พลังของเยาวชนคือแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน

พลังของเยาวชนคือแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน

ถึงแม้ว่างาน Thailand Sustainability Expo 2020 หรือ TSX ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการกระตุ้นให้สังคมหันกลับมาใส่ใจ “เรื่องความยั่งยืน” อย่างจริงจังจะจบลงไปแล้วก็ตาม แต่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการขององค์การสหประชาชาติ ที่เรียกกันว่า “Sustainable Development Goals (SDGs)” เชื่อมโยงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกลไกสำคัญสำหรับการจัดงาน TSX จะยังคงเดินหน้าต่อไปตามแผนการพัฒนาครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี นับตั้งแต่เริ่มต้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 ไปสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2573

แน่ล่ะว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า กลุ่มก้อนที่จะเป็นแรงผลักดันและขับเคลื่อนที่สำคัญในบทบาทนี้ คือกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดและความตั้งใจจะเห็นเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พัฒนาไปสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม (จริง ๆ โดยจิตสำนึกแล้วก็ควรจะต้องเป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมนั่นแหละถึงจะเรียกว่ายั่งยืนได้เต็มปาก)

ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมสำคัญจากงาน TSX ที่เพิ่งผ่านไป National Geographic Thailand ได้มีโอกาสร่วมฟังเสวนาในหัวข้อ “บทบาทของเยาวชนต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่ TSX ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ชวน 4 ผู้แทนเยาวชนไทย นำโดย พริม-พริมา ภูพรชัย ผู้แทนเยาวชนไทยในการประชุม ECOSOC Youth Forum 2019 และผู้ก่อตั้งโครงการ Speaking Hub เพื่อส่งเสริมและสอนทักษะการพูดภาษาอังกฤษให้กับเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาผ่านแอพลิเคชั่น Google Meet,

กล้วยหอม-ชนัญชิดา มลิวัลย์ ผู้แทนเยาวชนไทยในการประชุม ECOSOC YOUTH FORUM 2020 และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Plastic Be More แพลตฟอร์มที่ชวนให้คนลุกขึ้นมาเปลี่ยนขยะพลาสติกจากผู้รายให้กลายเป็นฮีโร่

ร่วมด้วย นัศ-นัศรุดดีน ยามา ผู้แทนเยาวชนไทยในการประชุม ECOSOC Youth Forum 2020 และต้อง-กรวีร์ ทองอินที ผู้แทนเยาวชนไทยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 74 หรือ UNGA 74 มาเล่าถึงบทบาทของตนเองที่มีส่วนสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี คุณแคทรียา ปทุมรส ผู้อำนวยการกองกิจการเพื่อการพัฒนา กรมองค์การระหว่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินรายการบนเวทีในวันนั้น

และนี่คือเกร็ดน่าสนใจจากเวทีเสวนาเมื่อวันก่อนที่เราเก็บมาฝาก เชื่อเหลือเกินว่าคำตอบของพวกเขาเหล่านี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวบ่งชี้ให้เห็นถึงบทบาทของเยาวชนในยุคปัจจุบัน ที่นับว่าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมอย่างยั่งยืนภายใต้ SDGs ทั้ง 17 ประการ ต่อไปในอนาคต

พริม-พริมา ภูพรชัย ผู้แทนเยาวชนไทยในการประชุม ECOSOC Youth Forum 2019 และผู้ก่อตั้งโครงการ Speaking Hub
https://www.facebook.com/speakinghubofficial

“เวลาเราเห็นเป้าหมายของ SDGs เรามักจะคิดว่านั่นเป็นความรับผิดชอบขององค์กร ภาครัฐ หรือภาคี แต่เราในฐานะเยาวชนก็สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบเหล่านั้นได้ ซึ่งพริมให้ความสนใจกับ SDGs 4 (เป้าหมายที่ 4: การศึกษาที่เท่าเทียม) เพราะคิดว่าการศึกษานั้นสำคัญมากต่อการบรรลุ SDGs ในเป้าหมายอื่น ๆ ได้ พริมพบสถิติหนึ่งจากอาเซียนที่ทำให้ค่อนข้างตกใจ ในปีที่แล้วเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ไทยเป็นอันดับที่ 3 จากท้ายในด้านทักษะการพูดภาษาอังกฤษ หรือ English proficiency รวมถึง Critical thinking skill ที่อยู่อันดับที่ 2 จากท้าย”

