เมื่อ ‘เมล็ดไม้’ โบยบิน

เมื่อ ‘เมล็ดไม้’ โบยบิน

เพราะอะไร ‘เมล็ดไม้’ บางชนิดต้องตกไกลต้น และธรรมชาติออกแบบมาให้เมล็ดเหล่านั้นโบยบินไปกับสายลมอย่างไร

ถ้าเราให้ต้นไม้สักต้นได้ลองจัดลำดับช่วงเวลาสำคัญของชีวิตตัวเองดู เริ่มนับกันตั้งแต่แรกเกิดในวันแรกที่ใบผลิออก จวบจนวันสุดท้ายที่ล้มต้นตึงลงกลางป่า ต้นไม้คงไม่ลืมที่จะนับวันเวลาแห่งการแจกจ่ายกระจายเหล่าลูก ๆ เมล็ดไม้ของตัวเองให้เป็นช่วงเวลาสุดวิเศษช่วงหนึ่งของชีวิตเขาไปได้เลย

วันเวลาจะมีความหมายที่สุด ก็ในตอนที่เห็นสายเลือดของเราได้สืบต่อไปนั่นเอง

นับตั้งแต่วันที่ดอกไม้คลี่กลีบบานออก ได้เชิญชวนมวลหมู่แมลงเข้ามาดอมดมผสมเกสรให้กับดอกไม้ เกสรกับรังไข่ที่ได้รับการผสมก็ค่อย ๆ พัฒนาตัวจนกลายเป็นผลที่บรรจุเมล็ดเก็บไว้ภายใน เตรียมพร้อมจะกระจายเมล็ดพันธุ์ตามพันธกิจชีวิตต่อไป

ว่าแต่ เราเคยสังเกตมั้ยว่าต้นไม้หว่านเมล็ดที่เป็นเสมือนลูกของพวกมันกันยังไง?

ลูกไม้ที่ดี ต้องไม่ตกใต้ต้นแม่

แต่ก่อนจะไปถึงคำถามนั้น เราอาจจะต้องเผชิญกับคำถามแรกก่อนว่า ทำไมแม่ต้นไม้ถึงต้องการกระจายเมล็ดที่เป็นเหมือนลูกของตัวเอง ทำไมพวกมันแค่ไม่ปล่อยเมล็ดที่ตัวเองให้กำเนิดขึ้นไว้ที่ตรงใต้ต้น ให้ร่มเงาของแม่ได้ปกปักรักษาและคอยดูแลลูกน้อยเอาไว้

คำตอบนี้อาจจะอยู่ที่คำว่า “ใต้ร่มเงาของแม่” นั่นเอง

ต้นไม้คือสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างจากเราและสัตว์อื่น ความต้องการของต้นไม้บางอย่างอาจจะคล้ายเรา พวกมันต้องการน้ำ ต้องการอาหาร แต่บางอย่างกลับแตกต่างออกไป และสิ่งสำคัญที่ทำให้ต้นไม้แตกต่างจนเป็นผู้ผลิตของโลกใบนี้ได้ ก็คือความสามารถในการสังเคราะห์แสง เปลี่ยนแสงแดด น้ำ และอินทรีย์สารให้กลายเป็นอาหาร อันเป็นจุดเด่นที่สำคัญของพืชทั้งหลายในโลกใบนี้

การที่เมล็ดไม้ที่แม่ผลิตมาด้วยความยากลำบาก จะต้องมาตกอยู่ใต้ต้นแม่เองนั้น เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงอย่างมากต่อการไม่ได้ไปต่อ ไม่ได้เติบใหญ่จนกลายเป็นต้นไม้ที่สมบูรณ์เต็มที่ได้ เพราะภายใต้ร่มเงาของต้นแม่นี้ ทั้งแสงแดดและธาตุอาหาร ต่างก็ถูกต้นแม่ปกคลุมยึดครองไปจนเกือบหมดแล้ว ครั้นจะคิดแข่งกับต้นแม่ได้มีทางเดียวคือต้องอดทนรอจนกว่าแม่จะล้มลง ซึ่งมีโอกาสน้อยเทียบใกล้ศูนย์เลยทีเดียว

ทางเลือกที่ดีกว่า คือการออกเดินทาง ไปเผชิญโชคในโลกกว้าง ตามหาที่เหมาะแห่งใหม่ด้วยกำลังของตัวเอง

