การค้นพบโมเลกุล “ มณีแดง ” หรือ REjuvenating DNA by GEnomic Stability Molecules: RED-GEMs ที่ช่วยเพิ่มรอยแยกของดีเอ็นเอและ ลบรอยโรคของดีเอ็นเอได้ในที่สุด
มณีแดง – ข้อมูลจากสหประชาชาติ ปี 2012 ระบุว่า ทั่วโลกมีคนที่ อายุเกิน 100 ปีจำนวน 316,600 คน ด้วยความก้าวหน้า ของวิทยาการทางการแพทย์ ทำให้มีการคาดการณ์ว่า จะมีผู้ที่มีอายุมากกว่า 100 ปีเพิ่มขึ้นเป็นสามล้านคนในปี 2050 วิทยาศาสตร์แห่งอายุวัฒนะกำลังผลักไสความชรา ให้ออกห่างจากเรา
ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ. นพ. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ค้นพบความลับใน “รอยแยก” หรือข้อต่อของดีเอ็นเอ ที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยังไม่เคยพบมาก่อน ดังที่เป็น ข่าวใหญ่ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา
ศ. นพ. อภิวัฒน์เล่าว่า “ผมค้นพบว่าดีเอ็นเอของสิ่ง มีชีวิตที่มีนิวเคลียส ตั้งแต่ระดับยีสต์ไปจนถึงมนุษย์ จะ มีรอยแยก (Youth DNA Gap) แล้วผมก็หาความหมาย ว่ารอยแยกนี้คืออะไร ถ้ารอยแยกนี้ลดลงจะเกิดอะไรขึ้น”
เมื่อศึกษาในยีสต์ที่มีอายุมาก ศ. นพ. อภิวัฒน์พบว่า รอยแยกดังกล่าวลดลงตามไปด้วย รอยแยกนี้จึงเกี่ยวข้อง กับความชรา ในขณะเดียวกันก็ป้องกันความชราด้วย “รอยแยกดีเอ็นเอมีบทบาทหน้าที่ปกป้องความเยาว์วัยของ ดีเอ็นเอ เราจึงพบรอยโรคในดีเอ็นเอมากขึ้นในเซลล์ที่ แก่ชรา และอาจนำไปสู่การกลายพันธุ์และมะเร็งได้”
ไม่เพียงเท่านั้น รอยโรคในดีเอ็นเอของเซลล์แก่ชรา ยังสัมพันธ์กับการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ความดัน โลหิตสูง กระดูกผุ สมองเสื่อม รวมถึงเป็นเหตุให้ร่างกาย เสื่อมประสิทธิภาพในการซ่อมแซมตัวเอง มีผลทำให้แผล ของผู้ป่วยเบาหวานหรือแผลไฟไหม้หายยาก
ศ. นพ. อภิวัฒน์จึงค้นหาสาเหตุของการเกิดรอยแยก ดีเอ็นเอ อันนำไปสู่การค้นพบโมเลกุล “ มณีแดง ” หรือ REjuvenating DNA by GEnomic Stability Molecules: RED-GEMs ที่ช่วยเพิ่มรอยแยกของดีเอ็นเอและ ลบรอยโรคของดีเอ็นเอได้ในที่สุด
“เนื่องจากรอยแยกดีเอ็นเอมีมากในหนุ่มสาว การที่เรา ไปสร้างรอยแยกดีเอ็นเอ จึงเรียกว่า REjuvenating DNA และทำให้ดีเอ็นเอเหนียวขึ้น เราเลยเรียกว่า GEnomic Stability Molecules” ศ. นพ. อภิวัฒน์อธิบาย กระบวนการดังกล่าวนับเป็นกลไกสำคัญที่จะใช้แก้ปัญหาสุขภาพในสังคมสูงวัย ทั้งยังมีศักยภาพในการเพิ่มรายได้ให้ประเทศด้วย
จากการค้นพบนำไปสู่การวิจัยและพัฒนา จนเข้าสู่การทดสอบในสัตว์อย่างหนู หมู และลิง โดยการทดสอบกับหนูวัยชราที่มีแผลเบาหวาน แผลไฟไหม้ พบว่าหนูวัยชรากลับแข็งแรงและกระตือรือร้นขึ้น ส่วนที่มีแผลเบาหวานหรือแผลไฟไหม้ก็หายดีและไม่มีผลข้างเคียง ทีมผู้วิจัยยังได้ทดสอบในหมูและดูคุณภาพเนื้อหมูเมื่อมีนํ้าหนัก100 กิโลกรัม พบว่ามีเนื้อสัมผัสที่นุ่มและแน่นขึ้น
