ผลวิจัยชี้ ปลาทะเลจดจำใบหน้ามนุษย์ได้ และสามารถแยกความแตกต่างของนักนำด้ำด้วยสีเสื้อ

ผลวิจัยชี้ ปลาทะเลจดจำใบหน้ามนุษย์ได้ และสามารถแยกความแตกต่างของนักนำด้ำด้วยสีเสื้อ

“เมื่อนึกถึงสัตว์ที่ ‘ฉลาด’ ปลามักถูกมองข้ามไปเสมอ

แต่งานวิจัยใหม่เผยว่าพวกมันมีความสามารถที่ไม่น่าเชื่อซ่อนอยู่”

เป็นเวลาหลายปีแล้วที่นักวิทยาศาสตร์ได้ดำน้ำลงไปศึกษาบริเวณสถานีวิจัยในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนต้องประสบกับปัญหา นั่นก็คือ ในบางช่วงเวลาของฤดูกาล ปลาท้องถิ่นจะตามพวกเขาไปเสมอและขโมยอาหารที่ตั้งใจไว้ให้เป็นรางวัลในการทดลองราวกับพวกมันรู้ว่ามนุษย์คนมีอาหารมาด้วยเสมอ

พฤติกรรมนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาใจ ‘ปลาจำนักดำน้ำคนที่พกอาหารติดตัว’ ได้จริง ๆ หรือ? โดยพวกมันเลือกที่จะตามนักดำน้ำเฉพาะคนเท่านั้นไม่ใช่การตามทุกคน เพื่อค้นหาความจริง ทีมวิจัยจากสถาบันมักซ์พลังค์เพื่อพฤติกรรมสัตว์ (MPI-AB) ในเยอรมนีจึงทำการทดลองหนึ่งชุดซึ่งให้ผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจ

การทดลองนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบคำถามที่ไม่เคยมีใครถามมาก่อนเกี่ยวกับปลาในธรรมชาติ หรือก็คือ พวกมันสามารถแยกแยะคนออกจากกันได้หรือไม่ และทีมวิจัยก็ได้รายงานคำตอบไว้ในการศึกษาที่เพิ่งเผยแพร่บนวารสาร Biology Letters “แต่ไม่มีใครเคยถามเลยว่าปลาในธรรมชาติมีความสามารถหรือมีแรงจูงใจที่จะจดจำเราหรือไม่ เมื่อเราเข้าไปในโลกใต้น้ำของพวกมัน” มาเอลาน โทมาเซ็ก (Maëlan Tomasek) นักศึกษาปริญญาเอกจาก MPI-AB หนึ่งในทีมวิจัย กล่าว 

งานวิจัยนี้ดำเนินในบริเวณสถานีวิจัยในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ระดับความลึก 8 เมตร โดยมีผู้เข้าร่วมคือปลาตามธรรมชาติที่คุ้นเคยกับมนุษย์ ตามที่ คาทินกา โซลเลอร์ (Katinka Soller) หนึ่งในทีมวิจัยเรียก ปลาเหล่านี้คือ “อาสาสมัครที่เต็มใจที่จะมาและออก(จากการทดลองได้)ตามต้องการ

ขั้นตอนแรกคือการฝึก (หรืออบรบอาสาสมัคร) ในการทดสอบว่าปลาสามารถเรียนรู้ที่จะติดตามนักดำน้ำที่แตกต่างกันได้หรือไม่ ปลาจะต้องถูกฝึกให้รู้วิธีการต่าง ๆ ก่อน โซลเลอร์เริ่มต้นด้วยการพยายามดึงดูดความสนใจของปลาท้องถิ่นด้วยการสวมเสื้อกั๊กสีแดงสด และให้อาหารปลาในขณะที่ว่ายน้ำไปเป็นระยะทาง 50 เมตร 