แต่เมล็ดของต้นไม้ไม่มีขา พวกมันจึงต้องหาหนทางในการเดินทางไปในที่ไกลให้ได้ด้วยตัวของมันเอง เมล็ดไม้ทั้งหลายจึงต่างพัฒนากลวิธีต่าง ๆ เพื่อจะบุกเบิกตัวเองไปตกและงอกยังอาณานิคมใหม่ที่ปราศจากต้นไม้อื่นยึดครองอยู่ก่อนแล้ว บ้างก็อาศัยนกหรือสัตว์อื่นพาไป บ้างก็สร้างอวัยวะดีดตัวเองขึ้น บ้างก็อาศัยดินฟ้าอากาศ พึ่งพาน้ำบ้าง พึ่งพาลมบ้าง เป็นช่องทางพัดพาให้ตัวเองได้เดินทาง

ดังสุภาษิตในหมู่ต้นไม้ว่า “ลูกไม้ที่ดี ต้องตกให้ไกลต้น”

และถ้าเราไล่ดูถึงกลวิธีในการกระจายเมล็ดพันธุ์ของมวลหมู่ไม้แล้ว การอาศัยพลังงานลมดูจะเป็นวิธียอดนิยมอันแรก ๆ ที่ต้นไม้เลือกใช้ เหตุผลหนึ่งคงเพราะลมเป็นของฟรีที่แทบไม่ต้องลงทุนในการได้มา เพียงแค่ต้องรอและกะเวลาที่เหมาะสมให้ดีเท่านั้น อีกเหตุผลหนึ่งคือการฝากเมล็ดของตัวเองไว้กับลม ดูจะเดินทางไปได้ไกลกว่าวิธีอื่นพอสมควร

ที่บอกว่าลมเป็นของฟรี เพราะการกระจายเมล็ดด้วยกลวิธีอื่นของต้นไม้ อาจจะเปลืองทรัพยากรและลงทุนลงแรงกว่ามาก อย่างถ้าต้นไม้จะวานให้สัตว์อื่นช่วยพาเมล็ดของตัวเองไป ต้นไม้ก็ต้องสร้างผลหวานชุ่มฉ่ำดึงดูดให้สัตว์เข้ามากินเป็นของตอบแทน เช่นที่ลูกไทร ลูกตะขบ มะม่วง หรือผลไม้อื่นที่เราคุ้นเคยทำ หรือถ้าต้นไม้อยากจะอาศัยน้ำให้เป็นตัวพาเมล็ด ต้นไม้ก็ต้องสร้างผลใหญ่โตที่ลอยน้ำตุ๊บป่อง ๆ ได้ อย่างลูกมะพร้าว ลูกตะบูน ลูกลำพู หรือถ้าคิดจะพึ่งตัวเองจะอาศัยกลไกดีดส่งเมล็ดออกไป ก็ต้องออกแรงสร้างกลไกสำหรับดีดเมล็ดให้ได้ อย่างที่ต้นต้อยติ่ง ดอกเทียน ฟ้าทะลายโจร หรือต้นส้มกบ ทำแบบนั้นเอง

เมล็ดที่อาศัยการร่อนลมของประดู่เป็นเมล็ดไม้บินได้ที่พบได้บ่อยตามเมือง

เมื่อเทียบแล้วการอาศัยลมพาเมล็ดไปนี่กลายเป็นเรื่องหมูไปเลย แค่ต้องอาศัยการออกแบบ กับความรู้อากาศพลศาสตร์นิดหน่อยแค่นั้นเอง! เราจึงเห็นตัวอย่างของต้นไม้หลายชนิดรอบตัวเราที่เลือกใช้ลมเป็นตัวการกระจายเมล็ดพันธุ์ ไม้เว้นแม้แต่ริมถนนทางเท้ากลางเมืองหลวง

มีอะไรบ้าง? เรามาลองนึกดูกัน

พวกเมล็ดไม้บินได้ที่พบได้บ่อยตามเมืองหลวง ก็มักจะเป็นเมล็ดของต้นไม้ประดับทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดของประดู่ที่มีรูปร่างกลมแบนเหมือนไข่ดาวเอาไว้เหินรับลม เมล็ดของดอกปีบมีปีกบางใสกับเมล็ดรูปหัวใจอยู่ตรงกลาง ทองกวาวหรือลมแล้งมีเมล็ดแบนบางมีตุ้มถ่วงอยู่หนึ่งข้างไว้สู้ลม ต้นโมกข์มีเมล็ดเบาหวิวและฟูฟ่องรูปร่มชูชีพ เหลืองปรีดีและทองอุไรก็สลัดดอกสีเหลืองออกลายเป็นเมล็ดบางใส หรือต้นนุ่นต้นงิ้วที่กลายเป็นบอลลูนปลิวตามลม

ดูสิแค่ในเมืองก็มีมากมายเต็มไปหมด

วิธีที่เมล็ดบินได้

ถ้าเราจะจัดกลุ่มรูปร่างแบบต่างๆ ของเมล็ดไม้บินได้เหล่านี้ขึ้นมา เราก็อาจจะแบ่งเป็นกลุ่มกว้างตามลักษณะการบินและลักษณะเมล็ดของเขาเหล่านั้นออกเป็นห้ากลุ่มคือ

