ฉลามดึกดำบรรพ์เมื่อ 275 ล้านปีก่อน กับฟอสซิลขากรรไกรใบเลื่อยที่ไม่มีใครเหมือน
ปริศนาฟันเลื่อยเกิดขึ้นจากฟอสซิลซึ่งมีลักษณะคล้ายใบเลื่อยวงเดือนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 ซม. รอยประทับจากอดีตเผยให้เห็นลิ่มแหลมคมมากถึง 150 อันเรียงตัวหนาแน่นอยู่ในวงก้นหอยหรือเกลียวก้นหอย นักวิทยาศาสตร์ตั้งคำถามมานานกว่า 100 ปีว่าพวกมันคืออะไร คำตอบก็คือ ขากรรไกรสังหารของฉลาม เฮลิโคไพรออน (Helicoprion) หรือฉลามฟันเลื่อย (Helicoprion – Spiral Saw) สัตว์โบราณที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 275 ล้านปีก่อน
มีทฤษฎีที่คาดเดากันไปต่างๆ มากมายว่าอวัยวะรูปทรงเกลียวเหมือนก้นหอยคล้ายใบเลื่อยวงเดือนนี้คืออวัยวะใด จะเป็นส่วนหนึ่งของปาก หรือจะเป็นครีบป้องกันตัว
ในปี 1866 นักวิทยาศาสตร์คาดว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของปาก
ปี 1911 คาดว่าจะเป็นครีบหลังไว้ป้องกันตัว
ปี 1902 คาดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของหางไว้
จนกระทั่งในปี 2013 ได้มีการนำฟอสซิลที่ถูกค้นพบเมื่อปี 1950 ซึ่งอยู่ติดกับกระดูกอ่อนมาทำซีทีสแกนและสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ และนำมาเทียบกับกะโหลกศีรษะของฉลาม Omithoprion ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใกล้ชิดกัน คำตอบจึงแน่ชัดว่านี่คือกรามและฟันของ ฉลามโบราณ เฮลิโคไพรออน
กรามสังหาร ขากรรไกรหยัก
ฉลามเฮลิโคไพรออน เป็นฉลามยักษ์ที่มีฟันเป็นวงก้นหอยขนาดใหญ่ขึ้น 3 เท่าตลอดช่วงเวลา 8 ล้านปีที่พวกมันวิวัฒนาการและท่องไปในทะเล ขากรรไกรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นลักษณะทางกายวิภาคที่ไม่พบเห็นอีก สามารถเฉือนเหยื่อตัวอ่อนนุ่มได้เหมือนดาบ และแงะสัตว์ออกจากเปลือกแข็งๆ ได้
หากเปรียบเทียบกับฉลามขาวในปัจจุบัน ซึ่งมีขนาด 6 เมตร ฉลามเฮลิโคไพรออนมีขนาดยาวสูงสุดถึง 12 เมตร แต่สัดส่วนลำตัวจะเป็นทรงแคบกว่าฉลามขาว มุมความกว้างของขากรรไกรเวลาอ้างับเหยื่อ ฉลามขาวอ้าค้างทำมุมได้ 60 องศา ในขณะที่ฉลามเฮลิโคไพรออนอ้าค้างได้ถึง 90 องศา แต่มีพลังในการกัดเพียง 1 ใน 3 ของฉลามขาว ใกล้เคียงกับพลังของขากรรไกรจระเข้ในปัจจุบัน
ลักษณะการผลัดฟันก็ต่างกันมาก ฉลามขาวในปัจจุบันซึ่งไม่มีกรามเป็นทรงก้นหอย จะผลัดฟันชุดเก่าออกเพื่อเปิดทางให้ฟันชุดใหม่ แต่ฉลามเฮลิโคไพรออนเกิดมาพร้อมฟัน 3 ชุดที่ไม่เคยหายไปไหน ฟันชุดใหม่จะขึ้นแทนฟันชุดเก่าที่เคลื่อนไปอยู่ใต้
