เปิดตำนานสารพัด ผีไทย : ความเชื่อหรือเรื่องจริง

เปิดตำนานสารพัด ผีไทย : ความเชื่อหรือเรื่องจริง

ผีไทย : ฮาโลวีนปีนี้ตรงกับออกพรรษา ว่ากันว่าคืนนี้บรรดาภูตผีต่างเฉลิมฉลองการกลับมาเยือนโลกมนุษย์อีกครั้ง

ค่ําคืนเดียวกัน จันทร์ กระจ่างอาจยวนใจบรรดาสาวหนุ่มให้รุดหน้าสู่ย่านสถานบันเทิงเพื่อตามหา “วิญญาณเร่ร่อน” ทั้งเธอและเขาอุปโลกน์ตนเองเป็นผีปลอมๆ และ ถ่ายภาพคู่กับแจ๊ก-โอ’-แลนเทิร์น ฟักทองแกะสลักเป็นโคมไฟก่อนบิดกายราวกับถูกทรมานจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มาในรูป ของเสียงดนตรีแผดสนั่นและเครื่องดื่มสีอำพัน

เช่นเดียวกับที่หมู่บ้านผึ้งคืนนั้น หลังราตรีคลี่ม่านดำ ห่มคลุมแดนกันดารแห่งอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ฤดูเกี่ยวข้าวหอบคลีฝุ่นฟุ้งเงาทมิฬ เราเดินผ่านชาวบ้าน ที่กำลังประกอบและตกแต่งปราสาทผึ้งสำ หรับงาน ตักบาตรเทโวในวันพรุ่ง เพื่อมาเยือนเรือนไม้เก่าสองชั้น ของพ่อใหญ่วัง สุวรรณจักร ซึ่งแปรสภาพเป็นสถานที่ จัดงานเลี้ยงใหญ่ประจำปีของบรรดา “ผีฟ้า” หรือ “แถน”

เรือนหลังนั้นผสมกันระหว่างไม้กับปูน ชั้นล่าง เป็นคอนกรีต พื้นปูเสื่อนํ้ามันสีสด มีโทรทัศน์ ข้าวของ เบ็ดเตล็ด ชั้นสองสร้างด้วยไม้ทั้งชั้น เนื้อที่ราว 20 ตารางเมตร แบ่งเป็นสองห้อง หนึ่งในนั้นคือหิ้งบูชา ผีฟ้า ดอกไม้มาลัยแขวนระเกะระกะจนแทบไม่เหลือ ที่ว่าง นํ้าแดง นํ้าเขียว นํ้าส้ม สุรา ธูปเทียน แจกัน หมากพลู พานพุ่ม และถ้วยชามรามไห เรียงรายแลดู ขลังขรึมยิ่งนัก

หลังจบข่าวภาคคํ่า หน้าหิ้งบูชานั้นก็คลาคลํ่าไปด้วย ผู้คนมากกว่าสามสิบชีวิตที่ทยอยจับจองพื้นที่จนแน่นขนัด ทั้งพ่อแก่แม่ใหญ่และสาวรุ่นหนุ่มตะกอ แต่ละคนสวม เครื่องทรงโอ่อ่า ทั้งซิ่นไหมสีระยับ โพกศีรษะด้วย ผ้าไหมดิ้นทอง บ้างสวมเสื้อไหมสีสดอย่างสีขี้นกการเวก บ้างผัดหน้าขาวผ่องและทาชาด หรือไม่ก็พรมนํ้าอบรํ่ากลิ่นขจร พวกเขาเรียกตัวเองว่า “เทียม” หรือร่างทรง

แม่ใหญ่สำรองในชุดสีปีกแมลงทับโดดเด่นตรงแถวหน้าสุด บอกเราว่าอีกไม่นานผีฟ้าจะลงประทับร่าง ทุกคนที่นี่พร้อมกัน บรรดาเทพเทวาจะดื่มกินและสโมสร กันอย่างกำสรวล เราเอ่ยถามว่ามาเป็นเทียมได้อย่างไร นางจึงเท้าความว่า ไม่กี่ปีก่อนร่างพ่วงพีของแกซึ่งปีนี้ย่าง เข้า 74 ฝนแล้ว บ่มเพาะความป่วยไข้สารพัด ทั้งหน้ามืด ตาลาย ปวดกระดูก ครั่นเนื้อครั่นตัว และเจ็บไข้พิกล นางจึงหอบสังขารไปฝากไข้กับหมอที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ พวกเขาวินิจฉัยไม่พบสิ่งผิดปกติ จึงสรุปเอาว่า นางเป็นโรค “คิดไปเอง”

คำชะโนด, ผีไทย, ผีจ้างหนัง
ผ้าแพรสามสีสร้างบรรยากาศขรึมขลังให้ป่าคำชะโนด เกาะกลางนํ้าที่เชื่อกันว่าเป็น “แปว” หรือประตูเชื่อม ระหว่างโลกมนุษย์กับโลกบาดาลของพญานาค รวมไปถึงดินแดนในตำนานผีจ้างหนังอันโด่งดังของจังหวัดอุดรธานี

