แคดเมียม สารอันตรายที่ทำให้ผู้ที่สัมผัสต้องทุกข์ทรมานไปตลอดชีวิต 

แคดเมียม สารอันตรายที่ทำให้ผู้ที่สัมผัสต้องทุกข์ทรมานไปตลอดชีวิต 

แคดเมียม สารอันตรายที่ทำให้ผู้ที่สัมผัสต้องทุกข์ทรมานไปตลอดชีวิต 

สารนี้กำลังคุกคามความเป็นอยู่ของชาวไทยในขณะนี้ โดยเฉพาะควันบุหรี่ที่กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดในการสัมผัส แคดเมียม อย่างไม่คาดคิด

แคดเมียม มาจากไหน?

แคดเมียม หรือ Cadmium นั้นเป็นโลหะหนักตัวหนึ่งที่อยู่ในตารางธาตุ โดยมีสัญลักษณ์ทางเคมีว่า ‘Cd’ และมีเลขอะตอมเท่ากับ 48 ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับสังกะสีและปรอท อันที่จริงแล้วแคดเมียมถือเป็นผลพลอยได้จากการผลิตสังกะสี โดยมีความเข้มข้นเฉลี่ยอยู่ในเปลือกโลกประมาณ 0.1 ถึง 0.5 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) โดยเป็นธาตุที่มีมากที่สุดเป็นอันดับ 65 

แคดเมียมถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1817 โดย ฟรีดริช สโตรมเยอร์ (Friedrich Stomeyer) และคาร์ล ซามูเอล เลเบเรชต์ แฮร์มัน (Karl Samuel Leberecht Hermann) นักเคมีชาวเยอรมัน จากการเปลี่ยนของสารประกอบสังกะสีที่ปนเปื้อนในร้ายขายยา ในตอนแรกพวกเขาคิดว่ามันคือสารหนู (สัญลักษณ์ทางเคมี As) เนื่องจากมีตะกอนสีเหลือและไฮโดรเจนซัลไฟด์ 

แต่เมื่อสังเกตดี ๆ แล้วมทั้งคู่คิดว่ามีบางอย่างผิดปกติ เนื่องจากมันมีสีเปลี่ยนไปจากธาตุอื่น ๆ ที่พวกเขารู้จัก จนในที่สุดทั้งคู่ก็สามารถแยกแคดเมียมออกมาได้สำเร็จ และทำให้เยอรมนีเป็นผู้นำการผลิตโลหะหนักชนิดนี้ของโลก 

แคดเมียม พิษต่อร่างกาย

ในช่วงเริ่มต้นที่โลกรู้จักแคดเมียม มันถูกใช้เป็นสารเคลือบเหล็กเพื่อป้องกันการกัดกร่อนช่วยให้เหล็กมีความแข็งแรงคงทนมากขึ้น นอกจากนี้ยังใช้เป็นเม็ดสีแดง ส้ม และเหลืองในการทำแก้วสี และเพื่อทำให้พลาสติกมีความเสถียร 

แม้ในปัจจุบันเราจะรู้ว่าแคดเมียมนั้นเป็นพิษต่อร่างกาย แต่ในยุคสมัยก่อนแคดเมียมถูกใช้อย่างแพร่หลายโดยไม่ระมัดระวัง (เช่นเดียวกับปรอทและสารอื่น มีครั้งหนึ่งนักวิทยาศาสตร์เคยนำปรอทมาให้นักโทษสูดดมและดื่มในปริมาณเล็กเพื่อศึกษาผลกระทบ) โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1  แคดเมียมมีความสำคัญอย่างยิ่งในการก่อสร้าง

แต่เมื่อชาวญี่ปุ่นที่อยู่ใกล้เหมืองขุดโลหะช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อุปโภคและบริโภคน้ำจากแม่น้ำ ‘จินซู’ ส่งผลให้มีปัญหาด้านสุขภาพอย่างชัดเจน โดยมีกระดูกอ่อนแอลงจนมีร่างกายบิดเบี้ยว พร้อมกับภาวะไตวาย ซึ่งเป็นผลมาจากการสัมผัสแคดเมียมเป็นเวลานาน

