ความเชื่อชาวจีน และชีววิทยาใต้เสียงกรีดปีกของ จิ้งหรีด จากการ์ตูน มู่หลาน
ตอนที่ 1 จากซีรี่ส์บทความ “ชีววิทยาของสิ่งมีชีวิตในการ์ตูนดิสนีย์”
โดย ดร. วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์
เมื่อถึงเทศกาล วันตรุษจีน แฟนคลับของการ์ตูนดิสนีย์หลายคนอาจจะนึกถึงการ์ตูนเรื่อง มู่หลาน การ์ตูนที่เล่าถึงการผจญภัยและต่อสู้ของหญิงสาวชาวจีนนาม มู่หลาน ที่ได้ปลอมตัวเป็นผู้ชายเข้าไปในค่ายทหารจีนเพื่อเข้าร่วมอบรมเป็นทหารออกรบแทนคุณพ่อที่สุขภาพไม่แข็งแรง แต่ก่อนที่เธอจะตัดสินใจปลอมตัวเข้าไปในค่ายทหาร เธอได้พยายามทำสิ่งที่สตรีชาวจีนพึงกระทำในยุคสมัยนั้น คือ การฝึกอบรมเป็นภรรยาที่แสนดีของสามี
หากคุณเคยดูการ์ตูนเรื่องนี้จะคุ้นหูกับเพลงที่ชื่อว่า “นำศักดิ์ศรีให้เรา (Honor To Us All)” ซึ่งเป็นบทเพลงที่กล่าวถึงการแปลงโฉมของมู่หลานเพื่อเตรียมตัวเข้าพบแม่สื่อ เพลงนี้ในฉบับภาษาไทยส่วนหนึ่งขับร้องโดย หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล หรือ เชฟป้อม แห่งรายการมาสเตอร์เชฟไทยแลนด์
ท่อนหนึ่งของบทเพลงได้ขับร้องว่า
“นี่แอปเปิ้ลนำความราบรื่น และเหรียญนำพาความสมดุล สร้อยพันคอให้แวววาม เผยความงามอันต้องใจ และแถมเจ้า จิ้งหรีด โชคยิ่งใหญ่ ถ้าเจ้ามีไว้จะสบาย”
จะเห็นได้ว่าในบทเพลงท่อนนี้ได้มีการกล่าวถึงความเชื่อเรื่องจิ้งหรีดกับความโชคดีเอาไว้ โดยเจ้า จิ้งหรีด ตัวสีฟ้าที่ปรากฏอยู่ในฉากนี้มีนามว่า ครีกี้ (Cri-Kee) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวละครที่ร่วมผจญภัยไปกับมู่หลานไปจนจบเรื่องแบบแฮปปี้เอนดิ้ง
จิ้งหรีด นำความโชคดีมาให้มู่หลานจริงๆ หรือ? คำตอบของคำถามนี้อาจไม่มีใครทราบ แต่จากบันทึกทางประวัติศาสตร์พบว่า ความเชื่อของมนุษย์ในหลากหลายวัฒนธรรมทั่วโลก โดยเฉพาะชาวจีนในสมัย 2000 ปีที่แล้ว มีความเชื่อว่า จิ้งหรีด สามารถนำโชคลาภมาให้พวกเขาได้จริงๆ
– – – – –
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง สือหม่า ซากพีระมิดปริศนาอารยธรรมก่อนยุคราชวงศ์จีน
– – – – –
จิ้งหรีดกับความเชื่อชาวจีน
ย้อนกลับไปสมัยราว 2000 ปีที่แล้ว ชาวจีนส่วนมากชอบจับจิ้งหรีดมาขังไว้ในกรงด้วยหลายวัตถุประสงค์ เช่น ชาวจีนโบราณเชื่อว่าหากจิ้งหรีดเริ่มร้องเพลงเมื่อใด แสดงว่าฤดูกาลเพาะปลูกกำลังมาถึง นอกจากนี้ จิ้งหรีดยังเป็นแมลงที่สามารถวางไข่ได้หลายพันฟองตลอดชั่วชีวิตของมัน ซึ่งสัมพันธ์กับความเชื่อของคนจีนในอดีตที่อยากมีลูกหลานจำนวนมากเพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูล ดังนั้นชาวจีนโบราณจึงเชื่อว่าหากมีจิ้งหรีดไว้ครอบครองจะทำให้ตนโชคดีในทั้งเรื่องการมีลูกหลานมากมายไว้สืบทอดตระกูล และเรื่องผลผลิตทางการเกษตรที่จะช่วยให้ครอบครัวของตนอยู่รอดได้ตลอดทั้งปี