นานวันเข้าอาการป่วยไข้กลับยิ่ง เรื้อรังหนักข้อ นางจึงมาร่วมพิธีพลีกายเป็นเทียมผีฟ้า เพื่อแลกกับการรักษาโรคตามอย่างที่เพื่อนบ้านเล่าลือถึง อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ไม่นานเกินปี โรคาพยาธิทั้งปวง พลันหายเป็นปลิดทิ้งอย่างน่าพิศวง จากนั้นเป็นต้นมา นางก็รับหน้าที่ร่างเทียมของ “ย่ายายสามสี” เทพชั้นสูง องค์หนึ่งมาตลอด แม่ใหญ่สำ รองชี้ไปยังกลุ่มเทียมและ บอกว่า ”ที่เห็นนั่งหน้าสลอนทั้งหมดนี่เคยเจ็บเคยป่วย กันมาทั้งนั้นแหละจ้ะ”

หมอแคนเริ่มร่ายดนตรีครวญครํ่า ถ้อยทำนองดุจ ลำนำแห่งทุ่งกว้างแดนอีสาน พิธีประทับทรงเริ่มต้นคล้าย กับหมอกเที่ยงคืนที่ก่อตัวช้าๆ ลึกลับ ทว่าคลุมเครือ บรรดาเทียมที่บัดนี้ดูราวกับล่องลอยอยู่กลางทะเลควันธูปกำลังโงนเงน บ้างพรํ่าบริกรรมถ้อยคำบางอย่าง บ้างเอนกายคล้ายคนสัปหงก บางคนร่างสั่นเทิ้มและยืนฟ้อน คนอื่น ๆ ผุดลุกตาม บางคนครวญ “ผญา”โต้ตอบสนุกปากเยี่ยงกวีหลงยุค แต่บางคนร้องไห้ฟูมฟาย นั่งกอดเข่าและก้มกราบเท้าอีกคน บางคนร่ายรำไม่สนใจใคร แต่ปากคาบบุหรี่ทีละสองสามมวน บางคนหัวร่อร่าและกรอกนํ้าเมาลงคออย่างไม่กลัวเมามาย แม่ใหญ่สำรองแววตาเปลี่ยน นางสูบบุหรี่สองมวน มือไขว้หลังและเยื้องย่างอย่างนางสิงห์กลางวงงานเลี้ยง เครื่องทรงสีเขียวอะร้าอร่ามราวมรกต เทพทุกองค์ในที่นั้นยกมือวันทานางปลก ๆ อย่างนอบน้อม

ผีไทย, ลูกกรอก
ลูกกรอก” ของขลังที่เชื่อว่าสามารถดลบันดาลโชคลาภ ไปจนถึงปกปักรักษาผู้ครอบครองจากภยันตรายต่างๆ ว่ากันว่าผู้เลี้ยงดูวิญญาณเด็กตายทั้งกลมนี้ต้องเอาอกเอาใจไม่ต่างจากเด็กน้อยคนหนึ่งทีเดียว

ผีคือความลึกลับตลอดกาลของมนุษยชาติ เป็นได้ทั้งความพรั่นพรึงสุดขีดและปริศนาที่ไม่มีใครกล้าแตะต้องนักจิตวิทยาเชื่อว่า ผีคือกลไกป้องกันตนเอง (self-defense mechanism) อย่างหนึ่ง ที่เราสร้างขึ้นเพื่อจัดการกับความตึงเครียดหรือความวิตกกังวลจากความหวาดกลัว ว่ากันว่าจินตนาการอันเพริศแพร้วของเรา มีส่วนในการเสริมแต่งภาพลักษณ์และอรรถรสสยองขวัญ และเมื่อผสานเข้ากับประสบการณ์ในคลังสมองของเราผลลัพธ์คือสารพัดภูตผีที่เขย่าประสาทจนเหงื่อซึม

บรรพชนของเราใช้ภูตผีอธิบายปรากฏการณ์สารพัดในธรรมชาติ และเป็นตัวแทนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสรรพสิ่ง ในดินแดนอุษาคเนย์ ปรากฏหลักฐานความเชื่อเรื่อง ผีไทย อยู่ทั่วไป นิทานพญาแถนและเรื่องท้าวพญาคันคาก คือสองตำนานมุขปาฐะที่สะท้อนภาพชีวิตผู้คนในยุคผูกพันกับความอุดมสมบูรณ์ของนํ้าท่าและผืนดิน ตลอดจนการเอาชีวิตรอดได้อย่างชัดเจนที่สุด

