ก้อนหินแท่นบูชาของ ‘สโตนเฮนจ์’ มาจากไหน? นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าพวกเขาไขคำตอบได้แล้ว หินเหล่านี้เดินมาไกลหลายร้อยกิโลเมตรจากที่ที่มันเคยอยู่และอาจถูกขนส่งผ่านมาทางทะเล
หลังจากค้นหามานานกว่าศตวรรษ ในที่สุดเราก็ได้เข้าใกล้แหล่งที่มาของหินแท่นบูชาซึ่งตั้งอยู่ใจกลางสโตนเฮนจ์แล้ว นักวิจัย บอกว่า อายุและองค์ประกอบทางเคมีของแร่ธาตุที่ประกอบเป็นบล็อกหินทรายนี้ พวกมันเคยอยู่ในพื้นที่ของสก็อตแลนด์ ซึ่งอยู่ห่างจาก สโตนเฮนจ์ ประมาณ 750 กิโลเมตรตามการรายงานในวารสาร Nature
“มันน่าทึ่งมาก” ซูซาน เกรนีย์ (Susan Greaney) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ในอังกฤษ ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย บอกว่า “เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก” ที่ทีมสามารถระบุตำแหน่งทางตะวันออกเฉียงเหนือสุดของสก็อตแลนด์ได้ ซึ่งอาจเป็นของหมู่เกาะออร์กนีย์ สถานที่ที่เหมือนจะดูเป็นจุดศูนย์กลางของวัฒนธรรมและกิจกรรมของยุคหินใหม่
ขณะเดียวกัน สโตนเฮนจ์ ที่ตั้งอยู่ที่ราบซอลส์บรีทางตอนใต้ของอังกฤษก็เริ่มก่อสร้างเมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อนในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน “สิ่งนี้เน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างสองพื้นที่ที่จนถึงขณะนี้ยังคงเป็นเพียงสมมติฐาน”
คำถามว่าทำไมและอย่างไร ที่มนุษย์ในสมัยโบราณจึงสร้างวงหินนี้ขึ้นมา ประเด็นนี้ทำให้บรรดานักวิจัยต่างงุนงงมาอย่างยาวนาน รวมถึงความชัดเจนเรื่องแหล่งที่มาของหินด้วย โดยงานวิจัยล่าสุดซึ่งได้ติดตามหินทรายที่ประกอบกันเป็นวงแหวนด้านนอก อันเป็นสัญลักษณ์ของ สโตนเฮนจ์ ไปจนถึงทางเหนือ 25 กิโลเมตรของที่ราบซอลส์เบอรี
ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าหินสีน้ำเงินของอนุสรณ์สถาน เป็นหินที่ไม่ได้มาจากท้องถิ่น แต่กลับกันมีความเชื่อมโยงกับเวลส์ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1920 เนื่องจากทีมวิจัยได้ติดตามหินบางส่วนเหล่านี้ไปจนพบว่ามันมาจากแหล่งหินที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเวลส์ ซึ่งอยู่ห่างจาก สโตนเฮนจ์ ไปประมาณ 225 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม ริชาร์ด เบวินส์ (Richard Bevins) นักวิทยาศาสตร์ด้านธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยเอเบอร์อิสวิท ในเวลส์ และหนึ่งผู้เขียนรายงานกล่าว กล่าวว่า หินที่เชื่อว่าเป็นแท่นบูชานั้นยังคงมีปริศนาอยู่รายล้อม ซึ่งตำแหน่งการวางของมันทำให้ชวนนึกถึงแท่นที่ไว้สักการะบูชา จึงเป็นที่มาของชื่อนี้ แม้ว่าจะมีความพยายามหาแหล่งที่มาของมันตั้งแต่ช่วงปี 1870 และ 1880 ก็ตาม
