เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศกับการแก้ปัญหาจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ

เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศกับการแก้ปัญหาจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ภาพประกอบ : PIRO4D from Pixabay

ปัจจุบัน การบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย ได้รับความสนใจจากหน่วยงานทุกภาคส่วนมากขึ้น เนื่องจากประชาชนในสังคมส่วนใหญ่เริ่มตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ทั้งเรื่องการจัดการปัญหาขยะ การแก้ไขปัญหาเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น

ในทุกการแก้ปัญหา ทุกหน่วยงานมักเริ่มต้นจากการสืบค้นข้อมูล เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาใช้ประกอบการตัดสินใจและวางแผนการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม หนึ่งในข้อมูลที่ถูกสืบค้นมากที่สุดคือ ข้อมูลภูมิสารสนเทศ ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้ข้อมูลเห็นถึงภาพรวมของสภาพพื้นที่ และสามารถนำไปวางแผนปฏิบัติงานได้จริง

จิสด้าเป็นหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในช่วงที่ผ่านมา จิสด้าสนับสนุนข้อมูลภูมิสารสนเทศในโครงการต่างๆ ดังนี้

1. เทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ เพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัดเพชรบุรี เป็นการขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำเพชรบุรี โดยการสำรวจสถานการณ์ปัญหาและความพร้อมของพื้นที่ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงวางแนวทางกำหนดอนาคตของอ่าวบางตะบูนกับประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

แผนที่บริเวณอ่าวบางตะบูน จังหวัดเพชรบุรี

ด้วยความเชี่ยวชาญเรื่องข้อมูล จิสด้าจึงได้จัดทำฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ของชุมชน แผนที่ชุมชนแบบมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกภาส่วน และนำผลที่ได้ไปปฏิบัติใช้งานจริง ก่อให้เกิดการประสานความร่วมมือเพื่อหามาตรการที่เหมาะสมสำหรับการแก้ปัญหาในพื้นที่ต่อไป

2. การใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อการติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคใบร่วงในพื้นที่ปลูกยางพาราเขตภาคใต้ตอนล่าง จิสด้าดำเนินงานร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย ใช้เทคโนโลยีเชิงพื้นที่และภาพถ่ายดาวเทียม ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคใบร่วงในสวนยางพาราเขตภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ พังงา กระบี่ ตรัง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 – กุมภาพันธ์ 2563 เนื่องจากพบว่าเคยเกิดโรคระบาดในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียมาแล้ว

โดยเกษตรกรแจ้งว่า ต้นยางเกิดอาการใบร่วงเกือบทั้งต้น ซึ่งสามารถสำรวจความเสียได้จากภาพถ่ายดาวเทีบม เนื่องจากช่วงเวลาที่สำรวจ ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ต้นยางพาราผลัดใบตามธรรมชาติ การนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเข้ามาช่วยจึงทำให้เห็นภาพรวมของพื้นที่ ขอบเขตการระบาดของโรค และสามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้สำหรับการวางแผนแก้ปัญหาต่อไป

แผนที่แสดงการติดตามโรคใบร่วงในสวนยางพารา

3. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน สหกรณ์นิคมท่าแซะ จังหวัดชุมพร จากปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ และการคาดการณ์ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และการจัดการฐานข้อมูลที่ไม่เป็นระบบ สหกรณ์ฯ จึงประสบปัญหาการบริการจัดการองค์กร สมาชิกกว่า 4,000 ราย มีการจัดเก็บข้อมูลสมาชิกและพิกัดรายแปลงเพียงบางส่วน ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศจึงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำข้อมูลรายแปลงอย่างเป็นระบบ ผู้ใช้ข้อมูลสามารถจัดทำรายงานได้อย่างรวดเร็ว และลดระยะเวลาการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อเสนอต่อผู้บริหารได้ง่ายขึ้น

4. เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศสู่การประเมินความเครียดและความเสียหายของมะม่วงน้ำดอกไม้จากการขาดน้ำ เพื่อการบริหารจัดการน้ำภาคเกษตรในพื้นที่อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี

มะม่วงน้ำดอกไม้เป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกที่สำคัญของอำเภอหนองวัวซอ สร้างรายได้เฉลี่ยปีละ 100 ล้านบาท ซึ่งปัญหาภัยแล้งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตมะมะม่วงน้ำดอกไม้