จิ้งหรีดไม่ได้มีบทบาทเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ของความโชคดี แต่มันยังเป็นสัตว์ที่สร้างความบันเทิงและความผ่อนคลายให้กับชาวจีนมาแต่โบราณ
ในสมัยราชวงศ์ถัง เมื่อประมาณปี ค.ศ. 618 ชาวจีนได้เริ่มนำจิ้งหรีดมาต่อสู้กันเพื่อความบันเทิง กิจกรรมนี้เรียกว่า โต้ว ซีไชว้ (斗蟋蟀 Dòu xīshuài) โดยจิ้งหรีดที่นำมาต่อสู้กันจะต้องเป็นจิ้งหรีดเพศผู้ทั้งสองตัว เช่นเดียวกับการแข่งปลากัดและชนไก่ ที่เป็นเช่นนี้เพราะส่วนมากแล้ว สัตว์เพศผู้หลายชนิดจะมีพฤติกรรมป้องกันอาณาเขต (Territorial Behavior) พฤติกรรมดังกล่าวจะใช้สำหรับป้องกันไม่ให้ตัวผู้ตัวอื่นเข้ามาในอาณาเขตตัวเอง หากตัวผู้ตัวอื่นบุกรุกเข้ามาในอาณาเขต ตัวผู้เจ้าของอาณาเขตจะเริ่มโจมตีผู้บุกรุก และต่อสู้กันจนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมแพ้หรือตายในที่สุด ตัวผู้ที่ชนะจะมีอาณาเขตที่กว้างขึ้น ทำให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งอาหารและสืบพันธุ์กับเพศเมียได้มากขึ้นเช่นกัน ปัจจุบัน กิจกรรมการนำจิ้งหรีดมาต่อสู้กันยังคงปรากฏอยู่หลายแห่งในประเทศจีนและถึงขั้นมีการจัดแข่งขันในระดับประเทศด้วย
นอกจากชาวจีนในสมัยโบราณจะนำจิ้งหรีดมาต่อสู้กันเพื่อความบันเทิงแล้ว ยังมีบันทึกระบุว่าชาวจีนส่วนมากชอบจับจิ้งหรีดมาไว้ในกรงเพื่อฟังเสียงเพลงที่จิ้งหรีดนั้นสร้างขึ้นมา เคยสงสัยไหมครับว่าจิ้งหรีดสร้างเสียงเพลงได้อย่างไร?
จิ้งหรีดร้องเพลงได้อย่างไร และร้องไปทำไม
วิธีการสร้างเสียงเพลงของจิ้งหรีดแตกต่างจากการร้องเพลงของมนุษย์ แล้วเจ้าแมลงตัวขนาดเท่านิ้วก้อยนี้สามารถสร้างเสียงเพลงที่สะกดความสนใจของมนุษย์มาหลายพันปีได้อย่างไร และทำไปเพื่ออะไร? คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่นักชีววิทยาหลายท่านบนโลกใบนี้ได้ทำการศึกษามายาวนานกว่า 50 ปีและในที่สุดพวกเขาก็ค้นพบคำตอบในที่สุด
นักชีววิทยาพบว่าจิ้งหรีดไม่ได้ผลิตเสียงเพลงด้วยกล่องเสียงแบบมนุษย์ แต่แท้จริงแล้วเสียงเพลงของจิ้งหรีดถูกบรรเลงผ่านทางการสั่นสะเทือนของปีกจิ้งหรีดนั้นเอง นักชีววิทยาพบว่าบนปีกของจิ้งหรีดตัวผู้จะมีอวัยวะขนาดจิ๋วคล้ายซี่หวีเล็กๆ เรียงตัวอยู่บนปีกเป็นแนวยาว ภาษาอังกฤษเรียกว่า File และบนปีกอีกฝั่งหนึ่งจะมีโครงสร้างแข็งเรียกว่า Scraper โดยเมื่อจิ้งหรีดตัวผู้สั่นปีกด้วยความเร็วสูงจะทำให้เกิดเสียงเพลงดังขึ้นมา เรียกกระบวนการนี้ว่าสตริดูเลชั่น (Stridulation)
ความสามารถในการสร้างเสียงเพลงเป็นลักษณะพิเศษของจิ้งหรีดตัวผู้เท่านั้น หากดูลักษณะของปีกจิ้งหรีดตัวเมียจะพบว่าปีกของพวกเธอไม่มีอวัยวะสร้างเสียงดังกล่าว ทำให้พวกเธอไม่สามารถสร้างเสียงเพลงได้แบบจิ้งหรีดตัวผู้
