เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง คืออะไร ต่างจาก เนื้อสัตว์จากพืช อย่างไร ไม่ทำร้ายสัตว์จริงหรือ

เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง คืออะไร ต่างจาก เนื้อสัตว์จากพืช อย่างไร ไม่ทำร้ายสัตว์จริงหรือ

นักวิทยาศาสตร์อธิบายไว้ว่า “ เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง ที่ถูกผลิตขึ้นในห้องแล็บ ก็เหมือนกับเนื้อธรรมดาทั่วไป แค่ตัวสัตว์ถูกตัดออกจากสมการการผลิต”

เมื่อเดือนกรกฎาคม ลูกค้าของร้านอาหารในเมืองซานฟรานซิสโกและวอชิงตัน ดี.ซี. จะเป็นคนกลุ่มแรกในสหรัฐอเมริกาและกลุ่มแรกของโลกที่ได้รับประทาน เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง จากห้องแล็บหรือที่ถูกเรียกว่า “อาหารแห่งอนาคต” เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture: USDA) ได้รับรองการผลิตและการจำหน่ายเนื้อไก่เพาะเลี้ยงจากสองบริษัทคือ บริษัทอัปไซด์ฟูดส์ (Upside Foods) และบริษัทกูดมีต (Good Meat)

ในเบื้องต้น แต่ละบริษัทได้ร่วมเป็นหุ้นส่วนกับร้านอาหารโดยหวังว่าจะสามารถโปรโมตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงชนิดอื่น ๆ และทำให้เนื้อสัตว์ทางเลือกเหล่านี้วางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารต่างๆ ได้ โดยบริษัทอัปไซด์ฟูดส์ได้ร่วมเป็นหุ้นส่วนกับร้านบาร์เครนน์ (Bar Crenn) ในซานฟรานซิสโก และบริษัทกูดมีตได้ร่วมเป็นหุ้นส่วนกับร้านชินา ชิลกาโน (China Chilcano) ของเชฟโฮเซ อันเดรสในวอชิงตัน ดี.ซี.

การอนุมัติจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ทำให้อเมริกาเป็นประเทศที่สองต่อจากสิงคโปร์ที่รับรองให้เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงหรือเนื้อสัตว์สังเคราะห์ถูกกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมที่เมื่อทศวรรษที่แล้วยังเป็นเพียงจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์เท่านั้น ทว่าในปัจจุบันกลับมีบริษัทมากกว่า 150 แห่งที่พัฒนาอาหารแห่งอนาคตชนิดนี้ขึ้น และภายในปี 2022 เพียงปีเดียวพบว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าสูงถึง 896 ล้านเหรียญสหรัฐ

แล้ว เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง คืออะไร เพราะเหตุใดผู้คนมากมายจึงหันมาสนใจเนื้อสัตว์ทางเลือกชนิดนี้

เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง
ในปี 2013 ที่ผ่านมา มีการเปิดตัวเนื้อเบอร์เกอร์ที่เพาะเลี้ยงจากห้องแล็บครั้งแรกของโลกในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นเบอร์เกอร์ที่เกิดจากห้องแล็บแห่งนี้ สิ่งที่เคยคาดคิดว่ามีอยู่ในนวนิยายวิทยาศาสตร์ในก่อนหน้านี้ ได้เติบโตเป็นอุตสาหกรรมมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ ซึ่งบางคนกล่าวว่าเป็นอาหารของอนาคต ภาพถ่ายโดย DAVID PARRY, REUTERS

เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง มีกระบวนการผลิตอย่างไร

เดวิด แคแพลน ผู้อํานวยการศูนย์เกษตรกรรมแบบเพาะเลี้ยงเซลล์ประจำมหาวิทยาลัยทัฟส์ (Tufts University) ได้อธิบายไว้ว่า “เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (Cultured meat หรือ Lab-grown meat) เกิดขึ้นจากการแยกสเต็มเซลล์ (stem cells) ออกจากเซลล์ของเนื้อสัตว์ที่เรามักจะนำมารับประทาน แล้วใช้เซลล์ที่แยกออกมาเป็นแหล่งผลิตเนื้อเยื่อเพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตนอกร่างกายของสัตว์” นอกจากนี้แคลร์ บอมแคมป์ นักวิทยาศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตเนื้อสัตว์และอาหารทะเลเพาะเลี้ยงของสถาบันกูดฟูด (The Good Food Institute)  ยังกล่าวเสริมว่า “เนื้อสัตว์ที่ถูกผลิตขึ้นในห้องแล็บก็เหมือนกับเนื้อธรรมดาทั่วไป แค่ตัวสัตว์ถูกตัดออกจากสมการการผลิต”