จนปลาแสดงออกถึงสัญญาณที่ชัดเจนว่าพวกมันเรียนรู้แล้ว ‘มนุษย์เสื้อแดงคนนี้มีอาหาร’ ต่อมาโซลเลอร์จึงเปลี่ยนเป็นสวมชุดดำน้ำธรรมดาและซ่อนอาหารเอาไว้ให้ จากนั้นให้อาหารปลาตัวที่ ‘ติดตามเธอไปจนครบ 50 เมตรเท่านั้น’ 

ผลลัพธ์นั้นน่าประหลาดใจ จากปลาหลายสิบสายพันธุ์ที่อาสาสมัครเข้ามา มีปลาสองสายพันธุ์ในวงศ์ปลาจาน (seabream) ที่เข้าร่วมเซสชันการฝึกอบรบ อยู่ในการทดลอง และทำภารกิจจนจบราวกับพวกมันมีความอยากรู้อยากเห็นและเต็มใจที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่มนุษย์คนนี้กำลังทำ

“เมื่อฉันลงไปในน้ำ ก็ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีที่พวกมันว่ายน้ำมาหาเลย และดูเหมือนว่าจะโผล่มาจากไหนก็ไม่รู้” โซลเลอร์ กล่าว ไม่เพียงแต่ปลาสองสายพันธุ์นี้จะเรียนรู้ที่จะติดตามนักวิจัยเท่านั้น แต่ยังมี ‘ปลาตัวเดิม ๆ’ ที่โผล่มาทุกวันเพื่อเข้าร่วมคลาสเสมอ “ซึ่งก็คือเบอร์นีตัวที่มีเกล็ดเงินวาว ๆ สองอันที่หลัง และอัลฟี่ที่ครีบหางฉีก” 

หลังจากฝึกเป็นเวลา 12 วัน ปลาประมาณ 20 ตัวก็ตามโซลเลอร์ไปเรื่อย ๆ ในการทดสอบนี้ โซลเลอร์เองก็สามารถจำปลาได้หลายตัวจากลักษณะทางกายภาพ เมื่อทีมวิจัยระบุปลาแต่ละตัวได้ที่เข้าร่วมการทดลองอย่างขยันขันแข็งได้ เวทีการทดสอบขั้นต่อไปก็พร้อมแล้ว

การทดสอบกับนักดำน้ำ 2 คน

ครั้งนี้นักวิทยาศาสตร์สร้างความท้าทายมากกว่าเดิมให้กับอาสาสมัคร โซลเลอร์ร่วมมือกับโทมาเซ็กโดยทั้งสองสวมใส่อุปกรณ์ดำน้ำที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในส่วนสีสันของชุดซึ่งทั้งคู่จะเริ่มต้นในจุดเดียวกันจากนั้นจึงว่ายน้ำไปคนละทิศทาง 

ในวันแรก ปลาจะว่ายตามนักดำน้ำทั้งสองคนในปริมาณเท่า ๆ กัน “คุณจะเห็นได้ว่าพวกมันลังเลในการตัดสินใจว่าจะติดตามใครดี” โซลเลอร์กล่าว 

แต่โทมาเซ็กนั้นไม่เคยให้อาหารปลาที่ตามเขา ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 2 เป็นต้นไป จำนวนปลาที่ติตตามโซลเลอร์ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเพื่อยืนยันว่าปลากำลังเรียนรู้ที่จะจดจำนักดำน้ำที่ถูกต้อง พวกเขาจึงมุ่งเน้นไปที่ปลา 6 ตัวจากกลุ่มใหญ่เพื่อศึกษาทีละตัว

จาก 6 ตัว มี 4 ตัวที่แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘Learning Curve’ เชิงบวกอย่างชัดเจนตลอดการทดลอง กล่าวคือไม่ว่าโซลเลอร์จะไปทางไหน พวกมันก็จำได้และรู้ว่าเฉพาะมนุษย์คนนี้เท่านั้นที่จะให้อาหารมัน

