หลักฐานชี้ แม่การะเกดมีตัวตนจริง
จากละครโทรทัศน์ที่ภรรยาและเพื่อนฝูงชักชวนให้ดู ได้จุดประกายข้อสันนิษฐานบางอย่างแก่ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งปัจจุบันประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยในเยอรมนีว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ตัวละครสมมุติอาจมีตัวตนอยู่จริง เมื่อหลักฐานใหม่จากเอกสารเก่าระบุถึงหญิงสาวที่มีความเฉลียวฉลาดและความสามารถเกินผู้คนในยุคสมัยเดียวกัน หากเป็นเช่นนั้นจริง รายงานการค้นพบนี้เตรียมตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสาร Scientific Reports ภายในปีนี้
“จุดเริ่มต้นมันมาจากการที่ภรรยาผมติดละครบุพเพสันนิวาสมากครับ” เอ็มมานูแอล เนย์บาร์ท ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ในเยอรมนี ผู้มีภรรยาชาวไทยกล่าว เนย์บาร์ทเล่าว่าหลังจากนั้นตัวเขาก็กลายเป็นแฟนละครด้วยเมื่อกลุ่มเพื่อนของเขาที่มีภรรยาชาวไทยเช่นกันพากันพูดถึงแต่ละครเรื่องนี้ “มันสนุกมากเลยครับ ในเยอรมันเราไม่มีรายการโทรทัศน์ที่บันเทิงแบบนี้”
เมื่อได้ชมละครบุพเพสันนิวาสในฐานะของนักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว เนย์บาร์ทนึกย้อนไปถึงเอกสารเก่าที่ตัวเขาเคยอ่านเมื่อหลายปีก่อนมันเป็นบันทึกเกี่ยวกับอาณาจักรอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดย บาทหลวง เดอ ลิยอน หนึ่งในสมาชิกของคณะราชทูตที่เดินทางกลับจากอยุธยามายังฝรั่งเศสพร้อมกับคณะทูตชาวไทยของโกษาปาน ภายในเอกสารดังกล่าวบันทึกรายละเอียด สภาพบ้านเมืองและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอยุธยาเอาไว้ ในช่วงเวลาที่คณะทูตฝรั่งเศสอาศัยอยู่ในอยุธยา เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ช่วงปี พ.ศ. 2223 – 2228 แต่ส่วนที่น่าประหลาดใจก็คือ ในบันทึกมีการระบุถึงหญิงสาวที่มีความเฉลียวฉลาดผิดกับผู้หญิงทั่วไปของอยุธยาในสมัยนั้น
เนย์บาร์ทตัดสินใจเดินทางกลับไปยังกรุงปารีส ในฝรั่งเศสบ้านเกิดเพื่อค้นหาเอกสารเก่าชิ้นนั้น ซึ่งถูกเก็บเอาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ (Bibliotheque Naionale) หลังการวิเคราะห์และถอดความลายมือของเอกสารหลายหน้าที่ยังไม่ได้รับการบูรณะอีกครั้ง เขาเริ่มตั้งข้อสันนิษฐานว่า หญิงสาวลึกลับที่ปรากฏในบันทึกเก่าแก่ดังกล่าว อาจเป็นหญิงสาวคนเดียวกันกับในละครที่เขาชมพร้อมกับภรรยา
“กากรงเป็นหญิงสาวโสด เธอฉลาดกว่าผู้หญิงอยุธยาทั่วไปและพูดจาด้วยภาษาที่ต่างจากคนอยุธยาพูด เธอเล่าถึงเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น และทำนายอนาคตราวกับคนบ้า…” เนย์บาร์ทอ่านบางช่วงบางตอนของบันทึกให้ฟัง “ยังมีอีกหลายช่วงของบันทึกที่เล่าว่าหญิงสาวประหลาดผู้นี้มีความรู้และวิทยาการมากกว่าคนทั่วไป เธอรู้จักการใช้สมุนไพรรักษาโรค มีความสามารถด้านภาษา ซึ่งมีส่วนช่วยเหลือคณะทูตอย่างมาก ไปจนถึงประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่ผู้คนสมัยนั้นทำไม่ได้” ดังนั้นเนย์บาร์ทจึงค่อนข้างเชื่อว่าหญิงสาวลึกลับในบันทึกของบาทหลวง เดอ ลิยอน ต้องไม่ใช่คนที่อยู่ในยุคสมัยนั้น เป็นไปได้ว่าเธออาจข้ามเวลามาจากอนาคต แต่จะด้วยวิธีใดหรือเดินทางกลับไปยังปัจจุบันได้อย่างไรยังคงเป็นปริศนา ส่วน “กากรง” ก็น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “การะเกด”
