ออสเตรเลียทำ ‘ไวรัสอันตราย’ ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงมากหลุดหลายร้อยขวด ถือเป็นหนึ่งเหตุการณ์ละเมิดระเบียบความปลอดภัยทางชีวภาพครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และการที่ตัวอย่างไวรัสสูญหายนี้อาจสร้างผลกระทบร้ายแรงได้หรือไม่?
เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายทิม นิโคลส์ (Tim Nicholls) รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่า ตัวอย่างไวรัสที่มีชีวิตจำนวน 323 ตัวอย่างรวมถึงไวรัสอันตรายอย่าง ‘เฮนดรา’, ‘ลิสซาไวรัส’ และ ‘ฮันตาไวรัส’ ได้หายไปจากห้องปฏิบัติการทางชีวภาพตั้งแต่ปี 2021
อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าว ทั่วโลกเพิ่งจะรับรู้เกี่ยวกับการหายไปนี้ครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2023 จากนั้นเมื่อระบุย้อนหลังไปยังครั้งแรกสุดเมื่อ 3 ปีที่แล้วนับจากปัจจุบัน รัฐบาลออสเตรเลียจึงเชื่อว่าเหตุที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจากการละเมิดโปรโตคอลด้านความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างร้ายแรง
ในตอนแรกขวดเหล่านี้ถูกเก็บไว้ในห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาสาธารณสุขควีนส์แลนด์ซึ่งมีแผนว่ากำลังจะย้ายไปยังพื้นที่อื่น แต่อย่างไรก็ตามขวดเหล่านั้นกลับหายไปอย่างไม่ทราบสาเหตุและเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในหลายด้านโดยเฉพาะด้านอาวุธชีวภาพ
กระนั้นทางนายนิโคลส์ยังคงเชื่อว่าไวรัสเหล่านี้ไม่ได้โดยขโมยไปหรือใช้เป็นอาวุธเนื่องจากต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและมีความซับซ้อนสูงมาก
ไวรัสเหล่านี้คืออะไร?
รายงานข่าวระบุว่า จากการตรวจสอบไวรัสที่สูญหาย พบว่าเกือบ 100 ขวดเป็นไวรัสเฮนดรา (Hendra virus) ซึ่งถือเป็นไวรัสร้ายแรงอย่างมาก โดยไวรัสชนิดนี้ได้รับการค้นพบครั้งแรกในช่วงกลางทศวรรษ 1990 หลักจากที่ทำให้ม้าหลายตัวติดเชื้อและเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่ประเทศออสเตรเลีย และมีมนุษย์เพียงไม่กี่คนที่ติดเชื้อนี้จากม้า ทว่าผู้ที่ติดเชื้อเหล่านั้นมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก
“ไวรัสเฮนดรามีอัตราการเสียชีวิตในมนุษย์อยู่ที่ 57% และส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้ติดเชื้อ รวมถึงม้าในพื้นที่ที่ไวรัสระบาด” ไรน่า เพลาวไรท์ (Raina Plowright) ศาสตราจารย์จากภาควิชาสาธารณสุขและระบบนิเวศของวิทยาลัยสัตว์แพทย์ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ กล่าว
นอกจากนี้ รายงานยังบอกว่า มีฮันตาไวรัส (Hantavirus) อีก 2 ขวดที่สูญหาย ซึ่งเป็นไวรัสที่เป็นพาหะของหนูและสามารถทำให้เกิดโรคปอดจากฮันตาไวรัสได้ (HPS) โดยมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 38% ส่วนที่เหลืออีกกว่า 223 ขวดเป็นตัวอย่างของลิสซาไวรัส (Lyssavirus) ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อคล้ายพิษสุนัขบ้าและมีอัตราการเสียชีวิตสูงมากเช่นกัน
“ไวรัสเหล่านี้เป็นไวรัสร้ายแรงที่มีต้นกำเนิดจากสัตว์ซึ่งสามารถฆ่าคนได้เมื่อติดเชื้อ” เอียน โจนส์ (Ian Jones) ศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยเรดดิ้งในสหราชอาณาจักร กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อโดยทั่วไปจะต้องมีการปนเปื้อนจากมือสู่ปาก และไวรัสจะต้องไม่กระจายออก ดังนั้นความเสี่ยงจึงจำกัดอยู่แค่การสัมผัสโดยตรงเท่านั้น
เรื่องนี้เป็นข่าวครึกโครมทั่วโลก และทางห้องปฏิบัติการยังไม่สามารถสรุปได้ว่าไวรัสเหล่านี้หายไป ถูกทำลาย หรือถูกลบออกจากฐานข้อมูลในที่เก็บที่ปลอดภัยหรือไม่ แต่ดูเหมือนว่าหลักฐานที่มีพอจะอธิบายได้ว่ามันไมได้ถูกขโมยไป แต่น่าจะเป็นการไม่ได้นับหลังจากแช่ในตู้แช่แข็งของห้องปฏิบัติการณ์
“ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่บ่งชี้ว่าไวรัสเหล่านี้ถูกนำออกจากห้องปฏิบัติการณ์ และเราไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่บ่งชี้ว่าไวรัสเฮนดราจะถูกนำไปใช้เป็นอาวุธในห้องปฏิบัติการวิจัยใด ๆ” นายนิโคลส์ กล่าว “วัตถุเหล่านี้ได้รับการถ่ายโอนไปยังตู้แช่แข็งที่ใช้งานได้ แต่ไม่มีการกรอกเอกสารที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นวัตถุเหล่านี้อาจสูญหายหรือไม่สามารถนับได้ด้วยเหตุผลอื่น ๆ”
รัฐมนตรีเน้นย้ำว่าไม่มีความเสี่ยง
การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้โลกเรียนรู้ถึงอันตรายและความเสี่ยงจากการระบาดของไวรัสชนิดใหม่ ๆ เหตุการณ์ดังกล่าวและเหตุการณ์ล่าสุดนี้ได้สร้างความกังวลให้กับคนจำนวนมาก เนื่องจากมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญอย่าง ดร.จอห์น เจอราร์ด (John Gerrard) หัวหน้าเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้กล่าวว่าแม้จะดูเป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรง แต่อีกด้านก็เชื่อว่าเกิดความเสี่ยงต่อชุมชนในระดับต่ำ
“ไม่มีการตรวจพบกรณีไวรัสเฮนดราหรือลิสซาไวรัสในมนุษย์ที่ควีนส์แลนด์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเลย และไม่มีรายงานการติดเชื้อฮันตาไวรัสในมนุษย์ที่ออสเตรเลียเลยเช่นกัน” เขากล่าว
เช่นเดียวกับทางนายนิโคลส์ ซึ่งเน้นย้ำว่า การสืบสวนถึงตัวอย่างไวรัสที่หายไปนี้เป็นหนึ่งในความสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ต้องจัดการอย่างเร่งด่วน และเป็นหนึ่งในข้อกังวลอย่างแน่นอน กระนั้นก็ยังเชื่อว่าไวรัสเหล่านี้จะไม่กลายเป็นอาวุธชีวภาพอย่างแน่นอน
“เราไม่มีหลักฐานว่ามีการนำไปใช้เป็นอาวุธในรูปแบบใด และกระบวนการนำไวรัสมาเป็นอาวุธนั้นซับซ้อนมากซึ่งไม่ใช่สิ่งที่มือสมัครเล่นจะทำได้” นายนิโคลส์ กล่าว
เช่นเดียวกับ แอนดรูว์ เพรสตัน (Andrew Preston) ศาสตราจารย์ด้านพยาธิวิทยาของจุลินทรีย์จากมหาวิทยาลัยบาธของสหราชอาณาจักร ที่เห็นด้วยกับ ดร.เจอราร์ด ที่มองว่าแทบไม่มีความเสี่ยงต่อสาธารณชน เนื่องจากไวรัสจะสลายตัวอย่างรวดเร็วหากไม่มีการเก็บอย่างเหมาะสม
“สิ่งสำคัญคือต้องทราบว่าตัวอย่างไวรัสจะสลายตัวอย่างรวดเร็วเมื่ออยู่ภายนอกตู้แช่แข็งที่มีอุณหภูมิต่ำซึ่งจะไม่สร้างการติดเชื้อ โดยไวรัสต้องอาศัยการดำรงชีวิตในสิ่งมีชีวิตเพื่อการอยู่รอด ทำให้ไวรัสส่วนใหญ่มีระยะเวลาการอยู่รอดในสิ่งแวดล้อมจำกัดมาก”
ดังนั้นหากต้องการสร้างและเก็บเชื้อไว้ในห้องทดลอง ไวรัสจะต้องเติบโตในเซลล์หรือเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิที่ต่ำมาก ซึ่งก็คือ -80 องศาเซลเซียส แต่ตู้แช่แข็งทั่วไปจะมีอุณหภูมิต่ำสุดที่ -20 องศาเซลเซียสเท่านั้น ไวรัสจึงไม่สามารถอยู่ในตู้เก็บทั่วไปได้ และจะสูญสลายพร้อมกับสูญเสียความสามารถในการแพร่เชื้อไปอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่วัน
“ตามทฤษฏีแล้ว หากใครสัมผัสกับสิ่งที่บรรจุอยู่ในขวด พวกเขาจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่ก็จะเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงเวลาทันทีหลังจากนำออกจากตู้แช่แข็งเท่านั้น” เพรสตัน กล่าว
รัฐมนตรีเน้นย้ำ จากนี้ไปจะมีการตรวจสอบอย่างละเอียดและเข้มงวด รวมถึงปรับปรุงระเบียบมาตรฐานความปลอดภัยด้านชีวภาพเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดซ้ำขึ้นอีก
“การสืบสวนจะทำให้มั่นใจว่าไม่มีการละเลยใด ๆ ในการตอบสนองต่อเหตุการณ์นี้ และตรวจสอบนโยบายพร้อมกับขั้นตอนปัจจุบันที่ดำเนินการอยู่ในห้องปฏิบัติการณ์ปัจจุบัน” นายนิโคลส์ กล่าว
สืบค้นและเรียบเรียง : วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://interestingengineering.com