จันทรายาน 3 อินเดียจอดยานที่พื้นผิวขั้วใต้ของดวงจันทร์สำเร็จเป็นประเทศแรกในโลก! จุดประกายการแข่งขันด้านอวกาศระดับนานาชาติ

จันทรายาน 3 อินเดียจอดยานที่พื้นผิวขั้วใต้ของดวงจันทร์สำเร็จเป็นประเทศแรกในโลก! จุดประกายการแข่งขันด้านอวกาศระดับนานาชาติ

ตอนนี้ จันทรายาน 3 ลงจอดบนดวงจันทร์แล้ว ทำให้อินเดียได้ยกระดับขีดความสามารถของตนเองในการสำรวจอวกาศขึ้นมา หลังผ่านความพยายามมาหลายครั้ง ยาน ‘วิกรม’ (Vikram) ซึ่งถูกส่งขึ้นไปในภารกิจ ‘ จันทรายาน 3 ’ (Chandrayaan-3) เมื่อช่วงเดือนก่อน ได้สัมผัสพื้นผิวขั้วใต้ของดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

เมื่อยานได้รับการยืนยันว่าลงจอดแล้ว ความวิตกกังวลในห้องควบคุมก็เปลี่ยนเป็นเสียงเชียร์และเสียงปรบมือด้วยความดีใจ โดยพื้นที่ที่ไปลงจอด นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าเป็นมีน้ำแข็งที่สามารถใช้เป็นน้ำ ออกซิเจน และเชื้อเพลิงสำหรับอาณานิคมมนุษย์ในอนาคตได้ แต่การพูดนั้นง่ายกว่าการไปที่นั่นให้ได้

“การรู้ว่าทำได้ ไม่ได้ทำให้มันเป็นเรื่องง่ายเลย” ศาสตราจารย์ มาร์ติน บาร์สโตว์ (Martin Barstow) ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ของอุทยานอวกาศเลสเตอร์ (Space Park Leicester) กล่าว

“การลงจอดที่ขั้วใต้นั้นยากกว่าการลงจอดที่เส้นศูนย์สูตรมาก คุณต้องเข้าสู่วงโคจรขั้วใต้เพื่อปล่อยยานลงจอด และไม่เคยมีใครทำแบบนั้นมาก่อน สหรัฐฯ ก็ไม่ได้ไปที่ขั้วดวงจันทร์เลย” เขาเสริม

ภารกิจที่ประสบความสำเร็จนี้แสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นของอินเดียในฐานะมหาอำนาจทางเทคโนโลยีและอวกาศ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี พยายามนำเสนออยู่ตลอด นั่นคือเป็นประเทศที่ส่งเสริมวิทยาศาสตร์ให้ก้าวหน้าเพื่อจะได้ยืนอยู่ท่ามกลางบรรดาชาติผู้นำของโลก

“ตอนนี้อินเดียอยู่บนดวงจันทร์แล้ว อินเดียไปถึงขั้วใต้ของดวงจันทร์แล้ว ซึ่งไม่มีประเทศอื่นใดทำสำเร็จ เราสร้างประวัติศาสตร์” โมดี กล่าว

นายกรัฐมนตรีโมดี พยายามฟื้นฟูจุดยืนระดับโลกของอินเดีย และขจัดมรดกตกทอดจากการล่าอาณานิคมของอังกฤษ ด้วยการเหยียบดวงจันทร์ถือเป็นข้อพิสูจน์แล้วว่าประเทศของตนกำลังเป็นมหาอำนาจสมัยใหม่ที่กำลังเติบโต ประชาชนทั้งประเทศต่างตื่นเต้นกับเหตุการณ์นี้

ต่อจากนี้ยานขับเคลื่อนที่ชื่อว่า ‘ปรัชญาน’ (Pragyan ในภาษาสันสกฤตแปลว่า ปัญญา) ซึ่งเป็นยานสำรวจ 6 ล้อขนาดเล็กจะเคลื่อนตัวออกจาก ‘วิกรม’ เพื่อสำรวจพื้นที่ที่ยังไม่มีใครเคยไปถึงด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มากมายที่จะรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์พื้นผิวดวงจันทร์เชิงลึก

ขณะเดียวกัน หลายสิบประเทศก็มีแผนไปยังดวงจันทร์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รวมถึงหน่วยงานอวกาศของญี่ปุ่น หรือ JAXA ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปลายเดือนนี้ สหรัฐฯ ก็ด้วยเช่นกันในภารกิจ Artemis III ซึ่งจะนำนักบินอวกาศกลับขึ้นไปบนดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2025

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าความสำเร็จจะกระตุ้นการแข่งขันด้านการขนส่งอวกาศให้เข้มข้นขึ้นไปอีก เนื่องจากนานาประเทศต่างมุ่งมั่นที่จะเดินทางออกนอกโลก อินเดียเองก็มีแผนที่จะขยายการลงทุนด้านอวกาศเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดอีก 5 เท่าภายใน 10 ปีข้างหน้า

แม้จะพบกับความล้มเหลวหลายครั้งในภารกิจก่อนหน้า รวมถึงเหตุการณ์ที่ยานอวกาศของรัสเซียพุ่งชนดวงจันทร์ไม่กี่วันก่อน ชาวอินเดียก็ไม่เสียกำลังใจ

“คนอินเดียไม่ได้ตกราง(ในการแข่งขัน) พวกเขาเดินทางต่อไปด้วยความเข้มแข็งและความมั่นใจ ซึ่งคุ้มค่า” ปัลลาวา บักลา นักเขียนวิทยาศาสตร์และผู้ร่วมเขียนหนังสือเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศของอินเดีย กล่าว

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ภาพ: แฟ้มภาพ ภารกิจ Chandrayaan-2 เมื่อปี 2019

ที่มา

https://www.reuters.com/world/india/india-counts-down-crucial-moon-landing-2023-08-23

https://www.theguardian.com/world/2023/aug/23/india-south-pole-moon-landing-big-business-global-space-launch-market

https://edition.cnn.com/2023/08/23/world/chandrayaan-3-lunar-landing-attempt-scn/index.html

https://apnews.com/article/india-spacecraft-chandrayaan-moon-landing-b31109bb08197f33b829e7a6e4edfc6d

อ่านเพิ่มเติม ภาพโลกและดวงจันทร์ จากมุมมอง ดาวอังคาร โดยยานอวกาศอายุ 20 ปี เน้นย้ำให้ตระหนักว่าเราไม่มีดาวเคราะห์สำรองอีกแล้ว

 

Recommend