โมเลกุลมณีแดง สารต้านความชราระดับเซลล์ที่ถูกพัฒนาโดยคนไทย

โมเลกุลมณีแดง สารต้านความชราระดับเซลล์ที่ถูกพัฒนาโดยคนไทย

โมเลกุลมณีแดง คือหนึ่งในข่าวนวัตกรรมที่ได้รับความสนใจอย่างมากเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เมื่อผลวิจัยออกมาว่า เป็นความก้าวหน้าของศาสตร์ชะลอวัยที่ถูกพัฒนาโดยคนไทย

โมเลกุลมณีแดง ถูกทดลองในห้องแล็บ ด้วยการฉีดยามณีแดงเข้าที่ช่องท้องของหนูทดลอง ผลปรากฏว่าโมเลกุลมณีแดงสามารถสร้างรอยแยกดีเอ็นเอได้ โดยเซลล์ที่ชราแล้วก็กลับมามีรูปร่างและทำงานได้ตามปกติ และมีความแข็งแรงคล่องแคล่วว่องไวพอ ๆ กับหนูหนุ่มสาว เหมือนได้ย้อนวัยกลับไปเป็นหนูหนุ่มอีกครั้ง ตลอดจนแผลไฟไหม้ในหนูทดลองก็หายเร็วขึ้น ไขมันลงพุงก็ลดลง ที่สำคัญคือ หนูชราที่ทำการทดลองนั้นมีความจำและเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับความคืบหน้าของโครงการ ตอนนี้อยู่ระหว่างทดสอบกับลิง และเชื่อว่าภายในไตรมาส 2-3 ของปีนี้ จะมีการทดสอบในมนุษย์ ก่อนจะมีการเตรียมความพร้อมในกระบวนการผลิตโมเลกุลมณีแดงสู่สังคมต่อไป หากสำเร็จจะถือเป็นก้าวสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์ไทย

ทั้งนี้ โมเลกุลมณีแดงช่วยเพิ่มข้อต่อดีเอ็นเอ ลบรอยโรคของดีเอ็นเอ แก้ไขความชราของเซลล์ได้ การทดลองนี้ไม่ใช่การทำลายเซลล์ชรา แต่เป็นการเปลี่ยนเซลล์ที่ชราแล้วให้กลับมาเป็นเซลล์ที่ทำงานได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าสมองของหนูชราที่ได้รับมณีแดงกลับมาดีขึ้น โดยในการทดลองยังพบด้วยว่าโรคที่พบในเซลล์ชรา เช่น โปรตีนที่พบในเซลล์ชรา (senescence associated proteins) ไขมันในช่องท้อง (visceral fat) พังผืดในตับ (liver fibrosis) ลดลง ในขณะที่รอยแยกดีเอ็นเอ (Youth-DNA-GAP) เพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่าเซลล์มีความอ่อนวัยขึ้น นอกจากนี้ การทดลองมณีแดงกับหนูที่เป็นแผลไฟไหม้และหนูที่มีแผลเบาหวาน ก็ได้ผลน่าพอใจ คือ แผลสมานเร็ว และทำให้เนื้อหมูนุ่มแน่นขึ้น

การวิจัย โมเลกุลมณีแดง สู่สารย้อนวัย ต้านเซลล์ชราระดับเซลล์

การพัฒนาและวิจัยโมเลกุลมณีแดง หรือ RED–GEMs เป็นความร่วมมือกันของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) , บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร เปิดเผยว่า นับเป็น ครั้งแรกของโลก จากการที่ได้ค้นพบกลไกต้นน้ำของความชราสู่การพัฒนา โมเลกุลมณีแดง หรือ RED-GEMs (REjuvenating DNA by GEnomic Stability Molecules) โดยทั่วไปในดีเอ็นเอจะมีรอยแยก (youth-DNA-gap) อยู่บริเวณที่มีดีเอ็นเอแมดทิเลชัน (DNA methylation) อันเป็นที่มาของโมเลกุลมณีแดง ซึ่งมีบทบาทในการช่วยปกป้องดีเอ็นเอและป้องกันความแก่ชราในดีเอ็นเอ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมนุษย์อายุมากขึ้น รอยแยกดีเอ็นเอจะลดลง ทำให้เกิดแรงตึงทั่วสายของดีเอ็นเอ ดีเอ็นเอไม่สามารถหมุนตัวได้อย่างปกติ และถูกทำลายได้ง่าย เราจึงพบรอยโรคในดีเอ็นเอของเซลล์ที่แก่ชราแล้วเยอะขึ้น ซึ่งรอยโรคดีเอ็นเอนี้จะส่งสัญญาณให้เซลล์หยุดการแบ่งตัวตามปกติและเข้าสู่ความแก่ชรา รวมถึงอาจนำไปสู่การกลายพันธุ์และมะเร็งได้ โมเลกุลมณีแดงคือยีนที่มีหน้าที่เป็นกรรไกรเพื่อสร้างรอยแยกดีเอ็นเอ เซลล์ที่ได้รับมณีแดงจะมีดีเอ็นเอที่แข็งแรงขึ้น และทำให้เซลล์ที่เสื่อมลงแล้วกลับมาดีขึ้น

