ตัวอย่าง “ดาวเคราะห์น้อย” เปรียบเป็น “ไทม์แคปซูล” จากระบบสุริยะจักรวาล มาถึงโลกแล้ว พร้อมไขปริศนา “กำเนิดชีวิตบนโลก”

ตัวอย่าง “ดาวเคราะห์น้อย” เปรียบเป็น “ไทม์แคปซูล” จากระบบสุริยะจักรวาล มาถึงโลกแล้ว พร้อมไขปริศนา “กำเนิดชีวิตบนโลก”

ตัวอย่างจาก ดาวเคราะห์น้อย เบนนู (Bennu) ที่เก็บตัวอย่างเก่าแก่จากระบบสุริยะโบราณซึ่งอาจให้เบาะแสเกี่ยวกับ “ต้นกำเนิดชีวิตบนโลก” ว่ามาจากไหน ตอนนี้เดินทางมาสู่โลกของเราแล้ว และพร้อมให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบ หลังเดินทางอย่างเดียวดายนานกว่า 7 ปี

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. (ตามเวลาท้องถิ่น) แคปซูลขนาดใกล้เคียงกับตู้เย็นขนาดเล็กที่มีตัวอย่างดินจากดาวเคราะห์น้อยเบนนูและได้เดินทางในอวกาศมากว่า 2,572 วัน ถูกปล่อยออกมาจากยาน ‘โอซิริส’ (OSIRIS ; Origins, Spectral Interpretation, Resource Identification, and Security) ผ่านชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็ว 44,498 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้วค่อย ๆ ลงจอด ที่สนามทดสอบและฝึกซ้อมยูทาห์ของกองทัพสหรัฐฯ

แคปซูลถูกส่งไปยังห้องปลอดเชื้อที่สร้างขึ้นพิเศษบนฐานทัพอย่างรวดเร็ว จากนั้น ของล้ำค่าชิ้นนี้จะถูกส่งไปยังศูนย์อวกาศจอห์นสันนอกเมืองฮุสตันต่อไป ความสำเร็จนี้สร้างความตื่นเต้นให้กับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่หวังต้องการจะไขปริศนาต้นกำเนิดแห่งชีวิตบนโลก

“มันเหมือนเป็นเวทมนตร์ ราวกับว่าเราพยายามเสกคาถานานกว่า 20 ปี เพื่อเรียกก้อนหินนี้ออกมา” ดันเต ลัวเรตตา (Dante Lauretta) นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา และผู้ตรวจสอบหลักของภารกิจ OSIRIS-REx (REx คือ Regolith Explorer) กล่าว

ดาวเคาาะห์น้อยเบนนูได้ดึงดูดความสนใจของนาซา (NASA) มาตั้งแต่ปี 1999 เนื่องจากนักดาราศาสตร์ได้เริ่มหันกล้องไปยังแถบดาวเคราะห์น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มหินนับล้านก้อนทั้งเล็กและใหญ่

และในปี 2005 พวกเขาก็ได้พบก้อนหินขนาดยักษ์ที่ใหญ่กว่าตึกเอ็มไพร์สเตตและหอไอเฟล นาซาต้องการตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ และพวกเขาเลือกเบนนู

ก่อนหน้านี้ การวิเคราะห์จากทางไกลชี้ให้เห็นว่ามันมีอายุใกล้เคียงกับอายุระบบสุริยะของเรา รวมทั้งน่าจะอุดมไปด้วยคาร์บอน เหล็ก อะลูมิเนียม และแพลทินัม

นอกจากนี้ ดินที่ดูเหมือนจะมีปริมาณอยู่เล็กน้อย และวงโคจรที่ตัดกับโลกทุก ๆ 6 ปี เป็นปัจจัยที่ทำให้นาซาส่งยานโอซิริสเพื่อเก็บตัวอย่างนำมาวิเคราะห์

“สถาพของพวกมันค่อนข้างเหมือนในยุคดึกดำบรรพ์ ถ้าไม่นับจากการได้รับผลกระทบจากดาวเคราะห์น้อยดวงอื่น ๆ บ้างแล้ว วัตถุเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักนับตั้งแต่ช่วงแรกในการก่อตัวของระบบสุริยะ” โอลิเวียร์ บาร์โนวอิน (Oliver Barnouin) นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์และทีมงานของภารกิจกล่าว

เพื่อพิสูจน์สมมติฐานว่าชีวิตบนโลกมีเมล็ดพันธุ์จากนอกโลกจริงหรือไม่? โอซิริสพร้อมกับอุปกรณ์เก็บตัวอย่างจึงถูกส่งขึ้นสู่ท้องฟ้าในวันที่ 8 กันยายน 2016 และต้องใช้เวลานานกว่าหลายเดือนเพื่อหาตัวอย่างที่เหมาะสมและเล็กพอ

และในวันที่ 20 ตุลาคม 2020 โอซิริส-เร็กส์ ก็ได้สัมผัสกับผิวที่อ่อนนุ่ม มันเป่าทรายออก และเก็บตัวอย่างลงในภาชนะ จากนั้นยานก็ถอยออกเตรียมพร้อมเดินทางกลับสู่โลก

สำหรับลัวเรตตาแล้ว ภารกิจโอซิริส-เร็กส์ คือจุดสุดยอดของการทำงานมาตลอดครึ่งชีวิตของเขา ต่อจากนี้ เขาจะจัดแบ่งชิ้นส่วนอย่างเหมาะสมเพื่อการศึกษา บางส่วนจะถูกมอบให้กับนักวิทยาศาสตร์จากแคนาดาและญี่ปุ่น แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ที่นาซา

การกลับมาของแคปซูลตัวอย่างยังไม่ถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดของโครงการโอซิริส เพราะ 20 นาทีหลังจากปล่อยแคปซูล ยานอวกาศได้ยิงจรวดขับดันและเริ่มภารกิจใหม่คือ ‘โอซิริส-เอเป็กส์’ (OSIRIS-APEX) เพื่อไปยังดาวเคราะห์น้อยอีกหนึ่งดวงที่ชื่อว่า ‘อะโพฟิส’ (Apophis) ในปี 2029

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา https://www.nationalgeographic.com/science/article/asteroid-sample-bennu-returned-to-earth-ancient-solar-system

อ่านเพิ่มเติม นักวิทย์ญี่ปุ่น คาดมี ” ดาวเคราะห์ ขนาดคล้ายโลก ” ซ่อนอยู่เลยออกดาวเนปจูนออกไป ช่วยตอบคำถามถึง “วงโคจรอันแปลกประหลาด”

Recommend