ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สถาบันการเงินแห่งแรกที่ผลักดันเรื่อง ESG อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการออกตราสารหนี้เพื่อสังคม
ทุกวันนี้เรายังหานิยามที่ดีที่สุดของ ‘ความยั่งยืน (Sustainability)’ ไม่ได้ แม้จะเป็นคำที่ถูกพูดถึงกันอย่างเอิกเกริกในทุกกลุ่มสังคมก็ตามที ธรรมชาติปลุกเราให้ตื่นขึ้นมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและโลกใบนี้ผ่านปรากฎการณ์และภัยพิบัติมากมายที่ตอกย้ำเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิถีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย การพัฒนาและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
นี่จึงเป็นหน้าที่ของผู้นำองค์กรทั้งหลาย ที่มาพร้อมบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดหมุดหมายของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล เราจึงเริ่มต้นออกเดินทางไปคุยกับผู้บริหารระดับสูงของทุกวงการที่เชื่อในการคืนกลับสมดุล (Rebalance) ให้กับโลก ด้วยการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ
เช่นนั้นแล้ว การพัฒนาองค์กรโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล หรือ ESG (Environment, Social and Governance) จึงเป็นแนวทางที่ชัดเจน และช่วยเปลี่ยนผ่านภาคธุรกิจสู่ก้าวใหม่ไปด้วยกัน
‘สถาบันการเงิน’ ถือเป็นต้นน้ำของแหล่งทุนที่ภาคเอกชนใช้ในการทำธุรกิจ จึงมีบทบาทสำคัญในการรับผิดชอบต่อความเป็นไปของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น จากทั้งการเติบโตขององค์กรตนเองและบรรดาลูกค้าผู้ขอสินเชื่อด้วย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จึงตั้ง ‘สายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน’ หรือ ‘สายงาน ESG’ ขึ้นในปี 2561 เพื่อสอดรับกับแนวคิดการธนาคารอย่างยั่งยืน (Sustainable Banking) ในวันที่น้อยคนจะรู้จักคำนี้ด้วยซ้ำไป
คุณพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน ESG นั่งคุยกับ NGThai ในมุมสบายๆ ที่ธนาคารกรุศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่ เพื่อบอกเล่าสิ่งที่ได้ทำตลอดหลายปีที่ผ่านมา และจะทำมากยิ่งขึ้นนับจากนี้
ตอนเริ่มต้นสร้างทีม ESG เป็นอย่างไร?
ทางธนาคารอยากจะโฟกัสเรื่อง ESG ให้มากขึ้น มันเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะมีหน่วยงานเฉพาะด้านนี้เพราะว่ามันเป็นอะไรที่ใหม่ ตอนนั้นกระแสของ ESG เริ่มมาแล้ว แต่ในประเทศไทยเรายังไม่เคยได้ยิน ปีแรกผมใช้เวลาเยอะมากในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจว่าเราทำอะไร ต้องบอกทั้งภายในและภายนอกธนาคาร
มันก็คือ CSR on Process สมัยก่อนที่เราพูดกัน การทำกิจกรรมหรือการประกอบธุรกิจโดยมีวัตถุประสงค์สองสามเรื่อง เรื่องแรกคือ เราทำธุรกิจต้องมีกำไร ต้องอยู่ได้ก่อน เรื่องที่สองคือ มิติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เราลดผลกระทบด้านลบในการทำกระบวนการทำธุรกิจและควรเพิ่มผลลัพธ์เชิงบวกทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย สิ่งที่ทำได้เลยคือ เราลดขยะ ลดการใช้ไฟ อีกเรื่องหนึ่งคือ เราเป็นตัวกลางทางการเงินที่สำคัญ เวลาเราปล่อยกู้ให้กับใคร เขาเอาเงินไปทำอะไรเราก็ต้องดูด้วย อันนี้แหละทำให้เกิดความแตกต่างที่สำคัญ มันสำคัญกว่าการมานั่งลดการใช้กระดาษ การใช้ไฟ การปล่อยน้ำเสียในธนาคารเสียอีก
ธนาคารสามารถจัดสรรทรัพยากรทางการเงินให้องค์กรที่ทำเรื่องลดผลกระทบเชิงลบหรือไปเพิ่มผลกระทบเชิงบวกได้ ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ถ้าเราปล่อยกู้ให้กลุ่มนี้ ถือเป็นการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ เพราะพวกเขาใช้พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือกระทั่งโรงไฟฟ้าชีวมวลเอง มันก็ดีกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้ถานหินหรือน้ำมันในการผลิตไฟฟ้า อันนี้เป็นตัวอย่างของธุรกิจที่ธนาคารสนับสนุน และเราเองมีนโยบายที่ชัดเจนว่า เราจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจที่ผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินแล้ว
จะไม่ปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มนี้เลยหรอ?
