ผลวิจัยใหม่ชี้ “ดวงจันทร์” อาจส่งผลต่อสุขภาพของเราได้

ผลวิจัยใหม่ชี้ “ดวงจันทร์” อาจส่งผลต่อสุขภาพของเราได้

หลังสงสัยมานานหลายสิบปี ในที่สุดเหล่านักวิจัยก็ค้นพบหลักฐานที่ชี้ว่า ดวงจันทร์มีอิทธิพลบางอย่างต่อการนอนหลับ รอบประจำเดือนของผู้หญิง และอาการของโรคทางจิตเวชบางชนิด 

นับตั้งแต่โบราณกาลจวบจนปัจจุบัน ผู้คนรอบโลกมีความเชื่อว่า ดวงจันทร์วันเพ็ญสามารถเปลี่ยนแปลงร่างกายและจิตใจของมนุษย์ได้ อาทิ ทำให้ก้าวร้าวขึ้นหรือมีพฤติกรรมบางอย่างผิดแปลกไปจากเดิม ซึ่งคำว่า คนบ้า หรือ “lunatic” ในภาษาอังกฤษนั้นก็มีรากศัพท์มาจากคำว่า ดวงจันทร์ หรือ “lūna” ในภาษาละติน

มนุษย์เราไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเพียงประเภทเดียวที่ได้รับผลกระทบจากวัฏจักรของดวงจันทร์ และดวงจันทร์ก็ไม่ได้มีอิทธิพลต่อการขึ้นลงของน้ำในมหาสมุทรเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ใต้ผืนน้ำ บรรดาปะการัง หนอนทะเล เม่นทะเล ปลา และปูหลากสายพันธุ์ที่สืบพันธุ์กันในช่วงจันทร์เต็มดวง โดยอาจมีสาเหตุมาจากแสงจันทร์ที่สว่างจ้ากว่าปกติ

visitors gather at Stonehenge for the autumn equinox amid a full moon
นักท่องเที่ยวหลายร้อยคนมารวมตัวกันที่สโตนเฮนจ์เพื่อร่วมฉลองวันศารทวิษุวัตท่ามกลางพระจันทร์วันเพ็ญ มีหลักฐานจากการวิจัยชี้ว่าคนจะนอนน้อยลงในช่วงที่พระจันทร์เต็มดวง | ภาพถ่ายโดย ALICE ZOO, NAT GEO IMAGE COLLECTION

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิจัยได้ปฏิเสธคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับผลกระทบจากวัฏจักรดวงจันทร์ที่มีต่อมนุษย์ว่าไม่เป็นความจริงมายาวนาน เนื่องจากงานวิจัยจำนวนมากมีผลการศึกษาแย้งกับคำกล่าวอ้างดังกล่าว นอกจากนั้น ผลของงานศึกษาวิจัยอีกหลายชิ้นยังพบว่า จำนวนการฆาตกรรมและการเข้ารักษาในศูนย์บริบาลผู้บาดเจ็บหรือศูนย์สุขภาพจิตไม่ได้เพิ่มขึ้นในช่วงที่พระจันทร์เต็มดวง ซึ่งเป็นระยะ 1 ใน 8 ของดวงจันทร์ในขณะที่โคจรรอบโลกเป็นเวลา  29.5 วัน

ทว่า ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอิทธิพลของดวงจันทร์ที่มีต่อมนุษย์กลับเปลี่ยนไป เมื่อผลงานวิจัยล่าสุดชี้ว่า วัฏจักรของดวงจันทร์ส่งผลกระทบเล็กน้อยต่อผู้คนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นวงจร เช่น การนอนหลับ รอบประจำเดือนของผู้หญิง และการสลับขั้วอารมณ์ของผู้ป่วยโรคไบโพลาร์

ใต้แสงจันทร์ที่ส่องสว่างเหนือรัฐไอโอวา นายพรานคนหนึ่งติดตั้งอุปกรณ์ล่อเหยื่อหลายร้อยชิ้นไว้ตามพื้นเพื่อล่อฝูงห่านหิมะให้ออกมา มีความเป็นไปได้ว่ามนุษย์อาจมีความสามารถบางอย่างในการรับรู้ถึงแรงโน้มถ่วงของโลก | ภาพถ่ายโดย WILLIAM ALBERT ALLARD, NAT GEO IMAGE COLLECTION

“ผลลัพธ์เหล่านั้นเพียงพอที่จะทำให้เกิดความสงสัยเกี่ยวกับข้อสรุปที่ได้รับการยอมรับมายาวนานอย่าง ‘ดวงจันทร์ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อมนุษย์’ รวมไปถึงการค้นคว้าหาคำตอบว่าวัฏจักรของดวงจันทร์ส่งผลต่อชีววิทยามนุษย์อย่างไรบ้างค่ะ” คริสติน เทสมาร์ ไรเบิล (Kristin Tessmar-Raible) ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฏฏะชีวภาพ (Chronobiologist) จากมหาวิทยาลัยเวียนนาในประเทศออสเตรีย ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยชิ้นล่าสุดกล่าว