นิทานเรื่องแรกเล่าถึงพญาแถน หรือ “ผีฟ้า” เทพสูงสุดบนเมืองฟ้า ผู้บันดาลปรากฏการณ์ธรรมชาติในโลก ครั้งหนึ่งโลกมนุษย์เคยเชื่อมโยงกับเมืองแถนด้วยเถาวัลย์ยักษ์ และมนุษย์ใช้เส้นทางนี้ส่งตัวแทนปีนขึ้นไปร้องขอความสมบูรณ์พูนสุขอยู่เนือง ๆ พญาแถนมอบข้าวมาให้ปลูก แต่มนุษย์ขี้เกียจจึงกินข้าวที่ได้มา หมดแล้วขึ้นไปขอใหม่ พญาแถนเบื่อหน่าย จึงตัดเถาวัลย์ยักษ์ทิ้งเสีย นับจากนั้นมนุษย์จึงต้องบวงสรวงไหว้วอนพญาแถน

ส่วนนิทานเรื่องที่สองบอกเล่าถึงพญาคันคาก ท้าวพญาแห่งเมืองชมพูที่กำเนิดมาเป็นคางคกบนโลก ซึ่งในเวลาต่อมามีเหตุทำสงครามกับพญาแถน เนื่องจากพญาแถนละเลยหน้าที่ จนปีนั้นแล้งจัดและสรรพสิ่งบนโลกเดือดร้อน พญาคันคากชนะสงครามและขอคำมั่นสัญญาจากพญาแถนว่า เมื่อใดโลกต้องการฝน จะจัดส่งพญานาคให้ขึ้นมาเล่นนํ้าพร้อมกับบั้งไฟ และคางคกก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์นับแต่นั้นมา

เครื่องเซ่นไหว้
เครื่องเซ่นไหว้ ในงานแต่งงานแบบไทยผสมจีน ผสานคติเคารพผีบรรพบุรุษเข้ากับความเชื่อเรื่องความเจริญรุ่งเรือง

มหาบุนมี เทบสีเมือง นักค้นคว้าประวัติศาสตร์ชาวลาว เชื่อมโยงหลักฐานการนับถือพญาแถนผ่านโบราณวัตถุที่ขุดพบในลาวและแถบภาคอีสานของไทย อาทิ ลวดลายเครือเถาวัลย์ยักษ์และดวงดาวบนเครื่องปั้นดินเผาโบราณ ฆ้องบั้งดาวหรือกลองมโหระทึกที่สลักรูปดาวและกบเขียด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการขอฝนหรือแม้แต่ประเพณีบูชาพญานาคและบุญบั้งไฟที่ปรากฏตั้งแต่ลุ่มนํ้าโขงไปจนถึงน่านเจ้าและแคว้นสิบสองปันนา

งานของนักวิชาการผู้นี้ชี้ว่า ผู้คนในแถบนี้นับถือผีฟ้าหรือพญาแถนมาไม่ตํ่ากว่า 6,000 ปีแล้ว และกระจายตัวตั้งแต่เวียดนาม ลาว ไทย ไปจนถึงจีนระบบความคิดและความเชื่อที่ซับซ้อนขึ้นในสังคมเกษตร เป็นเหตุให้เราแบ่งสันบทบาทการบริหารจัดการธรรมชาติให้ละเอียดขึ้น เรามีภูตผีประจำแหล่งนํ้า ดินฟ้าป่าเขา หรือแม้แต่ต้นข้าว คล้ายรัฐบาลบริหารงานโดยระบบกระทรวง นอกจากนี้ยังปรากฏภูตผีในฐานะบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ผู้มีหน้าที่คุ้มครองชีวิตความเป็นอยู่ของลูกหลาน หรือไม่ก็บันดาลให้เกิดเหตุเภทภัยต่างๆ ในชุมชนหากไม่พึงพอใจ

การมาถึงของศาสนาหลัก ๆ ในยุคต่อมาท้าทายความเชื่อเรื่อง ผีไทย อย่างมาก การเผยแพร่ศรัทธาใหม่ที่มีระบบกว่าเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการนับถือผี พุทธศาสนาอธิบายเรื่องผีด้วยแนวคิดอย่างภพภูมิ และการเวียนว่ายตายเกิดหรือสังสารวัฏ พราหมณ์-ฮินดูใช้คติแห่งทวยเทพ ขณะที่อิสลามเผยแพร่แนวคิดเอกเทวนิยมบริสุทธิ์ หรือนับถือในพระเจ้าองค์เดียวอย่างเบ็ดเสร็จ หรือไม่ก็อรรถาธิบายถึง ญิน ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตไร้ตัวตน

ขณะที่ในเชิงสังคม ความเชื่อเรื่องผีที่เคยขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ของเราเสมอมา ถูกตีกรอบด้วยนโยบายการบริหารและการปกครอง อาทิ กฎหมายห้ามใช้ไสยศาสตร์ซึ่งมีส่วนคาบเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผีในสมัยรัชกาลที่ 4 หรือตรงกับยุคที่พุทธศาสนาจากส่วนกลางกำลังเฟื่องฟู หรือการกวาดล้างกบฏผู้มีบุญแถบหัวเมืองอีสานในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งใช้ความเชื่อเรื่องผีปลุกระดมผู้คน บทบาทภูตผีคงเหลือแต่เพียงส่วนเสริมในพิธีศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อตามชนบท หรือไม่ก็แฝงกายอยู่ตามซอกหลืบของศาสนา แต่ไม่เคยหายไปไหน

