สมอง ของคนที่เชื่อ ทฤษฎีสมคบคิด นั้นมีความแตกต่างจากคนทั่วไป หลายงานวิจัยขนาดใหญ่ชี้ – ความเชื่อของกลุ่มคนเหล่านั้นมาจากหลายปัจจัยทั้งด้านสมอง บุคลิกภาพ และ “ความต้องการที่จะอยู่เหนือผู้อื่น”
ตั้งแต่เรื่องโลกแบน การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และไดโนเสาร์ไม่ใช่เรื่องจริง ไปจนถึงความหวาดระแวงว่ากำลังถูก “องค์กรต่างประเทศ” ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองลักลอบสอดแนมและเก็บข้อมูลอยู่ ปรากฎการณ์เหล่านี้ทำให้เราเห็นได้ว่า ทฤษฎีสมคบคิด หรือแนวคิดความเชื่อที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่เรื่องจริงนั้นแพร่หลายได้ง่ายขนาดไหน โดยมีผู้คนกลุ่มหนึ่งที่พร้อมจะเชื่ออยู่เสมอ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีงานวิจัยจำนวนกว่า 170 ชิ้นที่สำรวจผู้คนมากกว่า 158,000 ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และโปแลนด์ ได้พยายามศึกษาว่าเหตุใดคนบางคนถึงเชื่อในแนวคิดที่ไม่มีมูลความจริงอยู่ โดยชี้ให้เห็นว่าผู้ที่เชื่อในทฤษฏีสมคบคิด ไม่จำเป็นต้องมีความผิดปกติทางจิตเวช
“ผู้ที่เชื่อทฤษฏีสมคบคิดไม่จำเป็นต้องมีสภาพจิตใจที่ไม่ปกติและไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นคนที่คิดอยู่ด้านเดียว ซึ่งเป็นภาพที่ภูกวาดไว้ในวัฒนธรรมสมัยก่อน” ชัวนา โบเวส (Shuana Bowes) นักวิจัยจากจิตวิทยาคลินิกที่มหาวิทยาลัยเอโมรี ในจอร์เจีย กล่าว
“ในทางกลับกัน หลายคนหันไปทฤษฏีสมคบคิดเพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านแรงจูงใจที่ขาดแคลน และมีการรับรู้ความทุกข์ (ของผู้อื่น) ที่บกพร่อง” ด้วยการมุ่งเน้นไปในด้านบุคลิกภาพของผู้ที่เชื่อในแนวคิดไม่เป็นความจริง นักวิจัยพบว่าคนกลุ่มนั้นถูกผลักดันได้จากหลายปัจจัย
ผู้คนที่เชื่อในทฤษฏีสมคบคิดนั้นมีแนวโน้มที่จะมีความไม่มั่นคงทางอารมณ์ หวาดระแวงในระดับสูง อารมณ์แปรปรวน หุนหันพลันแล่น ขี้สงสัย เก็บตัว ชอบเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง มีความต้องการที่จะต่อต้านกับผู้อื่นมากกว่าปกติ รวมไปถึงความต้องการที่จะอยู่เหนือผู้อื่น ปัจจัยเหล่านี้ผลักดันให้คนบางคนต้องการที่จะเชื่อในสิ่งที่สังคมไม่เชื่อ หรือกล่าวอีกนัยว่าพวกเขาต้องการที่จะอยู่ตรงข้ามกับสังคม
“ผลลัพธ์เหล่านี้ส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับกรอบทางทฤษฏีก้าวหน้าล่าสุดที่ว่า แรงจูงใจด้านอัตลักษณ์ทางสังคมอาจดึงดูดเนื้อหาของทฤษฏีสมคบคิด (ความหมายง่าย ๆ คือเราเป็นอย่างไรก็จะเสพ/เลือกเชื่อเรื่องนั้น ๆ) ในขณะที่ผู้ที่เชื่อทฤษฏีสมคบคิดอื่น ๆ อาจได้รับแรงผลักดันมาจากความปรารถนาที่จะต้องการไม่เหมือนใคร” โบเวส กล่าว
อีกหนึ่งบุคลิกภาพที่มีบทบาทสำคัญคือ การหลงตัวเอง ในงานวิจัยเมื่อปี 2022 ได้สรุปคุณลักษะ 3 ประการที่สนับสนุนความเชื่อเรื่องสมคบคิด โดยระบุไว้ว่าผู้ที่หลงตัวเองมีแนวโน้มจะเชื่อได้ง่ายขึ้นว่า ‘คนอื่นสนใจพวกเขา’ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเชื่อที่ว่าเราตกเป็นเป้าหมายสำคัญของอะไรบางอย่าง ด้วยแนวคิดนี้ทำให้ มุมมองของพวกเขา ‘ถูกวางกรอบ’ ไว้แล้วว่ามันจะต้องเป็นไปตามที่พวกเขาคิด
นอกจากนี้การหลงตัวเองยังทำให้เกิดความต้องการที่จะรู้สึกว่าตนเองพิเศษและไม่เหมือนใคร ซึ่งย้อนกลับไปส่งเสริมปัจจัยก่อนหน้าที่ได้กล่าวไว้
แต่สมองของพวกเขาแตกต่างไปจากคนทั่วไปหรือไม่?
ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าความแตกต่างนั้นมีอยู่จริง เนื่องจากสมองของมนุษย์มักจะมองหารูปแบบต่าง ๆ ในธรรมชาติเพื่อตอบความสงสัยที่เกิดขึ้น สิ่งที่ทำให้เราวิวัฒนาการขึ้นมาอย่างเป็นเหตุเป็นผล และได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง เช่นสีแดงที่จับคู่กับอันตราย หรืออาหารที่มีกลิ่นเหม็นไม่ควรกิน (ไม่ว่าจะเป็นเหม็นแบบใดก็ตาม)
“สมองของเราพยายามทำความเข้าใจกับโลกภายนอกอยู่ตลอดเวลา วิธีหนึ่งที่สมองบรรลุจุดประสงค์นั้นคือการตรวจจับและเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นความสม่ำเสมอทางสถิติในสภาพแวดล้อม” ดร. เจส เทาเบิร์ต รองศาสตราจารย์จากสาขาจิตวิทยา ในมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ กล่าว “เนื่องจากรูปแบบเหล่านี้ช่วยให้สมองตัดสินใจว่าจะตอบสนอง หรือประพฤติตนอย่างไรเพื่อให้อยู่รอด”
โดยทั่วไปแล้ว พฤติกรรมนี้จะให้ผลดีกับเรา แต่เมื่อรูปแบบเหล่านั้นมีมากเกินไป ทำให้สมองเราเข้าสู่วิธีการจัดการที่สะดวกที่สุด นั่นคือสร้างจุดเชื่อมข้อมูลขึ้นมาแบบสุ่ม และมันก็สร้างปัญหาให้กับเรา แนวคิดนี้เรียกกันว่า ‘การรับรู้แบบลวงตา’ (illusory perception)
ในงานวิจัยเมื่อปี 2017 ที่เผยแพร่ในวารสาร European Journal of Social Psychology ได้ศึกษากลุ่มคน 401 คนโดยผ่านการทดลอง 5 ครั้ง ที่ออกแบบมาเพื่อทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อในทฤษฏีสมคบคิดกับ การรับรู้แบบลวงตา และพวกเขาสรุปได้ว่าทั้งสองการเชื่อมโยงกันอย่างแน่นชัด
“เราสรุปได้ว่า การรับรู้แบบลวงตานั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญของความเชื่อในทฤษฏีสมคบคิดและปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ” รายงานระบุ
พวกเขายกตัวอย่างในประเด็นช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด “ผู้ที่เชื่อ(ทฤษฏีสมคบคิด)อาจพบว่ามันยากที่จะเชื่อได้ว่าไวรัส สามารถเกิดขึ้นแบบสุ่มจากโลกธรรมชาติได้ เพราะมันไม่สอดคล้องกับมุมมองความปราถนาของพวกเขาที่ว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ ต้องมีเหตุผล และโดยปกติแล้วมนุษย์หรือรัฐบาลจะมีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง” รายงานระบุ
โดยสรุปแล้วสมองของผู้ที่เชื่อในทฤษฏีสมคบคิดนั้นมีการเชื่อมโยงข้อมูลในแบบที่ไม่เหมือนคนอื่น โดยจับเอาสิ่งที่พวกเขารู้และเชื่อว่ามันถูกต้องมาตอบความสงสัยกับเหตุการณ์ความเป็นไปบนโลกใบนี้ และเมื่อพวกเขาจับคู่ในสมองบ่อย ๆ ความเชื่อนั้นก็จะยิ่งแน่นหนาขึ้นจนไม่สามารถรับข้อมูลใหม่ที่ถูกต้องไว้ได้อีกแล้ว
ยังไงก็ตามผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องให้มีงานวิจัยเพิ่มเติมในตัวอย่างที่หลากหลายขึ้น เพื่อทำความเข้าใจปัจจัยที่ผลักดันให้ผู้คนเชื่อในทฤษฏีสมคบคิดมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดการกับข้อมูลผิด ๆ ที่แพร่กระจายอยู่ในสังคม
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
.
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1002/ejsp.2331
.
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2352250X22001051
.
https://www.scientificamerican.com/article/people-drawn-to-conspiracy-theories-share-a-cluster-of-psychological-features/
.
https://www.iflscience.com/the-brains-of-conspiracy-theorists-really-are-different-heres-how-73529
.
https://neurosciencenews.com/psychology-conspiracy-theories-23531/