“นี่คือข้อมูล” เธอว่า พร้อมอธิบายต่อ “ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องพยายามทำความเข้าใจ วิเคราะห์ และตีความข้อมูลเหล่านั้นโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ค่ะ”

การนอนหลับที่ลดลงในซีแอตเทิล

ผลการวิจัยล่าสุดบางชิ้นทำให้โอราซิโอ เด ลา อิเกลเซีย (Horacio de la Iglesia) ซึ่งเป็นนักวิจัยด้านการนอนหลับจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันในเมืองซีแอตเทิล รู้สึกประหลาดใจ

เด ลา อิเกลเซียและเพื่อนร่วมงานของเขาใช้นาฬิกาข้อมือสำหรับติดตามกิจกรรมเพื่อสังเกตรูปแบบการนอนของผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ไปจนถึง 2 เดือน ในประชากร 2 กลุ่มที่มีความแตกต่างกันมาก ซึ่งประกอบไปด้วยชนพื้นเมืองชาวโทบาหรือโคม (Toba/Qom) จากพื้นที่ชนบทในอาร์เจนตินาซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช้ไฟฟ้าในการดำรงชีวิตราว 100 คน และนักศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันจำนวนหลายร้อยคน

โดยเฉลี่ยแล้ว ชนพื้นเมืองชาวโทบาจะเข้านอนช้ากว่าปกติ 40 นาทีและมีระยะเวลาการนอนหลับสั้นลงในคืนก่อนพระจันทร์เต็มดวง แต่สิ่งที่เด ลา อิเกลเซียไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นคือ ระยะเวลาการนอนของนักศึกษาปริญญาตรีในซีแอตเทิลเองก็ลดลงในช่วงเดียวกัน แม้ว่าเมืองนั้นจะเป็นเมืองใหญ่ที่แสงจากหลอดไฟส่องสว่างมากกว่าแสงจากดวงจันทร์ และบรรดานักศึกษาก็มักจะไม่ทราบว่าจันทร์เต็มดวงเกิดขึ้นช่วงไหน

“นี่เป็นอะไรที่น่าประหลาดใจมากครับ” เขากล่าว ในบางครั้ง เขาก็คาดเดาว่า มนุษย์ยุคโบราณที่ดำรงชีวิตโดยล่าสัตว์และเก็บพืชผลเป็นอาหารคือคนกลุ่มแรก ๆ ที่เริ่มพัฒนาวิธีการบางอย่างซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้ เพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์ในแต่ละช่วง วิธีที่มนุษย์ในยุคก่อนใช้ อาจทำให้คนเหล่านั้นมีความตื่นตัวและกระตือรือร้นในช่วงก่อนพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งพวกเขาจะมีแสงสว่างเพิ่มขึ้นในครึ่งแรกของคืน จนสามารถออกไปหาทรัพยากรตามธรรมชาติหรือประกอบกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ ได้

A star-filled sky and bright moon shine over tents on Everest
ท้องฟ้าเหนือเต็นท์หลายสิบหลังบนยอดเขาเอเวอเรสต์ ประเทศเนปาล เต็มไปด้วยดวงดาวที่พร่างพราวและพระจันทร์ที่ส่องแสงสุกสกาว | ภาพถ่ายโดย CORY RICHARDS, NAT GEO IMAGE COLLECTION

อีกหนึ่งผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิดคือ ผู้เข้าร่วมการวิจัยหลายรายในทั้ง 2 กลุ่มนอนน้อยลงในคืนเดือนดับซึ่งเป็นช่วงที่ดวงจันทร์หันด้านมืดเข้าหาโลกจนทำให้ไม่มีแสงสว่างจากดวงจันทร์บนฟากฟ้า

เห็นได้ชัดว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพราะแสงจันทร์เพียงอย่างเดียว เด ลา อิเกลเซียจึงตั้งสมมติฐานขึ้นว่า แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ซึ่งเพิ่มสูงที่สุดในช่วงจันทร์เต็มดวงและจันทร์ดับอาจส่งผลต่อรูปแบบการนอนหลับ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์เคลื่อนที่มาอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันจึงทำให้โลกได้รับแรงดึงดูดจากทั้ง 2 ด้าน

“แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่า มนุษย์หรือสัตว์ชนิดต่าง ๆ สามารถรับรู้หรือได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยของแรงโน้มถ่วงค่ะ” เทสมาร์ ไรเบิล จากสถาบันอัลเฟรด เวเกเนอร์ เพื่อการวิจัยทางทะเลและขั้วโลก (Alfred Wegener Institute for Polar and Marine Research) และมหาวิทยาลัยโอลเดนเบิร์กในเยอรมนีกล่าว

อย่างไรก็ดี สิ่งมีชีวิตทางทะเลที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดอย่าง หนอนทะเล (Platynereis dumerilii) สามารถรับรู้ได้เพียงการเปลี่ยนแปลงของระยะเวลาที่พระจันทร์ส่องแสง แต่ไม่สามารถรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแรงโน้มถ่วงได้

ทว่า โทมัส แวร์ (Thomas Wehr) จิตแพทย์ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์กิตติคุณของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ กลับคิดว่า มีความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะสามารถรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของแรงโน้มถ่วงหรือผลกระทบที่ตามมาของแรงโน้มถ่วงที่มีต่อสนามแม่เหล็กโลกได้ แต่ก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่า มนุษย์จะใช้ประสาทสัมผัสใดในการรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงนั้น “ยังมีอีกหลายสิ่งที่เราไม่รู้เกี่ยวกับการตอบสนองของสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ต่อแรงทางกายภาพ เช่น แรงโน้มถ่วงหรือสนามแม่เหล็กครับ” เขากล่าว

อารมณ์ที่เปลี่ยนไปตามดวงจันทร์

การศึกษาวิจัยในปี ค.ศ. 2017 แวร์และเพื่อนร่วมงานของเขาได้ติดตามผู้ป่วยไบโพลาร์จำนวน 17 รายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมักจะสลับขั้วอารมณ์ระหว่างภาวะอารมณ์ดีผิดปกติและภาวะซึมเศร้าไปมาทุก ๆ 2 ถึง 3 สัปดาห์ ผลปรากฏว่า ผู้ป่วยหลายคนมีอาการอารมณ์แปรปรวนสอดคล้องกับวัฏจักรของดวงจันทร์ โดยพวกเขาจะมีอาการในวันที่จันทร์เต็มดวง และมีอาการในวันจันทร์ดับบ้างเป็นบางครั้ง “นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 ระยะของดวงจันทร์ด้วยครับ” แวร์ยืนยัน หลังทีมของเขาติดตามผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มาเป็นเวลารวมกว่า 37.5 ปี

A hiker watches the full moon rise at Carson Pass in California
นักเดินป่าคนหนึ่งกำลังยืนชมพระจันทร์เต็มดวงที่ขึ้นเหนือช่องเขาคาร์สัน ในรัฐแคลิฟอร์เนีย การโคจรรอบโลกของดวงจันทร์แบ่งออกเป็น 8 ระยะด้วยกัน ซึ่งในช่วงพระจันทร์เต็มดวงและพระจันทร์ดับแรงดึงดูดของโลกจะเพิ่มขึ้นสูงที่สุด | ภาพถ่ายโดย PHIL SCHERMEISTER, NAT GEO IMAGE COLLECTION

แวร์เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการนอนหลับที่เกิดจากดวงจันทร์นั้นอาจส่งผลต่อความแปรปรวนของอารมณ์ได้ เนื่องจากผลงานวิจัยชิ้นก่อนของเขาชี้ว่า การขาดการนอนหลับมีส่วนในการกระตุ้นภาวะแมเนียหรือภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ

นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้ร่วมเขียนงานวิจัยในปี 2021 ที่พบว่า รอบประจำเดือนซึ่งมีระยะเวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 28 วันของผู้หญิงบางคนสามารถตรงกับรอบการโคจรของดวงจันทร์ซึ่งมีระยะเวลา 29.5 วันได้

อย่างไรก็ดี รอบประจำเดือนและรอบการโคจรของดวงจันทร์ก็ไม่ได้เกิดขึ้นตรงกันอย่างสม่ำเสมอ จากผู้หญิงจำนวน 22 รายที่เข้าร่วมการศึกษาพบว่า บางรายมีแนวโน้มที่จะมีประจำเดือนในช่วงที่พระจันทร์เต็มดวง บางรายมีแนวโน้มที่จะมีประจำเดือนในช่วงพระจันทร์ดับ และบางรายมีประจำเดือนสลับกันระหว่างทั้ง 2 ช่วง

ผลการวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับข้อมูลการมีประจำเดือนซึ่งผู้หญิงเป็นผู้บันทึกด้วยตนเองเป็นระยะเวลาประมาณ 15 ปีชี้ว่า เมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้นหรือสัมผัสกับแสงไฟมากขึ้นในตอนกลางคืน หรือมีปัจจัยทั้ง 2 อย่างร่วมกัน รอบประจำเดือนจะสั้นลงจนเกิดไม่ตรงกับรอบการโคจรของดวงจันทร์ ด้วยเหตุนี้ แวร์และผู้เขียนคนอื่น ๆ จึงเชื่อว่า ในสมัยก่อนรอบประจำเดือนของผู้หญิงเคยสอดคล้องกับวัฏจักรของดวงจันทร์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปรอบทั้ง 2 ที่เคยตรงกันก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามรูปแบบการใช้ชีวิตสมัยใหม่