“หินนี้แตกต่างจากหินสีน้ำเงินในแง่ของทั้งน้ำหนัก ขนาด ประเภทของหิน และตำแหน่งในอนุสรณ์สถาน” เขา กล่าว
การหาแหล่งที่มาของมัน
เบวินส์ และเพื่อนร่วมงานของเขาได้พยายามค้นหาแหล่งที่มาของหินแท่นบูชานี้มาเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว โดยการเปรียบเทียบองค์ประกอบทางเคมีของหินกับหินทั่วเวลส์ และพื้นที่ต่าง ๆ ของอังกฤษ ทีมวิจัยได้ตัดแหล่งที่มาที่อาจเป็นไปได้ทั้งหมดออกไปหลายสิบแห่ง และแล้วพวกเขาก็พบกับสถานที่ที่ตรงกันในที่สุด
“มันน่าทึ่งมาก” เบวินส์ บอก “คุณต้องหยิกตัวเองบ้างเป็นครั้งคราว”
ในครั้งนี้เบวินส์ได้ร่วมมือกับ แอนโธนี คลาร์ก (Anthony Clarke) นักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาธรณีวิทยา จากมหาวิทยาลัยเคิอร์ทินในเมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย เพื่อยืมเทคนิคทางธรณีวิทยามาใช้ โดยพวกเขานำชิ้นส่วนที่แยกออกมาจากแท่นบุชาในปี 1844 มาเพื่อตรวจยืนยันว่าตรงกับองค์ประกอบทางเคมีของหินเหล่านั้น พร้อมกับระบุอายุของแร่ธาตต่าง ๆ ที่เกาะติดกันจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของหิน
พวกเขานำผลลัพธ์ที่ได้จากหินแท่นบูชาเหล่านี้มาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่บันทึกไว้สำหรับหินที่โผล่ขึ้นพ้นผิวดินทั่วบริเตนใหญ่ และไอร์แลนด์
“พื้นที่เดียวที่จับคู่ได้ตรงกันก็คือ บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสก็อตแลนด์” นิค เพียร์ซ (Nick Pearce) นักธรณีวิทยาและนักธรณีเคมีจากมหาวิทยาลัยเอเบอร์อิสวิท ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนรายงาน กล่าว “ลายนิ้วมือเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะมาก ผมไมคิดว่าจะมีที่อื่นใดที่ตรงกันอีกแล้ว”
หินมาจากบริเวณที่เรียกว่าแอ่งออร์คาเดียน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่หลายพันตารางกิโลเมตร และบางพื้นที่ก็มีความหนาประมาณ 8 กิโลเมตร ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าหินมาจาก ‘จุดใด’ กันแน่ แต่พวกเขามั่นใจว่ามาจากพื้นที่แห่งนี้
ทางบกหรือทางทะเล?
มันยังคงเป็นปริศนาสำหรับนักวิทยาศาสตร์ว่ามนุษย์ยุคหินใหม่จะสามารถขนก้อนหินที่หนักกว่า 6 ตัน ยาวเกือบ 5 เมตรข้ามระยะทางอันกว้างใหญ่นี้ได้อย่างไร บางคนตั้งสมมติฐานว่าธารน้ำแข็งอาจพัดพาหินของอนุสรณ์สถานนี้ไป แต่บางคนก็ไม่เห็นด้วย
“ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่หินทรายขนาดดังกล่าวจะถูกเคลื่อนย้ายจากสก็อตแลนด์ตอนเหนือไปยัง สโตนเฮนจ์ ด้วยน้ำแข็ง” เดวิด แนช (David Nash) นักธรณีสัณฐานวิทยา จากมหาวิทยาลัยไบรตันในอังกฤษ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัย กล่าว แม้ว่าธารน้ำแข็งจะมีศักยภาพในการลากหิน ‘บางส่วน’ ไปได้ก็ตาม
