การเติบโตของ อุตสาหกรรมอวกาศ ในประเทศไทย

การเติบโตของ อุตสาหกรรมอวกาศ ในประเทศไทย

GISTDA ดันผู้ประกอบการไทยผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมเล็ก ยกระดับขีดความสามารถสู่ อุตสาหกรรมอวกาศ เต็มตัว

เศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากการศึกษาของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์พบว่า อุตสาหกรรมอวกาศ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเติบโตมากขึ้นถึงร้อยละ 10 ต่อปี คิดเป็นมูลค่าถึง 35,559 ล้านบาท และขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมสำรวจ (Earth Observation Satellite) และอุตสาหกรรมระบบดาวเทียมนำทาง (GNSS) ที่มีการนำมาประยุกต์ใช้งานอย่างกว้างในหลายภาคส่วน ทำให้รัฐบาลไทยเร่งส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการในประเทศไทยเพิ่มศักยภาพพร้อมทั้งยกระดับขีดความสามารถเพื่อเข้าสู่ Space Value Chain และแข่งขันได้ในระดับสากล

หนึ่งในโครงการที่รัฐบาลไทยมุ่งส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโครงการหนึ่งคือ การพัฒนาผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมในประเทศไทยจากการสร้างดาวเทียมดวงเล็กภายใต้โครงการ THEOS-2 ซึ่งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับบริษัท AIRBUS มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพได้เข้าสู่ Space Value Chain เพื่อยกระดับขีดความสามารถสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่ยังไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน

ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล หัวหน้าฝ่ายพัฒนาและเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมอวกาศและหัวหน้าห้องปฏิบัติการ GALAXI ของ GISTDA เปิดเผยว่า

“ที่ผ่านมาประเทศไทยมีผู้ประกอบการในธุรกิจการบินอยู่แล้ว การจะผลักดันให้เศรษฐกิจอวกาศภายในประเทศเติบโตได้จำเป็นต้องสร้างโอกาสและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นสามารถก้าวสู่ อุตสาหกรรมอวกาศ เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจอวกาศในอนาคต GISTDA จึงได้กำหนดแผนส่งเสริมผู้ประกอบการดังกล่าวให้สามารถเข้าสู่ Space Value Chain ด้วยการผนวกแผนการพัฒนาผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมในประเทศไทยเข้ากับโครงการ THEOS-2 ซึ่งกำหนดให้บริษัท AIRBUS ประเทศฝรั่งเศส โดย Surrey Satellite Technology Ltd (SSTL) ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตดาวเทียมดวงเล็กในโครงการ THEOS-2 สั่งซื้อชิ้นส่วนดาวเทียมดวงเล็กจากผู้ประกอบการในประเทศไทยเพื่อให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยมีโอกาสได้ร่วมงานกับบริษัทผู้ผลิตดาวเทียมชั้นแนวหน้าของโลก ซึ่ง GISTDA จะเป็นผู้คัดสรรผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเบื้องต้นด้วยตัวเอง ก่อนส่งให้ SSTL พิจารณาและคัดเลือกเพื่อดำเนินการสั่งผลิตชิ้นส่วนที่ต้องใช้ในโครงการดังกล่าวต่อไป”

อุตสาหกรรมอวกาศ, ดาวเทียม, ประเทศไทยไปดวงจันทร์, การสำรวจอวกาศ, การสร้างดาวเทียม

ดร.ณัฐวัฒน์ กล่าวเสริมว่า โครงการพัฒนาผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมในประเทศไทยจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีอวกาศที่ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียม “Made in Thailand” เท่านั้น หากยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมอวกาศจากการต่อยอดทางธุรกิจของเหล่าผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วน Spacecraft ซึ่งเป็นธุรกิจในกลุ่ม NEW S-Curve สำหรับผู้ประกอบการที่ GISTDA ได้คัดเลือกไว้ อาทิ AEROWORKS, CCS GROUP, LENSO AEROSPACE, JINPAO, SENIOR AEROSPACE, LEISTRITZ, PRO TITANIUM, GRAVITECH Thailand, Synergy Technology, CEants, RV Connex, Epro, Starmicro และ Cherry Tech เป็นต้น

อุตสาหกรรมอวกาศ, ดาวเทียม, ประเทศไทยไปดวงจันทร์, การสำรวจอวกาศ, การสร้างดาวเทียม

“การที่ผู้ประกอบการในประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในโครงการอวกาศระดับประเทศถือเป็นก้าวที่สำคัญมาก เนื่องจาก นับเป็นครั้งแรกที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปเป็น Tier-1 ใน Supply chain การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน/ดาวเทียม ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดให้แก่อุตสาหกรรมในประเทศได้อีกมาก อีกทั้งยังเป็นการยกระดับกระบวนการด้านคุณภาพในการผลิตของผู้ประกอบการไทยทั้งระบบ ให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนา และยกระดับขีดความสามารถของตนเองเพื่อสร้างความมั่นใจให้เป็นผู้ผลิตในธุรกิจดาวเทียมในระดับสากลในอนาคต”