สาเหตุของผลการศึกษาที่ขัดแย้งกัน

แวร์กล่าวว่า “คำถามที่สำคัญคือ เพราะเหตุใดงานวิจัยใหม่ ๆ เหล่านี้จึงพบความสัมพันธ์ระหว่างวัฏจักรของดวงจันทร์กับสุขภาพของมนุษย์ ในขณะที่งานวิจัยก่อนหน้านี้ยังคงไม่มีผลสรุปที่แน่ชัด”

“ประการแรก งานวิจัยจำนวนไม่น้อยก่อนหน้านี้สังเกตและพิจารณาบรรดาผู้เข้าร่วมการวิจัยเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งในแต่ละช่วงของวัฏจักรดวงจันทร์ แทนที่จะติดตามผู้เข้าร่วมการวิจัยรายบุคคลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน การติดตามผลในรูปแบบหลังเป็นวิธีเดียวที่จะสามารถสังเกตการเกิดขึ้นซ้ำไปมาหรือการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ของพฤติกรรมของแต่ละบุคคลในระหว่างรอบการโคจรของดวงจันทร์ได้ครับ”

“นอกจากนี้แล้ว งานวิจัยครั้งก่อน ๆ ยังมักจะใช้การออกแบบและระเบียบวิธีในการทำวิจัยที่แตกต่างกันมาก งานเหล่านั้นจึงเปรียบเทียบผลลัพธ์กันได้ยากค่ะ” นารีเมน ยูสฟี (Narimen Yousfi) นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์การแพทย์และวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งชาติ ประเทศตูนิเซีย กล่าว

“ซึ่งนั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผลลัพธ์ของงานวิจัยขัดแย้งกันค่ะ” เธออธิบาย พร้อมเสริมว่า “นักวิจัยควรตกลงที่จะใช้ระเบียบการทำวิจัยแบบเดียวกันในการศึกษาเรื่องนี้ค่ะ”

เด็กชายคนหนึ่งในชุดคาวบอยยืนโพสต์ท่ากับม้าป่าของเขาในเมืองไพรน์วิลล์ รัฐออริกอน | ภาพถ่ายโดย MELISSA FARLOW, NAT GEO IMAGE COLLECTION

การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของวัฏจักรดวงจันทร์ที่มีต่อสุขภาพมนุษย์นั้นไม่ได้เป็นเพียงความอยากรู้ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น เพราะนอกจากงานวิจัยมีโอกาสที่จะนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายของมนุษย์แล้ว มันยังอาจนำไปสู่แนวทางในการฝึกซ้อมที่ดีขึ้นสำหรับนักกีฬาซึ่งการนอนมีผลต่อประสิทธิภาพของร่างกาย และแนวทางการรักษาใหม่ ๆ สำหรับภาวะต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการนอนหลับโดยตรง เช่น โรคไบโพลาร์

“ในหลาย ๆ กรณี ผมคิดว่าเราสามารถใช้ประโยชน์จากความรู้ในเรื่องผลกระทบของวัฏจักรดวงจันทร์มีต่อการนอนหลับ เพื่อป้องกันอาการบางอย่างของโรคที่ขึ้นอยู่กับปริมาณการนอนได้ครับ” เด ลา อิเกลเซียกล่าว

หลังแนวคิดเกี่ยวกับอิทธิพลของวัฏจักรดวงจันทร์ที่มีต่อมนุษย์ถูกเพิกเฉยไปหลายสิบปี ในที่สุดผลการวิจัยใหม่ ๆ เหล่านี้ก็ได้ผลักดันให้นักวิทยาศาสตร์มุ่งมั่นที่จะหาคำตอบว่ามนุษย์มีความสามารถในการรับรู้ความเปลี่ยนแปลงรอบตัวที่เกิดจากดวงจันทร์หรือไม่ และหากพวกเขาทำสำเร็จ เราจะรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้อย่างไร

“ผมรู้ว่าในขณะนี้มีนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ กำลังทำการศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับแนวคิดที่ว่า มนุษย์สามารถรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดจากดวงจันทร์ได้อยู่ครับ” แวร์กล่าว

 เรื่อง คาตารีนา ซิมเมอร์

ภาพ อลิซ ซู

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม โลกยุคใหม่ทำคนเครียดง่าย และมันทำร้ายเรากว่าที่คิด

Recommend