กระดูกอ่อนซึ่งห่อหุ้มฟันไว้มาถึง 150 ซี่ และยึดติดกับรากฟันเดียว ฉลามวัยอ่อนฟันจะหมุน 2 รอบ และจะหมุนเวียนไปจนครบ 4 รอบ ก็กลายเป็นตัวเต็มวัย โดยหมุนเอาฟันอายุมากซึ่งมีขนาดเล็กกว่าไปไว้ข้างใน
เวลาล่าเหยื่อ ฉลามเฮลิโคไพรออนจะงับเหยื่อด้วยฟันตรงกลางที่หักมุมไปข้างหลัง เมื่อหุบขากรรไกรลง ฟันหลังจะดันเหยื่อลึกเข้าไปในปากแคบๆ เมื่อขากรรไกรหุบฉับลง มันจะบีบวงก้นหอยหยักๆ เข้าไปในร่องในขากรรไกรบนที่เรียงรายไปด้วยฟันซี่เล็กๆ กลมๆ เหยื่อนจะถูกเฉือนเป็นสองท่อนอย่างรวดเร็วและกลืนลงไป
แม้นักวิทยาศาสตร์จะเทียบขนาดและฟันกับฉลามขาว แต่เครือญาติปัจจุบันของฉลาม เฮลิโคไพรออน คือปลาแรตฟิชลายจุด (Hydrolagus colliei)
ทะเลโบราณ บ้านของเผ่าพันธุ์อดีต
สัตว์นักล่าในยุคเพอร์เมียนมีอยู่มากมาย มหาทวีปแพนเจีย หรือพันเจีย (Pangaea) ซึ่งก่อตัวจากหน่วยทวีปต่างๆ เมื่อ 335 ล้านปีที่แล้ว ได้แยกตัวออกเป็นทวีปต่างๆ เมื่อ 175 ล้านปีก่อน เมื่อทาบแผนที่ทวีปในปัจจุบันเข้ากับแผนที่ทวีปจะพบพื้นที่ซึ่งเคยเชื่อมต่อได้แยกกระจายออกจากกัน โดยมีการค้นพบฟอสซิลตั้งแต่ปี 1886 เป็นต้นมา กระจายตัวใกล้แนวชายฝั่งซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศต่างๆ ทั้งในแถบอเมริกาเหนือ เทือกเขายูรัล และในออสเตรเลีย ที่ผ่านมามีการค้นพบฟอสซิลของเฮลิโคไพรออน จำนวนมากกว่า 150 ชิ้นในรัฐไอดาโฮ โดยขุดพบในเหมืองฟอสฟอรัสซึ่งเคยอยู่ใต้น้ำลึก
ฉลาม เฮลิโคไพรออน สูญหายไปในช่วงต้นของยุคไทรแอสสิค เมื่อประมาณ 225 ล้านปีก่อน การที่ลักษณะขากรรไกรและฟันอันมีเอกลักษณ์นี้ไม่ถูกถ่ายทอดมาถึงฉลามปัจจุบัน อาจเป็นเพราะลักษณะนั้นไม่ได้สร้างแรงกัดมหาศาล และทำให้กินอาหารไม่สะดวกเท่าไหร่ และยังทำให้ว่ายน้ำได้ไม่คล่องแคล่ว ฉลามรุ่นหลังจึงเหลือไว้เพียงฟันเลื่อยที่มีคมสมกับเป็นนักล่าเท่านั้น
….
ที่มา: ลีฟ เทพานีลา, IDAHO STATE UNIVERSITY; เจสซี พรูอิตต์, IDAHO MUSEUM OF NATURAL HISTORY; โจชัว โมเยอร์; จอร์จ เอช. เบอร์เจสส์, UNIVERSITY OF FLORIDA; ซี. อาร์. สโกทีส (แผนที่ภูมิศาสตร์บรรพกาลในยุคเพอร์เมียน)
ถอดรหัสโดย: เฟอร์นันโด จี. บัปติสตา และแพททิเซีย ฮีลี
ภาพประกอบ: ไดแอนา มาร์เกส, จอห์น แคปป์เลอร์ และอีฟ โคแนนต์
ภาพถ่าย: เอเวลิน วอลล์เมอร์ ถ่ายภาพที่ IDAHO VIRTUALIZATION LAB, IDAHO MUSEUM OF NATURAL HISTORY
เผยแพร่ใน National Geographic ภาษาไทย ฉบับเดือนธันวาคม 2562
เรียบเรียงโดย National Geographic Thailand
___________________________________________________________________________________________________________________________________________________