Marine GI Portal by GISTDA แพลตฟอร์มบูรณาการข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อวางแผนงานทะเลไทยอย่างเป็นระบบ

Marine GI Portal by GISTDA แพลตฟอร์มบูรณาการข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อวางแผนงานทะเลไทยอย่างเป็นระบบ

ทรัพยากรทะเลและชายฝั่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เกื้อกูลวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน ทะเลคือแหล่งอาศัยของสรรพสัตว์ เป็นต้นทางของระบบนิเวศ ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับชายฝั่งทะเล ไม่ว่าจะเป็นการทำประมง การขนส่งทางทะเล การท่องเที่ยว และทะเลบางแห่งยังเป็นบ่อเกิดของพลังงานอย่างน้ำมัน

อย่างไรก็ตามในวันที่ประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น ความเป็นเมืองได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลลดน้อยลงไป จากพื้นที่ชายฝั่ง ป่าชายหาด ป่าชายเลน ถูกแปรเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัย สถานที่ท่องเที่ยว โรงงานอุตสาหกรรม และพื้นที่เกษตรกรรมที่ถูกควบคุมสภาพแวดล้อมโดยมนุษย์

 ถึงตรงนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธการขยายตัวของเมือง เนื่องจากทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของแหล่งงาน ซึ่งตอบสนองการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร แต่สิ่งที่เป็นโจทย์สำคัญ คือการทำให้พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งมีการจัดการอย่างเป็นระบบ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งควบคู่ไปกับการดูแลรักษาระบบนิเวศอย่างเหมาะสม เพื่อให้พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

Marine GI Portal จากจุดเริ่มจนถึงปัจจุบัน

เมื่อทะเลและชายฝั่งมีความสำคัญ สำหรับประเทศไทยแล้ว มีหลายหน่วยงานที่มุ่งพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ความมั่นคง สังคม แต่จะดีแค่ไหนถ้านโยบายการจัดสรรงบประมาณ และกิจกรรมจากทะเลและชายฝั่งทั้งทางตรงและทางอ้อม มาจากข้อมูลที่ผ่านการบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ

จึงเป็นที่มาของ โครงการประเมินและติดตามคุณภาพระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อรองรับการเติบโตด้านสังคมและเศรษฐกิจภาคทะเลของประเทศ โดยการประชุมของคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานที่มีภารกิจว่าด้วยทะเลและชายฝั่ง ได้เห็นชอบและมอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) หรือ GISTDA ร่วมพัฒนาระบบ Marine Portal เพื่อเป็นเครื่องมือในการบูรณาการการใช้ประโยชน์จากข้อมูลสมุทรศาสตร์ เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ และภาพถ่ายดาวเทียมในการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รองรับการเติบโตด้านสังคมและเศรษฐกิจภาคทะเลของประเทศ 

เราเรียกแพลตฟอร์มนี้ว่า “Marine GI Portal” ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับด้านทะเลและชายฝั่ง ภายใต้ความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาชน เป็นต้น สำหรับรวบรวม นำเข้า เชื่อมโยงข้อมูล รวมทั้งสร้างแผนที่เฉพาะเรื่อง และส่งต่อ ข้อมูลเชิงพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลอย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน โดยสามารถเข้าใช้งานผ่านทางเว็บไซต์ https://marineportal.gistda.or.th

การเปิดดูชั้นข้อมูลเชิงพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง ภายใต้คลังข้อมูลภูมิสารสนเทศทางทะเลและชายฝั่งของระบบ Marine GI Portal

วัชระ เกษเดช นักภูมิสารสนเทศชำนาญการพิเศษ สำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ ให้ข้อมูลว่า ในปี 2566 นี้ Marine GI Portal ได้เปิดให้ใช้งานท่ามกลางความสนใจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องการข้อมูลไปสนับสนุน โดยมีทีมงานของ GISTDA เดินสายอบรมและส่งเสริมขับเคลื่อนให้กับหลายหน่วยงานที่ให้ความสนใจนำไปประยุกต์ใช้ในบริบทของการทำงาน เช่น กองบังคับการตำรวจน้ำ ที่เน้นเรื่องการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศ ในการสืบสวน ติดตามพฤติกรรมและเฝ้าระวังเรือที่เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในมิติการอนุรักษ์ ศรชล. ในมิติของความมั่นคง ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 

