นักวิจัยพบว่า แม้แต่ผู้ที่มีอาการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงสามารถมีอาการที่ถึงขั้นเปลี่ยนชีวิต หรือส่งผลให้ความสามารถในการรับรู้ของสมองเสื่อมสภาพลงไปได้
ฮันนาห์ เดวิส ชาวนิวยอร์ก อายุ 32 ปี ได้รับเชื้อโควิด-19 ในช่วงเดือนมีนาคม 2020 อันเป็นช่วงแรกของการระบาด แต่อาการของเธอไม่ได้เป็นไข้หรือไอ แต่กลับเป็นการที่เธออ่านข้อความที่เพื่อนส่งมาไม่ได้ มึนงงสับสน และนอนไม่หลับ จากนั้นจึงมีภาวะปวดศีรษะฉับพลัน และมีอาการสมาธิสั้นจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การทำอาหาร หรือเดินข้ามถนนได้
เดวิสเป็นหนึ่งในผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งมีจำนวนราวร้อยละ 30 ที่มีอาการทางประสาทหรืออาการทางจิตเวช จากการประเมินของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health) สหรัฐอเมริกา โดยปัญหาความสามารถในการรับรู้นี้สามารถเรื้อรังได้เป็นหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนหลังจากเริ่มได้รับเชื้อ
เมื่อปี 2020 โรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาได้เปิดคลินิกผู้ป่วยที่เคยติดโรคโควิด-19 (Post-COVID clinics) เพื่อรักษาผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่มีอาการร้ายแรงที่แม้จะผ่านการรักษามาแล้วแต่ร่างกายยังมีผลกระทบจากการติดเชื้ออยู่ อย่างไรก็ตาม คลินิกเหล่านี้เต็มไปด้วยผู้ป่วยที่ไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาลแต่มีอาการต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งอาการนี้รวมไปถึงภาวะสมองล้าและปัญหาด้านการรับรู้
“เราคาดว่าผู้ที่เคยรักษาอยู่ในห้องไอซียูจะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูนานมากๆ แต่ก็น่าแปลกใจอย่างยิ่งว่าผู้ที่ไม่เคยรักษาในโรงพยาบาลก็มีปัญหาอาการเหล่านี้เป็นเวลานานเช่นเดียวกันครับ” วอลเตอร์ โคโรเชตซ์ ผู้อำนวยการสถาบันความผิดปกติด้านประสาทวิทยาและหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งสถาบันสุขภาพแห่งชาติ กล่าว เขากำลังพยายามทำการศึกษาเพื่อหาคำอธิบายในทางชีววิทยาว่าเหตุใดอาหารเหล่านี้ถึงยังไม่ดีขึ้นแม้จะผ่านเวลามานานนับเดือน
สิ่งที่ยังคลุมเครืออยู่ในขณะนี้คือ มีผู้คนที่สามารถหายจากอาการนี้ได้ในที่สุดเป็นจำนวนเท่าไหร่ และคนที่ยังคงมีอาการที่เกิดในระยะยาวมีมากน้อยเพียงไหน
หนึ่งปีครึ่งถัดมา เดวิสทำงานได้เพียง 2-3 ชั่วโมงต่อวันเนื่องจากอาการสมองล้า สูญเสียความทรงจำระยะสั้น และปัญหาด้านการรับรู้อื่นๆ เธอได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการ post-viral dysautonomia หรือความผิดปกติทางด้านระบบประสาทที่ก่อให้เกิดอาการวิงเวียน หัวใจเต้น หายใจหอบถี่ในตอนลุกขึ้นจากท่านอนหรือท่านั่ง ซึ่งบางครั้งต้องรักษาด้วยการให้ยาฟลูโดรคอร์ติโซน (Fludrocortisone), ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือยาไมโดดรีน (Midodrine) ที่ใช้ลดความดันเลือด
“ฉันไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้มาก่อนในชีวิต” ดาวิสกล่าวและเสริมว่า “ร่างกายของคุณจะรู้สึกว่ามันจวนจะแตกสลาย และสูญเสียการรับรู้ของตัวเอง”
การทดสอบทางเชาวน์ปัญญาแห่งบริเตนใหญ่