คำถามถัดมาที่ผู้คนมักจะถามก็คือ แล้วจิ้งหรีดมีหูหรืออวัยวะรับเสียงไหม? ถ้าจิ้งหรีดตัวผู้สร้างเพลงขึ้นมาเพื่อให้จิ้งหรีดตัวเมียฟังแล้ว จิ้งหรีดตัวเมียมีหูไว้ฟังเพลงไหม? หากคุณลองจ้องหน้าจิ้งหรีดดูจะพบว่าเราหาหูของจิ้งหรีดไม่เจอ ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะหูของจิ้งหรีดไม่ได้อยู่บนหัวเหมือนหูของพวกเรา แต่หูของจิ้งหรีดอยู่ที่หน้าแข้งของขาคู่ที่หนึ่ง… ใช่แล้วครับ คุณอ่านไม่ผิด หูของจิ้งหรีดถูกย้ายไปอยู่ที่ขาคู่แรก ซึ่งนักชีววิทยาเรียกอวัยวะส่วนที่รับเสียงซึ่งเป็นเนื้อเยื่อแผ่นบางๆนี้ว่า Tympanum
ถึงตรงนี้เราทราบแล้วว่าจิ้งหรีดตัวผู้ร้องเพลงเพื่อจีบหรือภาษาทางการเรียกว่าเกี้ยวพาราสี (Courtship) ตัวเมีย แถม จิ้งหรีดแต่ละชนิดก็ร้องเพลงได้แตกต่างกันด้วย การร้องเพลงของจิ้งหรีดตัวผู้ไม่ได้เกี่ยวกับการจีบตัวเมียเสมอไป แต่ยังทำหน้าที่ร้องเพลงบอกตัวผู้ตัวอื่นว่า ‘นี่คืออาณาเขตของบ้านกระผม โปรดออกไปดีๆ นะครับ’ และแน่นอนว่าทุกอย่างมีราคาของมัน การร้องเพลงของจิ้งหรีดตัวผู้ไม่ได้มีแต่ประโยชน์อย่างเดียว เสียงเพลงอันไพเราะของจิ้งหรีดเพศผู้อาจแปรเปลี่ยนไปเป็นเสียงเพลงมรณะได้เช่นกัน เพราะทุกครั้งที่จิ้งหรีดตัวผู้ร้องเพลงเพื่อจีบตัวเมีย หรือร้องเพื่อขับไล่ตัวผู้ตัวอื่น เสียงเพลงดังกล่าวจะเป็นสัญญาณบอกให้ผู้ล่าหรือศัตรูได้รู้ว่าเหยื่ออันโอชะของมันซ่อนตัวอยู่ที่ไหน
ราคาที่ต้องจ่ายภายใต้เสียงร้องของจิ้งหรีด
หนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงราคาสูงลิ่วที่จิ้งหรีดต้องจ่ายในการร้องเพลงคือ เสียงของมันเป็นตัวล่อแมลงวันปรสิตสีเหลืองชนิดหนึ่งที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ormia ochracea ในหมู่เกาะฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อแมลงวันดังกล่าวได้ยินเสียงของจิ้งหรีดตัวผู้ที่กำลังร้องเรียกหาตัวเมีย แมลงวันปรสิตนี้ก็จะรีบบินไปหาจิ้งหรีดที่กำลังร้องเพลงอยู่และปล่อยตัวอ่อนลงบนตัวของจิ้งหรีดนั้น เมื่อตัวอ่อนของแมลงวันปรสิตโตขึ้นมันก็จะเริ่มกัดกินกล้ามเนื้อและชั้นไขมันของจิ้งหรีดแบบสดๆ ก่อนที่ท้ายที่สุดมันจะโตเต็มวัย แล้วบินออกไปจากซากจิ้งหรีดที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นทั้งบ้านและอาหารของมัน
เหตุการณ์ข้างต้นส่งผลให้ประชากรจิ้งหรีดบางกลุ่มในหมู่เกาะฮาวายพร้อมใจกันหยุดร้องเพลงโดยมิได้นัดหมาย ซึ่งปัจจุบันนักชีววิทยาก็ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าหากจิ้งหรีดตัวผู้หยุดร้องเพลงแล้วนั้นจิ้งหรีดตัวเมียจะหาตัวผู้เจอได้อย่างไร
จิ้งหรีดกับอนาคตความมั่นคงด้านอาหาร
