ทำไม ‘คน’ ถึงเชื่อเรื่อง ‘ผี’ แล้ว ผีมีจริงหรือไม่ ? และวิทย์ฯ รู้อะไรบ้างเรื่องนี้?
ถ้าคุณเชื่อเรื่องผี คุณไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกใบนี้
.
วัฒนธรรมทั่วโลกต่างเชื่อว่ามี “โลกแห่งวิญญาณ” อยู่ ผลการสำรวจครั้งหนึ่งระบุไว้ว่า ผู้คนเกือบครึ่งต่างเชื่อเรื่องผีอย่างสุดใจ ขณะที่อีกร้อยละ 18 กล่าวว่าพวกเขาเคยเห็นผีอยู่ตรงหน้ามาก่อน
.
ไม่ใช่แค่นั้น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เองก็เคยพูดถึงวิญญาณโดยอ้างอิงจากกฎข้อแรกของอุณหพลศาสตร์ หรือเทอร์โมไดนามิกส์ ว่า
.
‘หากพลังงานไม่สามารถสร้างหรือทำลายได้ แต่เปลี่ยนรูปแบบเท่านั้น แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับพลังงานของร่างกายเมื่อเราตาย สิ่งนี้สามารถแสดงออกมาเป็นผีได้หรือไม่?’
.
(คำตอบก็คือพลังงานจะถูกปล่อยออกมาในรูปของความร้อนและถ่ายโอนไปยังสิ่งมีชีวิตอื่นที่ย่อยสลายศพของเรา)
.
ดูเหมือนว่าความเชื่อเรื่องผีได้กระจายไปทั่วโลก แต่ถูกเล่าออกมาแตกต่างกันไปตามแต่ละวัฒนธรรม ตัวอย่างในประเทศไทยอย่างเช่น ‘ผีกระสือ’ หรือผีเปรต (ซึ่งน่าแปลกใจว่าทำไมที่อื่นบนโลกถึงไม่มีกระสือและเปรต) จนทำให้รายการเกี่ยวกับผีได้รับความนิยมอย่างมากทั้งวิทยุ สื่อโทรทัศน์ หรือแม้แต่ภาพยนตร์
.
แล้ววิทยาศาสตร์พูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้บ้าง?
.
– วิทยาศาสตร์และตรรกะในเรื่องเกี่ยวกับ ผีมีจริงหรือไม่
.
ความยากลำบากในการประเมิน ‘ผี’ ทางวิทยาศาสตร์ก็คือ ปรากฎการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย และพยานแต่ละคนต่างเล่าแตกต่างกันไป บ้างก็ว่าผีที่เจอมีรูปร่างแบบนั้น แต่อีกคนกลับบอกว่าผีมีรูปร่างอย่างอื่น ไม่มีเสียง หรือรู้สึกหนาวเย็นแตกต่างกัน รวมถึงความเชื่อที่แตกต่างกันในสังคม ไม่เพียงเท่านั้นเรายังขาดความหลากหลายของข้อมูลเพื่อตรวจสอบผี
.
เดนนิส และมิเคเล่ วาสกุล (Dennis and Michele Waskul) นักสังคมวิทยาเคยกล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง ‘Ghostly Encounters: The Hauntings of Everyday Life’ ว่า “ผู้เข้าร่วมทดสอบจำนวนมาก ‘ไม่แน่ใจ’ ว่าตนเคยเจอผีและไม่แน่ใจเกี่ยวกับปรากฎการณ์ดังกล่าว” จึงทำให้วิทยาศาสตร์ไม่สามารถให้คำนิยามกับ ‘ผี’ ได้อย่างชัดเจน
.
ไม่ว่าจะเป็น ผีถือเป็นวัตถุหรือไม่? ถ้าผีสามารถผ่านกำแพงได้ แต่ผีกลับปิดประตูได้ยังไง? หรือเป็นเพราะความรู้เกี่ยวกับควอนตัมของเรายังไม่มากพอ จึงยังไม่สามารถอธิบายปรากฎการณ์ที่เป็นทั้ง สิ่งที่สัมผัสได้ กับ สัมผัสไม่ได้พร้อมกันของผี
.
ทำไมจึงมีแต่ผีที่เป็นมนุษย์เท่านั้น? ทำไมไม่เจอผีสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ? หรือจะเป็นผีเอาเสื้อผ้ามาจากไหน? ทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะขัดกับกฎฟิสิกส์ที่ใช้ทั่วจักรวาลอย่างเห็นได้ชัด
.
– คำอธิบายบางปรากฎการณ์ของผีในทางวิทยาศาสตร์
.