ขั้นตอนแรกของการเพาะเนื้อสัตว์คือการคัดเลือกเซลล์จากสัตว์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้วิธีตัดชิ้นเนื้อมาจากตัวสัตว์ วิธีนี้ใช้ได้ทั้งกับสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่และสัตว์ที่ถูกฆ่าแล้ว  หรืออีกหนึ่งวิธีที่สามารถทำได้คือการแยกเซลล์ออกจากไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว ในขั้นตอนต่อมาเซลล์ที่คัดไว้จะถูกนำไปเพาะด้วยอาหารเลี้ยงเชื้อเพื่อให้เซลล์แบ่งตัวและเพิ่มจำนวน แต่ถ้าหากว่าคุณกำลังจินตนาการภาพว่ามีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งนั่งเฝ้าจานเพาะเชื้ออยู่นั้น คุณต้องคิดภาพใหม่ให้ใหญ่กว่านั้น แคแพลนแนะนำว่า “ให้ลองนึกถึงภาพอะไรคล้าย ๆ กับกระบวนการผลิตเบียร์ดูครับ ให้คุณนึกถึงพวกงานที่สเกลงานใหญ่มาก ๆ”

เซลล์ที่ถูกคัดเลือกมาอาจจะเป็นสเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิดที่สามารถพัฒนาเป็นส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ได้เกือบทุกส่วน หรืออาจจะเป็นเซลล์แซทเทลไลท์ (satellite cells) เซลล์อื่น ๆ ที่สามารถแบ่งตัวและซ่อมแซมกล้ามเนื้อต่าง ๆ ได้ เซลล์จากสัตว์บางเซลล์สามารถเพิ่มจำนวนได้ประมาณ 30-50 เท่าก่อนที่จะเสื่อมสภาพและต้องตัดชิ้นเนื้อเพื่อคัดเลือกเซลล์อีกครั้ง ต่างจากเซลล์โฮลีเกรล (The Holy Grail) ที่แคแพลนและทีมกำลังพัฒนาขึ้น เซลล์ชนิดนี้เป็นเซลล์อมตะที่ไม่ว่าจะผ่านการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมหรือกลายพันธุ์ก็ยังสามารถเพิ่มจำนวนต่อไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดโดยไม่จำเป็นต้องใช้เนื้อเยื่อจากสัตว์เพิ่ม ผลลัพธ์ตามที่คาดการณ์ไว้จะออกมาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะ กลิ่น รสชาติ และเนื้อสัมผัสไม่แตกต่างไปจากเนื้อสัตว์ที่เราคุ้นเคย แต่สามารถผลิตขึ้นใหม่ได้เรื่อย ๆ

เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง
ที่สำนักงานของ Upside Foods ที่ตั้งอยู่ใน Emeryville, San Francisco พนักงานได้ตั้งค่าและติดตั้งถังการเพาะเลี้ยงที่นี่เพื่อผลิตเนื้อเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ สิ่งที่เริ่มต้นจากการศึกษาวิทยาศาสตร์ในจานทดลองได้กลายเป็นกระบวนการที่คล้ายกับการต้มเบียร์ ภาพถ่ายโดย BRENT STIRTON, GETTY IMAGES FOR NATIONAL GEOGRAPHIC

และถ้าคุณคิดว่าการทานเนื้อสัตว์ที่ถูกเพาะขึ้นในห้องแล็บเป็นสิ่งที่น่าแคลงใจก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะคุณไม่ได้เป็นคนเดียวที่คิดเช่นนั้น บอมแคมป์เองก็ยอมรับว่า “ตอนที่ฉันได้ยินครั้งแรกก็สงสัยมาก ๆ เหมือนกันค่ะ ตอนที่ได้ยินเรื่องนี้ ฉันกำลังทำงานอยู่ในห้องแล็บเพื่อการเพาะเลี้ยงเซลล์แล้วก็คิดว่า ‘นี่จะให้ฉันทานเซลล์เหรอ ไม่ดีกว่า’ หลังจากนั้นฉันก็คิดทบทวนเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้นจนคิดได้ว่าเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงอาจจะเป็นอะไรที่มีประโยชน์มากมายก็ได้ค่ะ”

