ทำความรู้จักกับ ไวรัสมาร์เบิร์ก ที่มีอัตราการเสียชีวิตถึง 88% และกำลังระบาดในแอฟริกา

ทำความรู้จักกับ ไวรัสมาร์เบิร์ก ที่มีอัตราการเสียชีวิตถึง 88% และกำลังระบาดในแอฟริกา

ไวรัสมาร์เบิร์ก ระบาดในแอฟริกา WHO จับตา หลังอัตราการตายสูงกว่าโควิด ยังไม่มียารักษา ร้ายพอๆกับเชื้ออีโบลา

ไวรัสมาร์เบิร์ก (Marburg virus) หรือ ไข้เลือดออกมาร์เบิร์ก คือไวรัสตระกูลเดียวกับไวรัสอีโบลา ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ไวรัสชนิดนี้ถูกพบเป็นครั้งแรกหลังจากมีผู้ติดเชื้อ 31 คนและเสียชีวิต 7 รายในช่วงปี 1967 ในเมืองมาร์เบริ์กและแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี รวมถึงใน เบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย โดยเชื่อว่าเกิดจากลิงเขียวแอฟริกาที่นำเข้ามาจากยูกันดา และไวรัสก็เริ่มติดต่อกันผ่านสัตว์ชนิดอื่น ๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ทั้งนี้ ไวรัสมาร์เบิร์ก พบการติดเชื้อกันระหว่างมนุษย์ในกลุ่มผู้ที่ทำงานหรือใช้เวลาอยู่ในในถ้ำและเหมืองที่มีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นเวลานาน มีการแพร่ระบาดครั้งแรกในกานา ก่อนจะแพร่กระจายไปในหลายประเทศในภูมิภาคดังกล่าว ซึ่งในปี 2005 ที่แองโกลาไวรัสชนิดนี้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 329 ราย

ล่าสุดในช่วงเดือนกุมภ่าพันธ์ปี 2023 ทั่วโลกหันมาสนใจ ไวรัสมาร์เบิร์ก อีกครั้ง เมื่อ WHO ยืนยันเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2023 ว่าพบการระบาดใน สาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี (Equatorial Guinea) ประเทศเล็ก ๆ แถบแอฟริกากลาง ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 คน และทางการต้องสั่งกักตัวประชาชนกว่า 200 คน ขณะที่ แคเมอรูน พบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อรายแรกเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2023

อาการและความร้ายแรงของ ไวรัสมาร์เบิร์ก

อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กคือ มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อาเจียนเป็นเลือด ท้องเสีย และเสียชีวิต ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ โดยอยู่ในวงศ์เดียวกันกับเชื้อไวรัสอีโบลา และมีอัตราการเสียชีวิตสูงตั้งแต่ 24-88% (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์) ซึ่งมากกว่าเชื้อไวรัสโควิด19

หลังจากเชื้อ ไวรัสมาร์เบิร์ก จะมีการฟักตัวอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 2-21 วัน ปัจจุบันยังไม่มีทั้งยารักษาและวัคซีนป้องกัน ในส่วนของการรักษาเฉพาะ ตอนนี้ยังเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการป่วย และการคืนน้ำด้วยของเหลวในช่องปากและทางหลอดเลือดดำ

ส่วนการป้องกันที่ดีที่สุด ต้องไม่ให้ผู้คนกลุ่มเสี่ยงติดต่อกับผู้อื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัส โดย ไวรัสมาร์เบิร์ก คือโรคอุบัติซ้ำที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีความร้ายแรงมากกว่าโควิด19 และฝีดาษวานร

ไวรัสมาร์เบิร์ก กับผลกระทบในประเทศไทย

ปัจจุบัน ไวรัสมาร์เบิร์ก ยังแพร่ระบาดอยู่เฉพาะในทวีปแอฟริกา จึงยังไม่น่าเป็นห่วงและยังไม่มีผลกระทบต่อคนไทย เพียงแต่ต้องเฝ้าระวัง โดย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเมื่อวันที่ (16 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus disease) ในประเทศอิเควทอเรียลกินี (Equatorial Guinea) ในแอฟริกากลาง ที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 9 ราย

อย่างไรก็ตาม ได้รับรายงานว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดมีอาการติดเชื้อรุนแรง เป็นไข้และอาเจียนเป็นเลือด อีกทั้งยังมีผู้ป่วยสงสัยอีก 16 ราย ส่วนใหญ่มีอาการไข้ อ่อนเพลีย อาเจียนเป็นเลือดและท้องเสีย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังสอบสวนโรคเพิ่มเติม และองค์การอนามัยโลก (WHO) ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญไปสอบสวนโรคในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อติดตามแยกกักผู้สัมผัส และให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่แสดงอาการ รวมถึงบริหารสถานการณ์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง

อนึ่ง โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก เป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง ประเทศไทยกำหนดให้เป็น 1 ใน 13 โรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีอัตราการป่วยเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 88 เป็นไวรัสในสกุลเดียวกับไวรัสอีโบลา คือ Filoviridae

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ที่มา

https://en.wikipedia.org/wiki/Marburg_virus

https://edition.cnn.com/2023/02/15/africa/cameroon-detects-marburg-virus-intl/index.html

https://news.un.org/en/story/2023/02/1133487

Recommend