“ตัวพริมเองโชคดีที่ได้มีโอกาสเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติมาตั้งแต่เด็ก จึงอยากแบ่งปันโอกาสสำหรับเด็ก ๆ ผ่านโครงการ Speaking Hub ที่ช่วยให้เด็กในระดับมัธยมศึกษา ปวช. และ ปวส. ได้พัฒนาทักษะการพูดภาษาอังกฤษ และคำศัพท์ Critical thinking ผ่านวีดีโอคอลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เราเริ่มต้นโครงการมาตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้ และเริ่มเปิดการเรียนการสอนมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน เราพยายามสร้างคอมมูนิตี้ด้านการศึกษาให้แก่ครูอาสาและน้อง ๆ เพื่อความเท่าเทียมกันทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด”

กล้วยหอม-ชนัญชิดา มลิวัลย์ นิสิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้แทนเยาวชนไทยในการประชุม ECOSOC YOUTH FORUM 2020 และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Plastic Be More https://www.facebook.com/PlasticBeMoreBySOSPlus/

“หนึ่งในสาเหตุหลักที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ก็คือพลาสติกที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน การที่เราสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกับการจัดการขยะ ทำให้เราทราบว่าจากศัตรูตัวร้ายของสิ่งแวดล้อม มันสามารถกลายเป็นฮีโร่ในสังคมได้ผ่านกระบวนการ Upcycling”

“Plastic Be More มากกว่าแค่พลาสติก นั้นเป็นเพจเล็ก ๆ ที่มีเป้าหมายในการสร้างความตระหนักรู้ถึงวิธีการจัดการกับขยะพลาสติกอย่างถูกวิธีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และส่งเสริมให้มีการจัดส่งขยะพลาสติกแบบแยกประเภทไปยังองค์กรที่จะนำขยะไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยไม่เกิดขยะแบบเดิมซ้ำอีก”

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา Plastic Be More ได้จัดกิจกรรม Let’s make your plastic be more ชวนทุกคนส่งขยะพลาสติกมาเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า อาทิ นำหลอดมาทำเป็นหมอน นำฝาขวดน้ำมาทำเป็นเก้าอี้ รวมไปถึงนำขวดน้ำพลาสติกมาทำจีวร สร้างบล็อกปูพื้นถนนจากวัสดุรีไซเคิล และนำขยะพลาสติกมาอัดใส่ขวดพลาสติกเพื่อทำเป็น Ecobricks สำหรับสร้างโรงเรียนให้เด็กด้อยโอกาส

“เรานำพลาสติกมากกว่า 4,038 ชิ้น รวบรวมและส่งไปยังองค์กรพัฒนาขยะพลาสติก เพื่อสร้างมูลค่าที่เป็นประโยชน์ เพราะปลายทางของขยะพลาสติกไม่ควรอยู่ในถังขยะหรือท้องทะเล แต่ควรไปอยู่ในองค์กรที่พัฒนาขยะพลาสติกให้มีคุณค่า”

นัศ-นัศรุดดีน ยามา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
และผู้แทนเยาวชนไทยในการประชุม ECOSOC Youth Forum 2020

“ผมเป็นนักศึกษาที่มีโอกาสได้ร่วมทำกิจกรรมในหลาย ๆ อย่าง ในเมื่อผมได้โอกาสทางการศึกษา หากผมสามารถทำอะไรได้ในการสร้างโอกาสคืนไปให้กับเด็กที่ขาดโอกาส ผมก็อยากเป็นกระบอกเสียงสำคัญหรือสร้างโอกาสเหล่านั้น จึงลงพื้นที่และทำกิจกรรมเพื่อเด็กมากมายที่ขาดโอกาสทางการศึกษาเพราะขาดทุนทรัพย์”

“ผมจึงจัดตั้งโครงการครูอาสาร่วมกับอาสาสมัครจากอเมริกา ซึ่งทำให้ผมได้รู้จักกับ Empower Young Generation มาช่วยกันสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเห็นความสำคัญของการศึกษา สมัครเข้าร่วมกลุ่ม American Corner YALA เพื่อขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชนบท สร้างกลุ่ม English Camp เพื่อแนะแนวทางในการศึกษากับเด็กชั้นมัธยมปลาย รวมถึงจัดกิจกรรมด้านภาษาให้กับเยาวชนที่สนใจด้านภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เมื่อเด็กเหล่านี้ต้องการเรียนรู้แต่ขาดโอกาส เราจึงหาจิตอาสาเข้าไปทำกิจกรรมและให้คำแนะนำกับเด็กๆ เหล่านี้”

“เป้าหมายของผมคือในปี 2020 คือการลงสำรวจพื้นที่เพื่อทำให้เด็กได้สิทธิ์ทางการศึกษา ในปี 2022 เราอยากให้หมดปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมและให้เด็กได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ในปี 2028 เด็กที่ได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมและมีคุณภาพสามารถเรียนจบแล้วได้งานทำที่ดี แล้วกลับมาต่อยอดให้เยาวชนรุ่นต่อไปในปี 2030 ซึ่งโครงการที่ผมจะทำจะเป็นการต่อยอดและยั่งยืน เพราะผมต้องการให้เด็กในทุกเจเนอเรชั่นมีความเท่าเทียมและได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ”

