ผลการศึกษาพบ มัมมี่อียิปต์โบราณที่ได้รับฉายาว่า “หญิงที่กรีดร้อง” อาจเสียชีวิตด้วยความเจ็บปวดขั้นรุนแรง จนทำให้กล้ามเนื้อแข็งตัวและไม่สามารถปิดปากได้จนถึงปัจจุบัน ตามการชันสูตรศพแบบเสมือนจริงในงานวิจัยใหม่
เมื่อกล่าวถึงมัมมี่ของชาวอียิปต์โบราณ เรามักจะคุ้นเคยกับร่างที่อยู่ในท่าทางสงบราวกับดูเหมือนว่าพวกเขาหลับใหลไปชั่วนิรันดร์ แต่มีร่างหนึ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบต้องประหลาดใจในครั้งแรกที่เจอ ซึ่งสร้างการถกเถียงมาโดยตลอดจวบจนปัจจุบัน นั่นคือร่างของมัมมี่ที่คล้ายกับเป็นหญิงสาวที่กำลังกรีดร้อง
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1935 คณะสำรวจโบราณคดีของพิพิธภัณฑ์เมโทรโพลิแห่งนิวยอร์ก ซึ่งกำลังทำงานอยู่ในบริเวณใกล้กับเมืองลักซอร์ของอียิปต์ พวกเขาได้พบกับมัมมี่ลึกลับในขณะที่กำลังขุดค้นสถานที่ฝังศพของ ‘เซนมุธ’ (Senmut) สถาปนิกชื่อดังและผู้ดูแลงานของราชวงศ์ฟาโรห์แฮตเชปซุต (Hatchepsut) ซึ่งเป็นฟาโรห์สตรีผู้มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของอียิปต์โบราณ ทรงปกครองบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองเป็นระยะเวลายาวนานกว่าฟาโรห์หญิงองค์อื่นใดในประวัติศาสตร์
มัมมี่ร่างดังกล่าวถูกระบุว่าเป็นผู้หญิงที่มีผมสีดำ ถูกฝังเมื่อราว 3,500 ปีที่แล้ว มีแหวนรูปแมลงปีกแข็งสองวงสวมอยู่ และมีใบหน้าที่ทำท่าทางราวกับ ‘กรีดร้อง’ อยู่จนทำให้ได้รับฉายาว่า ‘หญิงที่กรีดร้อง’ และไม่เพียงเท่านั้น จากการค้นพบยังเห็น ร่างของเธอยังคงมีอวัยวะภายในอยู่ทั้งหมด
สิ่งที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่ผิดปกติ เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว การทำมัมมี่ของชาวอียิปต์โบราณมักจะนำอวัยวะภายในออกเกือบทั้งหมดเหลือไว้เพียงแค่หัวใจเท่านั้น เรื่องราวดังกล่าวเป็นปริศนามานานเกือบ 90 ปีหลังจากการค้นพบ นักวิทยาศาสตร์ทีมหนึ่งก็เชื่อว่าพวกเขารู้สาเหตุของร่างดังกล่าวแล้ว
“การทำมัมมี่ในอียิปต์โบราณยังคงเต็มไปด้วยความลับมากมาย” ดร. ซาฮาร์ ซาลีม (Sahar Saleem)นักรังสีวิทยาจากมหาวิทยาลัยไคโร และผู้เขียนการศึกษา กล่าว “เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจสำหรับฉัน เพราะวิธีการทำมัมมี่แบบคลาสสิกในอาณาจักรใหม่ (ประมาณ 1550 ถึง 1070 ปีก่อนคริสตกาล) มีการเอาอวัยวะออกทั้งหมด ยกเว้นหัวใจ”
ผลจากการตรวจสอบ
ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร Frontiers in Medicine ระบุว่า ดร. ซาลีมและเพื่อนร่วมงานได้ร่วมกันชันสูตรศพโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เช่นการสแกนซีที กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน และการสแกนด้วยรังสีเอ็ก วิธีดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องผ่าร่างจริง ๆ ของมัมมี่
แต่สามารถศึกษาทางอ้อมได้อย่างง่าย ๆ หรือกล่าวอีกนัยว่าเป็นการชันสูตรศพแบบเสมือนจริง เพื่อระบุข้อมูลต่าง ๆ ของร่างให้ได้มากที่สุดไม่ว่าจะเป็น อายุของผู้เสียชีวิต พยาธิสภาพ และสภาพของมัมมี่อื่น ๆ ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า สตรีร่างนี้มีความสูงราว 155 เซนติเมตร เสียชีวิตเมื่อายุประมาณ 48 ปี พร้อมกับมีโรคข้ออักเสบอยู่ด้วยเล็กน้อย ที่น่าประหลาดใจก็คือมัมมี่ยังคงมีสมอง กระบังลม หัวใจ ปอด ตับ ม้าม ไต และลำไส้อยู่ครบถ้วน โดยไม่มีรอยแผลใด ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการเอาอวัยวะภายในออก ซึ่งหมายความว่าผู้ทำศพมัมมี่อาจ ‘ตั้งใจ’ ให้อวัยวะยังคงอยู่