ข้อดีของ เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง คืออะไร

ในแต่ละปีมีจำนวนสัตว์บกทั่วโลกที่ถูกฆ่าเพื่อนำมาเป็นอาหารมากถึง 70,000 ล้านตัว ซึ่งไก่มีอัตราการถูกฆ่าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากเป็นสัดส่วนหลักของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ในแต่ละปียังมีวัวกว่า 300 ล้านตัวที่ถูกฆ่าเพื่อนำไปบริโภค ทางด้านอุตสาหกรรมผลิตเนื้อหมูพบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของหมูตัวเมียที่ถูกเลี้ยงในสหรัฐฯ ต้องใช้ชีวิตอยู่ในคอกที่คับแคบจนไม่สามารถขยับตัวไปมาได้

การให้อาหารสัตว์ในอุตสาหกรรมนี้สามารถก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมได้ นอกจากนี้ 67 เปอร์เซ็นต์ของพืชเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ปลูกในแต่ละปียังไม่ได้ใช้เพื่อบริโภคในครัวเรือนโดยตรงแต่ถูกนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ตามฟาร์มต่าง ๆ แทน นั่นหมายความว่าผืนดินหลายต่อหลายไร่ถูกใช้ไปเพื่อปลูกพืชเป็นอาหารให้กับอาหารของเราโดยเฉพาะ ต่อจากนั้น มลพิษจากกิจกรรมทางการเกษตรที่เกิดจากกระบวนการการผลิตอาหารสัตว์ยังสามารถส่งผลกระทบต่อทั้งแหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดินได้ ด้วยเหตุนี้เองการเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์จึงผลิตก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่สูงถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจะเป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และเป็นไปได้ว่ามันอาจจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด นอกจากนี้เนื้อสัตว์จากห้องแล็บยังแสดงให้เห็นถึงผลดีอื่น ๆ ที่จะตามมาถ้าผู้คนหันมาบริโภคเนื้อสัตว์ทางเลือกนี้อีกด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ข้อดีเกี่ยวกับการนำเข้าอาหารที่แคแพลนชี้ให้เห็น เขากล่าวว่า ถ้าผู้คนในอเมริกาบริโภคเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง ประเทศอาจจะไม่จำเป็นต้องนำเข้าอาหารในปริมาณมากเท่ากับที่นำเข้ามาในปัจจุบัน เนื่องจากเนื้อสัตว์ประเภทใหม่สามารถผลิตขึ้นที่ใดก็ได้ เขายังเสริมอีกว่า “เทคโนโลยีจะช่วยให้เราสามารถควบคุมปริมาณสารอาหารในเนื้อสัตว์และปริมาณการผลิตได้ดีขึ้น เช่น คุณจะสามารถเลือกเซลล์ไขมันที่มีองค์ประกอบของกรดไขมันที่ดีต่อสุขภาพได้ และคุณก็จะสามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีอื่น ๆ ในอาหารลงได้”

นักศึกษาที่ศูนย์เซลล์เนื้อสัตว์ในมหาวิทยาลัยตัฟส์ แสดงก้อนเนื้อที่เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ ภาพถ้ายโดย ALONSO NICHOLS, TUFTS UNIVERSITY)

อีกหนึ่งข้อดีที่บอมแคมป์ชี้ให้เห็นคือความหลากหลายของการบริโภคเนื้อสัตว์อาจจะเพิ่มมากกว่าตัวเลือกที่มีในปัจจุบันนี้ เธออธิบายไว้ว่า “เราจะสามารถทานสิ่งที่ทุกวันนี้หาทานยากได้ เพราะเนื้อจากการเพาะเลี้ยงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาฟาร์ม” นอกจากนี้เธอยังยกตัวอย่างประกอบอีกว่าเนื้อสัตว์จากห้องแล็บจะทำให้เราสามารถทานเนื้อปลาทูน่าครีบน้ำเงินได้โดยที่ไม่ลดจำนวนประชากรของสัตว์ลง

เนื้อสัตว์ที่ถูกผลิตขึ้นในห้องแล็บมีข้อเสียหรือไม่

ถ้าคุณรู้สึกว่าข้อมูลที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ฟังดูดีเกินกว่าจะเกิดขึ้นได้จริง ความเห็นจากนักวิจารณ์เหล่านี้จะช่วยยืนยันว่าสิ่งที่คุณคิดนั้นถูกต้องแล้ว