ในอนาคตจิ้งหรีดอาจไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของความโชคดีอีกต่อไป แต่อาจจะเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงด้านอาหาร เนื่องจากปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมนุษย์บนโลกใบนี้รวดเร็วกว่าความสามารถในการผลิตอาหารมาเลี้ยงปากท้องของทุกคนได้ในระยะเวลาอันสั้น นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มได้ศึกษาวิจัยและค้นพบว่าจิ้งหรีดเป็นแมลงที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อีกทั้งจิ้งหรีดยังสามารถผลิตลูกหลานได้จำนวนมากมายในระยะเวลาอันสั้น ปัจจุบันมีการแปรรูปจิ้งหรีดออกมาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจิ้งหรีดกระป๋อง หรือ โปรตีนผงจิ้งหรีดที่มีการวางขายในตลาดแล้ว ผู้อ่านท่านใดที่สนใจการเพิ่มปริมาณมวลกล้ามเนื้อสามารถลองหาซื้อโปรตีนผงที่ผลิตจากจิ้งหรีดมาทานได้ แต่อาจจะต้องระวังในเรื่องของการแพ้จิ้งหรีดเนื่องจากบางท่านอาจจะแพ้สารเคมีที่อยู่ในแมลงได้
นี่คือเกร็ดความรู้ที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากการ์ตูนดิสนีย์ หวังว่าในตอนนี้คุณคงเดาได้แล้วนะว่าจิ้งหรีด ครีกี้ (Cri-Kee) สีฟ้าที่ร้องเพลงได้ในเรื่องมู่หลานเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย และนอกจากเรื่องมู่หลานแล้ว การ์ตูนเรื่องไหนของดิสนีย์ที่มีตัวละครเป็นจิ้งหรีดอีกบ้าง และ หากท่านผู้อ่านหาพบ ลองสังเกตดูนะครับว่าจิ้งหรีดตัวนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี หรือ สิ่งที่ดีหรือไม่? แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าครับ
– – – –
ซีรี่ส์บทความ “ชีววิทยาของสิ่งมีชีวิตในการ์ตูนดิสนีย์”
“จากสโนไวท์ที่หลับอยู่ในโรงแก้วถึงปลาการ์ตูนนีโม่ในแนวปะการังที่ออสเตรเลีย ท่านผู้อ่านเคยสังเกตไหมครับว่าในการ์ตูนทุกเรื่องของดิสนีย์จะมีสัตว์อย่างน้อย 1 ชนิดปรากฏมาเป็นตัวละครให้เราได้รู้จักกัน
รู้หรือไหมว่าสัตว์ที่ปรากฏอยู่ในการ์ตูนดิสนีย์มีที่มาจากสัตว์ที่มีอยู่จริงและพฤติกรรมต่างๆที่สัตว์เหล่านั้นแสดงก็มีอยู่จริงเช่นกัน ซีรีส์บทความนี้จะเล่าถึงเรื่องราวชีววิทยาและพฤติกรรมของสัตว์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในการ์ตูนดิสนีย์ที่ทุกท่านอาจจะยังไม่ทราบ พร้อมทั้งเชื่อมโยงไปถึงวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ที่สัมพันธ์กับสัตว์เหล่านั้น
หลังจากอ่านซีรีส์บทความนี้จบแล้วหวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะรับชมการ์ตูนดีสนีย์ในมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปครับ”
วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย