สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ถึงตัวจะเล็ก แต่ทำหน้าที่ยิ่งใหญ่

สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ถึงตัวจะเล็ก แต่ทำหน้าที่ยิ่งใหญ่

กรณี สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว หน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตบนโลกคือ “เซลล์” และสิ่งนี้ยังใช้เป็นเกณฑ์การจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกอย่างง่ายที่สุด โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว และสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์

ในโลกแห่งความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต เซลล์หนึ่งเซลล์อาจหมายถึงสิ่มีชีวิตหนึ่งตัว หรือที่เรียกว่า สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว โดยภายในเซลล์มีโคตรสร้างที่เรียกว่า ออร์แกเนล (Organalle) เป็นส่วนประกอบที่ทำหน้าที่สำคัญต่างๆ ภายในเซลล์ เช่น การย่อยอาหาร การเคลื่อนที่ และการสืบพันธุ์ เป็นต้น

ภาพถ่าย CDC

ในทางกลับกัน สิ่งมีชีวิตที่ประกอบขึ้นจากเซลล์หลายเซลล์จะมีระบบอวัยวะ (Organ system) ที่ซับซ้อน เพื่อทำหน้าที่เฉพาะในร่างกาย เช่น ระบบย่อยอาหาร ระบบการโครงร่าง และระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น

การศึกษาในแง่ของวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต นักชีววิทยาตั้งทฤษฎีว่า ในช่วงแรกเริ่มของการกำเนิดโลก สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวเป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตยุคแรกๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นบนโลก โดยมีลักษณะสำคัญดังนี้

– ทั้งร่างกายจะประกอบด้วยเซลล์เพียงเซลล์เดียว
– ส่วนใหญ่มีเยื่อหุ้มนิวเคลียส และบางกลุ่มไม่มีเยื่อหุ้มนิวเคลียส
– กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต และกิจกรรมอื่น ๆ จะเกิดขึ้นภายในเซลล์เพียงเซลล์เดียว

ภาพถ่าย nadya_il

โดยสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่พบในระบบนิเวศได้แก่

1. อาณาจักรมอเนอรา (Kingdom Monera) คือ 1 ใน 5 อาณาจักรหลักของสิ่งมีชีวิตบนโลกตามการจัดจำแนกทางอนุกรมวิธานวิทยา (Taxonomy) เป็นกลุ่มของสิ่งมีชีวิตโบราณ เช่น กลุ่มของแบคทีเรีย (Bacteria) และสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Blue-green Algae) ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็กที่ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ผลิต (Producer) และผู้ย่อยสลาย (Decomposer) ที่สำคัญในระบบนิเวศ

ลักษณะโดดเด่นของสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรมอเนอราคือ ไม่มีเยื่อหุ้มนิวเครียส หรือเยื่อหุ้มสารพันธุกรรม (Prokaryote) และภายในเซลล์ปราศจากออร์แกเนลล์ มีเพียงไรโบโซมขนาดเล็ก (Ribosome) สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมสุดขั้ว ทั้งในสภาพอากาศหนาวจัด ร้อนจัด หรือในสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นกรดและมีความเค็มสูง หรืออาร์เคียแบคทีเรีย

น้ำพุร้อนในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน สหรัฐอเมริกา สามารถแบคทีเรียที่สามารถทนความร้อนได้ / ภาพถ่าย Lukas Kloeppel

ในขณะเดียวกัน อาณาจักรมอเนอรายังมีสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่มีความหลากหลายสูง ทั้งแบคทีเรียสังเคราะห์แสงได้ แบคทีเรียก่อโรคในมุนษย์ และแบคทีเรียที่ช่วยเรื่องการเจริญเติบโตของพืช หรือที่เรียกรวมๆ ว่า ยูแบคทีเรีย

2. อาณาจักรโพรทิสตา (Protista) คือ กลุ่มของสิ่งมีชีวิตยุคแรกที่ถูกเรียกรวมกันว่า “โพรทิสต์” (Protist) เป็นสิ่งมีชีวิตที่ประกอบขึ้นจากเซลล์เพียงเซลล์เดียว หรือหลายเซลล์ที่ยังไม่พัฒนาไปเป็นระบบเนื้อเยื่อ

