ประเทศไทยเดินหน้าด้วยเทคโนโลยีจากอวกาศ

ประเทศไทยเดินหน้าด้วยเทคโนโลยีจากอวกาศ

กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดภัยพิบัติในด้านต่างๆ หลายครั้ง ทั้งน้ำท่วม ไฟป่า ฝุ่นละออง PM2.5 รวมไปถึงภัยพิบัติทางทะเล

เราบันทึกทุกเหตุการณ์เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วย “ภาพถ่ายดาวเทียม” ชื่อของ “GISTDA” หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมในการติดตามสถานการณ์ต่างๆ และบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

เมื่อโลกเปลี่ยนไป เทคโนโลยีก็เปลี่ยนตาม องค์กรและหน่วยงานต่างๆ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัพใหม่ เพื่อก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านนโยบายประเทศ การเข้าถึง การแข่งขัน การตลาด และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทุกองค์กรไม่สามารถหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้ GISTDA ก็เช่นเดียวกันจะต้องปรับบทบาทเข้าสู่การพัฒนาวิธีการแก้ปัญหาให้กับประเทศ แม้ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนแบบก้าวกระโดด แต่ด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 สิ่งที่เรามี คือข้อมูล เทคโนโลยี และกำลังคน ถือเป็นกลไกที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศอย่างเต็มที่

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า จากวันนี้เราต้องมองไปอีก 20 ปีข้างหน้าว่า โลกกำลังจะไปในทิศทางไหน หลายประเทศมหาอำนาจทางเทคโนโลยีอวกาศพยายามใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศมากยิ่งขึ้นในหลากหลายด้าน ทั้งเรื่องของการค้นหาที่อยู่ใหม่ ถิ่นฐานใหม่ ค้นหาทรัพยากรใหม่ให้กับมนุษย์โลก รวมถึงการใช้ประโยชน์ในด้านธุรกิจจากห้วงอวกาศ ทุกคนอาจเคยได้ยินคำว่า “อวกาศเป็นของมนุษย์โลก” เป็นของทุกๆ คน ดังนั้น GISTDA ในฐานะองค์กรภาครัฐที่มีหน้าที่หลักในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย มีหน้าที่พิจารณาว่าโอกาสในการใช้พื้นที่จากอวกาศเป็นอย่างไรบ้าง ในอีก 20 ปีข้างหน้า GISTDA ได้วางเป้าหมายไว้ชัดเจน ซึ่งประการแรกต้องเน้นช่วยประเทศในการดูทิศทางของเทคโนโลยีอวกาศ ประการที่ 2 จะเป็นเรื่องของอวกาศและ GIS ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน

ในด้านเทคโนโลยีอวกาศ ทุกคนทราบดีว่า GISTDA มีโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ THEOS-2 ซึ่งในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า เราจะได้ใช้ประโยชน์จากระบบ THEOS-2 ตามที่ได้วางแผนไว้และเน้นหนักในเรื่องของการนำระบบ THEOS-2 มาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด

ทั้งในเรื่องของตัวดาวเทียม ภาพถ่ายดาวเทียม ระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายที่เชื่อมโยงกับระบบ THEOS-2 ไม่ว่าจะเป็นอาคารประกอบและทดสอบดาวเทียม ระบบงาน ระบบรับสัญญาณ และอื่นๆ จากนั้นเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชั่น AIP (Actioable Intelligence Policy Platform) เพื่อช่วยให้เกิดการบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายในอนาคตประกอบการดำเนินงานในเชิงพื้นที่ รวมถึงในขณะนี้เราได้เตรียมการวางแผนทางด้านธุรกิจเพื่อให้บริการข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในระดับนานาชาติ สร้างพันธมิตรในระดับนานาชาติ

นอกจากสร้างงานแล้ว สิ่งสำคัญอย่างมากคือการสร้างคน สร้างบุคลากรควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะบุคลากรที่ผ่านการฝึกฝนอย่างหนักในโครงการระบบ THEOS-2 จากต่างประเทศ ซึ่งพวกเขาเหล่านี้จะต้องนำองค์ความรู้ต่างๆ มาต่อยอดและถ่ายทอดให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนในประเทศไทยของเรา โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในด้านอวกาศได้มีความรู้ และเพิ่มทักษะในกระบวนงานด้านอวกาศมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมคนไทยในศตวรรษที่ 21 ด้วย

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA

ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวต่อไปว่า อวกาศเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทยที่จะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศในทุกๆ มิติ ซึ่งหากมองโดยภาพรวมแล้ว สิ่งที่ GISTDA จะต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้ คือ

1. การศึกษาโอกาสทางธุรกิจ เราจะต้องทำการวิเคราะห์ว่าสามารถทำอะไรได้บ้างในเรื่องของอวกาศ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ การลงทุน ความคุ้มค่า และต้องศึกษาถึงความเป็นไปได้ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า รวมไปถึงการเตรียมความพร้อม การวางแผน และการดึงดูดพันธมิตรหน้าใหม่ในวงการอวกาศเพื่อสร้างความร่วมมือกันในอนาคต

2. สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน เพื่อให้ทราบถึงความสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศว่าสามารถสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยของเราได้อย่างไรบ้าง ซึ่งการสร้างความตระหนักนี้เกิดจากบุคลากรที่เราสร้างขึ้นมาจากหน่วยงานภาครัฐที่ไปร่วมมือกับโครงการระบบ THEOS-2 และจากผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ โดย GISTDA จะเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมความร่วมมือ สร้างเครือข่ายผู้มีความรู้ด้านอวกาศให้มากที่สุดเพื่อที่จะกระจายองค์ความรู้เหล่านี้ไปสู่ท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3. สร้างคน ซึ่งจะต้องเริ่มต้นจากระดับมัธยมศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัย คิดค้นและพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถนำมาบูรณาการและต่อยอดได้ เช่น การเขียนโปรแกรมการสื่อสารระหว่างดาวเทียมกับศูนย์ควบคุมบนพื้นโลก หรือความร่วมมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศซึ่งมีหลากหลายด้านที่เราจะต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับอนาคตของประเทศไทย

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหลักสูตรในระดับมัธยมศึกษาก็เริ่มบรรจุความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการสร้างดาวเทียมบ้างแล้ว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเน้นย้ำให้เนื้อหาหลักสูตรมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยระยะแรกไม่จำเป็นต้องเน้นวิชาการมากนัก แต่ต้องเป็นหลักสูตรที่สามารถสร้างจินตนาการ เพื่อให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจได้ หรือมีแหล่งเงินทุนที่จะสนับสนุนให้เด็กๆ สามารถสร้างและประกอบดาวเทียมเองได้ เป็นต้น

4. การส่งเสริมการกำกับในภาครัฐ ภาคเอกชน และต่างประเทศ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากอวกาศในประเทศไทย ในขณะนี้ GISTDA เตรียมการร่าง พรบ.กิจการอวกาศ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนระหว่างเตรียมเสนอ ครม. เพื่อพิจารณา หวังว่าจะสามารถนำมาช่วยส่งเสริมในการกำกับการดำเนินงานในอนาคตได้ รวมถึงรองรับอุตสาหกรรมอวกาศและกิจการอวกาศที่จะเกิดขึ้นภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องและเตรียมรับมือกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศได้อีกด้วย

สำหรับด้านความร่วมมือกับต่างประเทศก็จะดำเนินการควบคู่กันไปกับทุกๆ ด้านอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศไม่ใช่เทคโนโลยีที่เราคิดค้นขึ้นมาเอง ดังนั้น จึงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เป็นเทคโนโลยีที่มีราคาสูง เพราะฉะนั้นในด้านความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนทรัพยากร ผู้ที่มีองค์ความรู้ รวมไปถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ จึงมีความสำคัญและจำเป็นมากที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวหน้าไปสู่ระดับสากล

GISTDA จึงให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับต่างประเทศ เพราะประเทศไทยมีเทคโนโลยีเหล่านี้มาถึงทุกวันนี้ได้ก็มาจากความร่วมมือกับต่างประเทศ ทั้งในเรื่องของดาวเทียม GIS และรีโมทเซนซิ่ง ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นระดับทวิภาคี หรือระดับองค์กร และภาคส่วนต่างๆ เราให้ความสำคัญทั้งหมด

ประเทศไทยของเรามีจุดเด่นหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศที่ดีที่สุดในอาเซียน เศรษฐกิจที่ดี บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศอื่นๆ ดังนั้น GISTDA จึงตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำและแกนหลักที่จะผลักดันในเรื่องนี้ เพื่อให้เป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนให้ได้ จากนั้นภายใน 3-5 ปี เราจะก้าวไปในระดับเอเชีย และนานาชาติให้ได้เช่นกัน

จากนี้ไป GISTDA จะเร่งเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศต่อไปอย่างเต็มกำลัง พร้อมกับการขยายกลุ่มผู้ใช้งานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศไปสู่ภาคสังคม ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งพัฒนารูปแบบข้อมูลและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการกลุ่มผู้ใช้งานธุรกิจในกลุ่มต่างๆ ตลอดจนทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ผลักดัน Co-creation ในทุกภาคส่วนบนพื้นฐานของความโปร่งใสตรวจสอบได้

ณ วันนี้ เทคโนโลยีอวกาศไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว และยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญให้กับประเทศในการสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ให้ดียิ่งขึ้น สามารถเข้าถึงกลุ่มรากหญ้านำไปสู่การจ้างงาน เกิดการนำเงินทุนเข้าประเทศไทย สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทยในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า ดังนั้น GISTDA ในฐานะองค์กรหลักของประเทศในด้านกิจการอวกาศ จึงต้องกำกับ ดูแล ศึกษาหาช่องทาง หาโอกาสในเรื่องของกิจการอวกาศอย่างรอบคอบในทุกๆ บริบท และต้องให้ความสำคัญกับทำงานแบบมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน รวมถึงมีเครือข่ายพันธมิตรกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาของประเทศที่มีอยู่มากมายหลายมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวปิดท้าย

Recommend