เครื่องร่อน (Gliders) เมล็ดไม้เหล่านี้จะปรับตัวเองให้เบาบาง และสร้างปีกใสเอาไว้ร่อนรับลม ส่วนใหญ่แล้วจะออกผลเป็นฝักยาวด้านในมีเมล็ดซ้อนทับกันมากมายเหมือนมันฝรั่งแผ่นในกระป๋อง รอเวลาที่แก่พร้อมจึงแตกออกและอาศัยร่อนไปตามลม เป็นเทคนิคที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะไม้ประดับหลายชนิดในเมือง อย่างต้นปีบ ต้นเหลืองปรีดี ทองอุไร ต้นประดู่ และต้นเพกาหรือลิ้นฟ้า

เมล็ดของต้นเพกา หรือลิ้นฟ้า มีปีกบางใสและเนื้อเมล็ดถ่วงน้ำหนักตรงกลางคล้ายเครื่องร่อน

ชูชีพ (Parachutes) ต้นไม้ที่ใช้วิธีนี้จะสร้างสิ่งฟูนุ่มต้านลมขึ้นมาคล้ายกับร่มชูชีพแล้วจึงผูกเมล็ดเบาเอาไว้ที่ด้านใต้ให้เป็นที่ถ่วงน้ำหนัก เมื่อลมพัดปุยที่สร้างขึ้นมาก็จะโอบรับลมและพาเมล็ดลอยละล่องไป เทคนิคนี้เป็นที่นิยมในหมู่พืชที่ขึ้นตามทุ่งหญ้าหรือที่โล่งทั้งหลาย อย่างหญ้าตีนตุ๊กแก ต้นธูปฤาษี หรือต้นแก้วที่เรารู้จักกันดี

เมล็ดไม้นิรนาม ปลิวด้วยชูชีพส่วนตัวจนมาบังเอิญค้างบนต้นไม้นี้

เฮลิคอปเตอร์ (Helicopters) อาศัยน้ำหนักถ่วงเหมือนกับเทคนิคชูชีพ แต่ต้นไม้ในกลุ่มนี้กลับสร้าง “ปีก” ขึ้นมาแทนวัสดุฟูนุ่มรับลม ปีกนี้ทำหน้าที่ช่วยให้เมล็ดหมุนติ้ว เพิ่มระยะเวลาที่ลอยอยู่กลางอากาศ เปิดโอกาสให้ลมได้พัดพาไปยังที่ไกลตามแต่ความแรงของลม ต้นไม้ที่ใช้วิธีนี้มักเป็นไม้ป่าที่มีเรือนยอดสูงพ้นแนวหมู่ไม้อื่น อย่างเช่นต้นไม้กลุ่มยาง ตะเคียน ที่เรารู้จักดี ต้นทองกวาวที่มีปีกใบเดียว และเครือออนไม้เถาสีสวยที่มีสามปีก

เมล็ดของพะยอม
เมล็ดของพะยอมประกอบไปด้วยปีกสี่ห้าใบใช้ต่างใบพัดของเฮลิคอปเตอร์หมุนปั่นถ่วงเวลาค้างบนท้องฟ้าไว้เพื่อจะได้ลอยไปให้ไกล
เมล็ดของต้นเหียง ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรณไม้ตระกูลยางมีขนาดใหญ่และปีกแข็งแรงที่โอบรับลมได้ดี

ปั่น (Spinners) ต้นไม้บางชนิดเลือกใช้วิธีที่แตกต่างออกไป พวกมันสร้างเมล็ดที่มีครีบอยู่รอบตัว เอาไว้คอยรับลมให้หมุนปั่นเมื่อหลุดออกจากต้น ต้นไม้ที่มีเมล็ดแบบนี้ก็มีต้นสะแกที่เรามักเห็นคนเอาไปอบหอมทาสีสวยๆ กลายเป็นบุหงา หรือต้นรกฟ้าต้นไม้สูงโปร่งพบตามป่าผลัดใบ

เมล็ดของต้นรกฟ้า
เมล็ดของต้นรกฟ้าที่มีใบรอบตัว ใช้ใบเหล่านี้รับลมเพื่อการปั่นตัวเองให้ลอยอยู่ในอากาศ

