วิทยาศาสตร์ว่าด้วยการ ตกหลุมรัก ต้อนรับวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก

วิทยาศาสตร์ว่าด้วยการ ตกหลุมรัก ต้อนรับวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก

อาการ ตกหลุมรัก เป็นหนึ่งในความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน เรื่องนี้มีคำอธิบายในแง่ของหลักวิทยาศาสตร์

วันวาเลนไทน์เป็นช่วงเวลาที่ใครๆ มักจะนึกถึงความรัก มนุษย์เราสามารถ ตกหลุมรัก ทุ่งสิ่งอย่างที่เราสามารถจินตนาการได้ ตั้งแต่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันไปจนถึงสิ่งไม่มีมีตัวตน ในขณะที่เรากำลังตกหลุมรัก สมองของเราตอบสนองต่อสิ่งเร้าแตกต่างกันออกไป แม้ว่ากลไกการเกิด “ความรัก” จะเกิดขึ้นที่สมอง แต่เกือบทุกกรณีก็มักจะส่งผลต่อจิตใจและอารมณ์ของเราเสมอ

เฮเลน ฟิเชอร์ นักมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ และผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับความรักหลายเล่ม รวมถึงเรื่อง ทำไมเรามีความรัก: ธรรมชาติและสารเคมีของความรักแบบโรแมนติค (Why We Love: The Nature and Chemistry of Romantic Love)

เธอกล่าวว่า การตกหลุมรักอะไรบางอย่างเกี่ยวข้องกับสมอง 3 ระบบที่แบ่งแยกกันชัดเจน

  1. ความใคร่ (แรงขับทางเพศ)

ฮอร์โมนเพศเป็นตัวขับเคลื่อนความใคร่ในมนุษย์และสัตว์ ทั้งฮอร์โมนเพศชาย (เทสโทสเตอโรน) ที่ผลิตโดยอัณฑะ และฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) ที่ผลิตโดยรังไข่ มีศูนย์การควบคุมอยู่ในสมองส่วนไฮโปทาลามัส จากการศึกษาทางวิวัฒนาการพบว่า เทสโทสเตอโรนไม่เพียงแต่เป็นแรงขับทางเพศในผู้ชายเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญในแรงขับทางเพศของผู้หญิงด้วย ฟิเชอร์กล่าวและเสริมว่า “ฮอร์โมนเพศทำให้คุณอยากออกไปค้นหาทุกสิ่งอย่าง รวมถึงพฤติกรรมหาคู่ผสมพันธุ์ของมนุษย์และสัตว์”

(แล้วทำไมเราต้องอยากจูบคนที่เรารักด้วย?)

  1. ความหลงใหล (การหลงรัก)

งานวิจัยหลายชิ้นรายงานว่า เมื่อมนุษย์อยู่ในอาการ “ตกหลุมรัก” เรามักจะหลงลืมอะไรหลายๆ อย่างในชีวิต พวกเขาอาจจะมีความสุขจนลืมกินอาหารในบางมื้อ หรือบางครั้งก็เศร้าจนนอนไม่หลับ และใช้เวลานึกฝันถึงคนรักได้หลายๆ ชั่วโมง

การทำงานของสมองเรื่องความหลงใหลเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทกลุ่มหนึ่งที่ชื่อว่า “โมโนเอมีน” ได้แก่

โดปามีน (Dopamine) สารแห่งความสุขและความพึงพอใจที่หลั่งออกมาเมื่อร่างกายเราได้รับสิ่งที่เราปรารถนา นอกจากนี้ โดปามีนยังถูกกระตุ้นด้วยสารเสพติดอย่างโคเคน และนิโคตินในบุหรี่

อีพิเนฟริน (Epinehrine) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ อะดรีนาลีน คุณคงเคยมีอาการเขินอายจนหน้าแดง และหัวใจเต้นแรงเมื่อคุณได้พบกับใครสักคนที่คุณหมายตา นั่นเป็นเพราะคุณถูกกระตุ้นจากฮอร์โมนชนิดนี้

เซโรโทนิน (Serotonin) หนึ่งในสารชีวเคมีที่สำคัญต่อกลไลการตกหลุมรัก ที่ส่งผลต่ออารมณ์และการแสดงออกของเรา ในขณะที่สมองหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนิน เราสามารถแสดงพฤติกรรมบางอย่างออกมาแบบไม่รู้ตัว ในขณะที่เรารู้สึกรักใครสักคน

(แล้วทำไมตอนเสียใจเพราะอกหักถึงต้องน้ำตาไหล!)

ตกหลุมรัก
คู่รักในนครรีโอเดจาเนโร ปี 2015 ภาพถ่ายโดย David Alan Harvey
  1. ความผูกพัน (ความสัมพันธ์ระยะยาว)

ความผูกพันมักจะเกิดขึ้นเมื่อเราประสบความสำเร็จจากขั้นตอนการหลงรัก ถ้าทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะคบกันในระยะยาว สมองของมนุษย์จะปรับเข้าสู่โหมดการสร้างความสัมพันธ์ เนื่องจากสมองไม่ต้องการถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนแห่งความหลงใหลตลอดไป เพื่อให้ทั้งคู่ปรารถนาจะอยู่ด้วยกันและพร้อมดูแลทารกที่จะเกิดมา สิ่งกระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์ระยะยาวเกิดจากฮอร์โมนสองชนิด ได้แก่

ออกซิโตซิน (Oxytocin) เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับระดับความลึกซึ้งในความสัมพันธ์ เช่น กิจกรรมทางเพศ การคลอด และการให้นมแก่ทารก เป็นต้น การศึกษาทางสังคมวิทยารายงานว่า ออกซิโตซินมีผลต่อระดับความลึกซึ้งในความสัมพันธ์ของคู่รัก กล่าวคือ คู่รักที่มีปฏิสัมพันธ์หรือทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ ฮอร์โมนชนิดนี้จะถูกหลั่งออกมาบ่อยครั้งกว่าคู่รักที่ไม่ค่อยได้ใช้เวลาร่วมกัน

วาโสเปรสซิน (Vasopressin) จากการศึกษาในหนูทดลองพบว่า กลุ่มของหนูทดลองตัวผู้ที่ได้รับวาโสเปรสซินมีพฤติกรรมปกป้องตัวเมียและใช้เวลาอยู่กับตัวเมียมากกว่ากลุ่มตัวผู้ที่ไม่ได้รับฮอร์โมน ดังนั้น ฮอร์โมนชนิดนี้จึงมีบทบาทสำคัญต่อคู่รัก ส่งผลให้คู่รักปรารถนาจะใช้ชีวิตร่วมกัน

นอกจากฮอร์โมนที่กล่าวมาแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้คนเราตกหลุมรักคือ “ยีน” จากการศึกษาในเชิงวิวัฒนาการพบว่า เพศเมียมักจะเลือกเพศผู้ที่ดูแข็งแรงและสง่างาม เนื่องจากเป็นเครื่องแสดงออกถึงความแข็งแรงของยีนที่จะถ่ายทอดต่อไปยังรุ่นลูก และทำให้ทารกมีอัตราการรอดสูงกว่า

แม้ว่าวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ช่วยอธิบายกลไกพื้นฐานการเกิดความรักได้ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นเรื่องที่แปรผันไปตามบริบทของแต่ละคนและสังคม


อ่านเพิ่มเติม

ความรักของสัตว์เหล่านี้จะทำให้วาเลนไทน์ของคุณจืดไปเลย

 

Recommend