วิทยาศาสตร์น่ารู้: วัฏจักรน้ำ
วัฏจักรน้ำ (Water Cycle) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงสภาพการดำรงอยู่ของน้ำตามสภาพแวดล้อมที่แปรเปลี่ยน ทั้งในสิ่งมีชีวิต อากาศ ดิน และหิน จากระบบหนึ่งไปสู่ระบบหนึ่งหมุนเวียนเป็นวัฏจักร ประกอบด้วย
- การระเหย (evaporation)
เมื่อได้รับพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์น้ำในแหล่งน้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำ ทะเล มหาสมุทร รวมถึงการคายน้ำของพืช จะกลายเป็นไอน้ำลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ไอน้ำที่อยู่ในชั้นบรรยากาศเรียกว่า Atmospheric moisture
- การควบแน่น (condensation)
คือการรวมตัวของไอน้ำในชั้นบรรยากาศ และเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวในรูปของ “เมฆ” เมื่อได้รับความเย็น
- การเกิดฝนตก (precipitation)
เมื่อไอน้ำในบรรยากาศสะสมรวมตัวกันมากขึ้นจนถึง “จุดอิ่มตัว” จะเกิดการ “กลั่นตัว” และ”ควบแน่น” เป็นหยดน้ำตกลงสู่พื้นโลกในหลายรูปแบบ ได้แก่ น้ำฝน น้ำค้าง ลูกเห็บ และหิมะ
- การรวมตัวของน้ำ (collection)
หมายถึง การที่ปริมาณน้ำไหลรวมกันสู่แหล่งน้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำ ทะเล หรือมหาสมุทร และแหล่งอุปโภคและบริโภคของสิ่งมีชีวิต น้ำฝนที่ตกลงมาจากชั้นบรรยากาศ ส่วนมากจะไหลรวมกันเป็นแหล่งน้ำผิวดิน และไหลลงสู่แม่น้ำไปสิ้นสุดที่มหาสมุทร ซึ่งเรียกน้ำที่ไหลบนผิวดินนี้ว่า “น้ำท่า” แต่บางส่วนจะถูกกักเก็บไว้ในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ บ่อดิน เพื่อการอุปโภค-บริโภค บางส่วนจะถูกพืชดูดซึมไว้ในลำต้นเพื่อการเจริญเติบโต นอกจากนี้ น้ำฝนที่ตกลงสู่ผิวโลกบางส่วน จะซึมลงสู่พื้นดินกลายเป็นน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาล ก่อนไหลซึมผ่านชั้นดินและหิน แล้วไหลกลับลงสู่แม่น้ำ
ที่มา: หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน วิทยายาศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพ, 2560
อ่านเพิ่มเติม