“เราทุกคนที่นั่งอยู่ตรงนี้เคยได้รับโอกาส โอกาสที่เราได้ใช้ยังมีอีกหลายคนยังรอโอกาสแบบเรา ฉะนั้นถ้าเราทำได้ จงเป็นโอกาสนั้นให้กับคนอื่นต่อไป”

ต้อง-กรวีร์ ทองอินที นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนเยาวชนไทยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 74 หรือ UNGA 74

“ผมเคยคิดว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องความสัมพันธ์หว่างประเทศที่เราเรียนนั้นมาแก้ไขปัญหาในสังคมได้ มันก็เลยเป็นแรงผลักดันให้ผมมาเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ที่เรียกว่าการประชุมระดับนานาชาติตั้งแต่เรียนปี 1 อย่างโครงการล่าสุดที่จุฬาฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สร้างเครือข่ายเยาวชนข้ามภูมิภาคมาหารือกันถึงปัญหาของภูมิภาคและของโลก”

“ผมเชื่อว่าเยาวชนสามารถเป็นขุมกำลังที่สร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ได้ เยาวชนมีคุณลักษณะพิเศษบางอย่างที่ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ในการสร้างความร่วมมือ จากโครงการต่าง ๆ ที่ผมเข้าร่วม สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกชอบก็คือ การเชื่อมโยงคนที่มีไอเดียและต้องการไอเดียเข้าด้วยกันได้”

“เยาวชนอยากมีบทบาท แต่ผมรู้สึกว่าความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่มีต่อเยาวชนในปัจจุบันค่อนข้างจะเป็นในเชิงสัญลักษณ์เสียมากกว่า เยาวชนไปอยู่ในโครงการต่าง ๆ มากมาย แต่ไม่ได้รับการนำไปต่อยอดอย่างเต็มที่เท่าที่ควร”

“โครงการที่ผมทำมันมีอิมแพ็คในสองมิติ คือเยาวชนต่อสังคม และเยาวชนกับเยาวชนด้วยกัน เยาวชนยุคใหม่มีความสนใจเรื่องความยั่งยืนน้อยหรือเปล่า? ผมรู้สึกว่าเครือข่ายเยาวชนที่ผมสร้างสามารถสื่อสารกับเยาวชนได้ดียิ่งขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น สามารถส่งต่อความคิด หรือสิ่งที่เรียกว่า Sustainability DNA ในตัวเยาวชนด้วยกันเองได้”

“เหมือนกับเรามีเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มที่พูดว่า รักเต่าไม่เอาหลอด ทุกวันนี้เราหยิบหลอดขึ้นมาใช้ วันใดวันหนึ่งเราก็อาจจะไม่ใช้หลอดในที่สุด ผมรู้สึกว่ามันคือการปลูกฝังเรื่อง SDGs โดยที่ไม่ต้องจัดงานนี้ขึ้นมา ไม่ต้องทำแผ่นผับ ไม่ต้องทำหนังสือ แต่ใช้การบอกต่อ ส่งต่อความคิดให้เยาวชนมีความรู้เรื่อง SDGs ในภายภาคหน้า”

“ผมอยากเน้นย้ำถึงความเชื่อมั่นในเยาวชน เหมือนที่ผมเคยได้กล่าวสุนทรพจน์ที่นิวยอร์กเมื่อปีก่อนว่า ทุกวันนี้เยาวชนพร้อมแล้วทั้งใจและความรู้ ที่จะผลักดันให้สังคมพัฒนามากขึ้น ได้โปรดนำเยาวชนเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจ รับฟังเสียงของเยาวชน ไม่ว่าจะประเด็นไหนก็ตาม ผมคิดว่า เราจะไม่ทำให้คนในประเทศหรือคนในโลกนี้ผิดหวังแน่นอน”

“SDGs ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่เราทำอยู่ในชีวิตประจำวัน เพียงแต่ต้องเพิ่มความตระหนักรู้ว่า SDGs 17 ข้อนั้นมีอะไรบ้าง เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของเราต่อไป” คุณแคทรียา ปทุมรส ผู้อำนวยการกองกิจการเพื่อการพัฒนา กรมองค์การระหว่างประเทศ

“อยากขจัดความยากจน ขจัดความหิวโหย SDGs ทั้งหมดต้องขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน One for all, All for one” คุณวนาลี โล่ห์เพชร รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ


 

Recommend