อุตสาหกรรมอวกาศ

ทางด้าน Dr. Viren Malhotra ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไมโครเมทิกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการไทยที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนบางประเภทสำหรับประกอบดาวเทียม กล่าวว่า บริษัท ไมโครเมทิกส์ เป็นบริษัทเชื้อสายไทยแท้ และได้ใบรับรองการผลิตชิ้นส่วนในธุรกิจการบินระดับสากล และเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมผลักดันงานอุตสาหกรรมการเดินอากาศ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20 ปี

โดยเราเริ่มจากกการทำชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ จนกระทั่งรัฐบาลได้สนับสนุนเรื่องการขนส่งและการเดินอากาศ ช่วยให้เรามีส่วนในการผลิตชิ้นส่วน รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ และเปิดโอกาสทางอาชีพให้บริษัทจ้างงานคนไทยได้เพิ่มขึ้น เช่น การซ่อมบำรุงเครื่องบิน เราได้จ้างช่างเทคนิคเข้ามาอบรม ซึ่งเป็นการเพิ่มทักษะด้านการบินและอวกาศให้กับแรงงานไทย นั่นจึงเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้ก้าวไปสู่ระดับสากล และได้ทำงานร่วมกับ GISTDA และบริษัทชั้นนำของโลกอย่างแอร์บัส

อุตสาหกรรมอวกาศ

ด้านนายตติย มีเมศกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เลนโซ แอโรสเปซ จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการไทยที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนประเภท Mechanical Parts สำหรับประกอบดาวเทียม กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราผลิตชิ้นส่วนให้แอร์บัส ทั้งการตกแต่งภายใน เครื่องยนต์ ส่วนประกอบภายนอก และแผ่นปิดแผงวงจรต่างๆ ในห้องนักบิน เราเป็นบริษัทสัญชาติไทย ที่ก่อตั้งโดยคนไทย และพนักงานส่วนใหญ่เป็นคนไทย

การเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตดาวเทียมของประเทศไทยในครั้งนี้ ผมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญและเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ร่วมมือกับ GISTDA และองค์กรชั้นนำระดับโลก ที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศได้รับข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตดาวเทียมในต่างประเทศ เพื่อนำมาสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ในบริษัทของเรา เพื่อให้เกิดเป็นทักษะและประสบการณ์ใหม่ๆ ที่บริษัทของเราไม่เคยทำมาก่อน รวมไปถึงได้เรียนรู้เรื่องข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องการเทคโนโลยีอวกาศของโลก

ที่ผ่านมา ความร่วมมือของภาคเอกชนในการทำโครงการขนาดใหญ่ และมูลค่าสูงเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยากด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่พอ GISTDA มีนโยบายที่จะส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการในประเทศไทยเข้าสู่ Space Value Chain และแข่งขันได้ในระดับสากล จึงทำให้เราสามารถร่วมมือกับหลายๆ บริษัทในประเทศเพื่อผลิตดาวเทียมสัญชาติไทยขึ้นมาได้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ระหว่างองค์กร ในอนาคตอาจจะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน เพื่อการผลิตในระดับชาติ หรือโครงการอวกาศที่ทันสมัยในประเทศไทยได้

นอกจากนี้ Mr. Ketan Pole ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซี.ซี.เอส. กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในผู้ประกอบการไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนบางประเภทสำหรับดาวเทียมเช่นกัน ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมา บริษัทของเราได้ผลิตชิ้นส่วนให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการบินทั้งโบอิ้ง และแอร์บัสอยู่แล้ว เป็นบริษัทสัญชาติไทยบริษัทแรกที่ได้รับใบรับรอง NADCAP เมื่อ พ.ศ. 2552 และยังเป็นบริษัทแรกที่ได้รับความร่วมมือในระดับสากลในการสนับสนุนชิ้นส่วนเครื่องบิน

ผมเห็นว่างานด้าน Aerospace จึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว และเป็นโอกาสที่ดีที่เราได้รับคัดเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการผลิตดาวเทียม เราจึงมองว่า เราได้ขยายศักยภาพการทำงานของเราในด้านเทคโนโลยีดาวเทียม ซึ่งเป็นการต่อยอดงานด้านการบินพาณิชย์ที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ตลอดจนการเรียนรู้งานด้านการออกแบบดาวเทียมที่ยังได้ที่ปรึกษาชั้นเยี่ยม อย่างแอร์บัส มาช่วยให้เราสามารถทำงานนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้คนไทยมีศักยภาพเพิ่มขึ้นในด้านทักษะการออกแบบดาวเทียม ซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่เราไม่เคยเรียนรู้ที่ไหนมาก่อน Mr. Ketan Pole กล่าว

ขณะนี้มีผู้ประกอบการหลายบริษัทที่ GISTDA คัดเลือกให้ SSTL ซึ่งแบ่งเป็นผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนประเภท Mechanical Parts และ Electronic Parts โดย SSTL ได้เริ่มดำเนินงานกับผู้ประกอบการไทยผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมแล้ว เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จชิ้นส่วนเหล่านี้จะถูกนำไปประกอบเป็นชิ้นส่วนของดาวเทียมดวงเล็กภายใต้โครงการ THEOS-2 ที่จะถูกนำส่งในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของวงการอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทย


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ยานอวกาศจีน จอดบนดวงจันทร์สำเร็จเป็นครั้งแรก พร้อมเก็บตัวอย่างบนดวงจันทร์

ยานอวกาศจีน, ฉางเอ๋อ 5

Recommend