เอาแต่เลื่อนดู โซเชียล ทำให้คุณป่วยได้จริง ๆ การลากนิ้วบนหน้าจอโทรศัพท์ทั้งวันทั้งคืนเพื่อติดตามสถานการณ์ร้อนแรงในทวิตเตอร์ ทำให้ร่างกายของเรา ‘ถึงขีดจำกัดทางดิจิทัล”
เมื่อหลายปีที่ผ่านมาเมืองทั่วโลกต้องเผชิญกับการระบาดครั้งใหญ่ ผู้คนหลายล้านคนต้องติดอยู่ในบ้านอย่างกะทันหัน และขาดการติดต่อจากกิจกรรมกลางแจ้งที่เคยทำซึ่งรวมถึง แจ็ค รีย์วี (Jack Riewe) นักวิจัยวัย 27 ปี(ในขณะนั้น)ที่ไม่อาจพบปะเพื่อนของเขาได้อีกแล้ว
สิ่งที่เขาทำได้อย่างเดียวก็คือใช้เวลาทั้งวันหมดไปกับการทำงานระยะไกลบนคอมพิวเตอร์ ดูทีวี และลากนิ้วบนโทรศัพท์แบบไม่มีที่สิ้นสุด
“ผมถูกบังคับให้อยู่ในอพาร์ตเมนต์ของผมเองโดยไม่สามารถหลับหนีไปที่อื่นได้ ยกเว้นเรื่องบ้าคลั่งที่เกิดขึ้นบนทวิตเตอร์(บนปัจจุบันเปลี่ยนเป็นชื่อ X)” เขา กล่าว
สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่าที่เขาเอาแต่เลื่อน เลื่อน เลื่อน และเลื่อนจนกระทั่งรู้สึกว่า “ตัวหนัก วิงเวียน (และ)คลื่นไส้” เขาเสริม ในตอนนั้นรีย์วีคิดว่าอาการเหล่านี้เกิดจากคุณภาพอากาศ หรืออาจเกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 รึเปล่า? เขาสงสัย ทว่าสาเหตุนั้นมาจากสิ่งที่ร้ายกาจกว่า นั่นคือ ‘การสูญเสียความสามารถทางกายภาพเกือบทั้งหมดจากการอยู่ในโลกเสมือนจริง’
การระบาดของไวรัสทำให้พวกเราส่วนใหญ่ ‘ออนไลน์’ ในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ เราทุกคนต่างทำงาน เข้าเรียน หรือแม้แต่ปาร์ตี้ผ่านคอมพิวเตอร์ และหลงเข้าไปในวงจรข่าวอันดุเดือดของสถานการณ์ต่าง ๆ แต่ร่างกายของเรากลับไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ดำรงอยู่ในพื้นที่เสมือนจริงอันนี้
และเมื่อเวลาที่เราใช้ในโลกดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่เรียกว่า ‘อาการเมาไซเบอร์’ ก็ดูเหมือนจะแพร่ะกระจายไปทั่วประชากรเช่นเดียวกับไวรัส
อาการเมาอินเตอร์เน็ตนั้นมีลักษณะเฉพาะคือ มีอาการวิงเวียนศีรษะและคลื่นไส้ ซึ่งก่อนหน้านี้อาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นส่วนใหญ่ในการใช้เทคโนโลยีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เช่น ในสถานการณ์ใต้น้ำและกำลังใส่ชุดหูฟังของอุปกรณ์วีอาร์ โดยในปี 2011 มีการรายงานไว้ว่าผู้ที่ใช้วีอาร์ร้อยละ 30 ถึง 80 มีแนวโน้มที่จะประสบอาการเมาไซเบอร์
แม้ว่าในเวลาต่อมาจะมีการอัปเดตฮาร์ดแวร์ของชุดหูฟังแล้วก็ตาม แต่อาการก็ยังคงหลงเหลืออยู่ร้อยละ 25 ถึง 60 ทว่าปัจจุบันการเลื่อนคิวดูใน เน็ดฟลิกซ์ หรือฟีดข่าวโซเชียลมีเดียก็มีความสามารถในการสร้างอาการเมาไซเบอร์ได้เช่นกันโดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขพิเศษ: ตลอดทั้งวันทั้งคืน ทุกวัน