โดยมีลักษณะและองค์ประกอบภายในที่แตกต่างออกไปจากทั้งเซลล์พืชและเซลล์สัตว์ เช่น สาหร่าย อะมีบา และโพรโตซัว โดยโพรทิสต์ถือเป็นกลุ่มของสิ่งมีชีวิตที่เก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่งบนโลก เป็นสิ่งมีชีวิตเรียบง่ายที่มีความสมบูรณ์พร้อมในตนเอง สามารถอาศัยอยู่ทั้งบนบก ในน้ำ และบนร่างกายของพืชและสัตว์ชนิดต่าง ๆ โดยในปัจจุบันมีการค้นพบสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรนี้แล้วมากกว่า 200,000 ชนิด

สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวในสกุล สเตนเตอร์
                      สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวในสกุล สเตนเตอร์ / ภาพถ่าย PROYECTO AGUA

ลักษณะสำคัญของสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรโพรทิสตาคือ เซลล์แบบยูแคริโอต (Eukaryotic Cells) หรือเซลล์ที่มีเยื่อหุ้มนิวเคลียส (Nucleus Membrane) โดยมีลักษณะของออร์แกเนลล์ (Organelle) ภายในเซลล์แตกต่างกันออกไปในแต่ละกลุ่มของสิ่งมีชีวิต เช่น ผนังเซลล์ (Cell Wall) และคลอโรพลาสต์ (Chloroplast) เป็นต้น

โพรทิสต์สามารถดำรงชีพได้หลายลักษณะ ทั้งการเป็นผู้ผลิต (Producer) ผู้บริโภค (Consumer) และผู้ย่อยสลาย (Decomposer) ในระบบนิเวศ รวมถึงความสามารถในการเคลื่อนที่ ซึ่งโพรทิสต์บางชนิดมีขน (Cilia) หรือหนวด (Flagellum) รวมไปถึงขาเทียมที่เรียกว่า “ซูโดโพเดียม” (Pseudopodium) ที่ใช้สำหรับการเคลื่อนที่

สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรโพรทิสตาสามารถจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม ตามรูปแบบการดำรงชีวิต (Lifestyle) คือ

– โพรทิสต์ที่มีลักษณะคล้ายสัตว์ (Zoo-Like Protist) คือ กลุ่มของสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ เช่น โพรโตซัว (Protozoa) ซึ่งกินอาหารผ่านทางช่องปากและมีระบบการย่อยอาหารภายในร่างกายคล้ายสัตว์

– โพรทิสต์ที่มีลักษณะคล้ายพืช (Plant-Like Protist) คือ กลุ่มของสิ่งมีชีวิตที่สามารถสร้างอาหารเองได้จากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (Photosynthesis) เช่น สาหร่ายชนิดต่าง ๆ (Algae) ทั้งสาหร่ายเซลล์เดียว (Unicellular Algae) และสาหร่ายหลายเซลล์ (Multicellular Algae) ที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดและทะเลสาบ

– โพรทิสต์ที่มีลักษณะคล้ายรา (Fungi-Like Protist) คือ กลุ่มของสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ แต่ใช้วิธีการย่อยสลายและดูดซึมสารอาหารภายนอกเข้าสู่ร่างกาย เช่น ราเมือก (Slime Mold)

ภาพถ่าย Edward Jenner

สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวส่วนใหญ่มีขนาดเซลล์เล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงต้องศึกษาด้วยเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ เช่น การย้อมสี การเพาะเชื้อ และการใช้กล้องจุลทรรศน์ เป็นต้น แต่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก็กระจายอยู่ในระบบนิเวศทุกแห่งบนโลก รวมถึงเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างที่เราคาดไม่ถึง

สืบค้นและเรียบเรียง ณภัทรดนัย

ข้อมูลอ้างอิง
https://biology.mwit.ac.th/Resource/BiodiverPDF/5_diver_protista.pdf
http://www.sysp.ac.th/files/1403271111004763_14042614140043.pdf
https://www.scimath.org/lesson-biology/item/11005-2019-10-29-01-49-12
https://www.collegesearch.in/articles/unicellular-organisms-example
https://education.nationalgeographic.org/resource/unicellular-vs-multicellular/

อ่านเพิ่มเติม พบกระดูก โฮโมเซเปียนส์ 86,000 ปีในถ้ำที่ลาว – ฟอสซิลมนุษย์ปัจจุบันเก่าแก่ที่สุดในอาเซียน – เชื่อ เป็น ‘การย้ายถิ่นฐานที่ล้มเหลว’

Recommend