ๆ เรียกรวมว่า “สัตว์ขาข้อ” (Arthropod) ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง (Invertebrate) ในไฟลัมอาร์โทรโพดา (Arthropoda) โดยแมงดาทะเลถูกจัดจำแนกอยู่ในหมวดชั้น (Class) เมอโรสโตมาตา (Merostomata) หรือกลุ่มแมงดา

แมงดาทะเลนับเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่ยังคงดำรงอาศัยอยู่บนโลก ณ เวลานี้ จากการถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อกว่า 400 ล้านปีมาแล้ว ในปัจจุบัน โลกของเราเหลือแมงดาทะเลอยู่เพียง 4 ชนิด มี 2 ชนิดที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทย และอีก 2 ชนิด อาศัยอยู่ในพื้นที่มหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรอินเดีย-แปซิฟิก แมงดาทะเลเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการมายาวนาน แต่โครงสร้าง รูปร่างทางสรีรวิทยา และรูปลักษณ์ภายนอกของพวกมัน ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากบรรพบุรุษของแมงดาทะเลทั้งหลายมากนัก

แมงดาทะเล, แมงดาถ้วย, แมงดาจาน, แมงดาอะไรกินได้, ความแตกต่างระหว่าง

โครงสร้างหลักทางชีววิทยา

  • แมงดาทะเลมีส่วนหัว (Prosoma) และส่วนอก (Opisthosoma) ที่เชื่อมติดกัน มีโครงร่างแข็งภายนอก ลักษณะคล้ายเกือกม้า
  • มีดวงตาที่สามารถมองเห็นได้ดีในความมืดอยู่ด้านข้างของส่วนหัว
  • มีรยางค์ 6 คู่ : 1 คู่ บริเวณปากสำหรับการกินอาหาร และอีก 5 คู่ ทำหน้าที่เป็นขา สำหรับการเคลื่อนที่
  • ส่วนท้องมีลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยม มีแผ่นเหงือกปกคลุมสำหรับใช้ในการแลกเปลี่ยนก๊าซหรือการหายใจใต้น้ำ บริเวณด้านข้างของลำตัวมีหนามแหลม
  • มีหาง (Telson) เรียวยาว ปลายแหลมคม และปกคลุมด้วยเปลือกแข็ง ใช้สำหรับการเคลื่อนที่ การว่ายน้ำและการทรงตัว

แหล่งที่อยู่อาศัยและวงจรชีวิต

แมงดาทะเลเป็นสัตว์ที่พบได้ทั่วไปบริเวณป่าชายเลนและตามพื้นที่ชายฝั่งทะเล รวมถึงบริเวณหาดทรายและหาดโคลน ซึ่งมีระดับน้ำทะเลไม่สูงนัก แต่แมงดาทะเลส่วนใหญ่ใช้เวลาเกือบทั้งปีใต้ทะเลน้ำลึก กินพวกหอย (Molluscs) และไส้เดือนทะเลชนิดต่าง ๆ (Polychaetes) เป็นอาหาร

เมื่ออากาศเข้าสู่ช่วงอบอุ่น (ฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูร้อน) ของทุกปี แมงดาทะเลจะอพยพมายังเขตน้ำตื้น เพื่อจับคู่ผสมพันธุ์ตามบริเวณชายหาด โดยที่ตัวเมียสามารถวางไข่ได้มากถึง 90,000 ฟองต่อฤดูกาล แม้ว่าไข่เหล่านี้ จะมีสัดส่วนเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่สามารถอยู่รอดจนกระทั่งเติบโตเต็มวัย เนื่องจากตัวอ่อนและไข่ของแมงดาทะเลเป็นแหล่งอาหารหลักของนกอพยพและสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด ตัวอ่อนของแมงดาทะเลมีการลอกคราบหลายครั้ง (ราว 15 ถึง 20 ครั้งต่อปี) ซึ่งจะลดลงตามลำดับเมื่อแมงดาทะเลเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัย แมงดาทะเลที่โตเต็มที่จะมีอายุราว 9 ถึง 12 ปี จึงมีความพร้อมที่จะผสมพันธุ์และวางไข่อีกครั้ง