เกือบ 2 ปีที่เปิดใช้อย่างเป็นทางการ แพลตฟอร์มแบบเปิดใช้สาธารณะนี้ คือโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลเชิงพื้นที่ทางทะเลที่ทุกหน่วยงานเข้าถึงได้ โดย GISTDA ได้นำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ ๆ มาสนับสนุนในการบูรณาการงานด้านข้อมูลเชิงลึกเพื่อให้ทั้งการวางแผน การประเมิน การสำรวจ และการติดตามเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เมื่อผนวกกับแผนการปล่อยดาวเทียมจำนวน 2 ดวง คือ ดาวเทียมธีออส-2 (THEOS -2) และ ดาวเทียมธีออส-2A (THEOS -2A) ภายในปี 2566 โดย GISTDA ยิ่งทำให้แพลตฟอร์มดังกล่าวนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และไฮไลท์หลัก ๆ ที่เชื่อมโยงกับงานทะเลโดยตรง คือความสามารถในการถ่ายภาพจากดาวเทียมที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรชายฝั่งคมชัดขึ้นในระดับ 50 เซนติเมตร เช่นเดียวกับการมีจำนวนดาวเทียมที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 1 ดวง (ดาวเทียมไทยโชต หรือดาวเทียมธีออส) เป็น 3 ดวง ยิ่งทำให้ประสิทธิภาพในการถ่ายภาพละเอียดขึ้น และยังช่วยร่นระยะเวลาในการได้มาซึ่งข้อมูลให้สั้นลงได้  

การวิเคราะห์และแสดงผลในแพลตฟอร์ม Marine GI Portal

เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อความเป็นไปในทะเล

ถึงวันนี้ Marine GI Portal คือคลังข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศที่ทันสมัยที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย และถ้าจำแนกการทำงานของแพลตฟอร์มนี้ จะเห็นว่ามีการทำงานหลัก ๆ ใน 2 ส่วน

ส่วนแรก คือระบบคลังข้อมูลภูมิสารสนเทศทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งในส่วนนี้สามารถค้นหาข้อมูลเชิงพื้นที่ แผนที่ ไฟล์เอกสาร รวมถึงการเชื่อมโยง นำเข้า และสร้างใหม่ ของข้อมูลเชิงพื้นที่ แผนที่เฉพาะเรื่อง แดชบอร์ด และเว็บแอปพลิเคชันที่สามารถสร้างได้บนระบบด้วยเช่นกัน เพื่อใช้ในการวางแผนบริหารสถานการณ์ได้ตามวัตถุประสงค์ ที่ครอบคลุมทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร สังคม และความมั่นคง เช่น กระแสน้ำ คลื่น ลม ข้อมูลตำแหน่งเรือ (AIS) ข้อมูลสถานที่ตั้งสำคัญ ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม อีกทั้งผู้ใช้งานสามารถตกแต่งแผนที่และแชร์หรือส่งต่อข้อมูลต่าง ๆ ได้ และจนถึงวันนี้ ผู้ใช้งานสามารถเรียกดูข้อมูลได้กว่า 200 ชั้นข้อมูลที่เกี่ยวกับงานด้านทะเลและชายฝั่ง

เว็บแอปพลิเคชันแสดงแผนที่และแดชบอร์ด ที่สร้างขึ้นด้วยคลังข้อมูลภูมิสารสนเทศทางทะเลและชายฝั่ง

 

ขณะที่ส่วนที่สอง คือเครื่องมือสนับสนุนการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล (Marine Spatial Planning Tools) ประกอบด้วย 

1) เครื่องมือวิเคราะห์ความขัดแย้งการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเล (Maritime Use Conflict) ซึ่งคำนวนค่าคะแนนความขัดแย้งจากน้ำหนักของแต่ละปัจจัย เช่น กิจกรรมการใช้ประโยชน์ทางทะเล ด้านทรัพยากรธรรมชาติ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง การขนส่งทางทะเล พื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่ใช้ประโยชน์ทางทหาร โดยผู้ใช้จะทำการคัดเลือกข้อมูลที่ต้องการวิเคราะห์ และชี้เป้าพื้นที่ที่อาจจะเกิดความขัดแย้งนำไปสู่การวางแผนเพื่อให้ความขัดแย้งนั้นลงลด หรือช่วยกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ 