“การรับรู้การเคลื่อนไหวใด ๆ จะก่อให้เกิดอาการเมาไซเบอร์” เคย์ สแตนนีย์ (Kay Stanney) ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง ‘Design Interactive’ ซึ่งเป็นบริษัทเล็ก ๆ ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์ กล่าว “ความเป็นเสมือนจริงหรืออาการเมาไซเบอร์เป็นเพียงหนึ่งในผลลัพธ์เล็ก ๆ ของการเจ็บป่วยในรูปแบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับข้องกับการรับรู้การเคลื่อนไหว”
สิ่งที่เคยเก่าก็ใหม่อีกครั้ง
โรคเมาไซเบอร์เป็นสาขาใหม่ที่เพิ่มเริ่มมีการอธิบายกันอย่างต่อเนื่องระหว่าง ร่างกายมนุษย์กับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเทคโนโลยี อาการเมาไซเบอร์ก็เหมือนกับอาการเมารถ เมาเรือ หรือเมาคลื่น ซึ่งสามารถย้อนกลับไปได้ถึง 800 ปีก่อนคริสตกาล
โดยชาวกรีกโบราณได้รายงานความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นไว้ว่าเกี่ยวกับ ‘โรคระบาดในทะเล ซึ่งระบุเอาไว้ว่าแม้เรือจะมีบทบาทสำคัญในการค้า สงคราม และการอพยพย้ายถิ่นฐาน แต่เรือกลับเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้โดยสารบางคนไม่อาจทนได้เลย
ต่อมาภายในปีค.ศ. 300 ชาวจีนโบราณได้เริ่มบันทึกอาการคลื่นไส้จากแหล่งที่มาทุกประเภท โดยมีคำเฉพาะเจาะจงเพื่ออธิบายประสบการณ์ที่แตกต่างกันเช่น เกิดจากการเดินทางด้วยเกวียนเป็นคำว่า ‘Zhuche’ หรือหากเกิดจากเรือก็จะใช้คำว่า ‘Zhuchuan’
ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ได้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว กุญแจสำคัญของอาการเมาทุกรูปแบบคือมาจากกระบวนการทรงตัวของมนุษย์ ซึ่งเป็นการผสมผสานข้อมูลจากอวัยวะรับความรู้สึกในหูชั้นใน พื้นที่สมองที่ควบคุมความสมดุล และการรับรู้เชิงพื้นที่ ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ตรงกัน อย่างน้อยที่สุดเราก็จะเกิดอาการเวียนหัวและไม่มั่นคง
แต่ในศตวรรษที่ 21 สาเหตุทั้งหมดนี้ถูกพลิกกลับเข้าไปในโลกเสมือนจริง แทนที่จะเคลื่อนไหวโดยรับรู้ถึงความนิ่ง เช่น อยู่บนเรือที่เคลื่อนแต่มองไปยังเส้นขอบฟ้าที่ไม่ไหวติง กลับกัน ในตอนนี้ตัวเราเองที่นิ่ง แต่ตายังคงรับรู้การเคลื่อนไหวซึ่งก็คือหน้าจอที่ถูกเลื่อนไปมา และนั่นทำให้ร่างกายสับสน
“ในทางการแพทย์แล้ว ไม่มีความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างอาการทั้งสองนี้(เมาไซเบอร์และเมายานพาหนะ)” ยูจีน นาลิไวโก (Eugene Nalivaiko) รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ซึ่งได้ทำการศึกษาอาการเมารถและอาการเมาอินเตอร์เน็ต กล่าว “พวกเขามีอาการเหมือนกัน ความรู้สึกเหมือนกัน ทุกอย่างเหมือนกัน”
เวลาไม่ได้เข้าข้างคุณ