แมงดาทะเล, แมงดาถ้วย, แมงดาจาน, แมงดาอะไรกินได้, ความแตกต่างระหว่าง

แมงดาทะเล 2 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย ได้แก่

แมงดาถ้วย หรือแมงดาไฟ (Carcinoscorpius Rotundicauda) หรือ “เห-รา” ในภาษาท้องถิ่น

  • มีลำตัวโค้งมน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 เซนติเมตร ผิวด้านบนเรียบมัน มีสีน้ำตาลอมแดง
  • ส่วนด้านหน้ามีรูปทรงคล้ายพระจันทร์เสี้ยวหรือรูปเกือกม้า
  • ต่อจากส่วนท้องมีหางค่อนข้างกลมมนคล้ายดินสอ ไม่มีสันหรือหนามแหลม
  • เป็นสัตว์ทะเลมีพิษที่เรียกว่า “สารเตโตรโดทอกซิน” (Tetrodotoxin) หรือ “สารแซกซิทอกซิน” (Saxitoxin) โดยเฉพาะในไข่ของมัน ซึ่งไม่ควรนำมาบริโภค เนื่องจากพิษของแมงดาทะเลส่งผลต่อระบบประสาท และมีอันตรายถึงชีวิต

แมงดาจาน หรือแมงดาหางเหลี่ยม (Tachypleus Gigas)

  • มีขนาดใหญ่กว่าแมงดาถ้วย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำตัวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ผิวด้านบนมีสีน้ำตาลอมเขียว
  • ลำตัวแบนและกว้างคล้ายจาน
  • มีลำตัวส่วนล่างและหางคล้ายรูปสามเหลี่ยม ซึ่งมีหนามแหลมเรียงชิดติดกันเป็นแถวคล้ายฟันเลื่อย
  • เป็นสัตว์ทะเลที่มีพิษไม่มากนัก สามารถนำไข่แมงดาจานมาบริโภคได้
  • ปัจจุบัน แมงดาจานมีประชากรลดต่ำลงอย่างมากในประเทศไทย ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะการสูญพันธุ์ในอนาคต

แมงดาทะเล, แมงดาถ้วย, แมงดาจาน, แมงดาอะไรกินได้, ความแตกต่างระหว่าง

การนำแมงดาทะเลมาประกอบอาหารด้วยการผ่านความร้อน ไม่ว่าจะเป็นการต้ม การปิ้ง หรือการทอด กรรมวิธีเหล่านี้ ไม่สามารถทำลายพิษของแมงดาทะเลลงได้ อีกทั้ง ในปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาพิษชนิดนี้โดยเฉพาะ ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่ มีเพียงการนำพิษออกจากร่างกายผู้ป่วยโดยตรงเท่านั้น จึงมีโอกาสเสี่ยงสูงที่ผู้ป่วย ซึ่งได้รับพิษจะจบลงด้วยการเสียชีวิต ดังนั้น การนำแมงดาทะเลมารับประทานควรผ่านการปรุงจากผู้เชี่ยวชาญ ประชาชนทั่วไปไม่ควรนำไข่แมงดามาปรุงรับประทานกันเอง โดยเฉพาะในช่วงฤดูวางไข่ของพวกมัน ซึ่งไข่ของแมงดาทะเลมีการสะสมสารพิษสูงสุด

สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ


ข้อมูลอ้างอิง

ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี – https://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/bulletin/bul95/v3n1/Hors_crab
Saint Louis Zoo – https://www.stlzoo.org/visit/thingstoseeanddo/stingraysatcaribbeancove/horseshoecrabfacts
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) – https://www.nstda.or.th/th/news/13084-horseshoecrab
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ – https://www.nectec.or.th/schoolnet/library/create-web/10000/science/10000-3737.html


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : อาร์โทรโพดา (Arthropoda)

Recommend