บริษัทไทยติดอันดับประเมินความยั่งยืนสูงสุดในโลก แสดงให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาความยั่งยืนของภาคธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จ
ตามความเข้าใจของคนทั่วไป สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการทำธุรกิจคือผลประกอบการ ซึ่งเกิดจากการพัฒนาขีดความสามารถทางธุรกิจ โดยใช้ปัจจัยและทรัพยากรต่างๆ ยิ่งเป็นบริษัทใหญ่ ยิ่งต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการดำเนินธุรกิจ
หากแต่ในโลกปัจจุบัน รวมไปถึงอนาคต การประสบความสำเร็จอาจไม่ได้หมายถึงผลกำไรเพียงอย่างเดียว หากแต่รวมไปถึงธุรกิจนั้นสามารถให้สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์กับสังคมอย่างไร และสามารถส่งเสริมความยั่งยืนให้เกิดขึ้นทั้งภายในบริษัทและสังคมภายนอกอย่างไร จึงทำให้เกิดแนวคิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งกำลังเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก เนื่องจากแนวคิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนนี้จะเป็นตัวชี้วัดความมั่นใจให้กับนักลงทุน สร้างมูลค่าเพิ่มเติมให้กับทั้งตัวบริษัทและสิ่งแวดล้อมของโลก
S&P Global องค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนเกี่ยวกับความยั่งยืน ซึ่งเป็นผู้จัดทำการประเมินความยั่งยืนดัชนี Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI อันเป็นดัชนีหลักทรัพย์ของบริษัทชั้นนำระดับโลกที่ผ่านการประเมินความยั่งยืน ตามตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ลงทุนสถาบันทั่วโลกให้การยอมรับและใช้เป็นข้อมูลในการลงทุน ได้เผยแพร่รายงานที่ชื่อว่า The Sustainability Yearbook 2021 ซึ่งเป็นการประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ โดยรายงานนี้ถือเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงด้านความยั่งยืนขององค์กรระดับโลกที่มีความน่าเชื่อถือสูง โดยปัจจัยการประเมินความยั่งยืนดังกล่าวได้แก่การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล
ในรายงานปี 2021 มี มีบริษัทเข้าร่วมการประเมินกว่า 7,000 แห่งทั่วโลก และมีเพียง 631 บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับในรายงานฉบับนี้ ผลการประเมินโดยหน่วยงานดังกล่าวมีการแบ่งระดับออกเป็น SAM gold class award คือบริษัทที่ได้คะแนนรวมตั้งแต่ 60 และอันดับสูงสุดร้อยละ 1 จากรายชื่อบริษัทที่เข้าร่วมประเมินทั้งหมด ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุด จากนั้นจะเป็นระดับ SAM silver class, SAM bronze class, และ Industry Mover ตามลำดับ
และนับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีบริษัทของประเทศไทยที่ติดอันดับ 1 ใน SAM gold class award อยู่ 11 บริษัท ซึ่งเป็นจำนวนมากที่กว่าประเทศอื่นในโลก รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา มี 9 บริษัท, ญี่ปุ่น 6 บริษัท และไต้หวัน 4 บริษัท ซึ่งการเป็นการแสดงให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาความยั่งยืนที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกของภาคธุรกิจไทย
โดย 11 บริษัทของไทยดังกล่าว ได้แก่
1. บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ (ThaiBev) – ESG SCORE 92
2. บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น – ESG SCORE 91
3. บมจ. ปูนซีเมนต์ไทย – ESG SCORE 90
4. บมจ. ไออาร์พีซี – ESG SCORE 89
5. บมจ. ไทยออยล์ – ESG SCORE 89
6. บมจ. ปตท. – ESG SCORE 87
7. บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม – ESG SCORE 87
8. บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล – ESG SCORE 87
9. บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป – ESG SCORE 85
10. บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ – ESG SCORE 85
11. บมจ. บ้านปู – ESG SCORE 75
ด้าน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับรางวัลความยั่งยืนสูงสุดในโลกระดับ Gold class ต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน จากบริษัท S&P Global ใน The Sustainability Yearbook 2021 มองว่า นี่เป็นความสำเร็จที่สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงานทางธุรกิจของไทยเบฟเพื่อบรรลุตามเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจรในภูมิภาคอาเซียนอย่างมั่นคงและยั่งยืน ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต
คุณโฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญและใส่ใจในการดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงเศรษฐกิจ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” พร้อมทั้งยึดถือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการขององค์การสหประชาชาติ มาปรับใช้เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
โดยในการดำเนินธุรกิจ ไทยเบฟได้คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำและชุมชน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบในระยะยาวต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ไทยเบฟจึงปรับกลยุทธ์ในการจัดซื้อจัดหา และการขยายเครือข่ายช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อสอดคล้องพฤติกรรมของผู้บริโภคยังคงให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น และยังคำนึงถึงบรรจุภัณฑ์ที่รักษาสิ่งแวดล้อม
โดยไทยเบฟได้จัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพและปลอดภัยใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต รวมถึงการบริหารบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการนำวัสดุหรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น กล่องกระดาษ ขวดแก้ว ที่ยังใช้ประโยชน์ได้กลับมาใช้ในกระบวนการผลิตอีกครั้ง และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุที่สามารถใช้ซ้ำหรือนำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมกันนี้ยังร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้บริโภค เพื่อบริหารจัดการและสร้างคุณค่าให้กับบรรจุภัณฑ์หลังจากบริโภคผ่านระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน”
นอกจากนี้ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (The Dow Jones Sustainability Indices-DJSI) โดยจัดลำดับให้เป็นสมาชิกของ DJSI Emerging Markets Index กลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่เป็นปีที่ 5 และประเภทกลุ่มดัชนีโลก (World Index) เป็นปีที่ 4 โดยล่าสุดได้รับการจัดอันดับ 1 Industry Leader ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
รางวัลนี้ถือเป็นการตอกย้ำความพร้อมถึงศักยภาพความเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจรในภูมิภาคอาเซียนอย่างมั่นคงและยั่งยืนที่มุ่งพัฒนาธุรกิจด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสิ่งที่ดีกว่าสำหรับผู้บริโภคควบคู่ไปกับการอนุรักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม สร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเชื่อมั่นว่า “การสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต” จะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างต่อเนื่อง