“จากการค้นพบนำไปสู่การวิจัยและพัฒนา จนเข้าสู่การทดสอบในสัตว์คือ หนู หมู และลิง โดยได้ทดสอบกับหนูวัยชราที่มีแผลเบาหวาน แผลไฟไหม้ พบว่าหนูวัยชรากลับเป็นหนูที่มีความแข็งแรงและกระตือรือร้นขึ้น ทั้งการทำงานของ สมอง ตับ และไต ในส่วนของไขมันในช่องท้องและพังผืดในตับได้ลดหายไปด้วย ด้านแผลเบาหวาน แผลไฟไหม้หายดี ไม่มีผลข้างเคียง นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ทดสอบในหมูแรกเกิด และทดสอบคุณภาพเนื้อเมื่อมีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม พบว่ามีเนื้อสัมผัสที่นุ่มขึ้น แน่นขึ้น ปัจจุบันโครงการได้ทดสอบในลิงแสม และหนูที่เป็นโรคสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน และปอดเป็นพังผืด ขณะนี้ได้ทดสอบมณีแดงกับลิงแสมแล้ว 3 เข็มในระยะเวลา 3 สัปดาห์ จากที่วางแผนไว้ 8 เข็ม ในระยะเวลา 8 สัปดาห์ โดยลิงแสมทุกตัวปลอดภัยดี และไม่มีผลข้างเคียงใดๆ” ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ กล่าว

ความสำคัญของนวัตกรรมจาก โมเลกุลมณีแดง

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ กล่าวว่า บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างนิเวศน์วิทยาทางธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี และสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชน โดยนอกเหนือจากการลงทุนด้านยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และโภชนเภสัชแล้ว เรายังมีเป้าหมายเร่งสร้างการพัฒนานวัตกรรมของคนไทยให้เทียบเคียงได้ในระดับสากล ผ่านความร่วมมือกับเครือข่าย ทั้งนักวิจัยและมหาวิทยาลัย เพื่อต่อยอดงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นความท้าทายและต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน ทั้งการวิจัยในห้องปฏิบัติการ

การวิจัยทางคลินิก การเตรียมความพร้อมทางด้านการผลิตในระดับอุตสาหกรรม การตลาด การขึ้นทะเบียน และทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อสร้างมูลค่าของงานวิจัยให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย โดยอินโนบิก (เอเชีย) จะสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการโครงการ การทำการตลาดเชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งบุคลากรที่เชี่ยวชาญ ตลอดจนเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เพื่อให้โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ทั้งในเชิงผลลัพธ์และระยะเวลา

มณีแดง ถือได้ว่าเป็นการค้นพบที่น่าสนใจ สามารถต่อยอดในการฟื้นฟูและป้องกันที่มีการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านชีววิทยาโดยเฉพาะพันธุศาสตร์ สนับสนุนยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่ต้องการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจร และพัฒนาอุตสาหกรรมการสร้างเสริมสุขภาพให้สมบูรณ์อย่างยั่งยืน หรือ Wellness

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษามีการผลักดันให้เกิดการพัฒนาผลงานนวัตกรรมที่ยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อสังคม (Real-world Impact Innovation) ตลอดจนมุ่งใช้ศักยภาพของมหาวิทยาลัยในการตอบสนองและบริการสังคม ด้วยการสร้างสรรค์ และบ่มเพาะองค์ความรู้สู่การสร้างสรรค์แนวทางแก้ไขปัญหาสังคม ทันต่อการปรับเปลี่ยนและการแข่งขันสู่มหาวิทยาลัยแห่งชาติในระดับโลกที่ยั่งยืน นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พลิกโฉมสู่มหาวิทยาลัยที่เน้นนวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม ผ่านการสื่อสารสโลแกนใหม่ของจุฬาฯ “Innovations for Society” ตอกย้ำจุดยืนที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคม สร้างสรรค์ให้สังคมดีขึ้นในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี ไปจนถึงการส่งเสริมองค์ความรู้ที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนสังคมให้ไปข้างหน้าด้วยกัน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ระบุว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว ซึ่งจะมีผลกระทบต่องบประมาณค่าใช้จ่ายของภาครัฐด้านสาธารณสุข ตลอดจนการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจประเทศอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทตระหนักถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น จึงมุ่งสร้างธุรกิจ New S-Curve เพื่อเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ และส่วนร่วมนำพาประเทศให้เดินหน้าได้อย่างแข็งแรง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร Powering Life with Future Energy and Beyond ที่มุ่งสร้างคุณค่าให้แก่สังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย โครงการมณีแดง ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของนักวิจัยไทยที่น่ายกย่อง และควรสนับสนุนต่อยอดให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ที่มา

https://www.chula.ac.th/highlight/56892/

https://ngthai.com/science/46397/ thai-maneedeang/

บทความที่เกี่ยวข้อง

Recommend