มาร์โค สปริงมานน์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมประจำมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) ไว้ว่า ในกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจำเป็นต้องใช้พลังงานในปริมาณที่สูงมากจึงทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะถูกปล่อยออกมามีปริมาณมากกว่าปริมาณของก๊าซที่ปล่อยออกมาจากฟาร์มเลี้ยงไก่ถึงห้าเท่า ความเห็นต่อมาเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความเชื่อและศาสนา โดยในขณะนี้นักวิชาการด้านศาสนายังคงพยายามหาข้อสรุปว่าสุดท้ายแล้วเนื้อสัตว์ที่ถูกผลิตขึ้นในแล็บนั้นได้มาตรฐานฮาลาลตามหลักอิสลาม (Halal) และได้มาตรฐานโคเชอร์ตามกฎของยิว (Kosher Dietary Law) หรือไม่ และความเห็นสุดท้ายคือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับประเด็นทางจริยธรรมจากกลุ่มวีแกน (Vegan) ซึ่งเดิมทีถูกคาดการณ์ไว้ว่าพวกเขาจะเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนหลักในการผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง

อีกหนึ่งข้อเสียของเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงคือราคาที่สูง เมื่อเปรียบเทียบระหว่างราคาต่อหน่วยของเนื้อสัตว์ธรรมดาในปัจจุบันแล้วจะพบว่าราคาของเนื้อสัตว์ทางเลือกสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด งานวิจัยฉบับหนึ่งชี้ว่าเนื้อวัวที่ถูกผลิตขึ้นในแล็บอาจมีราคาสูงกว่าเนื้อวัวปกติถึงแปดเท่า แม้ว่าต้นทุนในการผลิตจะลดลงจากการทำเบอร์เกอร์ด้วยเนื้อเพาะเลี้ยงขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อสิบปีที่แล้วก็ตาม และเมื่อทดลองนำเนื้อเพาะเลี้ยงไปประกอบอาหารพบว่ารสชาติและกลิ่นของเนื้อที่ผลิตในแล็บนั้นไม่แตกต่างกับเนื้อสัตว์ปกติ แต่ก็ยังมีข้อผิดพลาดในการปรับแต่งเนื้อสัมผัสอยู่บ้าง

เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง
เนื้อไก่ในจานนี้ผลิตโดย บ. Upside Foods ต่างจากเนื้อที่ทำจากพืช (plant-based meats) เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงเป็นสิ่งที่เพาะเลี้ยงจากเซลล์สัตว์จริง สิ่งที่บางคนเรียกว่าเป็น “อาหารแห่งอนาคต” นั้นกำลังตกอยู่ในการถกเถียงว่าถูกต้องตามหลักจริยธรรม ศาสนา ศาสนา และหลักความยั่งยืนหรือไม่ ภาพถ่ายโดย BRENT STIRTON, GETTY IMAGES FOR NATIONAL GEOGRAPHIC

อย่างไรก็ดี แคแพลนนั้นไม่กังวลกับปัญหาเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตเพราะเขามั่นใจว่ามันจะลดลงขณะที่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทางเลือกนี้มีการพัฒนา เขากล่าวว่าในขณะนี้ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับเขาคือวิธีที่จะผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงขึ้นในจำนวนที่เพียงพอต่อการจำหน่ายในร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ เขาเสริมว่า “ผมคิดว่าคงไม่มีใครบนโลกที่เคยรับมือกับการขยายตัวของเทคโนโลยีชีวภาพประเภทนี้มาก่อน ดังนั้นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้เราไปถึงจุดที่ต้องการได้คือวิธีแก้ไขปัญหาที่สร้างสรรค์และสดใหม่ครับ”

ด้านบอมแคมป์ผู้มุ่งมั่นที่จะทำให้ศักยภาพของอุตสาหกรรมเติบโตต่อ ๆ ไปนั้นคิดว่า ยิ่งมีคนที่ลองทานเนื้อสัตว์จากการเพาะเลี้ยงมากขึ้นเท่าไรผู้คนก็จะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งธรรมดาทั่วไปมากขึ้นเท่านั้น เธอกล่าวเสริมว่า “ในตอนแรกคนอาจจะคิดว่าการลองทานเนื้อไก่ที่ผลิตขึ้นในแล็บเป็นประสบการณ์ที่บ้ามาก นั่นเป็นเพราะสื่อต่าง ๆ ทำให้เนื้อทางเลือกพวกนี้กลายของเล่นวิทยาศาสตร์แปลก ๆ ที่เพิ่งออกใหม่ แต่จริงๆ แล้วมันก็เป็นแค่เนื้อไก่”

โดย คีรัน มัลแวนีย์

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม รายการอาหารแห่งอนาคต

อาหาร

Recommend