วิทยาศาสตร์ในความกลัว ทำไมสิ่งน่ากลัวถึงสร้างความสุขได้?

วิทยาศาสตร์ในความกลัว ทำไมสิ่งน่ากลัวถึงสร้างความสุขได้?

เทศกาลฮาโลวีนผ่านพ้นไป แต่หลายคนก็ยังแสวงหาเรื่องสยองขวัญสั่นประสาท และสำหรับบางคนก็มักจะฟังเรื่องน่ากลัวซ้ำแล้วซ้ำเล่าราวกับเป็นเรื่องบันเทิง

บางคนเสพติดเรื่องสยองขวัญ และเรื่องที่ทำให้ขนลุกนี้ก็ทำให้หัวใจเต้นแรง ซึ่งการตอบสนองทางชีววิทยาและจิตใจอันซับซ้อน ก็สรุปได้ว่ามีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้ความกลัวทำให้บางคนรู้สึกดี

การตอบสนองต่อความกลัวทางชีวภาพของเรานั้นซับซ้อนอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทและฮอร์โมนที่ส่งผลต่อพื้นที่ทั่วสมองตั้งแต่ต่อมทอนซิลไปจนถึงกลีบสมองด้านหน้า สร้างการตอบสนองเหล่านี้เพื่อเตรียมให้เราวิ่งหนีหรือสู้

ดร. อีเลียส อบัวโจวอูด์ (Elias Aboujaoude) ศาสตราจารย์คลินิกด้านจิตเวชศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ จากโรงเรียนการแพทย์สแตนฟอร์ด และหัวหน้าแผนกโรคที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวล กล่าวว่า การตอบสนองที่ซับซ้อนนี้กระตุ้นให้เกิดอารมณ์มากมายเช่น ความเครียด หรือความโล่งใจ ด้วยเหตุนี้ผลของความกลัวที่เกิดขึ้นจากทั้งร่างกายสามารถสร้างความเบิกบานใจได้ และในทางจิตวิทยาแล้ว บางคนรู้สึกพึงพอใจหรือแม้กระทั่งรู้สึกได้รับชัยชนะเมื่อความกลัวหายไป นี่คือเหตุผลที่บางคนเสพติดความกลัวจากผู้เชี่ยวชาญ
ชีววิทยาของความตื่นเต้น

อะดรีนาลีน โดปามีน และคอร์ติซอลเป็นสารเคมีสำคัญสามชนิดที่มนุษย์พัฒนาขึ้นเพื่อปล่อยออกมาเมื่ออยู่ภายใต้ภัยคุกคาม สัญชาตญาณการต่อสู้หรือหนีของเราจะถูกกระตุ้นให้ปล่อยอะดรีนาลีน ซึ่งเพิ่มการทำงานของร่างกายเช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และอัตราการหายใจ

ศาสตราจารย์ เดวิด สปีเกล (David Spiegel) ด้านจิตเวชศาสตร์จากโรงเรียนการแพทย์สแตนฟอร์ด กล่าวว่า “มันสามารถทำให้เกิด ‘ความเร่ง’ ได้เหมือนกับนักวิ่ง คุณจะรู้สึกมีพลัง” ฮอร์โมนความเครียดคอร์ติซอลในร่างกายของเราจะถูกหลั่งออกมาตลอดเวลา เพื่อให้เรารู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ

มันจึงเป็นเรื่องไม่ดีสำหรับคนมีระดับคอร์ติซอลสูงเรื้อรัง “มันไม่ดีต่อร่างกายของคุณ” สปีเกลกล่าว “ร่างกายของคุณอยู่ในภาวะสงครามเรื้อรังทั้งที่ไม่ควรเป็นเช่นนั้น” ทั้งอะดรีนาลีนและคอร์ติซอลอาจนำไปสู่อาการเจ็บปวดทางกายภาพได้ด้วยเช่นกัน