ปุย (Cottony Seeds) ส่วนพรรณไม้ที่เลือกวิธีนี้ ก็จะสร้างปุยฟูนุ่มนิ่มขึ้นแล้วบรรจุเมล็ดไว้ภายใน ในยามปรกติเมล็ดและปุยนั้นจะถูกอัดแน่นเป็นก้อนอยู่เต็มฝักเพื่อรอเวลา และเมื่อแก่จัดก็จะแตกออก ปุยจะฟูขยายขึ้นเพื่อเตรียมรับลมแรงที่พัดมา แล้วปุยกลมสีขาวที่มีเมล็ดเล็กบรรจุอยู่ด้านในก็จะปลิวลอยไปตามลม เมล็ดไม้เดินทางในแบบนี้ที่เราคุ้นเคยกันดีคือต้นนุ่น และต้นงิ้วตามชายทุ่งนา

ปุยฟูนุ่มของต้นนุ่น โอบเมล็ดสีดำเล็ก ๆ ไว้ภายใน เราได้อาศัยปุยขาวเพื่อการบินของต้นนุ้นนี้เอามายัดในที่นอนหรือหมอนให้นอนนิ่มอุ่นสบาย

เหล่านี้คือเมล็ดไม้บินได้ทั้งหลาย ที่เลือกแล้วที่จะใช้ลมในการกระจายเมล็ดของตัวให้ได้ออกเดินทางไกล ไกลจากอกแม่เพื่อที่จะได้เติบใหญ่กลายเป็นต้นไม้รุ่นใหม่ต่อไป

แต่ถ้าเราอยากจะเจอต้นไม้เหล่านี้บ้าง เราจะต้องไปหาที่ไหน แล้วจะต้องไปดูเมื่อไหร่กัน?

เมล็ดไม้ที่รอเวลา

ถ้านับตามความเหมาะสมของฤดูกาล และตามความพร้อมของต้นไม้แล้ว ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการกระจายเมล็ดพันธุ์คือช่วงเวลาที่มีลมพัดแรงจะได้พาเมล็ดไปให้ไกล และจะต้องมีความชื้นอยู่บ้างเพื่อเป็นตัวตั้งต้นให้เมล็ดที่ผอมลีบเหล่านี้ได้หยั่งรากลงดิน ไล่เรียงตามปฏิทินแล้วเวลาที่เหมาะที่สุดคงเป็นช่วงกลางฤดูร้อนนี่เอง

ทำไมถึงเป็นกลางฤดูร้อน? ทั้งร้อนทั้งแล้งอย่างนั้นแล้วจะไปหาลมหาฝนมาจากไหนกัน?

ช่วงกลางฤดูร้อนนี่คือช่วงที่มีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อนอยู่สม่ำเสมอทุกปี ลมที่พัดแรงจนหลังคาแทบปลิว ฝนเม็ดใหญ่ที่ตกห่าเดียวพื้นดินที่ร้อนระอุก็เปียกโชก ทุกปัจจัยสนับสนุนที่สุดเอื้อให้เมล็ดไม้นักบินทั้งหลายได้เดินทางไกล เมื่อใกล้ถึงวันต้นไม้จะเตรียมความพร้อมให้กับเหล่าลูกของตัว เมล็ดที่พร้อมแล้วก็มีก้านที่เหนียวแน่นไม่ยอมหลุดจากต้นแม่ง่าย ๆ ต่างก็เกาะติดกับต้นตากแดดตากลมจนตัวเองแห้งเบาหวิว พร้อมสำหรับการเดินทางไกล และเผ้ารอให้ลมพัดมา

เมื่อพายุฤดูร้อนโหมพัด เมล็ดไม้เหล่านี้ก็ถึงเวลาต้องร่ำลากับแม่ต้นไม้ ต่างก็ปลิดตัวเองจากก้าน ใช้ปีก ใช้ชูชีพ ใช้ปุยที่สร้างโอบรับลมแรงให้ตัวลอยละล่องไป เวลานี้เมล็ดไม้จะตั้งต้นออกเดินทางไกลบางเมล็ดอาจไปได้นับกิโลหรือหลายสิบกิโลถ้าลมและจังหวะเป็นใจ

เมื่อร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน พื้นดินก็เปียกชุ่มไปด้วยหยาดน้ำจากพายุเหมือนจะรอคอยเมล็ดไม้ เหล่าเมล็ดก็อาศัยช่วงนี้รีบหยั่งรากลง และก่อเกิดเป็นต้นไม้ต้นใหม่ เพื่อกระจายขยายอาณาเขตของเผ่าพันธุ์เฉกเช่นเดียวกับที่บรรพบุรุษเคยทำมาเมื่อนานแสนนานมาแล้ว

 

เรื่องและภาพโดย วรพจน์ บุญความดี

อ้างอิง 

https://www.waynesword.net/plfeb99.htm

https://mynaturenook.com/helicopter-seeds/

https://sweetgum.nybg.org/science/glossary/glossary-details/?irn=1936


อ่านเพิ่มเติม: รู้ไหม ต้นไม้พูดได้นะ แล้วพวกมันสื่อสารกันอย่างไร ?

plants can talk

Recommend