“มันสำคัญกับมนุษยชาติ เพราะไม่ได้ทำหน้าที่แค่ย้อนวัย แต่ยังรักษาโรคได้ด้วย” ศ. นพ. อภิวัฒน์กล่าว “จากการทดลองในหนู เราพบว่าการทำงานของตับและการทำงานของความจำรวมถึงไขมันในช่องท้อง สามารถย้อนกลับไปเท่ากับหนูหนุ่ม ถ้าเทียบเป็นคน มันย้อนได้จากคนอายุ 75 ปีกลับไปสู่อายุ 25 ปี เรียกว่าเปลี่ยนสรีระและการทำงานของร่างกายไปเลย ในการศึกษากับหนู เราพบว่าพังผืดของตับหายไปด้วย แปลว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการอักเสบและความชราจะสามารถแก้ไขได้”
ปัจจุบัน การวิจัยนี้อยู่ระหว่างการทดสอบกระบวนการในลิงแสมและหนูที่เป็นโรคสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน และปอดเป็นพังผืด โดยลิงแสมทุกตัวปลอดภัยดี และไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ นอกจากนี้ มณีแดงสามารถทำให้ความทรงจำของหนูกลับมาดังเดิม ส่วนการทดลองเบื้องต้นเพื่อรักษาภาวะไตวายและปอดเป็นพังผืดก็ให้ผลที่ดีมาก
“มีคนเป็นปอดพังผืดจากโควิดเป็นล้านคนในโลกนี้ เราหวังจะช่วยคนในกลุ่มนี้ครับ” ศ. นพ. อภิวัฒน์กล่าว
ภาพรวมของวิทยาศาสตร์แห่งอายุวัฒนะในประเทศไทย
“พวกเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่การแพทย์มีศักยภาพในการป้องกันและรักษา เพื่อทำให้คนมีอายุยืนครับ” ผศ.ดร. สมชาย เชื้อวัชรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (Center of Excellence on Medical Biotechnology: CEMB) กล่าวในฐานะผู้อำนวยการ CEMB ซึ่งมีบทบาทหนึ่งในการสนับสนุนทุนเพื่อทำวิจัย ทำให้เขามองเห็นแนวโน้มของงานวิจัยกับความต้องการของตลาดว่าแบ่งเป็นกลุ่มงานวิจัยในเชิงป้องกันกับงานวิจัยเพื่อการรักษา “แต่ตลาดมักวิ่งเร็วกว่าผลการทดลองในห้องแล็บเสมอ” เขากล่าว
ในปัจจุบัน เทคโนโลยีชีวภาพในบ้านเราสามารถเลี้ยงเซลล์มนุษย์นอกร่างกายเพื่อพัฒนาให้เซลล์มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการ ก่อนที่จะนำเซลล์ที่พัฒนาใส่กลับเข้าไปในร่างกายมนุษย์ เป็นการใช้สเตมเซลล์ในการรักษา “ซึ่งแพทยสภาอนุมัติให้ใช้เพื่อการรักษา และมีสถาบันที่ทำเรื่องนี้มากพอสมควร” ผศ. ดร. สมชายบอกและเสริมว่า “พอเซลล์เสื่อม ก็มีแนวคิดของ ‘REjuvenating’ หรือวิทยาการที่มุ่งเน้นการซ่อมแซมและเนื้อเยื่อที่เสื่อมสภาพหรือเสียหายให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง”
เขากล่าวว่า วิทยาการดังกล่าวให้ผลที่ดีในการรักษาเบาหวาน “การใส่เซลล์ตับเข้าไปใหม่ทำให้คนไข้ไม่ต้องฉีดอินซูลิน วงการแพทย์ในอนาคตก็อาจจะใส่เซลล์ที่ทำงานปกติเข้าไปในร่างกายมนุษย์เพื่อรักษาโรคต่าง ๆ ที่รักษา ไม่ได้ ทำให้รักษาได้ดีขึ้นครับ”
แต่วิทยาศาสตร์แห่งการทำให้อายุยืนยาวมีหลายสาขา และอาหารการกินก็มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ผู้อำนวยการCEMB กล่าวว่า “ผู้สูงอายุจะมีปัญหาเรื่องการกลืน นักโภชนาการจะต้องออกแบบอาหารให้ง่ายต่อการกลืน ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลก็ทำวิจัยส่วนนี้ที่สภาบันโภชนาการ”