ดงภูดิน เมื่อได้ยินชื่อนี้ ใครบางคนอาจนึกถึงป่าเต็งรังผืนท้าย ๆ ของอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ที่นี่ยังคงร่มครึ้มด้วยแมกไม้สูงใหญ่ยืนต้นเรียงรายเลียบลำนํ้ามูล ศาลเจ้าพ่อดงภูดินซึ่งไม่มีแม้รูปเคารพ สร้างเป็นเพิงปูนง่าย ๆ ป่าชุมชนแห่งนี้ครอบคลุมเนื้อที่ 2,187 ไร่ แม้จะไม่กว้างใหญ่ระดับอุทยาน แต่ก็เลี้ยงปากท้องชาวบ้านทั่วละแวก ทั้งผักหวานป่า เห็ดตามฤดูกาลสมุนไพรแก้ป่วย ลูกไม้ที่เคี้ยวได้ถ้าไร้พิษ ไปจนถึงหอยขมและปลาเล็กปลาน้อยนิทานพื้นบ้านอีสานกล่าวถึงดงภูดินในฐานะศูนย์กลางความบริบูรณ์ ทั้งจากผืนป่าเก่าแก่และแม่นํ้ามูลอันยิ่งใหญ่โพรงถํ้าใต้นํ้าเส้นทางพญานาคต่อตรงถึงเวียงจันทน์ และเจ้าพ่อดงภูดินหรือเจ้าพ่ออุปฮาด (อุปราช) ผู้อยู่เหนือทวยเทพแห่งอีสานใต้

พระพุทธรูป, พระหน้ารถ, ผีไทย
พุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อยแปรศรัทธาในพระพุทธรูปซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์และ พุทธานุสติเป็นเครื่องคุ้มครองภยันตรายส่วนบุคคล ซึ่งรวมถึงการคุกคามจากภูตผี วิญญาณ และไสยศาสตร์ด้วย

วันพุธแรกหลังออกพรรษา เรามาเยือนที่นี่ตามกำหนดการบวงสรวงซึ่งเป็นพิธีกรรมโบราณที่จัดขึ้นเพียงปีละสองครั้ง ด้วยบรรดาคนเทียมจะมาทรงเจ้าเข้าผีกันอย่างเอิกเกริก ในงานชุมนุมครั้งใหญ่นี้มีคนเทียมเดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศ ตั้งแต่อำเภอราษีไศล อำเภอบึงบูรพ์ จังหวัดศรีสะเกษ ไปจนถึงอำเภอรัตนบุรี อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ และอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ว่ากันว่าคนเทียมจะสืบทอดกันโดยสายเลือดเท่านั้น แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นได้แก่ แม่ทองม้วน คำมาต ผู้เป็นเทียมของเจ้าพ่ออุปฮาด ซึ่งบัดนี้ประทับอยู่บนสาด (เสื่อ) ผืนใหญ่ รายล้อมด้วยลูกหลานและมิตรสหายในหมู่บ้าน

นางสวมซิ่นเขียว คล้องผ้าลูกไม้ และโพกศีรษะแบบเดียวกับทวยเทพองค์อื่น ๆ ลานดินหน้าศาลคลาคลํ่าไปด้วยผู้คนไม่น้อยกว่า 50 ชีวิต และส่งเสียงระเบ็งเซ็งแซ่ราวกับญาติมิตรที่ไม่ได้พบหน้ากันมานานแรมปี พอเก้าโมงแดดก็ร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบสุรา หลังแว่วเสียงกลอง เสียงแคน ผู้ใหญ่ทันใจ มณีนิล ผู้ชํ่าชองการเป่าเขาควายหรือ “สไน” ก็เริ่มบรรเลงท่วงทำนองแห่งเครื่องดนตรีโบราณ แม่ทองม้วนจึงเริ่มประกอบพิธีพาบรรดาเทียมทั้งหลายเข้าสู่ภวังค์ของการเข้าทรง บางคนกราบกราน บางคนร้องเอะอะ บางคนร่างสั่นเทิ้ม ควันธูปลอยตลบคาคบไม้ พลันลมห่าใหญ่ก็พัดวูบจนกิ่งก้านไหวเอน และเย็นสะท้านไปทั้งมณฑล บรรดา “ขะจํ้า” ซึ่งเป็นทั้งล่ามและผู้ประสานงานระหว่างทวยเทพกับโลกมนุษย์ ต่างกุลีกุจอปรนนิบัติพัดวีเหล่าทวยเทพ

