จีน “โคลนนิ่งลิง” อยู่มาได้ 3 ปี ขยายขีดจำกัด โคลนนิ่ง สิ่งมีชีวิต

จีน “โคลนนิ่งลิง” อยู่มาได้ 3 ปี ขยายขีดจำกัด โคลนนิ่ง สิ่งมีชีวิต

จีน โคลนลิงวอกได้สำเร็จอีกครั้ง โดยมีอายุเกิน 3 ปีครึ่งและยังคงมีสุขภาพดีพร้อมกับเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงต่อเนื่อง เป็นการขยายขีดจำกัดการ โคลนนิ่ง สิ่งมีชีวิตซึ่งทำให้การโคลนสิ่งมีชีวิตในตระกลูไพรเมตก้าวหน้าขึ้น

‘เรโทร’ (ReTro) คือชื่อของลิงตัวซึ่งเป็นสายพันธุ์ ลิงวอก (Rhesus Macaque ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Macaca mulatta) โคลนนิ่ง โดยนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์จีน ด้วยการใช้เทคนิคใหม่ที่พัฒนาด้วยตัวเอง ทำให้ลิงตัวนี้มีชีวิตอยู่รอดได้นานถึง 3 ปีครึ่งแล้ว นับเป็นหมุดหมายสำคัญในวงวิชาการ
.
“เราได้บรรลุความสำเร็จในการโคลนลิงวอกชนิดหนึ่งให้มีชีวิตและมีสุขภาพดีตัวแรก ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่เป็นไปไม่ได้ แม้ว่าประสิทธิภาพ (โอกาสความสำเร็จ) จะต่ำมากเมื่อเทียบกับเอ็มบริโอที่ปฏิสนธิตามปกติ” ฟาลอง หลู่ (Falong Lu) นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการณ์ชีววิทยาพัฒนาการระดับโมเลกุลและสถาบันพันธุศาสตร์ของสถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์จีน กล่าว
.
แม้นี่จะไม่ใช่ลิงตัวแรกที่ถูกโคลนนิ่ง ในปี 1997 นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันได้โคลนลิงชนิดหนึ่งขึ้นมาพร้อมกับตั้งชื่อว่า ‘เททรา’ (Tetra) โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า ‘การแยกตัวอ่อน’ โดยตัวอ่อนของลิงในระยะแรกเริ่มจะถูกแยกออกเป็นหลายส่วนทำให้เกิดชุดแฝดที่มีพันธุกรรมเหมือนกัน
.
กระบวนการนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงและซับซ้อน บางครั้งมันก็ถูกเรียกว่า ‘การจับคู่เทียม’ แต่ในงานวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Communications เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2024 ได้ใช้เทคนิคใหม่ที่เรียกว่า ‘การถ่ายโอนนิวเคลียร์เซลล์ร่างกาย’ (Somatic Cell Nuclear Transfer : SCNT)
.
เทคนิคนี้เป็นเทคนิคเดียวกับที่ใช้ในการโคลนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นหนู พังพอน กระต่าย สุนัข หมู แพะ และวัว แต่กรณีที่โด่งดังมากที่สุดน่าจะเป็น แกะดอลลี่ มันเป็นกระบวนการที่นำนิวเคลียสของเซลล์ร่างกาย (โซมาติกเซลล์ : Somatic Cell, ที่ไม่ใช่เซลล์อสุจิหรือเซลล์ไข่) เข้าไปในเซลล์ไข่ที่ถูกถอดนิวเคลียสของมันออก
.
โดยเซลล์ที่สร้างขึ้นใหม่สามารถถูกกระตุ้นให้แบ่งเซลล์ และพัฒนาเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีร่างกายพร้อมกับพันธุกรรมที่เหมือนกันกับผู้บริจาคนิวเคลียสโซมาติกเซลล์นั้น ประเด็นสำคัญก็คือเทคนิคนี้เคยใช้กับลิงมาก่อนเช่นเดียวกัน แต่ผลสุดท้ายนั้นล้มเหลว เนื่องจากลิงที่เกิดจากโซมาติกเซลล์มีชีวิตได้ไม่ถึง 12 ชั่วโมง
.
อย่างไรก็ตามยังมีทีมวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งได้โคลนนิ่งลิงด้วย SCNT เช่นเดียวกันในปี 2018 กลายเป็นลิงโคลน 2 ตัวที่มีชื่อว่า ‘ซงซง’ (Zhong Zhong) และ ‘ฮัวฮัว’ (Hua Hua) นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกจริง ๆ และพวกมันมีอายุมากกว่า 6 ปีแล้ว และยังคงสุขภาพดี การโคลนนิ่งครั้งล่าสุดจึงมีขึ้นเพื่อศึกษากระบวนการให้ละเอียดยิ่งขึ้น และหวังจะเพิ่มโอกาสความสำเร็จให้ได้มากกว่าเดิม (โคลนิ่งแบบเดิมมีโอกาสสำเร็จ 1%-3% เทคนิคใหม่มี 5%-20%)