เมื่อแคดเมียมเข้าสู่ร่างกาย มันจะไปสะสมอยู่ในตับและไตเป็นส่วนใหญ่ แต่ไตนั้นจะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ โดยแคดเมียมจะเข้าไปสะสมในเนื้อเยื่อหุ้มหมวกไตจนถึงระดับที่เป็นพิษ จากนั้นก็เข้าไปปิดการทำงานของเอนไซม์ที่มีบทบาทในการตรวจจับระดับแคลเซียมในกล้ามเนื้อ 

เมื่อไตได้รับความเสียหายอย่างกว้างขาง ร่างกายจะสูญเสียความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกสร้างอาการปวดอย่างหนักที่ไม่ว่าจะขยับไปทางไหน ผู้ป่วยก็จะร้องอย่างเจ็บปวดจนกลายเป็นที่มาของโรค ‘อิไต-อิไต’ ที่แปลว่าเจ็บปวด ซึ่งเป็นโรคที่ชาวญี่ปุ่นต้องทุกข์ทรมานไปตลอดชีวิต

การควบคุมที่ตามมา

ผู้ป่วยได้ทำการฟ้องร้องบริษัทเหมืองในเวลาต่อมา ซึ่งใช้เวลายาวนานกว่าจะได้รับชัยชนะ ทำให้ ‘มิซซูไมนิ่ง’ ต้องทำการฟื้นฟูเหมือง พื้นที่เพาะปลูก และบริเวณแม่น้ำโดยรอบให้กลับมาดีดังเดิม ซึ่งจะมีการตรวจสอบจากรัฐบาลและทีมนักวิทยาศาสตร์อย่างสม่ำเสมอทุกปี 

หลังจากการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง แม่น้ำจินซูมีระดับแคดเมียมลดลงอย่างมากเนื่องจากความเข้มงวดของการตรวจสอบ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ในปี 2010 ความเข้มข้นเฉลี่ยของแคดเมียมที่ปล่อยออกมาจากเหมืองลดลงเหลือ 1.2 ส่วนต่อพันล้านส่วน (ppb) ซึ่งลดลงจาก 9 ppb ที่ปล่อยออกมาเมื่อปี 1972 นอกจากแม่น้ำแล้วรัฐบาลยังได้ตรวจสอบคุณภาพอากาศอีกด้วยเนื่องจากแคดเมียมอาจปนเปื้อนในฝุ่นได้ด้วยเช่นกัน

ความจริงจังเหล่านี้ส่งผลให้ความเป็นพิษพื้นที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน แม้จะยังมีการปนเปื้อนอยู๋เล็กน้อยแต่ทางภาครัฐก็ไม่นิ่งนอนใจ ได้ออกกฎหมายป้องกันในปี 1970 โดยพื้นที่ที่มีแคดเมียมปนเปื้อนในระดับ 1 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) ต้องหยุดกิจกรรมบนผืนดินนั้นและทำการฟื้นฟู พร้อมกับชดเชยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

การใช้แคดเมียมในปัจจุบัน

นอกจากการเคลือบเหล็กและใช้เป็นเม็ดสีแล้ว ปัจจุบันแคดเมียมยังถูกใช้เป็นส่วนประกอบแบตเตอรี่ที่ชื่อว่า ‘นิกเกิล-แคดเมียม’ แต่อย่างไรก็ตามในปี 2004 สหภาพยุโรปประกาศจำกัดปริมาณแคดเมียมให้ไม่เกิน 0.01% ในส่วนประกอบ และในปี 2006 ก็ได้จำกัดเพิ่มเป็นให้ไม่เกิน 0.002% เท่านั้น

แคดเมียมยังถูกใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องบินเพื่อลดการกัดกร่อน ใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิชชันซึ่งจะคอยดูดซับนิวตรอนเพื่อป้องกันไม่ให้สร้างปฏิกิริยาฟิชชั่นเพิ่มเติม หรือกล่าวอีกอย่างว่าเป็นหนึ่งในตัวควบคุมปริมาณการเกิดปฏิกิริยา

นอกจากนี้ยังใช้ในกล้องโทรทรรศน์ เซมิคอนดักเตอร์ และการใช้ในห้องปฏิบัติการณ์ทดลองต่าง ๆ เช่นเป็นแหล่งของแสงอัลตราไวโอเลตในรูปแบบของเลเซอร์ เป็นต้น การใช้แคดเมียมทั้งหมดนี้จะถูกควบคุมอย่างเข้มงวดตามกฎหมายของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปเป็นหนึ่งภูมิภาคที่เข้มงวดที่สุด ซึ่งจัดแคดเมียมอยู่ในประเภทสารอันตราย

คนทั่วไปได้รับแคดเมียมจากไหนบ้าง?