ซาราห์ คอลเลย์ (Sarah Colley) นักการตลาดวัย 30 ปีจากแอชวิลล์ รัฐนอร์ธแคโรไลนา ได้สังเกตเห็นอาการป่วยทางไซเบอร์ในจุดที่เลวร้ายที่สุดซึ่งเกิดขึ้นเดือนมีนาคมปี 2021 เวลาที่ใช้ไปกับหน้าจอของเธอเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่งานยุ่ง
โดยทั่วไปแล้วเธอใช้เวลาวันละ 10-12 ชั่วโมงติดต่อกันหลายวัน ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะและคลื่นไส้แล้ว เธอยังบอกว่าหน้าจอก็ดูเหมือนจะกระโดดไปมาได้ ทำให้ยากต่อการมีสมาธิ และเกิดความรู้สึกวิตกกังวล
“ถ้าฉันจ้องมองหน้าจอเดิม และมันไม่เคลื่อนไหวจริง ๆ นั่นก็ไม่ได้รบกวนอะไรเลย แต่เมื่อสิ่งต่าง ๆ เลื่อนลอยไปมา มันก็กลายเป็นปัญหาจริง ๆ” เธอ กล่าว “แม้แต่ตอนที่ฉันหลับตา ฉันก็รู้สึกเหมือนกำลังตัวหมุนอยู่”
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว คอลเลย์ต้องหยุดงาน 4 วันเพื่อปรับเวลาใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อนในการทำงานก่อนหน้านี้ และมันไม่ให้ประโยชน์ใด ๆ แก่เธอเลย
สำหรับ คอลเลย์ แล้ว การทำงานทางไกลยังคงทำให้เกิดอาการเมาไซเบอร์เล็กน้อยเป็นระยะ ๆ แต่สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว การใช้เวลาบนโลกออนไลน์ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่อย่างสิ้นเชิง ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงยังไม่มีงานวิจัยใหม่ ๆ ที่เจาะจงมากนัก ความเข้าใจส่วนใหญ่ของเราจึงต้องยืมมาจากการวิจัยในโลกเสมือจริง
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการเมาไซเบอร์ดูเหมือนจะเกิดจากการใช้เวลาจมอยู่ในโลกดิจิทัล สแตนนีย์ กล่าวว่า ได้ติดตามงานวิจัยหลายชิ้นของเธอเองเกี่ยวกับชุดหูฟังวีอาร์ จอแสดงผล 3 มิติ และอื่น ๆ แต่น่าแปลกใจที่กฎดังกล่าวในควาเป็นจริงเสริม (Augmented Reality หรือ AR) ไม่อาจนำมาใช้ได้ในโลกความจริงเสมือน
“ก่อนการศึกษาเหล่านี้ ฉันคงจะตอบว่าใช่อย่างแน่นอน ยิ่งคุณอยู่ในสถานการณ์นี้นานเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งกังวลมากขึ้นเท่านั้น” สแตนนีย์ กล่าว “ความเป็นจริงเสริมกำลังทำหน้าที่แตกต่างไปไปจากความเป็นจริงเสมือน ยิ่งคุณอยู่ที่นั่นนานเท่าไหร่ คุณจะรู้สึกดีขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก”
“ฉันยังคงพยายามค้นหาว่านั่นหมายความว่าอย่างไร” เธอเสริม
โดยทั่วไปแล้ว สแตนนีย์ กล่าวว่า เวลาไม่ได้เป็นมิตรกับคุณในโลกติจิทัล การเลื่อนดูอินสตราแกรม (Instragram) ไม่กี่นาที แล้วสลับไปมาระหว่างหน้าต่างที่เกิดอยู่บนแล็ปท็อป หรือการไปที่เน็ตฟลิกซ์เพื่อชมรายการใดรายการหนึ่งอาจไม่เป็นพิษเป็นภัย