ไม่ปล่อยเลยครับ และเราก็มีเป้าหมายที่จะลดสินเชื่อที่เราปล่อยไปแล้วให้เหลือศูนย์ในอนาคตด้วย ถึงลูกค้ากลุ่มนี้จะเป็นรายใหญ่แต่พวกเขาก็มีเจตนาที่ดีด้วย เขาเองเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสำคัญ ก็อยากเปลี่ยนผ่านตัวเองจาก Brown to Green (จากธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนอย่างเข้มข้นไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) ผมคิดว่านี่เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของธนาคารในการสนับสนุนพวกเขาในการเปลี่ยนผ่าน เราก็ต้องช่วยเรื่องการจัดสรรเงินทุนให้พวกเขาเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจที่คาร์บอนต่ำด้วย
อย่างสินเชื่อเพื่อการผลิตพลังงานหมุนเวียน แต่ก่อนอาจจะอยู่ต่ำกว่า 1% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด ตอนนี้เราก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 2-3% แล้ว อีกส่วนที่เราทำตั้งแต่เมื่อสามปีก่อนคือคือ มิติด้านสังคม เราออกตราสารหนี้เพื่อสังคมหรือ Social Bond ซึ่งมีความพิเศษคือ เราออกให้องค์กรระหว่างประเทศชื่อ IFC (International Finance Corporation) และ DEG (Deutsche Investitions und Entwicklungsgesellschaft) ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ซึ่งสองที่นี้มาซื้อตราสารหนี้เรา เราก็ได้เงินถึงหกพันกว่าล้านบาท เราเรียกว่า Gender Bond ซึ่งยังไม่มีคำแปลในตอนนั้นด้วยซ้ำ เพื่อช่วยลดช่องว่างทางเพศ วัตถุประสงค์คือ เอาไปปล่อยต่อให้ธุรกิจขนาดเล็กที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของหรือมีผู้หญิงเป็นซีอีโอ วงเงินกู้อาจจะไม่เยอะประมาณ 1-2 ล้านบาท แต่เป็นการเพิ่มการเข้าถึงของภาคธุรกิจที่มีผู้หญิงเป็นผู้ประกอบการ คือได้ทั้งช่วย SMEs และผู้หญิงไปพร้อมกัน
เงินที่ได้จากการระดมทุนผ่านตราสารหนี้กลุ่มนี้ เราจะปล่อยกู้ให้ธุรกิจสีเทาไม่ได้หรือร้านค้าที่ขายที่มีรายได้จากแอลกอฮอล์มากกว่า 50% ก็ปล่อยให้ไม่ได้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของ IFC ทางกรุงศรีเรามุ่งมั่นที่จะเป็นตัวกลางในการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เราจะไม่ใช้เงินนี้ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจที่ไม่ได้ช่วยทำให้สังคมดีขึ้น มันมีกระบวนการและข้อกำหนดที่ละเอียดมาก ทำงานยากขึ้นแต่ก็เป็นเรื่องทีดีที่จะทำ
ในปัจจุบัน ผมคิดว่าเราเป็นผู้นำด้าน ESG ของสถาบันการเงิน ซึ่งเราก็ต้องรักษาความเป็นผู้นำเอาไว้ อย่างตราสารหนี้เพื่อสังคมเราก็เป็นคนแรกที่ทำและจะทำต่อไป เรามีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์แล้ว และคิดว่าเรื่องเหล่านี้จะทำให้ประเทศดีขึ้น สอดคล้องกับที่รัฐบาลได้ประกาศเป้าหมายต่างๆ เอาไว้ในเวทีระดับสากล
ออกตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยหรือไม่?
