เทคโนโลยีทางการแพทย์ หลังการระบาดของโควิด-19

เทคโนโลยีทางการแพทย์ หลังการระบาดของโควิด-19

การประยุกต์ใช้ เทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อให้สอดคล้องกับการระบาดใหญ่ และวิถีชีวิตแบบปกติใหม่

โรงพยาบาลเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ต้องเร่งปรับตัว และปรับปรุงแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับการระบาดของโรคอุบัติใหม่ อย่างโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาด โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนต่างพยายามนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาให้บริการแก่ผู้ป่วย รวมทั้งการร่วมกันถอดบทเรียนเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ในเวลาเดียวกัน จนเกิดเป็น เทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตปกติใหม่ หรือ New Normal เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยที่มารับบริการของโรงพยาบาล

จากการระบาดครั้งใหญ่ เรื่องสำคัญที่สุดที่ทุกโรงพยาบาลควรคำนึงถึงและปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน คือเรื่องความปลอดภัยของผู้มารับบริการ ดังนั้นจึงเกิดการปรับแผนการทำงาน รวมไปถึงการปรับแผนการดำเนินธุรกิจ โดยยึดหลักเรื่องความปลอดภัยให้สูงขึ้น หลายโรงพยาบาลได้ปรับใช้เทคโนโลยีให้เข้ามามีบทบาทในแผนการดำเนินงานมากขึ้น เช่น โรงพยาบาลพรินซ์สุวรรณภูมิ เขตบางนา โรงพยาบาลเอกชนที่คิดค้นบริการใหม่ขึ้นมา 3 รูปแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบ New Normal และการระบาดของโรคโควิด-19 ได้แก่

เทคโนโลยีทางการแพทย์, โควิด-19, โรคอุบัติใหม่, วิทยาการทางการแพทย์, new normal

1. Tele-medicine คือบริการให้คำปรึกษาและรักษาผู้ป่วยระยะไกล โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาล เป็นการโทรศัพท์ในระบบวิดีโอผ่านแอปพลิเคชั่น LINE โดยให้แพทย์และคนไข้สามารถตรวจสอบอาการได้เบื้องต้น พร้อมทั้งให้คำแนะนำด้านการปฏิบัติตัวเบื้องต้น จุดประสงค์ของบริการนี้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ป่วยที่มีประวัติกับโรงพยาบาลไม่ต้องมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น แต่แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคผ่านการให้บริการ Tele-medicine ได้อย่างสะดวกและง่ายดาย

เทคโนโลยีทางการแพทย์, โควิด-19, โรคอุบัติใหม่, วิทยาการทางการแพทย์, new normal

2. Drive-thru ตรวจโควิด-19 โดยตั้งจุดบริการไว้ด้านนอกตัวอาคาร เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อในพื้นที่โรงพยาบาล และสามารถส่งผลตรวจให้กับผู้มารับบริการผ่านทางอีเมล โทรศัพท์ หรือแอปพิลเคชั่นที่ลงทะเบียนไว้ได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่รับการรักษาต่อเนื่องกับโรงพยาบาล ยังสามารถรับยาได้ง่าย ๆ ผ่านบริการ Drive-thru เพียงแจ้งวันเวลาที่จะเข้ามารับยา แล้วรอรับยาที่รถได้เลย

3. Dr. Prince at Home เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจไม่สะดวกมารับบริการที่โรงพยาบาล ทีมเจ้าหน้าที่จึงได้จัดทีมที่ทำงานนอกสถานที่ไว้บริการ เปรียบเสมือนพาโรงพยาบาลไปหาผู้ป่วยที่บ้าน เช่น ในกรณีผู้ป่วยที่ต้องทำกายภาพบำบัด โรงพยาบาลจะจัดนักกายภาพบำบัดไปให้บริการผู้ป่วยถึงที่บ้านอย่างต่อเนื่อง หรือผู้ป่วยที่ต้องล้างแผลและทำแผลเป็นประจำ ก็จะมีพยาบาลไปให้บริการเช่นกัน หรือกิจกรรมการรักษาอื่นๆ ที่สามารถทำที่บ้านได้ ทางโรงพยาบาลก็จะจัดหน่วยไปให้บริการที่บ้านมากที่สุด