ความบังเอิญจูงมือเรามาพบทวีศักดิ์ สุธาวัน ลูกหลานชาวบ้านผึ้ง ผู้รักเสียงดนตรีไม่น้อยไปกว่าแสวงหาความรู้จากวิถีชีวิตท้องถิ่น เขาอธิบายว่า พิธีกรรมตรงหน้าหาใช่ความงมงาย หรือเป็นเรื่องของการพิทักษ์รักษ์ป่าตามอย่างที่บรรดาเอ็นจีโอขี้ตู่นำไปใช้ในทางหากินไม่ ทว่านี่คือหนึ่งในกุศโลบายการปกครองยุคโบราณที่ในรอบปีบรรดาเจ้าหัวเมืองจะมารายงานตัว หรือแสดงความจงรักภักดีต่อเมืองหลวงซึ่งก็คือดงภูดิน การกำหนดสายเลือดคนเทียมสะท้อนระบบสืบสันตติวงศ์ แต่อีกนัยหนึ่งก็เป็นเสมือนการรวมญาติเพื่อกระชับสัมพันธ์และคอยถามไถ่ช่วยเหลือกันในรอบปี

หลังพิธีเสร็จสิ้นลง ไม่นานเกินนับวันก็จะถึงช่วงเวลาแห่งการท้าดวล เรือยาวอายุไม่น้อยกว่า 300 ปีที่เคยจอดสงบในวัดประจำหมู่บ้านจะมีโอกาสได้สัมผัสกับสายนํ้ามูลอีกครั้ง และเบื้องหน้าทุ่งข้าวท้องแก่สีทองอร่าม บรรดาชาวนาที่เฝ้ารอผลผลิตมาแรมเดือนจะร่วมใจกันจํ้าพายสุดแรงเกิด เพื่อคว้าชัยชนะเป็นขวัญกำลังใจในฤดูเก็บเกี่ยว

“แต่ก่อนในละแวกนี้ ที่นี่จะแข่งเรือเป็นที่แรกครับ เพราะถือว่าเป็นเมืองปกครอง ไม่มีที่ไหนกล้าแข่งก่อน อย่างการแข่งเรือนี่ถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจก่อนการเก็บเกี่ยว ทุกอย่างมีที่มาที่ไปครับ ไม่ใช่เรื่องงมงาย หรือเป็นอย่างที่บางคนเขาชอบเอาประเพณีท้องถิ่นไปใช้หาประโยชน์โดยไม่ศึกษาให้ถ่องแท้เสียก่อน” ทวีศักดิ์บอกเราอย่างนั้น

นักมวย, รอยสัก, ผีไทย
นักมวยไทยสวมมงคลซึ่งทำจากผ้าลงยันต์หรือสายสิญจน์ที่ม้วนเป็นวงสำหรับครอบศีรษะขึ้นเวที นัยว่าเพื่อคุ้มครองผู้สวมใส่ ให้แคล้วคลาดจากภยันตราย

หวยทุกปักษ์มีความฝันรออยู่ ตั้งแต่ใช้หนี้ ธกส. ถอยรถมือสอง สอยโทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงจ่ายค่าเทอมและซื้อชุดนักเรียนให้บักหำน้อยใส่หล่อไปโรงเรียน กองสลากฯ ยืนยันหนักแน่นว่าสุ่มเลขรางวัลอย่างโปร่งใส กระนั้น ในประเทศที่เงินวงการหวยสะพัดไม่น้อยไปกว่าตลาดหลักทรัพย์ และไม่เคยขาดแคลน “แมลงเม่า” ผู้อยากรวยทางลัด จึงมีคนไม่น้อยหวังพึ่งอภินิหารของภูตผีเทพยดา
แม้จะไม่แน่ใจว่ามีเจ้าพ่อเจ้าแม่ตนใดเคยทำงานที่กองสลากฯ บ้างคืนหนึ่งก่อนหวยออก เราแวะไปวัดมหาบุศย์ หนึ่งในหมุดหมายปลายทางอันโด่งดังของนักแสวงเลขเพื่อไปสังเกตการณ์ ณ ศาลนางนาคพระโขนง ตำนานผีสาวชาวบ้านผู้ตายทั้งกลมในสมัยรัชกาลที่ 4 คํ่าคืนนี้แสงหลอดตะเกียบจะสว่างโพลงตลอดทั้งคืนเพื่อต้อนรับเหล่านักเสี่ยงโชคที่มาขัดถูต้นตะเคียนข้าง ๆ ศาลนางนาค

คอหวย “ฮาร์ดคอร์” อย่างบุญเรือน สถาพรวิริยะเดช จากรามอินทราก็มากับเขาด้วย เธอเล่าว่า หลังสามีให้เลิกอาชีพขายข้าวแกง เธอก็หันมาเอาดีทางหวยเต็มตัว “เคยถูกสิคะ เจ็ดงวดติดกันเลย คืนนี้พี่มารำลึกความหลังค่ะ เคยมาขอครั้งนั้นก็ได้เลย เป็นสิบปีแล้วมั้งคะ”