.
“ในทางหนึ่งเรามีความก้าวหน้าอย่างมากในเรื่องนั้น (การโคลนนิ่ง) หลังจากที่ดอลลี่และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดถูกโคลน แต่ความจริงก็คือ อัตราที่ไร้ประสิทธิภาพยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญอยู่” มิเกล เอสเตบัน (Miguel Esteban) นักวิจัยหลังของสถาบันชีวเวชศาสตร์และสุขภาพแห่งกวางโจว ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับงานวิจัยกล่าว
.
เพื่อเอาชนะปัญหาเหล่านั้นทางทีมวิจัยจึงต้องพัฒนาและปรับปรุงเทคนิดขึ้นมาเอง ผู้สร้าง ‘เรโทร’ ได้สังเกตว่าในการโคลนระยะแรก ๆ เยื่อหุ้มชั้นนอกที่ปกติจะพัฒนาเป็นรกนั้นเติบโตอย่างไม่เหมาะสมเท่าที่ควร ซึ่งทำให้เกิดความล้มเหลวหลายร้อยครั้ง
.
ทีมงานจึงเปลี่ยนไปเป็นการปลูกถ่ายมวลเซลล์ชั้นใน (สิ่งที่อยู่ภายในเซลล์) ของเซลล์ที่จะโคลนเข้าไปแทนที่เซลล์ของตัวอ่อนที่จะไม่ได้โคลน (ย้ายข้างในเซลล์ที่ต้องการจะโคลนเข้าไปในอีกเซลล์ที่ไม่เกี่ยวกับการโคลน) จากนั้นก็ให้พัฒนาตามปกติไปพร้อมกับรกที่แข็งแรง
.
จากตัวอ่อนทั้งหมด 113 ตัว มี 11 ตัวที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะย้ายไปฝังในมดลูกของแม่ แต่มีเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่เกิดออกมา นั่นคือ ‘เรโทร’
.
“เราคิดว่าอาจมีความผิดปกติเพิ่มเติมที่ต้องได้รับการแก้ไข การเพิ่มอัตราความสำเร็จของเทคนิค SCNT ในไพรเมตยังคงเป็นเป้าหมายหลักของเราอยู่ในอนาคต” หลู่กล่าว
.
ทีมวิจัยเสริมว่าความสำเร็จเหล่านี้อาจช่วยเร่งการวิจัยเกี่ยวกับการแพทย์ เนื่องจากปัจจุบันมีข้อจำกัดมากมายในการเรียนรู้จากหนูทดลอง หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ โดยเฉพาะกับไพรเมตที่เป็นสิ่งมีชีวิตใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด ความก้าวหน้านี้อาจช่วยชีวิตคนได้อีกมาก
.
ทว่าประเด็นการโคลนนิ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงได้อยู่เสมอเนื่องจากข้อกังวลเกี่ยวกับตัวสัตว์ “การโคลนสัตว์อาจมีขั้นตอนที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด และความทุกข์ทรมาน อีกทั้งยังอาจมีอัตราการล้มเหลวและอัตราการเสียชีวิตสูง” ราชสมาคมเพื่อการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์แห่งราชอาณาจักร กล่าว
.
ผู้เชี่ยวชาญบางคนเรียกร้องให้มีการวางกรอบจริยธรรมที่แข็งแกร่ง เพื่อให้ทันกับความก้าวหน้าที่รวดเร็วของเทคนิคการโคลนนิ่งไพรเมตที่กำลังดำเนินอยู่ ต้องมีกฎระเบียบที่เรียบร้อยและครอบคลุม ‘ก่อนที่ใครจะเปิดกล่องแพนโดรา’

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

แฟ้มภาพ: ลิงน้อยกำลังเคลิ้มหลับ โดย LYNN JOHNSON, NATIONAL GEOGRAPHIC

ที่มา
.
https://www.nature.com/articles/s41467-023-43985-7
https://www.iflscience.com/meet-retro-a-monkey-successfully-cloned-in-china-thats-survived-for-2-years-72473
https://www.newscientist.com/article/2412388-does-the-birth-of-a-cloned-monkey-mean-we-could-now-clone-people/
https://www.livescience.com/animals/monkeys/meet-retro-the-1st-ever-cloned-rhesus-monkey-to-survive-more-than-a-day
https://edition.cnn.com/2024/01/16/world/cloned-rhesus-monkey-china-scn/index.html


อ่านเพิ่มเติม ถ้า วิวัฒนาการมนุษย์ มาจากลิงจริง ทำไมถึงยังมีลิงอยู่รอบ ๆ ตัวเราในทุกวันนี้? – กุญแจสำคัญคือ ‘วิวัฒนาการไม่ใช่เส้นตรง’

วิวัฒนาการมนุษย์
วิวัฒนาการมนุษย์

 

Recommend