GlauCUTU VR เพื่อการตรวจคัดกรอง ต้อหิน ที่ทั่วถึงทั่วไทย

GlauCUTU VR เพื่อการตรวจคัดกรอง ต้อหิน ที่ทั่วถึงทั่วไทย

งานวิจัยที่พัฒนานวัตกรรม VR เพื่อให้การตรวจคัดกรอง ต้อหิน เป็นไปได้กับโรงพยาบาลภูมิภาคทั่วประเทศไทย

ต้อหิน เป็นหนึ่งในโรคของวัยผู้ใหญ่ซึ่งเป็นสาเหตุของการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรรองจากโรคต้อกระจก ซึ่งกว่าจะตรวจเจอก็ล่วงเลยจนเกิดความผิดปกติทางการมองเห็นไปแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาการกระจายตัวของจักษุแพทย์ในประเทศไทย ร่วมกับเครื่องมือสำหรับตรวจคัดกรองต้อหินมีราคาสูงหลักล้าน การตรวจคัดกรองเบื้องต้นจึงจำกัดอยู่เฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่และทำได้ไม่ทันท่วงที

นักวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ และศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านสารสนเทศอัจฉริยะ เทคโนโลยีเสียงพูดและภาษา และนวัตกรรมด้านบริการ (CILS) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ทำงานกับเทคโนโลยีจำลองโลกเสมือน หรือ Virtual Reality (VR) จึงดึงเอาศักยภาพของนวัตกรรมของ VR เข้ามาผนวกรวมกับวิธีการตรวจคัดกรองโรคแบบมาตรฐานมาพัฒนาเป็นชุดทดสอบ GlauCUTU อุปกรณ์ทดสอบลานสายตาสำหรับคัดกรองโรคต้อหิน โดยความร่วมมือกับหน่วยวิจัยต้อหิน ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พัฒนาเครื่องมือชิ้นใหม่จากเทคโนโลยี

GlauCUTU, ต้อหิน

ผู้คนจะคุ้นเคยกับ VR กันดีในรูปแบบของเครื่องมือเพื่อนันทนาการอย่างการเล่นเกมที่เสมือนจริงในอีกมิติ นักวิจัยจับเอาจุดแข็งในเรื่องของการมองเห็นแบบเสมือนจริงมาออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ VR เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เทียบเคียงอย่างมีนัยสำคัญกับเครื่องตรวจมาตรฐานฮัมฟรีย์ที่มีราคาสูงหลักล้าน

วิธีการใช้งานง่ายๆ ผู้ใช้งานสวมใส่แว่นตาจำลองพร้อมกับคลิกเกอร์ในมือ จากนั้นจะมีจุดปรากฏภายในแว่นตา ซึ่งเป็นภาพจุดจากการทดสอบการยิงจุดจำลองไปยังบริเวณพื้นที่ต่างๆ ในดวงตา เมื่อผู้ใช้งานเห็นจุดก็จะกดคลิกบนคลิกเกอร์ ทำแบบทดสอบจนครบ จากนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์จะทำการอ่านข้อมูลตามแพทเทิร์นมาตรฐานของรูปแบบรอยโรคที่เกิดขึ้นในดวงตาเพื่อวิเคราะห์ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ หรือมากน้อยเพียงใด

หลักการใช้งานของ GluaCUTU อาศัยหลักการเพิ่มขึ้นของค่าความไวแสง (Light Sensitivity) ของจุดทดสอบที่สัมพันธ์กับระยะเวลาจนกระทั่งรับรู้ (Time Until Perceived) ของผู้ใช้งานขณะสวมใส่แว่น VR โดยการพัฒนาอุปกรณ์ VR เฉพาะสำหรับการทดสอบสายตา ร่วมกันกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ด้วยการเรียนรู้เครื่อง หรือ Machine Learning และการเรียนรู้เชิงลึก หรือ Deep Learning เพื่อทำนายค่าความไวพื้นที่การมองเห็นในอุปกรณ์

GlauCUTU, ต้อหิน

อุปกรณ์ GluaCUTU นอกจากจะพัฒนาเพื่อให้สามารถตรวจคัดกรองต้อหินเบื้องต้นได้แล้ว เครื่องมือยังถูกออกแบบเพื่อลบข้อจำกัดจากการตรวจโดยเครื่องมือตรวจมาตรฐานแบบเดิมซึ่งตรวจดวงตาได้ทีละข้าง ใช้เวลาข้างละ 5-10 นาที ด้วยเครื่องมือ VR ตัวนี้สามารถตรวจพร้อมกันได้ทั้งสองข้าง ใช้เวลาเพียง 3 นาทีกับแบบทดสอบก็เรียบร้อย และที่สำคัญคือ น้ำหนักเบา พกพาสะดวก และราคาย่อมเยากว่าในราคาเพียงหลักหมื่น ในความสามารถของการประมวลผลลานสายตาได้ผลลัพธ์เช่นเดียวกับเครื่องตรวจมาตรฐานอย่างมีนัยสำคัญ ปลายทางจึงอยู่ที่การกระจายการคัดกรองต้อหินสู่ระดับภูมิภาคได้ง่ายขึ้น

ปัจจุบันอุปกรณ์ชิ้นนี้ได้รับการจดสิทธิบัตร และพร้อมใช้งานได้จริงแล้ว โดยงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการของ IEEE หรือสถาบันวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ และ PubMed ฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์และชีวเวชศาสตร์ระดับนานาชาติ

สร้างนวัตกรรมจากงานวิจัยที่เข้าถึงทุกคน

หลังจากการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว เครื่องมือ GlauCUTU กำลังจะถูกทดลองใช้งานจริงใน 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศไทย โดยจะทำการคัดเลือกตัวแทน 1 โรงพยาบาลต่อ 1 เขต เพื่อทำการปรับและทดสอบค่ามาตรฐานทางการแพทย์ ก่อนที่จะเริ่มต้นผลิตเครื่องมือสำหรับกระจายไปใช้งานทั่วประเทศ

ทีมนักวิจัยคาดหวังว่าเครื่องมือ GlauCUTU จะช่วยขยายการตรวจคัดกรองโรคต้อหินให้เข้าถึงส่วนงานภูมิภาคได้มากขึ้น ทั้งโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ไม่มีจักษุแพทย์ประจำ จากข้อจำกัดของปริมาณจักษุแพทย์ในประเทศไทยที่มีเพียง 1,500 คน เปรียบเทียบเป็นอัตราส่วนประชากรประเทศคิดเป็น 100,000 คนต่อแพทย์ 1 คน

จากข้อดีทั้งเรื่องความสะดวกและราคา จะทำให้การตรวจคัดกรองต้อหินเข้าถึงได้กับประชากรทุกส่วนของประเทศและทำได้ทันท่วงที หากพบความผิดปกติสามารถเข้าสู่ระบบส่งต่อเข้ารับการตรวจรักษาตามกระบวนการได้ทันท่วงที เพื่อช่วยลดการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ก่อนจะสายเกินแก้

GlauCUTU, ต้อหิน

การบูรณาการศาสตร์ระหว่างเทคโนโลยีกับงานด้านการแพทย์ยังคงเป็นความท้าทายของนักวิจัยรุ่นใหม่ ที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับทุกคน ทางหนึ่งเพื่อการรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และอีกทางหนึ่ง เพื่อช่วยกระจายโอกาสในการตรวจคัดกรองและรักษาโรคอย่างเท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพราะทุกคนมีสิทธิในการรักษาพยาบาลเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

Recommend