แต่เมื่อกิจกรรมเหล่านี้ลากยาวไปหลายชั่วโมง การเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องบนหน้าจอสามารถทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใด้จริง ๆ สแตนนีย์ ยังเต็มใจที่จะวางเดิมพันว่า ไม่ใช่แค่การเพิ่มเวลาหน้าจอเท่านั้นที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้กับอุปกรณ์ในชีวิตประจำวัน แต่รวมถึงการเคลื่อนไหวที่น้อยลง
ก่อนหน้าที่ทั้งเมืองจะล็อคดาวน์ มนุษย์อยู่กับการเคลื่อนไหวหลายทิศทาง เราขึ้นเครื่องบิน นั่งรถยนต์ และยืนบนรถไฟฟ้าใต้ดินเป็นประจำ แต่เมื่อต้องอยู่ในบ้าน หลายคนทำได้เพียงเดินนิดหน่อย ยืนบ้าง นั่งและนอนยาว ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจทำให้บางคนมีความยืดหยุ่นน้อยลงต่อการเคลื่อนไหวทางดิจิทัล โดยไม่รู้เลยว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นภาระต่อระบบร่างกายของพวกเขา
“เมื่อเราเห็นความไม่ลงรอยกันระหว่างการเคลื่อนไหวทางการมองเห็นและการพักผ่อน ซึ่งเราอยู่เกือบตลอดเวลา(ในตอนล็อคดาวน์) บางทีอาจเกิดความขัดแย้งที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น” สแตนนีย์ กล่าว
ตัวอย่างเช่น คุณอาจคิดว่าคุณกำลังนอนอยู่บนเตียงอย่างสงบสุขในตอนกลางคืนที่มืดมิดและเงียบสงบ แต่แล้วแค่เพียงการเลื่อนนิ้วผ่านทวิตเตอร์ก็ทำให้ทุกอย่างแย่ลง “อันที่จริงแล้ว การนอนอยู่บนเตียงอาจเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดอย่างหนึ่งก็ได้” สแตนนีย์ กล่าว
เนื่องจากเป็นระบบการทรงตัวที่ ‘สบายที่สุด’ การเคลื่อนไหวบนหน้าจอเป็นเวลานานจึงอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายได้ง่ายกว่าเดิม แต่ปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบคือ การขาดสิ่งที่เรียกว่า ‘กรอบส่วนที่เหลือ’ ซึ่งเป็นผนังหรือพื้นจริงรอบตัวคุณ ที่ทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของสัญญาณไปยังสมอง
กล่าวคือ การถือหน้าจอโทรศัพท์ไว้ให้ห่างจากใบหน้าของเราเพียงไม่กี่นิ้ว สมองจะรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมของความเป็นจริงเสมือน โดยถอดเฟรมที่เหลืออยู่บนโลกความจริงออก พร้อมกับหลุดเข้าไปในหน้าจอดังกล่าว แม้นักวิทยาศาสตร์จะยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ว่า ขอบเฟรมที่เหลืออยู่ จะช่วยให้ผู้ใช้ ‘ป่วย’ น้อยลงไหม แต่ก็มีคำแนะนำบางอย่างที่นำไปใช้ได้
“หากโทรศัพท์ (อยู่ห่างจากใบหน้า) ออกไปเล็กน้อย หรือหากอยู่ในห้องที่มีแสงสว่างเพียงพอ อาจช่วยลดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เหล่านั้นได้” สแตนนีย์ กล่าว
หากคุณไม่สามารถถอยโทรศัพท์ออกไปให้ห่างได้ การเปลี่ยนมุมมองก็อาจช่วยได้เช่นกัน และการเลื่อนนิ้วให้ช้าลงเพื่อควบคุมความเร็วก็เป็นอีกสิ่งที่ดีที่ควรทำ นอกจากนี้งานวิจัยในสัตว์ที่จำลองอาการเมารถชี้ให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมที่เย็นก็เป็นอีกตัวเลือกในการลดผลกระทบ
