วิจัยเผย แม้อารมณ์ร้าย แต่คน ” ไซโคพาธ ” ก็ “มีหัวใจ” แค่เลือกปฏิบัติ

วิจัยเผย แม้อารมณ์ร้าย แต่คน ” ไซโคพาธ ” ก็ “มีหัวใจ” แค่เลือกปฏิบัติ

ไซโคพาธ สามารถเรียนรู้ที่จะ ‘เห็นอกเห็นใจ’ ได้หรือไม่? การศึกษาหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าพวกเขาสามารถทำได้ แต่พวกเขาแค่ไม่ต้องการทำแบบนั้น

ไซโคพาธ (Psychopaths) เป็นอาการผิดปกติทางจิตวิทยาและบุคลิกภาพประเภทหนึ่ง โดยผู้ที่มีลักษณะดังกล่าวนั้นมักถือตัวเองเป็นศูนย์กลาง ชอบที่จะบงการผู้อื่น ต่อต้านสังคม และอาจรุนแรงถึงขั้นก่ออาชญากรรม อีกทั้งยังมักถูกมองว่า ‘ไร้ซึ่งความเห็นอกเห็นใจ หรือ Empathy’ แต่พวกเขาเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่?

“คนที่มีลักษณะทางไซโคพาธจะให้ความสำคัญกับตัวเอง และกับความต้องการของตนเองจริง ๆ” คาทารินา โฮวเนอร์ (Katarina Howner) นักประสาทวิทยาจากสถาบันคาโรลินสกาในสวีเดน กล่าว “พวกเขาขาดความเห็นอกเห็นใจ และไม่รู้สึกละอายหรือรู้สึกผิด มีความเย่อหยิ่งและหุนหันพลันแล่น ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะก่ออาชญากรรมรุนแรง”

“ซึ่งหมายความว่าพวกเขาคิดว่าสามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่มีผลกระทบตามมา” โฮวเนอร์เสริม ด้วยสิ่งเหล่านี้ทำให้หลายคนเชื่อว่าผู้ที่เป็นไซโคพาธดูเย็นชา โหดร้าย และเลือดเย็นจนไม่มีทางที่พวกเขาจะทำอะไรที่อยู่ในขอบเขตของความอ่อนโยน และในที่สุดก็ไม่มีแม้แต่ความเห็นใจ

แต่ก่อนอื่น ‘Empathy’ คืออะไร? (อ่านว่าเอ็มพาตี้) Empathy นั้นเป็นประเภทหนึ่งในบุคลิกภาพเช่นเดียวกัน ซึ่งมักจะถูกพูดถึงคู่ไปกับ ‘Sympathy’ (อ่านว่าซิมพาตี้) โดย Empathy นั้นสามารถพูดได้อย่างง่าย ๆ ว่าคือความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในระดับที่มีอารมณ์ความรู้สึกร่วมเกิดขึ้นคล้ายกับผู้ประสบเหตูการณ์นั้น หรือกล่าวสั้น ๆ ว่าเห็นอกเห็นใจถึงที่สุด

ด้วยสิ่งนี้ทำให้บุคคลที่มี Empathy สามารถเข้าใจผู้อื่นด้วยมุมมองของคนคนนั้นจริง ๆ ขณะเดียวกัน Sympathy คืออารมณ์ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้มีความเข้าใจมุมมองของคนคนนั้นจริง ๆ หรือกล่าวอีกนัยว่า รู้สึกสงสารคนที่ประสบเหตุการณ์นั้นแต่ไม่ได้เข้าใจ ความรู้สึก มุมมอง หรือมีอารมณ์ร่วมเดียวกันกับผู้ประสบเหตุ

โดยสรุปแล้ว Empathy นั้นคือความเห็นอกเห็นใจที่ลึกซึ้งกว่า จากงานวิจัยหลายชิ้นที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า แม้แต่คนที่บุคลิกภาพแบบไซโคพาธก็ยังคงมีความเห็นอกเห็นใจได้ แต่พวกเขาเลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้น และบางทีพวกเขาอาจมี ‘สวิตช์ความเห็นอกเห็นใจ’ แบบที่เปิดปิดได้ตามต้องการ

“แนวคิดหลัก ๆ ก็คือ (คนไซโคพาธ) เป็นคนใจแข็ง ไม่สามารถรู้สึกถึงอารมณ์ของตนเองได้ และด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถรู้สึกถึงอารมณ์ของผู้อื่นได้เช่นกัน” คริสเตียน คีย์เซอร์ (Christian Keysers) จากสถาบันประสาทวิทยาศาสตร์ในเนเธอร์แลนด์ กล่าวกับบีบีซี “งานของเราแสดงให้เห็นว่ามันไม่ง่ายขนาดนั้น พวกเขาไม่ได้ขาดความเห็นอกเห็นใจ แต่พวกเขามีสวิตช์ในการเปิดและปิด โดยค่าเริ่มต้นดูเหมือนว่าจะปิดอยู่”

งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร ‘Personality and Individual Differences’ ได้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 278 คนที่ทำงานเกี่ยวกับด้านทรัพยากรบุคคล

ทีมวิจัยพบว่าคนที่มีคะแนนสูงในลักษณะบุคลิกภาคประเภท “กลุ่มดาร์ก (dark triad)” มักจะเห็นด้วยกับข้อความที่ชี้ไปถึงการขาดความเห็นอกเห็นใจ เช่น “บางครั้งฉันก็ไม่รู้สึกเสียใจกับคนอื่นมากนักเมื่อพวกเขามีปัญหา” หรือ “ความโชคร้ายของคนอื่นมักจะไม่รบกวนฉันเป็นอย่างมาก”

[กลุ่มดาร์ก (dark triad) นั้นประกอบไปด้วยบุคลิกภาพ 3 แบบได้แก่ การหลงตัวเอง (ให้ความสำคัญกับตัวเอง) แมกคิเวลเลียน (Machivellianism : การหลอกใช้ผู้อื่นเพื่อให้ตนเองและพวกได้ประโยชน์) และไซโคพาตี้ (Psychopathy : ใจแข็ง เย็นชา และเหยีดหยามผู้อื่น)]

เพื่อทดสอบว่าบุคคลเหล่านั้นสามารถเรียนรู้ที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นหรือมี Empathy ได้บ้างหรือไม่ นักวิจัยได้ให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบทดสอบ Empathy ในหลายรูปแบบและในหลายแง่มุม เช่น ดูภาพของผู้คนที่มีการแสดงออกทางอารมณ์ต่าง ๆ เพื่อระบุว่าคนคนนั้นกำลังรู้สึกเช่นใด รวมถึงการตอบคำถามในสถานการณ์ต่าง ๆ

ทีมวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างสามารถรับรู้อารมณ์ที่ผู้อื่นแสดงออกมาได้ ซึ่งได้คะแนนสูงเช่นเดียวกับบุคลิกภาพประเภทอื่น ๆ แต่ทว่ากลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติที่ว่าต้อง ‘ทำอะไรบางอย่าง’ ต่ำกว่าอย่างมาก นักวิทยาศาสตร์คาดว่าอาจเป็นเพราะมันไม่ได้ช่วยให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายหรือให้ประโยชน์ใด ๆ กับพวกเขา

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าไซโคพาธจะขาดความเห็นอกเห็นใจ เพียงแค่พวกเขาขาดความสามารถตามธรรมชาติที่จะอ่านอารมณ์และเข้าใจได้อย่างง่ายได้

ดังนั้นคำถามต่อไปจึงเป็น ‘เราจะสามารถเปลี่ยนค่าตั้งต้นของสวิตช์ให้เป็น เปิด ได้หรือไม่?” นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่าอารมณ์ต่าง ๆ ของมนุษย์มีจุดเริ่มต้นอย่างไร และมีกระบวนการดำเนินไปอย่างไร พวกเขารู้แค่เพียงว่ามันเกี่ยวกับโครงสร้างและสารสื่อประสาทในสมอง

การรักษาในปัจจุบันจึงอาศัยวิธีแบบผสมผสานเข้าด้วยกันไม่ว่าจะเป็น บำบัดทางพฤติกรรม อามณ์ และความคิด เสริมด้วยการใช้ยาเพื่อปรับสารสื่อประสาทในสมอง ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอยู่ในทางวิทยาศาสตร์

“จากสิ่งที่ฉันได้อ่าน ได้ยิน ได้เห็น และได้ประสบมาจนถึงตอนนี้ ผู้ที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบดาร์ก (Dark Traid) จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลง” เพอร์เพทัว นีโอ (Perpetua Neo) จิตแพทย์และนักบำบัดกล่าวกับ Business Insider อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความพวกเขาไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา

“ข้อมูลปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า ไซโคพาธไม่สามารถรักษาได้ไปมากหรือน้อยไปกว่าโรคทางจิตเวชอื่น ๆ” บาสกิน-ซอมเมอร์ บอก “มีเรื่องเล่าที่น่าเห็นใจเกี่ยวกับไซโคพาธว่า คนเหล่านี้มีความชั่วร้ายเป็นพื้นฐาน แต่สังคมจำเป็นต้องตระหนักว่านี่เป็นภาวะที่สมควรได้รับการสนับสุนน และจำเป็นต้องได้รับการรักษา”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

Photo by PeopleImages via iStockPhoto

ที่มา
https://oup.silverchair-cdn.com/oup/backfile/Content_public/Journal/brain/136/8/10.1093_brain_awt190/3/awt190.pdf
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0191886919306567
https://www.livescience.com/human-behavior/can-psychopaths-learn-to-feel-empathy
https://bigthink.com/neuropsych/dark-triad/


อ่านเพิ่มเติม มลพิษทางอากาศมีผลต่ออาการไบโพลาร์และโรคซึมเศร้า

มลพิษทางอากาศ

Recommend