ปรากฏการณ์ “ผีรู้หวย”ไม่เพียงสะท้อนภาพการกลับมาของยุค ผีไทย เฟื่องฟูเท่านั้น ทว่ายังเป็นประจักษ์พยานของการแปรสภาพภูตผีจากผู้บริหารทรัพยากรธรรมชาติมาสู่ที่พึ่งในระดับปัจเจกมากขึ้น บนความยอกย้อนในประเทศที่ (บางคน) เรียกว่าเมืองพุทธ มีคนไม่น้อยออดอ้อนภูตผีเพื่อขอสิ่งที่ตนปรารถนา โดยใช้การบนบานศาลกล่าว หรือในความหมายที่สุจิตต์ วงษ์เทศนักเขียนและนักวิชาการอิสระ ให้ความเห็นว่า คือการ “ติดสินบน” ภูตผี

ป้าติ๋ม หรือสมพร สิงห์สีหะ แม่ค้าขายเครื่องแก้บนนางนาคเล่าให้เราฟังว่า นอกจากหวยแล้ว ในช่วงใกล้ฤดูเกณฑ์ทหาร จะมีหนุ่มวัยกำดัดมาบนบานขอให้รอดพ้นการเกณฑ์ทหารจำนวนมาก เนื่องจากนางนาคไม่ชอบการเกณฑ์ทหาร [เพราะตามท้องเรื่องพี่มากถูกเกณฑ์ไปรบจนต้องพรากจากลูกเมีย] และเมื่อสมใจหวังแล้ว หนุ่ม ๆ เหล่านั้นจะนำข้าวของมาแก้บน ซึ่งส่วนมากได้แก่ ชุดไทยและดอกไม้ธูปเทียน ส่วนเครื่องสำอาง เครื่องประดับ หรือชุดเด็กอ่อน และ ของเล่นของ “พี่หนูแดง” ลูกอ่อนของนางนาคนั้นถือเป็นส่วนเสริม ”อย่างป้านะ คุณย่า [นางนาค] ก็ช่วยให้ขายข้าวขายของได้ ป้าถวายนํ้าเขียวนํ้าแดงให้คุณย่ากับเจ้าแม่ตะเคียนทุกวัน รายได้น่ะเหรอ ไม่แน่ไม่นอน โถ ป้าไม่อยากบอกหรอก …ห้าหมื่นน่ะเหรอ เดือนนึงมันก็เกินอยู่ละจ้ะ” หล่อนเล่า

เราไม่แน่ใจเรื่องหวยกับการเกณฑ์ทหาร แต่ปักใจว่าอย่างน้อยภูตผีก็ช่วยให้กระเป๋าสตางค์ของใครหลายคนอวบอ้วนได้จริง ตั้งแต่เกษตรกรปลูกดอกมะลิ นางรำ เถ้าแก่น้อยขายธูปเทียน ผู้คนในอุตสาหกรรมชุดไทยและผ้าสามสี ตุ๊กตา ช้างม้าพลาสติก ไม้ขีดไฟ ทองคำเปลว ผลไม้ นํ้าอบ ไปจนถึงสัปเหร่อชรา ยุคถือผีได้ย้อนกลับมาพร้อมกับเม็ดเงินมหาศาลที่ประเมินจำนวนไม่ได้ และน่ากังขาว่าเม็ดเงินเหล่านี้มีที่มาจากสัมมาชีพของพ่อค้าแม่ค้าหรืออิทธิปาฏิหาริย์ของภูตผีกันแน่

โบราณสถาน
คนไทยไม่น้อยเชื่อว่าโบราณสถานเก่าแก่มักมีภูตผีเจ้าที่ปกปักรักษาอยู่ และสามารถดลบันดาลให้มนุษย์สมความปรารถนาได้ โดยอาจแลกกับการติดสินบนเล็กๆ น้อยๆ

“ผมเชื่อว่าปอบมีจริง” เชิดศักดิ์ ฉายถวิล บอกเรา อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษผู้นี้ใช้เวลาส่วนหนึ่งตระเวนวิจัยเรื่องปอบทั่วอีสาน และยิ่งเขาค้นคว้าลึกลงไปเท่าใด กลับยิ่งพบความกระจ่างพอ ๆ กับความลึกลับเขาสรุปว่า ปอบในสังคมอีสานมีอยู่สองประเภท ได้แก่ พวกที่ “น่าคลางแคลงใจว่า” เป็นปอบจริง ๆ กับพวกที่โดนกล่าวหาว่าเป็นปอบ “แต่คุณต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า คำว่า ‘ปอบ’ ในสังคมอีสาน ถือเป็นคำเจ็บปวดร้ายแรงที่สุด” เขาเล่าอย่างระมัดระวังคำพูด