“ถ้าคุณนึกถึงสิ่งที่ผู้คนรู้สึกระหว่างเมารถที่ทำให้เหงื่อออก ร้อน และมีความปราถนาที่จะออกไปสูดอากาศเย็น ๆ ในที่โล่ง” นาลิไวโก ก็จะทำให้เห็นภาพได้ชัดเจน
อุปกรณ์ที่เป็นพิษ
ในขณะที่อาการเมารถและอาการเมาไซเบอร์ได้รับการบันทึกไว้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่ยังทำให้นักวิจัยงุนงงก็คือ ทำไมการขาดการเชื่อมต่อระหว่างระบบทรงตัว และระบบการมองเห็นจึงทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ตั้งแต่แรก
“เรามีความรู้สึกไม่ดีเกิดขึ้น 2 อย่าง: เรามีความเจ็บปวด และมีอาการคลื่นไส้” นาลิไวโก กล่าว “ทั้งสองสิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อธรรมชาติต้องการให้เราไม่ทำซ้ำในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ แต่เราไม่รู้ว่าอาการเมานั้นออกแบบมาเพื่อป้องกันอะไร”
ความเจ็บปวดนั้นส่งข้อความตรงไปตรงมา ถ้ามันทำให้คุณรู้สึกเจ็บ ก็ไม่ควรเอามือไปโดนไฟอีก แต่อาการคลื่นไส้กลับค่อยเป็นค่อยไป ละเอียดอ่อน และคาดเดาไม่ได้มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันเชื่อมโยงกับกิจกรรมที่ดูไม่เป็นอันตรายเช่น พายเรือ หรือเลื่อนดูโทรศัพท์
สมมติฐานหลักก็คือ มันเป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับที่ผิดพลาด ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อปกป้องเราให้ปลอดภัยจากสารพิษ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคุณมึนเมาเร็วเกินไปหรือมากเกินไป แล้วทำให้บ้านหมุน แม้ว่าคุณจะสาบานได้ว่าเท้ายืนอยู่กับที่บนพื้นอย่างแน่นอน
แต่แอลกอฮอล์สามารถฆ่าคุณได้ ดังนั้นร่างกายจึงพัฒนาการเชื่อมโยงความเมาเข้ากับภัยคุกคาม และทำให้เกิดการคลื่นไส้เพื่อช่วยล้างสารพิษและช่วยให้คุณมีชีวิตอยู่ได้ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมหลายคนเมาแล้วต้องอาเจียนออกมา
ทว่าตอนนี้เราพบปัญหาการทรงตัวและการมองเห็นที่ไม่ตรงกัน ซึ่งเกิดจากปัจจัยที่ไม่เป็นอันตรายนั่นคือโทรศัพท์ ร่างกายของเราอาจจะคิดว่าเรากำลังตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง ซึ่งเป็นคำเปรียบเทียบที่ดูจะเหมาะเจาะ โซเชียลทำให้อารมณ์ของเราเป็นพิษ หรือตัวโซเชียลเองที่เป็นพิษ การอยู่กับมันนานเกินไปสามารถกระตุ้นการคลื่นไส้ได้
อาการเมาไซเบอร์จึงอาจมีประสิทธิผลพอ ๆ กับการป้องกันความเป็นพิษที่เกิดขึ้นกับแอลกอฮอล์
เมื่อรีย์วีได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาการเมาไซเบอร์ “ผมวางโทรศัพท์ลงทันทีและเริ่มอ่านหนังสือ จากที่ต้องชวนอ้วกก็กลายเป็นหลับไปอย่างมีความสุข”
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ภาพ : Image by Chris Yang on Unsplash
ที่มา : National Geographic