“นี่เป็นผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม เพราะมันแสดงให้เห็นว่าปลาไม่ได้แค่ตามโซลเลอร์ตามนิสัยหรือเพราะมีปลาตัวอื่นอยู่(เลียนแบบตัวอื่น)” โทมาเซ็ก กล่าว “พวกมันรับรู้ถึงนักดำน้ำทั้งสองคนในการทดสอบ แต่ละตัวก็เรียนรู้ได้ว่าโซลเลอร์จะให้รางวัลเมื่อสิ้นสุดการว่ายน้ำ” 

แต่เมื่อโซลเลอร์และโทมาเซ็กทำการทดลองซ้ำอีกครั้ง โดยคราวนี้พวกเขาสวมชุดดำน้ำแบบเดียวกัน ปลาก็ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างได้ สิ่งนี้คือหลักฐานชัดเจนว่าปลาได้เชื่อมโยงความแตกต่างของชุดดำน้ำกับนักดำน้ำแต่ละคน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นความโดดเด่นด้านสี 

“ปลาเกือบทั้งหมดมีการมองเห็นสี ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ปลาเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงนักดำน้ำที่ถูกต้องโดยอาศัยจุดสีบนร่างกาย” โทมาเซ็ก กล่าว 

มองเห็นซึ่งกันและกัน

สำหรับมนุษย์แล้ว เราก็ทำเช่นเดียวกับปลา เนื่องจากเราต้องสวมชุดดำน้ำที่ปกปิดหน้าตาทำให้ไม่สามารถแยกแยะผ่านการมองใบหน้าได้ เราจึงมักจะอาศัยความแตกต่างระหว่างชุดดำน้ำหรือลักษณะอื่น ๆ แทนในการจดจำกันและกันเมื่ออยู่ใต้น้ำ 

ทีมวิจัยเชื่อว่าหากเพิ่มเวลาการเรียนรู้เข้าไป ปลาอาจจะเรียนรู้ที่จะใส่ใจกับลักษณะที่ละเอียดอ่อนของมนุษย์มากกว่านี้เช่น เส้นผม หรือ มือ เพื่อแยกแยะนักดำน้ำ 

“เราสังเกตเห็นพวกมันเข้ามาใกล้ใบหน้าและตรวจดูร่างกายของเรา” โซลเลอร์ กล่าว “มันเหมือนกับว่าพวกมันกำลังศึกษาเรา ไม่ใช่เราศึกษาพวกมัน” 

พฤติกรรมนี้อาจมีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติมากกว่าที่คิด ปลาสามารถเรียนรู้ที่จะใช้สัญญาณเฉพาะเพื่อจดจำนักดำน้ำที่เป็นมนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว สิ่งนี้ก็อาจเกิดขึ้นเช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่นรวมถึงสัตว์เลี้ยงของเรา ที่สามารถจดจำรูปแบบเฉพาะเพื่อระบุตัวตนของเราได้ กลไกนี้เป็นรากฐานสำคัญในการตอบโต้พิเศษระหว่างบุคคลไปจนถึงข้ามสายพันธุ์

“อาจเป็นเรื่องแปลกที่มนุษย์จะมีความผูกพันสัตว์เช่นปลา ซึ่งอยู่ห่างไกลจากเรามากในแผนภูมิวิวัฒนาการ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์สามารถเอาชนะระยะห่างของวิวัฒนาการนับล้านปีได้ หากเราใส่ใจที่จะสังเกต ตอนนี้เรารู้แล้วว่าพวกมันมองเห็นเรา ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมองเห็นพวกมัน” โทมาเซ็ก กล่าว

สืบค้นและเรียบเรียงข้อมูล

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://royalsocietypublishing.org

https://www.discovermagazine.com

https://www.popsci.com

https://www.eurekalert.org


อ่านเพิ่มเติม : ”หมึกยักษ์” ทั้งชาญฉลาด และปรับตัวเก่ง

Recommend