หน่วยงานระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง ได้จัดว่าแคดเมียมคือหนึ่งในสารก่อมะเร็งที่รุนแรงที่สุด โดยระบุว่านอกจากการปนเปื้อนในอุตสาหกรรมแล้ว แคดเมียมยังสามารถพบได้ในบุหรี่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากต้นยาสูบที่นำมาผลิตบุหรี่นั้นดูดซับและสะสมโลหะหนักต่าง ๆ ได้

แคดเมียมที่ปนเปื้อนในดินจะถูกดูดเข้าสู่ใบของต้นยาสูบ และเมื่อผู้สูบบุหรี่สูดควันเข้าไป แคดเมียมก็จะถูกดูดซึมเข้าร่างกายได้อย่างง่ายดาย ทางองค์การควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า การสูบบุหรี่คือแหล่งใหญ่สุดและสำคัญที่สุดในการสัมผัสแคดเมียมของบุคคลทั่วไป 

โดยกล่าวว่าปริมาณแคดเมียมในควันบุหรี่มากถึง 50% จะเข้าสู่ปอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉลี่ยแล้วความเข้มข้นของแคดเมียมในเลือดของคนที่สูบบุหรี่จะสูงกว่าคนที่ไม่สูบ 4 ถึง 5 เท่า ในทางเดียวกัน ผู้ที่ไม่สูบก็มีโอกาสได้ควันบุหรี่ที่ปนเปื้อนแคดเมียมด้วยเช่นกัน หากมีผู้สูบอยู่ใกล้ ๆ แม้แคดเมียมดังกล่าวจะมีปริมาณน้อย ก็สามารถเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

นอกจากนี้อาหารก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่มีการสัมผัสแคดเมียมมากที่สุด โดยโลหะหนักชนิดนี้สามารถพบได้สูงในสัตว์จำพวกครัสเตเชียน สัตว์กลุ่มมอลลัสก์ เครื่องในสัตว์ โกโก้ ช็อกโกแลตขม สาหร่ายทะเล เห็ดรา ธัญพืช ผัก และอาหารที่นำรากหรือหัวพืชมาบริโภค 

เนื่องจากสิ่งเหล่านี้มักจะดูดซีมโมเลกุลต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อมเข้ามาสะสมในร่างกาย และมนุษย์ก็นำไปรับประทานอีกทอดหนึ่ง โดยแคดเมียมยังคงอยู่ไม่หายไปไหน 

ทดสอบแคดเมียม

หากคุณต้องการทดสอบว่ามีแคดเมียมอยู่ในร่างกายมากน้อยเพียงใด จำเป็นต้องขอคำแนะนำจากหน่วยงานแพทย์ในพื้นที่ การตรวจปัสสาวะหรือเลือดสามารถระบุความเข้มข้นของแคดเมียมในร่างกายได้ รวมถึงการตรวจสุขภาพไตและตับด้วยเช่นกัน

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
https://environment.ec.europa.eu/topics/waste-and-recycling/rohs-directive_en
https://dtsc.ca.gov/toxics-in-products/cadmium-information-for-the-general-public/
https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/IP_11_620
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0048969723073382
https://www.eea.europa.eu/en/analysis/indicators/heavy-metal-emissions-in-europe
https://www.foodnavigator.com/Article/2021/08/12/Europe-sets-new-cadmium-limits-in-fruits-vegetables-and-cereals
https://eur-lex.europa.eu/eli/reco/2014/193/oj
https://www.osha.gov/cadmium/exposure-controls
https://www.atsdr.cdc.gov/csem/cadmium/Treatment.html
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5596182/
https://nap.nationalacademies.org/read/4795/chapter/18#241
https://www.atsdr.cdc.gov/csem/cadmium/What-is-Cadmium.html
https://www.osha.gov/cadmium/enforcement
https://www.who.int/teams/environment-climate-change-and-health/chemical-safety-and-health/health-impacts/chemicals/cadmium
https://www.cdc.gov/biomonitoring/Cadmium_FactSheet.html#:~:text=Breathing%20high%20levels%20of%20cadmium,considered%20a%20cancer%2Dcausing%20agent.

อ่านเพิ่มเติม ตารางธาตุ (Periodic Table) ทั้งธาตุที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

Recommend