เครื่องมือวิเคราะห์ความขัดแย้งการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งโดยแสดงผลลัพธ์ออกมาในรูปแบบแผนที่

2) เครื่องมือวิเคราะห์สถานภาพป่าชายเลนจากภาพถ่ายดาวเทียมแบบอัตโนมัติ (Mangrove) โดยการใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ร่วมกับข้อมูลแบบจำลองความสูงของภูมิประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน และนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาความอุดมสมบูรณ์ของสถานภาพป่าชายเลน

เครื่องมือวิเคราะห์สถานภาพป่าชายเลนจากภาพถ่ายดาวเทียมแบบอัตโนมัติ บอกพื้นที่และความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนตามช่วงเวลา

3) เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลคราบน้ำมันในทะเล (Oil trajectory & weathering) เพื่อวิเคราะห์คาดการณ์เส้นทางการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันที่รั่วในทะเล ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่หรือทรัพยากรที่มีความอ่อนไหว เช่น แนวปะการัง หญ้าทะเล ป่าชายเลน และพื้นที่เพาะเลี้ยง เป็นต้น ข้อมูลในส่วนนี้จะเป็นข้อมูลสนับสนุนในเรื่องแผนการจัดการ แผนเผชิญเหตุ แผนการเก็บกู้คราบน้ำมัน รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการจัดการด้านมลพิษทางทะเล ตลอดจนใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการในสถานการณ์จริง กรณีเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในทะเล

เครื่องมือวิเคราะห์การเคลื่อนตัวและการแปรสภาพของคราบน้ำมันในทะเล

ทั้งนี้ข้อมูลสารสนเทศที่ปรากฏในแพลตฟอร์มจะมาจาก ข้อมูลที่ GISTDA  สังเคราะห์มาเองผ่านดาวเทียม และการเชื่อมโยงผ่านช่องทางต่าง ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ณัทธร แก้วภู่ นักภูมิสารสนเทศชำนาญการพิเศษ สำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้ใช้แพลตฟอร์มสามารถเชื่อมโยง นำเข้า ค้นหา รวมถึงสร้างข้อมูลใหม่ และนำชั้นข้อมูลมาแสดงผลร่วมกันเป็นแผนที่เฉพาะเรื่อง หรือสร้างแดชบอร์ดและเว็บแอปพลิเคชันเฉพาะเรื่องของตัวเองได้ 

“ยกตัวอย่างเช่น หากมีผู้สนใจเรื่องวางแผนการท่องเที่ยงเชิงธรรมชาติ เราอาจจะดึงชั้นข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่ในระบบ เช่น ภาพถ่ายจากดาวเทียม เส้นทางเดินเรือ ความลึก กระแสน้ำ แนวปะการัง ตำแหน่งทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น มาประกอบเป็นแผนที่ของตัวเอง จากนั้นนำไปสู่การวางแผนเส้นทางท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติได้ หรือมีหลายข้อมูลที่ถูกจัดทำขึ้นมาใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลที่แตกต่างกันของแต่ละหน่วยงานหรือแหล่งที่มาของข้อมูลที่ต่างกัน Marine GI Portal ก็สามารถช่วยให้นำข้อมูลมาวางและแสดงผลร่วมกัน ทำให้เกิดการพูดคุยร่วมกันเพื่อพิจารณาหาข้อสิ้นสุดและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน ผ่านหน้าระบบ Marine GI Portal ได้” 

ณัทธร แก้วภู่ และ วัชระ เกษเดช นักภูมิสารสนเทศชำนาญการพิเศษ สำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ หนึ่งในทีมทะเลและชายฝั่ง GISTDA

จัดการคราบน้ำมัน ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ

ถ้ายังจำกันได้ สถานการณ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลที่หนักหนามากที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง คือการรั่วไหลของน้ำมันในทะเล ซึ่งการมีระบบ Marine GI Portal ทำให้สามารถวิเคราะห์การรั่วไหลของคราบน้ำมัน รวมไปถึงสามารถใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินการภายใต้แผนการจัดการ แผนเผชิญเหตุ แผนการเก็บกู้คราบน้ำมันได้