พูดได้ว่ามนุษย์มีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องโภชนาการโดยเฉพาะเมื่อไขความลับเกี่ยวกับชุมชนจุลินทรีย์ (micro-biome) ในร่างกายได้ การค้นพบนี้ทำให้เกิดประโยชน์มหาศาล นั่นคือเมื่อเรารับประทานอาหารที่ดี ร่างกายก็จะมีจุลินทรีย์ที่ดีด้วย ผศ. ดร. สมชายเปรียบว่า “คล้ายกับลายนิ้วมือของเราครับ เพราะจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารเกิดจากการใช้ชีวิตและการกินของแต่ละคน” เขาบอกว่า โดยรวมแล้ว เรามีความเข้าใจเรื่องการใช้ชีวิตที่ถูกต้องมากขึ้น คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวมากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดี “แต่สิ่งแวดล้อมและโรคอุบัติใหม่ก็เป็นปัจจัยที่เราควบคุมลำบากครับ”
ผศ. ดร. สมชายมองว่า ภัยคุกคามจากสิ่งแวดล้อมและโรคอุบัติใหม่ก็ยังคงเดินนำหน้ามนุษยชาติอยู่หนึ่งก้าวเสมอ “เรามีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก เรามีเรื่องที่ยังไม่รู้อีกมากพอสมควร ทุกวันนี้ ร่างกายเราอุดมด้วยไมโครพลาสติก แต่เรายังไม่รู้ว่าไมโครพลาสติกส่งผลต่อการเกิดโรคอย่างไร ไมโครพลาสติกอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ เราทิ้งพลาสติกลงไปในสภาพแวดล้อม ผลสุดท้ายก็กลับมาที่เรา”
ในขณะเดียวกัน โรคอุบัติใหม่ก็เป็นภัยคุกคามระบบสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ด้วย
“โรคต่าง ๆ เช่น ไวรัสโคโรนา อีโบลา เป็นภาวะคุกคามสาธารณสุขของเรา” ผศ. ดร. สมชายกล่าวและอธิบายว่า “ภัยคุกคามเหล่านี้มีผลทำให้อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์สั้นลง มีงานวิจัยออกมาแล้วว่าโควิดทำให้อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์สั้นลง เพราะทำให้อวัยวะต่าง ๆ เกิดการอักเสบ ยิ่งติดซํ้ายิ่งเกิดการอักเสบมาก มีรายงานว่าการติดโควิดซํ้าสร้างความเสียหายแก่อวัยวะได้มากขึ้น”
หากถามว่า เราเดินทางมาไกลแค่ไหนแล้วบนถนนของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ด้านอายุยืน ผู้อำนวยการ CEMB หัวเราะก่อนจะตอบว่า “จุดหมายปลายทางของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จุดหมายปลายทางของผมอาจอยู่ตรงที่การมีชีวิตได้โดยไม่ลำบาก แต่คุณอาจจะต้องการชีวิตที่ยืนยาว และมีความสุขในชีวิตด้วย ความใกล้และไกลของแต่ละคนจึงไม่เท่ากันครับ”
เรื่อง วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา
ติดตามสารคดี ความก้าวหน้าของศาสตร์ชะลอวัยในไทย ฉบับสมบูรณ์ ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมกราคม 2566
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/567622
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โมเลกุลมณีแดง สารต้านความชราระดับเซลล์ที่ถูกพัฒนาโดยคนไทย
- ผลงาน คริส เฮมส์เวิร์ธ เรื่องใหม่ คือสารคดีว่าด้วยเคล็ดลับชีวิตยืนยาว
- นักวิทยาศาสตร์จะ ‘ยืดวันตาย’ ชะลอวัย มนุษย์ได้นานเพียงไหน