เทคโนโลยีทางการแพทย์, โควิด-19, โรคอุบัติใหม่, วิทยาการทางการแพทย์, new normal

นอกจากนี้ที่โรงพยาบาลพริ้นซ์สุวรรณภูมิยังติดตั้งระบบหุ่นยนต์ เพื่อลดการสัมผัสระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้มารับบริการ โดยหุ่นยนต์จะนำทางผู้มารับบริการไปตามห้องตรวจที่ตั้งโปรแกรมไว้ และปรับใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น เช่น การซื้อโปรแกรมตรวจสุขภาพผ่านแอปพลิเคชั่นออนไลน์ยอดนิยมอย่าง ลาซาดา (Lazada)

เทคโนโลยีทางการแพทย์ไม่เพียงช่วยให้การบริการมีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น แต่ยังเป็นการยกระดับบริการทางการแพทย์ให้มีคุณภาพสูงขึ้นด้วย ความสำคัญของการรักษาพยาบาล คือเป็นบริการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ เพราะฉะนั้น หัวใจสำคัญที่สุดของโรงพยาบาลจึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก การพัฒนาบุคลากรให้มีความเท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงเป็นหนึ่งในนโยบายที่หลาย ๆ โรงพยาบาลต่างเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น

หนึ่งในการประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล คือการใช้ระบบบันทึกทางการแพทย์แบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronics Medical Record (EMR) กรณีที่เห็นได้ชัดเจน เช่น การเปลี่ยนแฟ้มประวัติผู้ป่วยในรูปแบบกระดาษเป็นข้อมูลในระบบดิจิทัล และเก็บไว้ในคลังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของโรงพยาบาล ซึ่งในแฟ้มประวัติผู้ป่วยจะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทุกอย่างของผู้ป่วย ตั้งแต่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในวันแรกจนถึงปัจจุบัน พร้อมข้อมูลอ้างอิงต่าง ๆ ในแฟ้มประวัติผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาอย่างไร เคยมารักษาที่โรงพยาบาลด้วยโรคอะไรบ้าง เคยมีประวัติผ่าตัดหรือไม่ เป็นต้น

ในประเทศไทย โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 ได้รับการรับรองมาตรฐานเทคโนโลยีสารสนเทศโรงพยาบาล EMRAM Stage 7 ซึ่งถือเป็นขั้นสูงสุดในมาตรฐาน EMRAM (Electronic Medical Record Adoption Model) ของ HIMSS Analytics โดยเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับที่ 7 ซึ่งระบบนี้สามารถช่วยลดความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลอันเกิดจากความผิดพลาดของตัวบุคคล (Human errors) เช่น การจ่ายยา การวินิจฉัย และการอ่านประวัติการรักษาของผู้ป่วยย้อนหลัง

สำหรับ HIMSS (Healthcare Information and Management Systems Society) เป็นองค์กรที่คิดมาตรฐานรับรองระบบการทำงานที่เน้นในเรื่องของการทำให้ผู้,kรับบริการในโรงพยาบาลมีสุขภาพที่ดีขึ้น ด้วยการใช้ระบบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะกำหนดระเบียบวิธี และขั้นตอนในเรื่องการนำระบบไอทีมาใช้ในโรงพยาบาล เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานและข้อกำหนดที่ทาง HIMSS Analytics กำหนดไว้

ในอนาคตเทคโนโลยีทางการแพทย์กำลังมุ่งเน้นไปที่การศึกษาเรื่องชีวโมเมกุล หรือสารพันธุกรรม การวิจัยศึกษาเรื่องเหล่านี้สามารถคาดการณ์โรคร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มารับบริการได้ เช่น การตรวจหาโอกาสเกิดโรคมะเร็งจากสารพันธุกรรม เพื่อให้แพทย์นำข้อมูลเหล่านี้ไปแนะนำการดูแลตัวเองให้กับผู้มารับบริการ ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันโรคตั้งแต่ต้นเหตุ และผู้รับบริการก็จะได้นำข้อมูลเหล่านั้นไปปรับรูปแบบการใช้ชีวิต เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งในอนาคต บทเรียนที่เราได้เรียนรู้ร่วมกันจากการระบาดของโรคไวรัสโคโรนาครั้งนี้ ทำให้เกิดแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ภาพถ่าย : เอกรัตน์ ปัญญะธารา


ขอขอบคุณ
คุณธานี มณีนุตร์
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านงานพัฒนาธุรกิจบริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน)


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ผลกระทบของโควิด-19 ต่อสิ่งแวดล้อม

Recommend