“ในกรณีที่มีเหตุการณ์ภัยพิบัติ หรืออุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่และภูมิศาสตร์ เมื่อได้รับแจ้งเหตุ ผู้เกี่ยวข้องสามารถใช้แพลตฟอร์มในการวิเคราะห์แก้ปัญหาได้ เช่น หากมีน้ำมันรั่ว ทีมจะคาดการณ์ปริมาณน้ำมัน ดูข้อมูลทิศทางลม กระแสน้ำ เพื่อดูว่าน้ำมันจะเคลื่อนที่ไปทิศทางไหน”

ในเบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้ข้อมูลนี้เพื่อวางแผนส่งเรือไปเก็บกู้ แบ่งหน้าที่ในทีมว่าใครทำอะไร ระดับความลึกเพียงพอที่จะใช้สารเคมีกำจัดได้หรือไม่ หรือหน่วยงานที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวก็จำเป็นต้องดูว่าทิศทางของน้ำมันจะเข้าฝั่งไปในบริเวณใด กระทบกับชายฝั่งหรือไม่ 

และการที่น้ำมันที่รั่วไหล ส่งผลอย่างไรกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หน่วยงานสามารถเข้ามาเพื่อใช้ข้อมูลในการวางแผนแก้ปัญหา ในส่วนของ GISTDA เองเราทำหน้าที่หลังบ้านคอยสนับสนุนข้อมูลตามที่หน่วยงานร้องขอ และเผยแพร่ข้อมูลประชาสัมพันธ์ในช่องทางของ GISTDA อีกทางหนึ่ง”

ภาพวิเคราะห์ผลกระทบกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกรณีเกิดเหตุน้ำมันรั่ว

 

วางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลด้วย Marine Spatial Planning: MSP

สำหรับประเทศไทย การวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลและการจัดการชายฝั่ง เป็นความท้าทายสำคัญในการสร้างความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้ทรัพยากรที่มีค่าเหล่านี้ตอบสนองความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจไทยอย่างสมดุลและยั่งยืน และที่สำคัญคือการแก้ไขความขัดแย้งบนฐานข้อมูลที่ถูกต้องตรงกันในอนาคต

ประโยชน์ของ Marine GI Portal อธิบายอย่างเป็นรูปธรรมได้ใน 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับนโยบาย ที่การมีแพลตฟอร์มจะช่วยให้เกิดนโยบายที่สร้างประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ คงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรและตอบสนองด้านเศรษฐกิจ

ระดับหน่วยงาน จะช่วยให้การทำงานคล่องตัวมากขึ้น มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หน่วยงานด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ใช้แพลตฟอร์มรายงานเรื่องคุณภาพของน้ำ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบชายฝั่ง แนวปะการัง ได้อย่างรวดเร็ว หรือหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมไปวางแผนจับกุมผู้กระทำความผิด

ระดับภาคประชาชน ภาคการศึกษา ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อใช้ในการศึกษาวิจัย อีกทั้งยังสนับสนุนความต้องการและส่งเสริมอาชีพของชุมชน

“ยกตัวอย่างพื้นที่ที่ทำการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สิ่งที่ชาวบ้านบอกกับที่หน่วยงานรัฐผู้สนับสนุนมองเห็นอาจเป็นคนละมุมมองกัน แต่การมีข้อมูลกลางทำให้เราพิจารณาได้บนฐานข้อมูลเดียวกัน เป็นการลดความไม่เข้าใจหรือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในระดับที่เข้าถึงชาวบ้านได้” 

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบฐานข้อมูล ก่อนนำไปสู่การวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล หรือที่เรียกว่า  Marine Spatial Planning (MSP) ที่ได้มาตรฐานและเป็นธรรม ทั้งในระดับประเทศและระดับจังหวัด เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่อย่างมีคุณภาพ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนช่วยรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

เข้าไปดูข้อมูลของ Marine GI Portal เพิ่มเติมได้ที่ https://marineportal.gistda.or.th/

อ่านเพิ่มเติม : ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่ทันสมัยของประเทศไทย ช่วยให้การบริหารพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างไร?

Recommend