เหตุการณ์หนึ่งที่เราได้เห็นและได้ยินอยู่บ่อย ๆ คือ ‘ผีอำ’ บางคนเล่าว่าพวกเขาลืมตาตื่นแต่ไม่สามารถขยับตัวได้เลย แต่อาการนี้มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ในชื่อว่า ‘ภาวะอัมพาตขณะนอน’ (Sleep Paralysis) สาเหตุก็คือมันเกิดขึ้นตอนช่วงที่เกิดความฝันของการนอน หรือ REM ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกตาของเราเคลื่อนไปมาอย่างรวดเร็ว
.
ตาและสมองของเราจะตื่นขึ้นภายใต้เปลือกตาที่ปิดอยู่ แต่ร่างกายยังทำตรงข้าม นั่นคือคิดว่าเรากำลังหลับและฝันอยู่
.
สองสิ่งนี้ขัดแยังกันเอง ทำให้เรารู้สึกเหมือนใช้ชีวิตในความฝันแต่ไม่สามารถขยับตัวได้ โดยมักเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่นนอนหลับไม่ดี ไม่เพียงพอ หรือความเครียด รวมถึงการนอนที่เปลี่ยนเวลาอยู่บ่อย ๆ
.
– ใบหน้าลอยอยู่ในอากาศ
.
หลายคนมักเห็นใบหน้ามนุษย์อยู่ตรงนั้น ตรงนี้ แอบอยู่ในมุมมืด หรือในหน้าต่างของตึกร้าง ลอยอยู่ในอากาศ
.
สิ่งนี้วิทยาศาสตร์เรียกว่า ‘pareidolia’ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่สมองของเราพยายามเข้าใจสิ่งรอบตัว โดยนำข้อมูลที่รับมาจากทั้งการมองเห็น การได้ยิน อุณหภูมิ หรือกลิ่น มาจับคู่กับสิ่งที่เข้าใจอยู่แล้ว ด้วยความสามารถนี้ทำให้เรามักมองเห็นก้อนเมฆหรือสิ่งของเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคย เช่นใบหน้ามนุษย์
.
“พวกเขามักอยู่คนเดียวในความมืด และหวาดกลัว” เดวิด สไมเลส (David Smailes) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยนอร์ทัมเบรีย กล่าว เมื่ออยู่ในความมืด สไมเลสระบุว่าสมองจะมีแนวโน้มดึงเราเข้าสู่สิ่งที่รู้จักดีอยู่แล้ว มันกลายเป็นใบหน้าลาง ๆ สำหรับพยานที่เล่าเหตุการณ์หลายคน
.
– โฟกัสจดจ่อมากเกินไป
.
คริสโตเฟอร์ เฟรนช์ (Christopher French) นักจิตวิทยาในอังกฤษกล่าวว่า “หน่วยความจำไม่ทำงานเหมือนกล้องวิดีโอ” ซึ่งสมองของเราจะสนใจจดจ่อกับสิ่งที่เราให้ความสำคัญอยู่ในช่วงเวลานั้นเท่านั้น เช่นหากคุณกำลังตั้งใจทำงานอย่างมากจนไม่สนใจรอบข้าง คุณอาจมองไม่เห็นว่ามีคนปิดประตู จนอาจนึกได้ว่าประตูปิดเอง
.
สมองมักมีปัญหากับการเก็บข้อมูลจำนวนมากหรือการให้ความสนใจในหลายสิ่งพร้อม ๆ กัน เราจึงมักเสี่ยงที่พลาดสัญญาณบางด้านจากสิ่งแวดล้อม และถ้าคุณ ‘เชื่อ’ เรื่องผี คุณจะนึกทันทีว่าผีเป็นผู้กระทำ
.
หากผีมีจริงและเป็นพลังงาน ตัวตน หรือสสารบางอย่างที่ยังไม่รู้จักทางวิทยาศาสตร์ นักวิจัยก็ยังหวังจริง ๆ ว่าพวกเขาจะสามารถตรวจสอบการดำรงอยู่ของพวกมันได้จากการทดลองที่ถูกควบคุมตัวแปรอย่างรัดกุม ไม่ใช่แค่เดินเข้าไปในบ้านร้างพร้อมไฟฉาย
.
ด้วยสิ่งเหล่านี้ทำให้หลักฐานเกี่ยวกับผีในปัจจุบัน “ไม่ได้ดีไปกว่าหลายร้อยปีที่แล้วเลย” กระนั้นเรื่อง ‘ผี ๆ’ ก็ยังคงอยู่มาอย่างยาวนานและได้รับความนิยมอยู่เสมอในทุกสังคม วัฒนธรรม และทั่วโลก
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Photo by Budi Firdaus on Unsplash
ที่มา
https://www.livescience.com/26697-are-ghosts-real.html
https://www.snexplores.org/article/science-ghosts
https://www.scientificamerican.com/article/6-possible-scientific-reasons-for-ghosts/
https://www.theguardian.com/notesandqueries/query/0,,-2839,00.html