แต่ทว่าบางคนกลับมีโดปามีนซึ่งเป็นสารสื่อประสาทหลั่งออกมาตาม เนื่องจากถูกกระตุ้นด้วยความคาดหวัง ประสบการณ์ที่ได้รับ หรือรางวัลหลังเสร็จสิ้นความกลัว และสารตัวนี้ในหลายคนก็ไม่ได้หลั่งตอนที่ภัยคุกคามหายไปแล้ว แต่กลับหลั่งขณะที่ความกลัวเกิดขึ้น เราจึงชอบทำให้ตัวเองกลัว

เมื่อความกลัวเป็นเรื่องสนุก

ไม่ว่าจะอยู่ในบ้านผีสิงหรือรถไฟเหาะ อบัวโจวอูด์ กล่าวว่าความกลัวอาจกลายเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นหากเรารู้ว่าท้ายที่สุดจะปลอดภัย ประสบการณ์บางประเภทที่สร้างให้เรากลัวในพื้นที่ปลอดภัยได้สร้างภาพลวงตาว่าเราสามารถควบคุมสถานการณ์อันตรายได้ ซึ่งเกิดขึ้นในตัวอย่างเช่น บ้านผีสิงและภาพยนต์สยองขวัญ
“บ่อยครั้งมันเป็นกิจกรรมทางสังคม” ต็อก ทอมป์สัน (Tok Thompson) ศาสตราจารย์ด้านมานุษวิทยา กล่าว การเผชิญหน้ากับความกลัวเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ในทุกวัฒนธรรม “หากคุณออกมาจากอีกด้านหนึ่งโดยรอดชีวิตจากความเสี่ยงได้ คุณจะรู้สึกดีกับมัน” สปีเกลเสริม
ด้วยเหตุนี้เราจึงมีเรื่องสยองขวัญในทุกหมู่บ้าน และเพลิดเพลินไปกับมันเพื่อแสดงความกล้าหรือได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ใหญ่ ยังไงก็ตามความสนุกสนานที่มากเกินไปอาจเป็นอันตรายได้ จนลืมไปว่าเราเล่นอยู่กับภัยคุกคามที่มีตัวตนอยู่จริง
.
แล้วอะไรทำให้เรากลัว? ความกลัวของมนุษย์ได้รับการตั้งโปรแกรมไว้ล่วงหน้าผ่านวิวัฒนาการมาแล้ว บรรพบุรุษของเราเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งน่ากลัว จากนั้นก็ส่งต่อมาให้กับเรา ไม่ว่าจะเป็นแมงมุม งู เลือด หรืออะไรที่พุ่งเข้ามาอย่างรวดเร็ว สัญชาตญาณเหล่านี้ช่วยให้พวกเขามีชีวิตรอด

แต่หลายอันก็สร้างขึ้นจากประสบการณ์ เช่น เด็กที่ถูกสุนัขกัดก็จะกลัวสุนัขกัดไปทั้งชีวิต หรือบางคนกลัวไก่เนื่องจากถูกรุมจิก ไม่เพียงเท่านั้นการวิจัยแสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์จริง ๆ ก็สามารถสร้างความกลัวได้หากสิ่งนั้นมีความสมจริงอย่างมาก

บ้านผีสิงจึงไม่ได้มีแค่ผี แต่กลับมีคนโรคจิตถือเลื่อยไฟฟ้าเปื้อนเลือด นักวิทยาศาสตร์เพี้ยนกับทาสซอมบี้ของเขา หรือตัวตลกที่ยิ้มอย่างมีเลศนัย ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกับสิ่งที่มีอยู่จริงในชีวิต ซึ่งสร้างความกลัวได้อย่างเป็นอย่างดี

“ผู้คนเดินเข้ามาอย่างช้า ๆ รวมตัวกันเป็นกลุ่ม และเมื่อความกลัวจบลง พวกเขาก็กรีดร้องกับหัวเราะออกมา” จอน ปิอันกิ (Jon Pianki) ประธานฝ่ายการตลาดของ Scream-a-Geddon ซึ่งเป็นสวนสยองขวัญในรัฐฟลอริดากล่าว
.
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

อ่านเพิ่มเติม :ตายแล้วไปไหน ? แม้ความตายจะดูน่ากลัว แต่สำหรับธรรมชาติ ความตายคือ “ของขวัญ” ส่งต่อให้อีกหลายชีวิต

อาจารย์ใหญ่

Recommend