ความแก่ การแก่ตัวลงเป็นหนึ่งในความลึกลับพื้นฐานของชีววิทยามนุษย์ มันทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวช้าลง เซลล์หยุดแบ่งตัว และอวัยวะต่าง ๆ ก็เจ็บปวดมากขึ้น ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนกับคำถามที่ว่า ‘ทำไมเราถึงแก่ลง’
แต่ความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ก็แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ความเสียหายในร่างกายที่สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ และ เป็นผลจากการ ‘เขียนโปรแกรม’ ของพันธุกรรม
กลุ่มแรกเชื่อว่าร่างกายที่แก่ขึ้นมาจากการสึกหรอที่สะสมอยู่ในเนื้อเยื่อตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา ของเสียที่เกิดขึ้นในเซลล์ ระบบสำรองล้มเหลว กลไกการซ่อมแซมค่อยๆ พังลง และร่างกายก็เสื่อมเหมือนรถเก่า ขณะที่กลุ่มที่สองกล่าวว่า ความชรา เกิดจากยีนของเราเอง
นาฬิกาโมเลกุลในร่างกายได้กำหนด ‘ตารางเวลาชีวิต’ สำหรับแต่ละสปีชีส์ หลักฐานนั้นมาจากการศึกษาในสัตว์ เพียงแค่เปลี่ยนยีนไม่กี่ตัวก็สามารถเพิ่มอายุขัยในสัตว์นั้นได้ พร้อมชี้ให้เห็นว่าจากมุมมองวิวัฒนาการแล้ว ยีนจะมีประโยชน์ในช่วงต้นชีวิต มากกว่าการใช้บำรุงรักษาร่างกายในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม กระบวนการของความชราเริ่มต้นในหน่วยที่เล็กที่สุดของร่างกาย นั่นคือเซลล์ เมื่อปี 1960 นักชีววิทยา ลีโอนาร์ด เฮย์ฟลิก (Leonard Hayflick) พบว่าเซลล์จะแบ่งตัวโดยเฉลี่ย 50 ครั้งเท่านั้น ก่อนที่มันจะหยุดทำงาน สิ่งนี้เรียกว่า ‘ขีดจำกัดของเฮย์ฟลิก ข้อจำกัดนี้ใช้กับเนื้อเยื่อมนุษย์ทั้งหมด
แต่สิ่งที่ทำให้เซลล์ทำงานช้าและตายลง กลับเป็น ‘เทโลเมียร์’ (Telomeres) สายยาวของดีเอ็นเอที่หุ้มปลายโครโมโซมอยู่ มันคอยปกป้องและป้องกันไม่ให้โครโมโซมได้รับความเสียหายและไม่ไปรวมกับโครโมโซมอื่น
นักวิจัยพบว่า แต่ละครั้งที่เซลล์แบ่งตัว เทโลเมียร์ จะหลุดออกไปราวๆ 50 ถึง 100 ตัว และเมื่อมันถึงขีดจำกัดของมัน การแบ่งเซลล์จะหยุดลงโดยสิ้นเชิง
ชีววิทยาไม่ใช่โชคชะตา และแม้จะเกี่ยวข้องกับเทโลเมียร์ก็ตาม กระนั้น วิธีที่เราใช้ชีวิตก็สร้างผลกระทบได้เช่นกัน นักวิทยาศาสตร์พบว่าผู้ที่มีความเครียดในชีวิตนั้นมีเทโลเมียร์ที่สั้นกว่าค่าเฉลี่ย
ในทางกลับกัน งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียได้แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ เช่นการออกกำลังกาย หรือกินอาหารที่มีพืชเป็นส่วนประกอบหลัก พวกเขาจะมีเทโลเมียร์เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 10 แต่ยังต้องมีการศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติม
ความชราส่งผลกระทบต่อระบบร่างกายเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ประสาทสัมผัส อวัยวะย่อยอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน กระดูก และกล้ามเนื้อ
แต่ที่น่าสนใจคือ ระบบประสาทส่วนกลาง สมอง และไขสันหลัง กลับอยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดตามอายุ ถึงอย่างนั้น เรากลับเห็นภาวะสมองเสื่อม และอาการหลงๆ ลืมๆ อยู่บ่อยครั้งในผู้สูงอายุ
อันที่จริง สมองที่แข็งแรงจะยังทำงานได้ดีในวัยชรา เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย แต่กล้ามเนื้อจะหดตัวเล็กน้อยเมื่อเซลล์ตาย และน้ำหนักจะลดลงประมาณร้อยละ 10 เมื่ออายุมากขึ้น ขณะที่สมองหรือเซลล์ประสาทนั้นสูญเสียน้อยกว่าที่เกิดในอวัยวะอื่นๆ
แต่สิ่งที่สร้างปัญหาคือ เมื่อกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อต่างๆ ลดลง มันทำให้การไหลเวียนเลือดไปยังสมอง รวมไปถึงการขนส่งสารสื่อประสาทลดลง ซึ่งที่มีผลกระทบต่อสมอง ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราแก่ กระนั้นมันก็ยังมีข้อดี
โรคภูมิแพ้จะลดลงในผู้สูงอายุ เมื่อแก่ตัวลง สมองจะได้รับประโยชน์จากการออกกำลังกายมากขึ้น สำหรับผู้ชายที่อายุมากขึ้น ก็มีโอกาสถ่ายทอดพันธุกรรมไปสู่ลูกสูงยิ่งขึ้น สำหรับผู้หญิงที่มีสเต็มเซลล์ก็สามารถผลิตไข่ใหม่ได้ตลอดอายุขัย และข้อมูลทางสถิติชี้ว่าคนที่มีอายุมากกว่า 85 ปี ก็ไม่ได้ป่วยมากกว่าคนที่มีอายุ 74 ปีถึง 85 ปี
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
.
https://www.nationalgeographic.com/magazine/article/why-do-we-age-old-human-biology-fitness-dna
บทความที่เกี่ยวข้อง