ภาพยนตร์สร้างปอบเป็นผีร้ายในร่างหญิง อาจมีผมหงอกนุ่งผ้าถุง หรือสวยสะคราญน่ารัก หล่อนนิยมตับไตไส้สด บ้างมีอิทธิฤทธิ์สามารถสิงสู่เหยื่อเพื่อกินเครื่องใน บ้างจำแลงแปลงกายเป็นหมาดำตัวใหญ่ไปปรากฏในฝัน ทว่าข้อมูลปอบที่อาจารย์เชิดศักดิ์สำรวจพบกลับเป็นคนละขั้ว ปอบเป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายและมีรูปลักษณ์เช่นคนปกติทั่วไป เขาเชื่อว่าปอบคือคนใช้ไสยศาสตร์จนโดดเด่นเกินหน้าเกินตาคนอื่นในสังคม ”ยกตัวอย่างเช่นวิชาขโมยข้าวในสมัยก่อน พอตกกลางคืนข้าวจะลอยจากยุ้งหนึ่งไปอีกยุ้งหนึ่ง หรือมีข้าวเยอะกว่าแล้วไม่แบ่งเพื่อน ผมเลยสรุปว่า อะไรที่โดดเด่นกว่าคนอื่นในสังคมอีสานก็จะกลายเป็นปอบหมด”

หากก้าวข้ามไสยศาสตร์ไป เขากลับพบว่าคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบจำนวนไม่น้อยมีชีวิตที่น่าเศร้า ทั้งถูกผลักไสไล่ส่ง ด่าทอ ทุบบ้านเผาเรือน ทำร้าย ข่มขู่ไปจนถึงไล่ฆ่า เช่นข่าวหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ หญิงกลางคนในอำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ ถูกใส่ความว่าเป็นปอบ นางโดนรุมขว้างก้อนหินและขวดนํ้าใส่บ้าน นางรํ่าไห้อ้อนวอนให้สาธารณชนพิสูจน์ ความแดงจนหมอผีผู้กล่าวหาต้องออกมาแก้ข่าวเรื่องจึงจบ “อีกกรณีหนึ่ง กำนันอยากได้ที่ดินของลูกบ้าน แต่ฝ่ายหลังไม่ขาย เท่านั้นแหละครับกลายเป็นปอบเลย ผมสนใจเรื่องเหล่านี้ เพราะมันชักจะไปกันใหญ่แล้วครับ” เชิดศักดิ์เปรยด้วยความเห็นใจ ระหว่างการวิจัย เขาพบชุมชน 4 แห่งซึ่งกำเนิดจากการรวมตัวของผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบ หมู่บ้านซึ่งเขาขอไม่เปิดเผยชื่อเหล่านี้มีผู้คนจากต่างถิ่นอาศัยอยู่รวมกันอย่างผาสุก และเปิดรับเฉพาะผู้หนีร้อนมาพึ่งเย็น

ผีไทย, ไทยเจริญ, ชุมชนคาทอลิก, คาทอลิก
ชุมชนบ้านซ่งแย้ อำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร เป็นชุมชนคาทอลิกโบราณที่อ้าแขนรับและให้ที่พักพิงแก่ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบและถูกขับไล่จากหมู่บ้านอื่นๆ ในอดีต

เราจะทำอย่างไรหากถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบ ในอดีตผู้คนจำนวนไม่น้อยเลือกเส้นทางชีวิตใหม่ที่พวกเขาเชื่อว่าร่มเย็นกว่า หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนศาสนาคริสต์ศาสนาซึ่งเผยแผ่บนแผ่นดินอีสานมาไม่ตํ่ากว่า130 ปีแล้ว อ้าแขนรับ “ผู้ถูกเนรเทศ” เหล่านี้อย่างอารี บ้านซ่งแย้ อำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร เป็นชุมชนพักพิงแห่งหนึ่งของผู้ถูกกล่าวหามาตั้งแต่ พ.ศ. 2451 บาทหลวงบุญเลิศ พรหมเสนา เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันของวัดอัครเทวดามีคาแอล บ้านซ่งแย้ เล่าว่า ในภาคอีสาน มีคนจำนวนไม่น้อยมาเข้าศาสนาคริสต์เพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบ “เราทุกคนคือลูกของพระเจ้าโดยเท่าเทียมกันครับ” คุณพ่อกล่าว

สมมติฐานและสามัญสำนึกของเราตั้งแง่ว่า ผีไทย หลายชนิดควรมีเหตุผลมากกว่านี้ เมื่อพินิจพิเคราะห์เรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังจากใครหลายคน และความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลาย ใครคนหนึ่งเชื่อถือเรื่อง “ว่าน” เรืองแสง ซึ่งตามนิทานหรือนิยายประเภทพงไพรชอบนำมาเล่า ว่านนี้มีนามหลากหลายทั้งว่านผีโพง ว่านเลือด และว่านกระสือ เมื่อโตเต็มที่มักมีธาตุปรอทสูง ถึงขนาดว่ากบเขียดจะตายทันทีที่ย่างกรายผ่าน