บางทีช่างก่อสร้างในสมัยโบราณอาจขนย้ายหินแท่นบูชาข้ามทางแผ่นดิน ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นไปได้เช่นกัน เนื่องจากสก็อตแลนด์เป็น “ภูเขาสูงอย่างไม่น่าเชื่อ” และอังกฤษก็มีป่าไม้หนาแน่นในสมัยนั้น เกรนีย์ กล่าว
ทีมวิจัยจึงเสนอว่าแทนที่จะเป็นวิธีที่กล่าวมาข้างต้น ผุ้คนในสมัยโบราณอาจขนย้ายหินแท่นบูชาทางทะเล โดยพวกเขาอาจเดินเรือไปตามแนวชายฝั่ง จากนั้นก็เดินทางเข้าสู่แผ่นดินทางแม่น้ำ ก่อนจะขนหินมาในที่ปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม จิม ลีรี (Jim Leary) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยยอร์กในอังกฤษ ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้กล่าวว่า ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าหินแท่นบุชาได้เคลื่อนผ่านเมื่อใด และมาถึงสโตนเฮนจ์เมื่อไหร่ แต่มีหลักฐานว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้คนได้ขนย้ายสิ่งของหนักอื่น ๆ ทางทะเล ซึ่งรวมถึงวัวด้วย และพวกเขาก็มีเรือเดินทะเลสำหรับเดินทางระหว่างเกาะ
ลีรี กล่าวว่าหินก้อนนี้ต้องมีความมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้คนในยุคหินใหม่ได้เคลื่อนย้ายหินก้อนนี้ไปไกลมาก ไม่เพียงเท่านั้น เขายังกล่าวว่าหินขนาดใหญ่ก้อนนี้อาจเคยถูกใช้ในวงหินหรืออนุสรณ์สถานอื่น ๆ ตลอดเส้นทาง
“คุณคงนึกออกว่าหินก้อนนี้อาจมีเส้นทางที่อ้อมยาวมากเป็นเวลากว่า 100 ปี ก่อนจะมาสิ้นสุดที่สโตนเฮนจ์” เขากล่าว
เกรนีย์ ระบุว่าการเดินทางไกลของหินแท่นบูชานั้นเน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือหมู่เกาะอังกฤษ นักโบราณคดีได้ติดตามความเชื่อมโยงระหว่างสถานที่ต่าง ๆ ในสก็อตแลนด์ เวลส์ อังกฤษ และไอร์แลนด์ในยุคหินใหม่ผ่านความคล้ายคลึงกันด้านเครื่องมือ เครื่องปั้นดินเผา และอนุสรณ์สถาน หลักฐานชี้ไปให้เห็นว่าบริเวณเหล่านั้นมีชุมชนที่แตกต่างกันมารวมตัวกันอย่างคับคั่ง
ดูเหมือนว่าผู้คนจะเดินทางไปมาระหว่างสถานที่เหล่านี้ โดยมีแนวคิดและพิธีกรรมติดตัวไปด้วย ซึ่งหมายความว่าพวกเขาน่าจะมีความเชื่อทางศาสนาเหมือนกัน และมีความคล้ายคลึงกันในภาษา รวมถึงวิธีการจัดระเบียบสังคมของพวกเขา
เกรนีย์ เสริมว่า แม้แต่ตำแหน่งของหินแท่นบูชาที่อยู่ตรงกลางสโตนเฮนจ์ ก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับความเชื่อมโยงเหล่านี้ “มันเป็นหินที่แปลกประหลาดก้อนหนึ่ง และมันแบนราบตรงกลางพอดี และส่วนที่เหลือของอนุสรณ์สถานก็ถูกจัดวางอยู่รอบ ๆ”
ความเชื่อมโยงเหล่านี้ “ต้องมีความสำคัญมากสำหรับผู้สร้างสโตนเฮนจ์ ไม่เช่นนั้นพวกเขาคงไม่วางมันไว้ตำแหน่งที่โดดเด่นเช่นนี้”
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ภาพ : Reuben Wu, Nat Geo Image Collection
ที่มา