มีครับ เราช่วยลูกค้าในการออกตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) เราช่วย ปตท. ออกกรีนบอนด์เป็นครั้งแรก คือไม่ใช่ใครจะออกก็ได้นะ มันต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ต้องได้รับการประเมินคล้ายการจัดอันดับเครดิต ส่วนการตรวจสอบก็ต้องดูว่าคุณออกตราสารหนี้นี้ คุณเอาเงินไปทำอะไร อย่าง ปตท. เขาเอาเงินไปทำโครงการปลูกป่าก็ถือว่าผ่าน หรืออย่าง GPSC เขาระดมทุนผ่านกรีนบอนด์เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ดี คือเงินที่ได้ต้องเอามาใช้ในโครงการที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญ
นอกจากนี้ เรายังช่วยลูกค้าออก Sustainability Linked Bond คือระดมทุนมาได้คุณจะเอาเงินไปใช้อะไรก็ได้ แต่องค์กรนั้นๆ ต้องตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน อย่างเช่นเราช่วย Thai Union (TU) ออกพันธบัตรตัวนี้ เขาก็เอาไปใช้ในการทำธุรกิจ โดยตั้งตัวชี้วัดคือ ไม่เกี่ยวข้องกับการจับปลาที่ผิดกฏหมาย ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งเรือทุกลำที่เกี่ยวข้องกับเขาต้องมีคนสังเกตการณ์บนเรือ จะได้ไม่มีการละเมิดสิทธิมุษยชน หรือต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน 5 ปี รวมทั้งรักษาตำแหน่งในดัชนีความยั่งยืนระดับโลก หรือ DJSI (Dow Jones Sustainability Indices) ต่อเนื่องให้ได้ ซึ่งถือเป็นอะไรที่ล้ำไปอีกขั้นหนึ่งเลย และถ้าบริษัทเหล่านี้ทำได้ตามเป้าหมาย ก็จะคงดอกเบี้ยให้เท่าเดิมหรืออาจจะลดลงตามที่ตกลง แต่ถ้าทำไม่ได้ก็จะถูกปรับดอกเบี้ยขึ้น ถือเป็นแรงจูงใจ
ดูเหมือนองค์กรขนาดใหญ่จะทำเรื่องพวกนี้ได้ไม่ลำบากนัก แล้วกรุงศรีฯ จะสนับสนุนองค์กรขนาดเล็กอย่างไร?
ทำได้ครับ อย่างตราสารหนี้เพื่อสังคมนี่ชัดเจนเลย เราปล่อยให้ธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งเราก็ต้องส่งคนไปดูด้วยว่าเขาทำผิดกฎหมายหรือเปล่า ใช้แรงงานผิดกฎหมายหรือเปล่า และไปดูโรงงานว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ ดูกระทั่งประตูหนีไฟและถังดับเพลิง ซึ่งมันเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย สะท้อนคุณภาพชีวิตของแรงงานที่ต้องดีขึ้น เหมือนเราไปช่วยพัฒนามาตรฐานการทำธุรกิจให้เขา คืองานเราเพิ่มขึ้นแหละครับ ยากด้วย แต่เราก็ยินดีที่จะทำ อย่างโชห่วยที่ขายเหล้าเบียร์ กับแกล้ม เราปล่อยไม่ได้ แต่ถ้าโชห่วยธรรมดาที่รายได้จากการขายของพวกนี้ไม่เกินครึ่งหนึ่งเราก็ปล่อยได้ นอกจากประเมินเรื่องนี้ ยังต้องไปดูว่าเขามีมาตรฐานขั้นต่ำเรื่อง ESG หรือเปล่าด้วย
กระแส ESG ในเวทีโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง จริงจังกันแค่ไหน?