ก่อนที่จะเกิดภาวะโรคระบาด ทีประเทศอังกฤษ อดัม แฮมเชียร์ นักประสาทวิทยาศาสตร์เชิงปัญญา (cognitive neuroscientist) และเพื่อนร่วมงานของเขาที่ราชวิทยาลัยลอนดอน (Imperial College London) เตรียมวางแผนจัดทำการสำรวจระดับชาติที่ชื่อว่า การทดสอบทางเชาวน์ปัญญาแห่งบริเตนใหญ่ (Great British Intelligence Test) เพื่อทำความเข้าใจว่าปัจจัยเช่นอายุ การดื่มแอลกอฮอล์ อาชีพ มีผลต่อความสามารถทางปัญญาอย่างไร ซึ่งเมื่อเกิดภาวการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 พวกเขาจึงเพิ่มปัจจัยการติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมาด้วย
จากจำนวนผู้ที่ทำแบบทดสอบกว่า 81,000 คน ในช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม 2020 มี 13,000 คนที่มีรายงานว่าติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีอาการในระดับกลางไปจนถึงรุนแรง ผลการทดสอบเปิดเผยว่าพวกเขามีปัญหาทางกระบวนการรับรู้และการคิดมากกว่าผู้ที่ไม่เคยมีอาการทรมานจากโควิด-19
“ในแง่มุมที่เลวร้ายที่สุด ผู้ที่รักษาที่โรงพยาบาลและได้รับการใส่เครื่องช่วยหายใจแสดงถึงความสามารถทางการพูดได้ต่ำเยอะมากๆ ครับ” แฮมเชียร์กล่าว
โดยคนเหล่านี้มีปัญหาในเรื่องการให้เหตุผล การคิดแก้ปัญหา การวางแผนในแบบทดสอบ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้คนที่อยู่ในช่วงอายุเดียวกัน ภูมิหลังทางการศึกษาเดียวกัน แต่ไม่ได้เข้ารับรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งการถดถอยทางปัญญาโดยเฉลี่ยเปรียบได้กับการลดอายุทางปัญญาไป 10 ปี ผลศึกษานี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Lancet เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม
โดยผู้ที่เคยรักษาในห้องไอซียูนั้นจะมีปัญหาด้านการรับรู้ที่ยาวนานกว่า โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีอาการระบบหายใจล้มเหลวจะมีอาการคล้ายกับสมองที่ได้รับบาดเจ็บ และการรักษาในห้องไอซียูซึ่งผู้ป่วยจะไม่ได้ขยับตัวและต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ สภาวะดังกล่าวจะก่อให้เกิดภาวะสับสนเฉียบพลัน (delirium) หรือการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะในจิตใจที่ก่อให้เกิดความสับสนและงุนงง ซึ่งอาจมีอาการได้เป็นชั่วโมง วัน หรือสัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ภาวะอยู่นิ่งเนื่องจากการรักษาก็ไม่ได้เป็นสาเหตุที่อธิบายถึงผลกระทบที่มีต่อระบบประสาทและการรับรู้ของผู้ป่วยโควิด-19 ได้ทั้งหมด เนื่องจากยังมีผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเช่นเดวิส ที่มีอาการเช่นเดียวกัน
กลไกทางชีววิทยา
หากเชื้อ SARS-CoV-2 ไม่ได้ส่งผลต่อเซลล์สมอง แล้วมันก่อให้เกิดความเสียหายต่อสมองได้อย่างไร? ในขณะนี้มีสมมติฐานหลักๆ อยู่สองประการ
สมมติฐานแรกคือการติดเชื้อนั้นก่อให้เกิดการอักเสบในสมอง ผู้ป่วยโควิด-19 บางคนมีอาการไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) หรือสมองบวม ซึ่งก่อให้เกิดการสับสนงุนงงและเห็นภาพซ้อน ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจก่อให้เกิดปัญหาการพูด ได้ยิน หรือมองเห็น ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยก็อาจมีปัญหาทางด้านการรับรู้ที่รุนแรงขึ้น โดยไวรัสเช่น เวสต์ไนล์ (West Nile Virus) หรือไวรัสซิกาสามารถก่อให้เกิดอาการไข้สมองอักเสบโดยการที่เชื้อติดต่อไปเซลล์สมองโดยตรง แต่การที่เชื้อโควิด-19 ก่อให้เกิดการอักเสบในสมองได้อย่างไร ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน
สมมติฐานข้อที่สองก็คือ เชื้อโควิด-19 อาจยับยั้งการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจนหล่อเลี้ยงที่ไปยังสมอง โดยผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโควิด-19 นักวิจัยพบหลักฐานว่าเนื้อเยื่อสมองนั้นเสียหายเนื่องจากภาวะ hypoxia หรือการพร่องออกซิเจน
“สมองเป็นอวัยวะที่ต้องการออกซิเจนในการทำงานของมันมากๆ” Billie Schultz แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งคลินิกมาโยในรัฐมินนิโซตา ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูจากโรคหลอดเลือดสมองและการบาดเจ็บที่สมอง กล่าว
ยังมีอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมาทั้งการเจ็บปวด เหนื่อยล้า การหายใจสั้น ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ด้วยเช่นกัน Schultz กล่าว “มันไม่ใช่เพียงอาการทางสมอง แต่เป็นภาวะอาการของทั้งร่างกายที่เราควรกล่าวถึงครับ”
วิกฤตการณ์ทางสุขภาพถัดไป
Schultz หวังว่าผู้ที่มีปัญหาทางด้านการรับรู้เนื่องจากโควิด-19 จะมีอาการที่ดีขึ้น หลายคนที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมองภาวะสมองบาดเจ็บจะสามารถหายได้เองโดยธรรมชาติ จากกระบวนการเยียวยาตัวเองของสมองภายในสามถึงหกเดือน
แต่ยังมีผู้ที่กังวลว่าอาการทางด้านการรับรู้ที่เกิดจากโควิด-19 อาจนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้ จากการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บรรดานักวิทยาศาสตร์นำเสนองานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการรักษาพยาบาลมีตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในเลือด (blood biomarkers) การเสื่อมของระบบประสาท (neurodegeneration) และการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นงานวิจัยยังไม่ได้รับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ (peer-review)
ฮีเธอร์ สไนเดอร์ รองประธานด้านความสัมพันธ์ทางการแพทย์กับวิทยาศาสตร์แห่งสมาคมโรคอัลไซเมอร์เตือนว่า ผลการศึกษานี้ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าผู้ที่ได้รับเชื้อโควิด-19 จะมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์หรืออาการสมองเสื่อมประเภทอื่นๆ เสมอไป “เรากำลังพยายามทำความเข้าใจความเชื่อมโยงเหล่านี้” เธอกล่าว
ในขณะนี้ ยังไม่มีการรักษาแบบเจาะจงต่อภาวะสมองล้าที่เกิดจากโรคโควิด-19 การสูญเสียความทรงจำ หรือผลกระทบด้านการรับรู้อื่นๆ อย่างไรก็ตาม แพทย์ได้ใช้วิธีการบำบัดทางความคิด กิจกรรมบำบัด หรือการแก้ไขทางการพูด (cognitive therapy, occupational therapy, or speech-language pathology ) เพื่อรักษาอาการเหล่านี้ มีหลายการศึกษา เช่นเดียวกับงานศึกษาหนึ่งโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐที่พยายามทำความเข้าใจถึงความผิดปกติในกลไกและการรับรู้ที่ซ่อนอยู่ในผู้ป่วยโควิด-19 ในระยะยาวและความหวังในการรักษาที่มีโอกาสได้ผล