กรณี แพนเจียอัลติมา สถานการณ์ที่เลวร้ายนี้มีการรายงานในวารสาร Nature Geoscience โดย อเล็กซานเดอร์ ฟาร์นเวิร์ธ (Alexander Farnworth) นักอุตุนิยมวิทยาจากมหาวิทยาลัยบริสตอลในประเทศอังกฤษ
เขาได้สร้างแบบจำลองสภาพอากาศ รวมเข้ากับการเคลื่อนของแผ่นเปลือกโลก และคำนวณมันในซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ โดยปกติ โลกนั้นประกอบด้วยแผ่นทวีปต่าง ๆ ขนาดยักษ์ที่เคลื่อนที่ไปมา โดยครั้งล่าสุดได้รวมตัวกันเป็นมหาทวีปใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อ ‘แพนเจีย’ (Pangea) เมื่อประมาณ 300 ล้านปีที่แล้ว จากนั้นก็แตกออกมากลายเป็นทวีปอย่างทุกวันนี้
แต่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าพวกมันจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งใน 250 ล้านปีข้างหน้า กลายเป็นมหาทวีปที่มีชื่อใหม่ว่า ‘แพนเจีย อัลติมา’ (Pangea Ultima) เมื่อเคลื่อนที่มาต่อกัน ก็จะสร้างแนวภูเขาไฟจำนวนมากซึ่งปะทุอย่างรุนแรงและเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศจนเพิ่มขึ้นถึงระดับ 1,120 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm)
ขณะเดียวกัน ณ ใจกลางทวีปส่วนใหญ่จะกลายเป็นพื้นที่แห้งแล้งซึ่งห่างจากมหาสมุทร จนทำให้มีการดักจับคาร์บอนจากพืชหรือป่าไม้ลดลง ไม่เพียงเท่านั้น ดวงอาทิตย์ของเราที่มีอายุมากขึ้นจะส่องสว่างเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับปริมาณปัจจุบัน นั่นหมายความว่า โลกจะได้รับรังสีความร้อนมากกว่าเดิม
เมื่อรวมปัจจัยทุกอย่างเข้าด้วยกันแล้ว โลกจะกลายเป็นสถานที่ที่ร้อนมาก และอาจมีอุณหภูมิเฉลี่ยถึง 40-50 องศาเซลเซียส
เมื่อเวลานั้นมาถึง โลกจะกลายเป็นหายนะสำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เนื่องจากไม่สามารถกำจัดความร้อนส่วนเกินที่เป็นอันตรายออกจากร่างกายได้
รายงานระบุว่าจะมีเพียงร้อยละ 8 ของพื้นที่ทั่วมหาทวีปเท่านั้นที่อาศัยอยู่ได้ ส่วนใหญ่เป็นชายฝั่งและขั้วโลก เหตุการณ์นี้จะกลายเป็นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิต
“มหาทวีปดูเหมือนจะสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ได้ง่ายขึ้น” ฟาร์นเวิร์ธ กล่าว “(การก่อตัวของมหาทวีปครั้งก่อน ๆ) เกิดขึ้นพร้อมกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ 4 ครั้งจาก 5 ครั้งล่าสุดในอดีตทางธรณีวิทยา”
ฟาร์นเวิร์ธ เสริมว่า แม้จะสิ่งมีชีวิตที่ผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้ แต่ก็จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก พืชจะล้มเหลวในการสังเคราะห์แสงเนื่องจากอุณหภูมิที่ร้อนเกินไป น้ำในทะเลจะร้อนขึ้นจนระบบนิเวศที่ค้ำจุนชีวิตต้องพังทลาย
“ปัจจุบันมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดสามารถอาศัยอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ อย่างทะเลทรายซาฮาราได้ แต่ก็ต้องติดตามดูกันต่อไปว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้จะผ่านสภาวะนี้ไป แล้วยึดครองแพนเจีย อัลติมาได้หรือไม่” ฟาร์นเวิร์ธบอก “บางทีสัตว์เลื้อยคลานอาจปรับตัวได้ดีกว่า”
และหากมนุษย์ยังอยู่จนถึง 250 ล้านปีข้างหน้าจะต้องปรับตัวครั้งใหญ่ แต่จะไม่ใช่ทุกคนที่รอด ภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ มนุษย์อาจเปลี่ยนมาใช้ชีวิตกลางคืน
อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่ายังไม่ได้รวมปัจจัยที่ว่าปริมาณความร้อนของดาวเคราะห์ซึ่งแผ่ออกมาจากแกนกลางอาจลงลดไปตามอายุ และอาจทำให้เกิดภูเขาไฟปะทุน้อยลงก็เป็นไปได้
แต่ฟาร์นเวิร์ธบอกกล่าวว่า คงจะดีกว่าหากมนุษย์ในตอนนั้นเลือกที่จะ “ออกไปจากโลกนี้และหาที่อื่นที่น่าอยู่อาศัยมากขึ้น” เพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไป
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
https://www.nature.com/articles/s41561-023-01259-3
https://www.livescience.com/planet-earth/mammals-may-be-driven-to-extinction-by-volcanic-new-supercontinent-pangaea-ultima
https://www.smithsonianmag.com/smart-news/earths-next-supercontinent-could-wipe-out-mammals-in-250-million-years-180982966/
https://www.theatlantic.com/science/archive/2023/09/earth-future-supercontinent-pangea-ultima/675450
https://www.science.org/content/article/earth-s-future-supercontinent-may-be-too-hot-most-mammals