เรื่องนี้พ้องกับกรณีที่ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เคยพูดคุยกับลูกสาวของเอไลซา ซิดมอร์ ช่างภาพหญิงผู้พลิกโฉมหน้านิตยสารด้วยความสามารถในการถ่ายภาพจากหลากหลายสถานที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในญี่ปุ่น หรือบนเกาะชวา แอนเน่ ลูกสาวของเธอเล่าถึงประสบการณ์แปลกในช่วงทศวรรษ 1920 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แม่ของเธอเดินทางไปเก็บภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นมีสถานะเป็นหัวเมืองทางตอนเหนือของประเทศไทย
“แม่เล่าว่าระหว่างการเดินทางเธอพบกับหญิงประหลาดที่มีสำเนียงการพูดต่างจากคนเชียงใหม่” แอนเน่กล่าว “ที่แปลกก็คือพอเธอรู้ว่าแม่เป็นอเมริกัน เธอก็เล่าถึงเหตุการณ์เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในตอนนั้นแม่ยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร มันน่าขนลุกมากที่สิ่งที่เธอพูดเกิดขึ้นจริงในอีกร้อยปีต่อมา” แอนเน่เองเชื่อว่าหญิงลึกลับคนดังกล่าวน่าจะเดินทางมาจากอนาคตเช่นกัน แต่น่าเสียดายที่ซิดมอร์ไม่มีภาพถ่ายชัดๆ ของเธอเก็บเอาไว้ มีเพียงแค่ภาพถ่ายด้านหลัง จากระยะไกลเท่านั้น
ด้านเนย์บาร์ทพอได้ทราบข่าวนี้ ตัวเขาเองเชื่อว่าการเดินทางข้ามเวลาต้องไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เกิดกับใครสักคนแค่คนเดียว “มันเหมือนกับฟอสซิลเลยครับ พอเราพบชิ้นที่หนึ่งแล้ว ชิ้นที่สอง สาม สี่ก็จะตามมา” เขากล่าว อย่างไรก็ตามด้วยหลักฐานที่มียังไม่มากพอที่จะทำให้บรรดานักฟิสิกส์ปักใจเชื่อ เพราะหากมนุษย์สามารถย้อนเวลาได้จริง ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตาม การค้นพบใหม่นี้จะเปลี่ยนโฉมหน้าขององค์ความรู้ปัจจุบันที่เรามีเกี่ยวกับกาลเวลาและอวกาศไปโดยสิ้นเชิง
“ยังมีอะไรอีกมากให้ค้นคว้าครับนอกเหนือจากการะเกดแล้วในอนาคตผมมีแผนที่จะตามหาแม่มณีจันทร์ด้วย ถ้าการะเกดมีตัวตนอยู่จริง ผมเชื่อว่ามณีจันทร์ก็ต้องมีจริงเช่นกัน” เนย์บาร์ทกล่าวอย่างมุ่งมั่น เขาหมายถึงตัวละครจากนิยายชื่อดังเรื่อง “ทวิภพ” มณีจันทร์เป็นหญิงสาวที่ย้อนเวลากลับไปในสมัยรัชกาลที่ 5 “ในนิยายมณีจันทร์ย้อนเวลาผ่านกระจก ไม่แน่ว่ากระบวนการย้อนเวลาจริงๆ อาจง่ายหรือซับซ้อนกว่านั้นก็ได้ ต้องรอดูกันต่อไปครับ”
เรื่อง มิชิมาล โชตาห์
หมายเหตุ: บทความนี้จัดทำขึ้นเป็นพิเศษเนื่องในวัน April Fools’ Day หรือวันเมษาหน้าโง่ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายนของทุกปี
- เอ็มมานูแอล เนย์บาร์ท ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ไม่มีตัวตนอยู่จริง
- บาทหลวงเดอ ลิยอน มีตัวตนอยู่จริง โดยทำหน้าที่เป็นล่ามประจำคณะราชทูตของโกษาปานที่เดินทางไปยังฝรั่งเศส
- บันทึกของบาทหลวงเดอ ลิยอนที่ระบุถึงหญิงสาวจากต่างยุคต่างสมัยไม่ใช่เรื่องจริง
- เอไลซา ซิดมอร์ เป็นช่างภาพหญิงของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกจริง ส่วนแอนเน่ไม่มีตัวตนอยู่จริง
- ภาพถ่ายที่ถูกนำมาประกอบคือบรรยากาศของกาดหลวง ในเชียงใหม่ เมื่อร้อยปีก่อน จากสารคดี “จับเสือที่ป่าเมืองน่าน” ตีพิมพ์ในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1928
อ่านเพิ่มเติม