จิสด้าจึงร่วมดำเนินงานร่วมกับหลายฝ่าย เพื่อเป็นต้นแบบแนวทางในการนำข้อมูลเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ที่เป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์เชิงประจกษ์ สำหรับวางแผนบริหารจัดการในฤดูแล้งของปีถัดไป และที่สำคัญคือการสร้างความร่วมมือกับจังหวัดอุดรธานี และระดับพื้นที่อำเภอหนองวัวซอ ให้เกิดความเชื่อมโยงและสนับสนุนการแก้ปัญหาร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง ทั้งเรื่องการสนับสนุนข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อประเมินผลความเครียดของต้นไม้ การสำรวจแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่เกษตรกรรม และการประสานความร่วมกับส่วนราชการ กลุ่มหรือเครือข่ายเกษตรในพื้นที่

จากผลการดำเนินที่ผ่านมา เกษตรกรคาดหวังว่าจะได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ สำหรับการแจ้งเตือนภัยแล้งล่วงหน้า หรือโรคระบาดและแมลงศัตรูพืชต่อไป

นอกจากนี้ พื้นที่อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ยังใช้แนวทางเดียวกันนี้ในการประเมินความเครียดและความเสียหายของทุเรียนจากการขาดน้ำ เพื่อการบริหารจัดการน้ำภาคเกษตรในพื้นที่ การวางแผนป้องกันผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผลิตทุเรียน

5. การบูรณาการขับเคลื่อนกลไกเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ แนวทางการจัดการร่วมหลายฝ่าย ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ปัญหาส่วนใหญ่ของประชาชนในภาคเหนือคือเรื่องที่ดินทำกิน สิทธิการครอบครองที่ดิน ปัญหาการบุรุกพื้นที่ผ่า และหมอกวัน ปัญหาเหล่านี้มีความละเอียดอ่อนและมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป สิ่งหนึ่งที่เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาคือ การแก้ไขปัญหาตามแนวทางการจัดการร่วมหลายฝ่าย หรือ Co-Management

จิสด้าได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนแม่แจ่ม โดยการทำงานร่วมกับหลายฝ่าย ทั้งหน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย องค์กรไม่แสวงหากำไร รวมถึงประชาชนในพื้นที่ จิสด้าเข้ามามีบทบาทสนับสนุนองค์ความรู้เรื่องการเดินสำรวจพื้นที่ด้วย GPS เพื่อให้ชุมชนสามารถเดินสำรวจพื้นที่ของตัวเอง และนำมาจัดทำแผนที่ชุมชนและโฉนดชุมชน เพื่อให้มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ นำไปต่อรองเจรจาและรับความช่วยเหลือจากภาครัฐได้

6. การศึกษาแนวทางการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการตรวจวัดความชื้นในดิน เพื่อบริหารจัดการให้น้ำของไม้ผล กรณีศึกษาจังหวัดนครนายก เนื่องจากพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งตั้งแต่ปี 2562 จิสด้าจึงนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาใช้ร่วมกับเครื่องมือตรวจวัดความชื้นดิน เพื่อชี้เป้า ติดตาม วิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นกับไม้ผล และส่งเสริมให้ชุมชนในท้องถิ่นเกิดความตระหนักและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

ข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดความชื้นในแปลงเกษตร ถูกนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อจัดทำข้อมูลแสดงความเตรียดของไม้ผล ซึ่งนำไปสู่การลดความเสียหาย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ได้

จากโครงการต่างๆ ของจิสด้าจะเห็นว่า เรื่องของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและดาวเทียมไม่ใช่เรื่องไกลตัวของเราอีกต่อไป เราสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาเป็นพื้นฐานในการวางแนวทางการแก้ปัญหาและตัดสินใจในชีวิตประจำวันได้ และข้อมูลเหล่านี้ยังเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่มีประสิทธภาพ น่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับในระดับสากล

เตรียมพบกับรายละเอียดและภาพถ่ายเกี่ยวกับทั้ง 6 โครงการ ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ National Geographic Thailand


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เที่ยวน่าน ตามรอยความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูผืนป่า

Recommend