ปีที่ผ่านมาถือว่าเปลี่ยนไปมาก สถาบันการเงินระดับโลกหันมาตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนเรื่อง ESG เขาตั้งเป้าเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2030 อย่างธุรกิจธนาคารก็ใช้ไฟฟ้า น้ำมัน เปิดไฟก็ใช้พลังงาน แม้เราลดการใช้งานลงแต่ก็ต้องใช้อยู่ดี กลไกที่จะช่วยได้คือ Carbon Offset คือเราต้องไปซื้อคาร์บอนเครดิต หรือจริงๆ เราก็อาจต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดในอนาคต นี่เป็นเป้าหมายของสถาบันการเงินทั่วโลกรวมถึง MUFG (Mitsubishi UFJ Financial Group) ซึ่งกรุงศรีฯ เป็นบริษัทลูกก็ต้องเดินตามแนวทางนี้ด้วย เราจึงประกาศเป้าหมายในปี 2030 เช่นกัน
และในปี 2050 MUFG ก็ตั้งเป้าหมายว่าพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดต้องคาร์บอนเป็นศูนย์ นั่นคือลูกค้าของแบงก์ต้องถูกคำนวณกลับมาว่า เงินที่ปล่อยกู้ไปให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านั้นสร้างคาร์บอนเท่าไหร่ หรืออย่างเราปล่อยกู้ผ่านกรีนบอนด์ ก็ต้องคำนวณได้ว่าโครงการพวกนั้นดูดซับคาร์บอนกลับไปเท่าไหร่ ซึ่งทั้งพอร์ตต้องเป็นศูนย์ มันยากมาก ลูกค้าของเราไม่ได้มีแค่บริษัทพลังงาน มีทั้งขนส่งหรือรับเหมาก่อสร้าง เราก็ต้องคำนวณออกมาให้ได้ว่าการปล่อยคาร์บอนเป็นอย่างไร
ทำอย่างไรให้เรื่อง ESG เป็นเรื่องที่สำคัญของภาคธุรกิจมากกว่าใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์หรือการส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร?
ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือวิสัยทัศน์และพันธกิจของคณะผู้บริหาร ซึ่งจะต้องเข้าใจเรื่องนี้ก่อน จากนี้ ต่อไปการทำเรื่อง ESG จะยากขึ้น แค่เรื่องคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี่ก็ยากแล้ว โดยเฉพาะการคำนวณทางอ้อมผ่านการออกสินเชื่อ ธุรกิจก็ต้องมีพันธสัญญาที่ชัดเจนและประกาศออกมา สมัยนี้ตรวจสอบได้ ก็ต้องชื่นชมทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ทุกบริษัทจดทะเบียนต้องมีรายงานประจำปีที่ครอบคลุมการดำเนินการด้าน ESG ด้วย ต้องแจกแจงได้อย่างเป็นรูปธรรม ตรวจสอบได้ด้วยว่าได้ทำหรือเปล่า ทำแล้วถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นเรื่อง ESG จะทำเป็นแค่เป็นการประชาสัมพันธ์องค์กรไม่ได้แล้ว ซึ่งน่าชื่นชมบริษัทจดทะเบียนของไทยถือว่าทำเรื่องนี้ได้เป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียครับ
เชื่อว่าผู้อ่านน่าจะเข้าใจกลไกของสถาบันการเงินในการร่วมเปลี่ยนผ่านภาคธุรกิจไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ดีมากขึ้นจากสิ่งที่ธนาคารกรุงศรีฯ คิดและทำ การเดินทางด้านความยั่งยืนขององค์กรผ่านเรื่องราวของ NGThai เริ่มต้นขึ้นแล้ว และจะก้าวสู่ตอนต่อไปของเรื่องเล่าจากองค์กรต่างๆ บนเส้นทางของการพัฒนาที่ยั่งยืนอันไม่รู้จบที่จะสอดประสานธุรกิจ โลก และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกันอย่างสมดุล…เพื่อโอกาสสุดท้ายที่พวกเรามี
เรื่อง มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล
ภาพ อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
อ่านเพิ่มเติม ทำไม บริษัทยักษ์ใหญ่จึงมุ่งสู่ การจัดอันดับความยั่งยืน