“สารเคมีในพลาสติกเชื่อมโยงกับการเสียชีวิต
ด้วยโรคหัวใจมากกว่า 350,000 ราย
และเป็นตัวการที่ทำให้เราอาจเสียชีวิตก่อนวัยอันควร”
สารเคมีตัวนี้มีชื่อว่า ‘พาทาเลต’ (phthalates) ซึ่งพบในบรรจุภัณฑ์อาหาร พลาสติก โลชั่น แชมพู เครื่องสำอาง น้ำหอม และของเล่นเด็ก อาจมีส่วนทำให้เกิดการเสียชีวิตจากโรคหัวใจจำนวนมากทั่วโลก โดยกว่าร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตกระจุกตัวอยู่ใน เอเชีย ตะวันออกกลาง และแปซิฟิก
“เป็นที่ทราบกันดีว่าพาทาเลตจะไปทำลายฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน” ดร.เลโอนาร์โด ทราซานเด (Leonardo Trasande) ผู้เขียนอาวุโส ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านกุมารศาสตร์และสุขภาพประชากรที่ โรงเรียนการแพทย์กรอสแมนของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าว “ฮอร์โมนเทสโทสเเทอโรนที่ต่ำในผู้ชายเป็นตัวทำนายโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ใหญ่ได้”
โดยรวมแล้วพาทาเลตนี้เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจทั่วโลกมากกว่า 350,000 รายเฉพาะในปี 2018 เช่นเดียวกับงานวิจัยก่อนหน้าที่พบว่าพาทาเลตเชื่อมโยงกับปัญหาสืบพันธุ์เช่น ความผิดปกติของอวัยวะเพศและอัณฑะไม่ลงถุงในเด็กผู้ชาย จำนวนอสุจิและระดับฮอร์โมนลดลง ไปจนถึงโรคหอบหืด โรคอ้วน และโรคมะเร็ง
“การศึกษาใหม่นี้เน้นย้ำถึงภาระด้านสุขภาพและเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นอย่างมหาศาลจากการสัมผัสกับพาทาเลต ซึ่งสอดคล้องกับความกังวลของความเสี่ยงที่มีอยู่” เดวิด แอนดรูว์ (David Andrews) รักษาการหัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ของ Environmental Working Group ซึ่งเป็นองค์กรผู้บริโภคที่ติดตามการสัมผัสกับพาทาเลตและสารเคมีอื่น ๆ ในพลาสติก กล่าว
พาทาเลตตัวร้าย
ก่อนหน้านี้พาทาเลต หรือ Di(2-ethylhexyl)phthalate ซึ่งย่อสั้น ๆ ว่า DEHP นั้นมักถูกเรียกว่าเป็น ‘สารเคมีทั่ว ๆ ไป’ เนื่องจากมันพบได้ทั่วไปโดยมักถูกเติมลงในทั้งผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคจำนวนมาก เช่น ท่อน้ำประปา ท่อพีวีซี พื้นไวนิล ผลิตภัณฑ์ที่ทนต่อน้ำฝนกับคราบสกปรก ท่อที่ใช้ในทางการแพทย์ สายยาง และของเล่นเด็ก เพื่อให้วัตถุดังกล่าวมีความยืดหยุ่นและแตกหักมากขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการเติมพาทาเลตลงในผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายเช่น แชมพู สบู่ สเปรย์ฉีดผม และเครื่องสำอางด้วยเช่นกันเพื่อให้มีกลิ่นหอมติดทนนาน ซึ่งมนุษย์สามารถรับพาทาเลตเข้าสู่ร่างกายได้เมื่อสูดอากาศที่ปนเปื้อนด้วยสารเคมี หรือรับประทานไม่ก็ดื่มอาหารที่สัมผัสกับวัตถุเหล่านั้น
เมื่อเข้าไปในร่างการแล้ว สารเหล่านี้จะสลายตัวเป็นสารเมตาบอไลต์ที่เป็นอันตรายหลายชนิด ได้แก่ MEHP, MEHHP, MEOHP และ MECPP สารประกอบเหล่านี้ส่งผลต่อระบบฮอร์โมน การเผาผลาญ และสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด
ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก พบว่าการได้รับ DEHP ส่งผลต่อการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ 13.497% ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 55–64 ปีในปี 2018
งานวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่บนวารสาร eBiomedicine ได้วิเคราะห์การเสียชีวิตทั่วโลกในกว่า 200 เขตปกครองทั้งประเทศและดินแดนโพ้นทะเล ผ่านข้อมูลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการสำรวจประชากรหลายสิบครั้ง รวมถึงตัวอย่างปัสสาวะที่มีการสลายตัวทางเคมีจากพาทาเลต
ทีมวิจัยพบว่าพาทาเลตทำให้เกิดการเสียชีวิตจากโรคหัวใจทั้งหมด 13 เปอร์เซ็นในผู้คนทั่วโลกที่มีอายุระหว่าง 55 ถึง 64 ปี หรือประมาณ 356,238 รายในปี 2018
แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ กว่าร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตดังกล่าวเกิดขึ้นในเอเชีย ตะวันออกกลาง และแปซิฟิก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศที่กำลังพัฒนามีปัญหามลพิษพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ
“เรามองว่าพลาสติกเป็นปัญหาในประเทศที่มีรายได้สูง แต่สิ่งที่เราเห็นในรูปแบบทางภูมิศาสตร์นั้นน่ากังวล” ทราซานเด กล่าว
ยังไงก็ตามทีมวิจัยเน้นย้ำว่า พาทาเลตอาจเป็นตัวกระตุ้นทำให้ความเสี่ยงอื่น ๆ รุนแรงขึ้นเช่นก่อนหน้านี้พบว่า พาทาเลต ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกายมากเกินไป หรือพาทาเลตอาจเชื่อมโยงกับภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้นเช่น โรคอ้วนหรือความดันโลหิตสูง
มันจึงนำไปสู่คำถามใหม่ว่า ไมโครพลาสติกขนาดเล็กเหล่านี้สามารถพาสารเคมีอย่างพาทาเลตไปได้ไกลแค่ไหนในร่างกายมนุษย์ “อาจเป็นแค่สารเคมีที่ถูกส่งลงไป หรืออาจเป็นไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกก็ได้ นั่นคือสิ่งที่สาขานี้จำเป็นต้องศึกษาในเชิงวิทยาศาสตร์” ทราซานเดกล่าว
แล้วเราจะทำอย่างไรได้บ้าง?
ในตอนนี้นักวทิยาศาสตร์ยังคงผลักดันให้มีการตรวจสอบสารเคมีในพลาสติกมากขึ้น ซึ่งพลาสติกจำนวนมากอาจต้องไปลงเอยในประเทศที่มีรายได้ต่ำ
“พวกเขาเป็นผู้รับขยะพลาสติกทั้งหมด” เทรซีย์ วูดรัฟ (Tracey Woodruff) ศาสตราจารย์ด้านสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา และสุขภาพสืบพันธุ์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาครั้งนี้ กล่าว “และพาทาเลตก็จะอยู่ที่นั่นด้วยเช่นกัน”
ดังวิธีที่เราสามารถป้องกันตัวเองได้ดีที่สุดคือการลดใช้พลาสติกให้ได้มากที่สุด ลดการรับประทานอาหารแปรรูปมากเกินไป อย่านำภาชนะพลาสติกเข้าไมโครเวฟหรือเครื่องล้างจาน เพราะความร้อนอาจทำให้เยื่อบุภาชนะเสียหายได้ ซึ่งจะทำให้สารเคมีถูกดูดซึมเข้าไปง่าย
ใช้โลชั่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และผงซักฟอกที่ไม่มีกลิ่น ใช้แก้วสแตนเลส เซรามิก หรือไม้ในการใส่และจัดเก็บอาหาร ซึ้อผลไม้และผักสดแทนผลิตภัณฑ์แช่แข็ง กระป๋อง หรือแบบแปรรูป พร้อมกับล้างมือให้บ่อยเพื่อขจัดสารเคมีออกจากมือ
“เราทราบอยู่แล้วว่าพาทาเลตเป็นสารเคมีที่เป็นพิษ” วูดรัฟ กล่าว เธอชี้ให้เห็นว่านักวิทยาศาสตร์และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมพยายามผลักดันให้ผู้กำหนดนโยบายเลิกใช้พาทาเลตในบรรจุภัณฑ์อาหารและพลาสติกอื่น ๆ มาโดยตลอด
“นี่แสดงให้เห็นว่าเหตุใดจึงถือเป็นความคิดที่ดี(ในการเลิกใช้พลาสติก)” วูดรัฟกล่าวเสริม
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.washingtonpost.com
อ่านเพิ่มเติม : นักวิทยาศาสตร์พบ ไมโครพลาสติกในหมากฝรั่ง