ปริมาณการบริโภคอาหารเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องของผู้บริโภค และประชาการที่เพิ่มสูงขึ้น บางพื้นที่บนโลก การเข้าถึงอาหารอาจเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับคนบาง ในทางกลับกัน บางพื้นที่ของโลก อาหารก็มีปริมาณมากจนกลายเป็นขยะอาหาร
ขยะอาหาร (Food Waste) หมายถึง อาหารเหลือทิ้งในตอนปลายของห่วงโซ่อาหาร (Food Chain) จากทั้งในส่วนของผู้ค้าปลีกและผู้บริโภค ทั้งเศษอาหารที่รับประทานไม่หมด อาหารกระป๋องที่หมดอายุ เศษผักผลไม้ตกแต่งจาน รวมไปถึงอาหารเน่าเสีย และหมดอายุจากการบริหารจัดการที่ไม่เหมาะสมของร้านอาหาร ภัตตาคาร และร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ
ส่วน“การสูญเสียอาหาร” (Food Loss) หมายถึง ส่วนของอาหารที่หลุดออกจากห่วงโซ่การผลิตเพราะไม่ได้มาตรฐาน ตั้งแต่ในขั้นตอนของการเพาะปลูก เก็บเกี่ยวผลผลิต การแปรรูป รวมถึงระหว่างการขนส่งไปยังเป้าหมายปลายทาง
การสูญเสียอาหารในลักษณะนี้ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในประเทศที่ยังไม่พัฒนา เนื่องจากการขาดแคลนคลังความรู้ งบประมาณ และเทคโนโลยีการจัดการต่าง ๆ ที่สามารถช่วยยกระดับประสิทธิภาพของการผลิต เก็บรักษา และการขนส่ง
ตัวอย่างเช่น ในประเทศทางแทบทวีปแอฟริกา ทุกปีจะมีพื้นที่ทางการเกษตรราวร้อยละ 20 ประสบภัยจากการรุกรานของแมลงศัตรูพืช ทำให้เกิดการสูญเสียอาหารตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือเทียบเท่ากับอาหารที่สามารถนำไปเลี้ยงดูผู้คนมากถึง 48 ล้านคน ในช่วงระยะเวลาตลอดหนึ่งปีเลยทีเดียว
สาเหตุหลักของการเกิดขยะอาหารทั่วโลก คือ การจัดการที่ขาดประสิทธิภาพของร้านค้าปลีก และพฤติกรรมฟุ่มเฟือยของผู้บริโภค ซึ่งเกี่ยวโยงถึงการวางแผนจัดเตรียมอาหารและสินค้าที่ไม่เหมาะสม การทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ และการซื้ออาหารเกินความจำเป็น หรือขาดความเข้าใจหรือสับสนต่อวันหมดอายุบนฉลากสินค้า
อย่างเช่น สัญลักษณ์ “ควรบริโภคก่อน” (Best By/Before, BB) ที่หมายถึง อาหารจะมีคุณภาพหรือคุณค่าทางโภชนาการลดลงหลังผ่านวันที่ระบุไว้บนฉลาก ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค กับ “วันหมดอายุ” (Expiry Date, EXP) หมายถึงอาหารที่ห้ามบริโภคเด็ดขาด เมื่อเลยวันที่ระบุไว้ ความสับสนที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้บริโภคจำนวนมากทิ้งอาหารทั้ง ๆ ที่ยังไม่ถึงวันหมดอายุ เพราะความเข้าใจผิด
สถานการณ์ขยะอาหารทั่วโลก
ในความเป็นจริง โลกของเรามีทรัพยากรเพียงพอที่จะผลิตอาหารให้แก่มนุษย์ทุกคน แต่ในปัจจุบันมีอาหารมากถึง 1 ใน 3 ส่วนของอาหารที่ผลิตได้ทั้งหมดถูกทิ้งกลายเป็น “ขยะอาหาร” โดยคิดเป็นน้ำหนักกว่า 1.3 พันล้านตันทั่วโลกทุกปี เป็นอาหารที่สูญเปล่าไปแทนที่จะถูกนำไปเลี้ยงดูผู้คนที่ขาดแคลนในประเทศต่าง ๆ ซึ่งสถานการณ์ปริมาณขยะอาหารในแต่ละภูมิภาคของโลกแตกต่างกันออกไปตามปัจจัยการผลิต การจัดการภายในห่วงโซ่อาหาร และพฤติกรรมของผู้บริโภค ยกตัวอย่างกรณีต่างๆ ดังนี้
สหรัฐอเมริกา : หน่วยงานด้านอาหารของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ชาวอเมริกันทิ้งอาหารที่ยังสามารถรับประทานได้เฉลี่ยคนละ 0.4 กิโลกรัมต่อวัน และมากกว่าร้อยละ 80 ของปริมาณขยะอาหารมาจากภาคครัวเรือน ไม่ใช่ร้านอาหารหรือการจัดการของร้านสะดวกซื้อ
โดยมีสาเหตุจากซื้ออาหารมาเยอะเกินความจำเป็น สับสนข้อมูลวันหมดอายุ หรือแม้แต่รูปร่างของอาหารไม่สวยงาม เช่น ผักผลไม้ที่มีรูปร่างไม่สมส่วน ส่งผลให้กว่าร้อยละ 20 ของผักผลไม้จากฟาร์มต่าง ๆ ในประเทศไม่สามารถขึ้นไปอยู่บนชั้นวางสินค้าได้ เพราะขนาดหรือรูปลักษณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งในท้ายที่สุดผักผลไม้เหล่านี้ล้วนถูกทิ้งลงในถังขยะ
ประเทศไทย : มีการสร้างขยะมูลฝอยเฉลี่ยคนละ 1.3 กิโลกรัมต่อวัน โดยที่ร้อยละ 64 ของขยะทั้งหมดเป็นขยะอาหาร อีกทั้ง การขาดประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหาขยะเหล่านี้อย่างเหมาะสม ทำให้ขยะอาหารราว 20 ล้านตันต่อปีของไทยกลายเป็นขยะตกค้างที่ถูกนำไปฝังกลบอย่างมักง่าย
ฝรั่งเศส : เป็นประเทศต้นแบบของการจัดการกับขยะอาหารที่มีประสิทธิภาพ จากกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านขยะอาหารที่การกำหนดให้ร้านค้าปลีกที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 400 ตารางเมตรขึ้นไป บริจาคสินค้าอาหารที่ยังรับประทานได้แก่มูลนิธิรับบริจาคอาหารต่าง ๆ ซึ่งหากร้านค้าเหล่านี้ไม่ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว มีโทษปรับเป็นจำนวนเงินสูงถึง 125,000 บาท
ในขณะเดียวกันผู้บริจาคจะได้รับเครดิตภาษีสูงถึงร้อยละ 60 ของมูลค่าอาหารที่บริจาคอีกด้วย ทำให้ในประเทศมีการบริจาคอาหารเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ในปี 2017 และยังทำให้มีองค์กรกลางเข้ามาบริหารจัดการกับอาหารส่วนเกินเหล่านี้ อีกกว่า 5,000 องค์กร
ผลกระทบจากขยะอาหาร
นอกจากภาวะขาดแคลนอาหารในกลุ่มประชากรที่ไม่ได้รับการจัดสรรอาหารอย่างทั่วถึง ผลกระทบจากขยะอาหารไม่เพียงเข้าไปเพิ่มปริมาณขยะที่ถูกทิ้งอย่างไม่ถูกวิธีแล้ว การทิ้งเศษอาหารเหล่านี้ คือการทิ้งขว้างทรัพยากรมากมาย ทั้งทรัพยากรและพลังงานจากธรรมชาติที่ถูกนำมาเป็นต้นทุนการผลิตสินค้าในห่วงโซ่อาหาร เช่น
การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้และทรัพยากรสัตว์ป่า จากการถากถางพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกพืชในอุตสาหกรรมอาหาร รวมไปถึงความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินจากการเพาะปลูกพืชเหล่านี้ ซึ่งในแต่ละปี มีพื้นที่เกษตรกรรมมากถึงร้อยละ 28 ทั่วโลก ถูกนำไปใช้ในการผลิตอาหารที่สูญเสียหรือสูญเปล่า
การสูญเสียทรัพยากรน้ำ อย่างเช่น การเพาะปลูกเพื่อให้ได้มาซึ่งแอปเปิล 1 ผล ต้องใช้น้ำเฉลี่ยมากถึง 125 ลิตร ดังนั้น การทิ้งแอปเปิลที่มีรูปร่างน่าเกลียด 1 ผล อาจเทียบเท่ากับการเทน้ำ 125 ลิตรทิ้งไป
การปนเปื้อนของดิน แหล่งน้ำ และอากาศ จากการใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่าง ๆ
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนของการผลิต การแปรรูปอาหาร การเก็บรักษา ไปจนถึงการขนส่ง ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางของห่วงโซ่อาหาร ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยออกมาทั้งหมดจากอาหารที่ถูกทิ้งทั่วโลกสูงถึงร้อยละ 8 เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคคมนาคม หรือ มากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการบินทั่วโลกถึง 4 เท่า
นอกจากสิ้นเปลืองทรัพยากรในกระบวนการต่าง ๆ ของการผลิตอาหาร เมื่ออาหารถูกทิ้งลงในหลุมฝังกลบ กระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอีกมากมาย อย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมามากกว่า 3.3 พันล้านตันจากขยะอาหารทั่วโลกในแต่ละปี
ขยะอาหารและสถานการณ์ในอนาคต
นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าภายในปี 2050 โลกจะมีประชากรทั้งหมดราว 9,800 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาอีกมากกว่า 1,900 ล้านคนในอีก 29 ปีข้างหน้า
ภัยจากภาวะการขาดแคลนอาหารอาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น รวมไปถึงการแย่งชิงทรัพยากรทางธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งการทำการเกษตรคือทางออกที่จะเข้ามายุติปัญหาเหล่านี้ แต่การเพาะปลูกเพื่ออุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ ต้องแลกมาซึ่งการสูญเสียป่าไม้ การสูญเสียน้ำจืดในปริมาณมหาศาล รวมถึงผลกระทบจากการปลดปล่อยสารเคมีและมลพิษต่าง ๆ สู่สิ่งแวดล้อม
ระบบห่วงโซ่อาหารในปัจจุบันมีการคำนึงถึงขยะอาหารและการสูญเสียอาหารอย่างน้อยนิดจนน่าตกใจ ทำให้ผู้บริโภคและคนทั่วไปขาดทั้งข้อมูลความรู้และความตระหนักรู้ถึงปัญหาที่กำลังคุกคามโลกของเราอย่างช้า ๆ อยู่ในขณะนี้
สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย
ข้อมูลอ้างอิง
http://www.fao.org/state-of-food-agriculture/2019/en/
https://resourcecenter.thaihealth.or.th/files/66/thaihealth%20watch_ขยะอาหาร%20อาหารส่วนเกิน.pdf
http://158.108.94.117/Public/PUB0644.pdf