เครื่องหมายคำถามยักษ์ในอวกาศถู กจ้องมองอีกครั้งผ่านกล้ องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ทั้งนี้แม้ไม่มีอะไรน่าแปลกใจสำหรั บนักดาราศาสตร์ แต่เป็นภาพที่ถูกนำมาตีความ พร้อมๆกับเป็นความสวยงามสำหรับเราทุ กคนราวกับจักรวาลกำลังใส่ ‘หูแมว’ ให้มนุษย์โลกดู
เมื่อประมาณ 7 พันล้านปีก่อนกาแล็กซีขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่งได้เคลื่อนตัวมาอยู่รอบ ๆ กันกลายเป็นกระจุกกาแล็กซีที่มีชื่อว่า MACS-J0417.5-1154 มันได้บิดกาลอวกาศรอบ ๆ ตัวมันทำให้เกิดผลกระทบที่เรียกว่า ‘Gravitational lensing’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ เลนส์ความโน้มถ่วง
ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้แสงของดาราจักรจำนวนหนึ่งที่อยู่ด้านหลังของมันยืดขยายออกจนทำให้เราสามารถมองเห็นมันได้ถึง 5 ครั้งในจุดเดียว และนั่นเป็นสิ่งที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (JWST) ได้พบมันเป็นครั้งแรกบนท้องฟ้าโดยบังเอิญเมื่อปีที่แล้ว
‘เครื่องหมายคำถาม’ ที่เห็นก็ทำให้ผู้คนทั่วโลกต่างส่งต่อรูปภาพดังกล่าวบนโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็ว บางคนถึงกับพูดติดตลกว่า ‘นั่นอาจเป็นสัญญาณอะไรบางอย่างที่มนุษย์ต่างดาวกำลังส่งให้เราก็ได้’ แม้แต่ทีมงานเองก็ยังประหลาดใจ
“เราทุกคนเห็นเครื่องหมายคำถามทันที” วิเซนเต เอสตราดา-คาร์เพนเตอร์ (Vicente Estrada-Carpenter) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซนต์แมรี่ในวาสโกเชีย ซึ่งเป็นผู้นำในการศึกษากาแล็กซีคู่นี้ กล่าว “มันเป็นภาพที่สวยงามมาก”
แต่เพื่อศึกษามันให้ดียิ่งขึ้น นักวิทยาศาสตร์จึงได้ตรวจสอบเพิ่มเติมและเผยแพร่ในวารสาร Monthly Notices of the Royal Astronomical Society ด้วยเจมส์ เวบบ์ อีกครั้งซึ่งสวยงามและน่าหลงใหล อย่างไรก็ตามมันได้เน้นย้ำว่าจักรวาลยังคงมีสิ่งรูปร่างแปลก ๆ อยู่เสมอ
ข้อมูลระบุว่าส่วนโค้งของเครื่องหมายคำถามเกิดจากกาแล็กซีกลุ่มหนึ่ง โดยกาแล็กซีสีแดงถูกยืดออกกลายเป็นเส้นยาวของเครื่องหมาย หากสังเกตอย่างละเอียดเราจะเป็นได้ว่าตัวกาแล็กซีเองปรากฏอยู่ในเส้นโค้ง 3 จุดด้วยกัน พร้อมกับกาแล็กซีสีม่วงที่เกาะติดอยู่ด้านหลังราวกับ ‘หูแมว’ สองจุดบนเส้นโค้ง
ต่อมาเป็นกาแล็กซีก้นหอยสีขาวที่เปล่งแสงออกมาอย่างแสบตาอยู่ด้านข้าง และท้ายที่สุดคือกาแล็กซีซึ่งบังเอิญอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องอย่างน่าเหลือเชื่อเมื่อมาจากมุมมองของ JWST ก่อเกิดเป็น ‘จุดด้านล่าง’ ที่มองแล้วเหมือนจุดใต้เครื่องหมายคำถาม
“เรารู้จักปรากฏการณ์เลนส์ความโน้มถ่วงที่คล้ายกันนี้เพียง 3 หรือ 4 ครั้งเท่านั้นในจักรวาลที่สังเกตได้ ทำให้การค้นพบนี้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะมันแสดงให้เห็นถึงพลังของเวบบ์ และอาจบ่งชี้ว่าตอนนี้เราจะพบปรากฏการณ์เหล่านี้มากขึ้น” กิลเลียม เดสเปรซ (Guillaume Desprez) นักดาราศาสตร์หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการสังเเกตบริเวณดังกล่าวด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลของนาซา (NASA) เอง แต่ก็ไม่สามารถสังเกต ‘เส้นโค้ง’ ของเครื่องหมายคำถามได้เนื่องจากปรากฏการณ์ดังกล่าวอยู่ไกลมาก ซึ่งแสงที่เดินทางมาถึงโลกจะอยู่ในช่วงอินฟราเรดเท่านั้น ทำให้นักดาราศาสตร์ไม่เห็น ‘เครื่องหมายคำถาม’ ในตอนแรก
แต่ด้วยความสามารถที่ถูกออกแบบมาเพื่อมองเห็นอินฟราเรดโดยเฉพาะของเจมส์ เวบบ์ มนุยษ์โลกจึงได้เห็นสิ่งที่น่าทึ่งนี้ โดยกาแล็กซีที่อยู่ด้านหลัง MACS-J0417.5-1154 นั้นอยู่ห่างออกไปจากโลกถึง 7 พันล้านปีแสง
“อย่างไรก็ตาม รูปร่างของกาแล็กซีทั้งสองดูเหมือนจะไม่แตกต่างกันมากนัก ดังนั้นเราอาจกำลังเห็นจุดเริ่มต้นของปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน” เอสตราดา-คาร์เพนเตอร์ กล่าว
หรือกล่าวอีกนัยว่าเรากำลังมองเห็นกาแล็กซีที่อยู่ห่างไกลมากำลังมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในช่วงเริ่มต้น ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มองเห็นมองเห็นกระบวนการ ‘วิวัฒนาการ’ ของดาราจักร ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อที่จะเข้าใจจักรวาลที่มองเห็นได้นี้ให้มากขึ้น รวมถึงกาแล็กซีที่เป็นบ้านของเราอย่างทางช้างเผือกด้วยเช่นกัน
“กาแล็กซีเหล่านี้ซึ่งมองเห็นเมื่อหลายพันล้านปีก่อนในช่วงที่มีการก่อตัวของดาวฤกษ์สูงสุด มีมวลใกล้เคียงกับกาแล็กซีทางช้างเผือกในช่วงเวลานั้น เวบบ์ กำลังทำให้เราศึกษาว่าช่วงวัยรุ่นของกาแล็กซีของเราเองจะเป็นอย่างไร” มาร์ชิน ซาวิชกี (Marcin Sawicki) หนึ่งในทีมสังเกตการณ์ กล่าว
“จักรวาลอันห่างไกลนั้นมีความลึกลับมากสำหรับเรา และเป็นเรื่องสนุกเมื่อจักรวาลเองก็หลอกเราด้วยเครื่องหมายคำถามเกี่ยวกับตัวจักรวาลเอง” ไฮดี แฮมเมล (Heidi Hammel) รองประธานฝ่ายวิทยาศาสตร์แห่งสมาคมมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยดาราศาสตร์ เสริม
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ภาพ NASA
ที่มา
https://www.washingtonpost.com
อ่านเพิ่มเติม : นักวิทยาศาสตร์ สร้าง ‘นาฬิกานิวเคลียร์’ ต้นแบบใหม่ปฏิวัติการวัดเวลา