ไม่เพียงเท่านั้น ร่างนี้ถูกทำมัมมี่ด้วยวัสดุหายากและมีราคาแพง ผิวหนังถูกทำด้วยจูนิเปอร์ (Juniper พืชชนิดหนึ่ง) และกำยาน ขณะที่ผมธรรมชาติของเธอถูกย้อมด้วยจูนิเปอร์และเฮนน่า โดยมีวิกผมที่ถักจากเส้นในอินทผลัมพร้อมเคลือบด้วยควอตซ์ แมกนีไทต์ และผลึกอัลไบต์ โดยเฉพาะกับจูนิเปอร์ที่น่าจะถูกนำเข้ามาจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก และกำยานก็นำเข้ามาจากแอฟริกาตะวันออกหรืออาหรับตอนใต้
“ที่นี่เราแสดงให้เห็นว่าเธอถูกทำมัมมี่ด้วยวัสดุทำมัมมี่นำเข้าราคาแพง ซึ่งสิ่งนี้และรูปลักษณ์ของเธอที่เก็บรักษาไว้อย่างดีนั้น ขัดแย้งกับความเชื่อแบบดั้งเดิมที่คิดกันว่าการไม่นำอวัยวะภายในของเธออกนั้นบ่งบอกว่าเป็นการทำมัมมี่ที่ไม่ดี” ดร. ซาลีม กล่าว
ความเจ็บปวดขั้นสุด
แต่คำถามยังคงอยู่นั่นคือ “ปากที่อ้าปากค้าง” ทีมวิจัยเชื่อว่าอาจเป็นเพราะความเจ็บปวดที่รุนแรงมากจนกล้ามเนื้อถูกล็อกไว้ ในสถานการณ์ปกติ ช่างทำมัมมี่จะพันขากรรไกรไว้เพื่อไม่ให้ปากเปิดและอยู่ในรูปร่างที่ปิดสนิท ดังนั้นที่ปากถูกอ้าค้างไว้ แสดงว่าช่างทำไม่สามารถปิดได้
“เราเสนอว่าสาเหตุที่ทำให้ปากของเธอเปิดออกนั้นอาจเกิดจากการเสียชีวิตอย่างเจ็บปวด หรือความตึงเครียดทางอารมณ์ซึ่งทำให้เกิดอาการเกร็งของศพที่ทำให้ใบหน้าของเธอแข็งทื่อในช่วงเวลาที่เสียชีวิต” ดร. ซาลีม ระบุ “ผู้ทำมัมมี่ไม่สามารถปิดปากได้ ทำให้ปากของเธอยังคงเปิดอยู่แม้จะเสียชีวิตไปแล้ว”
วารสารทางการแพทย์ได้ระบุถึงอากาศดังกล่าวไว้ในปี 2017 ว่าเกิดจากกล้ามเนื้อที่ใช้งานหนักก่อนเสียชีวิตเกิด ‘อาการตึงเครียดในทันที’ ทำให้อวัยวะส่วนนั้น ‘แข็งทื่อ’ ซึ่งพบได้ค่อนข้างยากมาก อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์บางคนมองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากอาการดังกล่าวมักจะหายไปเองหลังจากเสียชีวิตใน 18 ถึง 36 ชั่วโมง
แต่ทางทีมวิจัยก็ได้โต้แย้งว่าการทำมัมมี่ซึ่งเป็นการเก็บรักษาร่างกาย ‘ในขณะนั้น’ ไม่สามารถบังคับให้ปากปิดได้ ทำให้ผู้ทำต้องแช่แข็งร่างกายทั้งแบบนั้นเลย ด้วยเหตุนี้แม้ว่าอาการดังกล่าวจะหายไปภายหลัง แต่การทำมัมมี่ขัดขวางไม่ให้กล้ามเนื้อกลับไปเป็นปกติ
“การแสดงสีหน้ากรีดร้องของมัมมี่ในการศึกษานี้สามารถตีความได้ว่าเป็นอาการกระตุกของศพ ซึ่งบ่งบอกว่าผู้หญิงคนนี้เสียชีวิตด้วยความเจ็บปวดหรือความทรมานจนกรีดร้อง” ดร. ซาลีม กล่าว
ส่วนสาเหตุนั้นยังไม่ชัดเจนว่าเสียชีวิตเพราะอะไร รายงานดังกล่าวยังคงมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ดร. ซาลีม ได้สรุปเอาไว้ว่าการค้นพบนี้ยังคงมีคุณค่ามหาศาลสำหรับวิทยาศาสตร์
“(ร่างนี้)เป็นแคปซูลเวลาที่ทำให้เราได้รู้ว่าเธอใช้ชีวิตอย่างไร เธอต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคอะไร และเป็นบันทึกการตายของเธอที่อาจเจ็บปวด การศึกษาลักษณะนี้ทำให้มัมมี่ดูเป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้น และทำให้เราสามารถมองเห็นเธอได้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้”
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ภาพ : Sahar Saleem/ Frontiers
ที่มา
www.frontiersin.org
www.livescience.com
www.smithsonianmag.com
https://www.abc.net.au
www.npr.org
อ่านเพิ่มเติม : งานวิจัยเผย ใบหน้าคนเปลี่ยนให้เข้ากับชื่อได้ เมื่ออายุมากขึ้นจนเป็นผู้ใหญ่!