เขาพยายามเชื่อมโยงว่าว่านนี้มีอาถรรพณ์ และคนปลูกควรมีอาคมเพื่อสะกดความเฮี้ยน เพราะในยามคํ่าคืนมันจะเรืองแสงวาบเป็นใบหน้าของผู้ปลูก เขาชี้ว่านั่นคือที่มาของผีกระสือ หาใช่หัวผู้หญิงติดไส้ในไม่ เราเอาความนี้ไปถามลุงสำเนา จันทรวาส อดีตพรานป่าผู้ผันตัวมาเป็นนักเลงสมุนไพรแถววังนํ้าเขียว จังหวัดนครราชสีมาแกส่ายหน้าก่อนโยนหนังสือเก่าเล่มโตที่รวบรวมสารพัดว่าน (ทั้งที่เรารู้จักและไม่เคยแม้แต่ได้ยินชื่อ) มาให้เราเปิดไม่พบชื่อว่านอาถรรพณ์ทำนองนั้น

นักท่องไพรสมัครเล่นอีกคนพยายามเสนอทฤษฎีผีโป่งค่างและกระหัง ตำนานผีโป่งค่างตระเวนดูดเลือดคนเดินป่ายามหลับจนตาย เขาอ้างหนังสือธรรมชาตินานาสัตว์ เล่ม 1 ของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ซึ่งสันนิษฐานว่า ผีโป่งค่างน่าจะเป็นค่างแก่ ๆ ที่ปีนต้นไม้ไม่ไหว และหากินตามพื้นป่า ส่วนกระหังเขาตีความเอาเองว่า คงเป็นภาพราง ๆ ขณะบ่างตัวโตโผข้ามกิ่งไม้ยามราตรี ส่วนผีพราย โขมด หรือผีโพง เชื่อมโยงถึงก๊าซมีเทนกลางท้องนาหรือชายเลนที่เกิดจากซากพืชซากสัตว์เน่าทับถมและวันดีคืนดีอาจมีความร้อนมาแยงให้เปลวไฟลุกวาบจนคนตีความไปเอง

เรื่องปอบเชื้อ เราถามอาจารย์เชิดศักดิ์ เขายิ้มพรายก่อนวิเคราะห์ว่า น่าจะเป็นเชื้อโรคติดต่อชนิดหนึ่งซึ่งพบเฉพาะในภาคอีสาน อาการจะกำเริบได้เฉพาะกับคนอีสานและถ่ายทอดทางพันธุกรรม เขาอ้างอิงบันทึกของพระป่ารูปหนึ่งซึ่งปฏิบัติธรรมจนจิตละเอียด ท่านธุดงค์ในป่าลึกแถบอีสานและพบเชื้อโรคที่ว่า เชื้อโรคนี้เป็นพิษต่อตับถึงตายและเมื่อผ่าศพจะพบว่าตับเสียหายอย่างรุนแรงจนคล้ายว่าโดนกินตับ ”ไม่แน่นะครับ เมื่อก่อนมะเร็งอาจจะเป็นปอบอีกชนิดหนึ่งก็ได้ เพียงแต่คนยังไม่รู้จัก” เขาเสนอความเห็น

ยังไม่นับภูตผีประเภทอสุรกายหรือปีศาจที่หากลองไล่รายชื่อแล้วน่าจะมีเกินร้อย กระนั้นเชื่อได้ว่าในช่วงชีวิตหนึ่ง อาจมีสักครั้งที่เราพานพบประสบการณ์ซึ่งแม้จะพยายามหาเหตุผลมาอธิบายเท่าไร ก็ยังไม่อาจปักใจเชื่อ เราอาจขนลุกขนพอง ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ หรือหัวเราะกลบเกลื่อน นํ้าตาไหล เหงื่อซึม หรือเดินเข้าหาเพื่อพิสูจน์ อาจตีความเป็นเรื่องราววิญญาณของผู้เป็นที่รัก ผีก่อกวนตามสถานที่แปลกๆ เจ้าแม่เจ้าพ่อผู้แสดงปาฏิหาริย์ เปรตมาขอส่วนบุญ กลิ่นหรือเสียงพิศวง ร่องรอยของพญานาค ดวงไฟประหลาด หรือกุมารทองที่เลี้ยงด้วยนํ้าแดง และอีกมากมายสารพัดไม่ว่าอย่างไร เราควรภูมิใจเสียอีกที่ประเทศของเรามีความหลากหลายทางภูตผีไม่น้อยไปกว่าความหลากหลายทางชีวภาพ

“ก็จินตนาการคนไทยเราสูงใช่ย่อยนี่นา” อาจารย์เชิดศักดิ์บอก “แต่ถ้าคุณอยากรู้ว่ามีจริงหรือเปล่าละก็….”

เราขอสงวนประโยคท้ายไว้เป็นปริศนา

เรื่อง ราชศักดิ์ นิลศิริ
ภาพถ่าย ศิริโชค เลิศยะโส

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมีนาคม 2556


อ่านเพิ่มเติม สำรวจด้านมืดจิตใจมนุษย์ ผ่านภาพวาดที่สยดสยองที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะ

Recommend